โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ฟังมุมนักวิชาการมองเหตุ‘หมูแพง’ โดน‘4 เด้ง’ดันต้นทุน ผู้เลี้ยงจ่อ‘เซย์กู้ดบาย’

แนวหน้า

เผยแพร่ 27 เม.ย. 2565 เวลา 17.00 น.

ฟังมุมนักวิชาการมองเหตุ‘หมูแพง’ โดน‘4 เด้ง’ดันต้นทุน ผู้เลี้ยงจ่อ‘เซย์กู้ดบาย’

28 เมษายน 2565 ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2565 คณะอนุกรรมการต้นทุน Pig Board รายงานต้นทุนการผลิตสุกรขุน 98.81 บาทต่อกิโลกรัม นับว่าเป็นต้นทุนการผลิตสุกรขุนที่สูงเป็นประวัติการณ์เรียกได้ว่าฟาร์มต้องกุมขมับ เพราะราคาสุกรขุนหน้าฟาร์มมีชีวิตตามประกาศของสมาคมฯ คือ 96-98 บาท/กิโลกรัม ซื้อขายจริงในบางพื้นที่ทะลุ 100 บาท/กิโลกรัมเป็นที่เรียบร้อย

คำถามคือที่มาของตัวเลขต้นทุนที่สูงปรี๊ดขณะนี้มาจากอะไรบ้าง

สาเหตุที่ตัวเลขต้นทุนการผลิตสุกรสูงในขณะนี้เกิดจากสถานการณ์ 4 เด้ง

เด้งแรก ผลพวงของการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกรหรือ ASF ปริมาณแม่พันธุ์ยังไม่เพียงพอ ทำให้อัตรากำลังการผลิตสุกรน้อยกว่าปีก่อน ผลผลิตสุกรเข้าสู่ตลาดลดลงราคาย่อมต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่มากกว่าอัตราการผลิตได้

เด้งที่ 2 ผลต่อเนื่องจากเด้งแรก คือต้นทุนลูกสุกร เนื้อหมูที่วางขายอยู่ในตลาดช่วงนี้ต้องย้อนไปเดือนมกราคม 2565 หากเราจำกันได้ เป็นช่วงที่ราคาเนื้อสุกรแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้ราคาลูกสุกรก็แพงที่สุดเช่นกัน โดยราคาเฉลี่ยลูกสุกรเดือนมกราคม 3,650 บาท/ตัว ทำให้สัดส่วนต้นทุนลูกสุกรสูงถึง 40.65% ของต้นทุนการผลิตสุกรขุน

เด้งที่ 3 ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสองประเทศนี้เป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารสัตว์สำคัญของโลก ผลพวงจากสถานการณ์นี้ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกชนิดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก่อนเกิดสงครามวัตถุดิบก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว โดยตั้งแต่ต้นปี ในเวลาเพียง 3 เดือน ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้น 17.1% กากถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น 13.6% ข้าวสาลีเพิ่มขึ้น 8.3% ปลาป่นเพิ่มขึ้น 19.3% (ภาพที่ 1) (อันที่จริงปรับขึ้นมาตั้งแต่ปี 2563 ด้วยซ้ำ) ถึงกับมีการแซวกันว่า “ราคาวัตถุดิบขึ้นโหดเหมือนโกรธคนเลี้ยง”

ในการขุนสุกรให้ได้น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม ต้องใช้อาหารสุกรประมาณ 248 กิโลกรัม คิดเป็นต้นทุนค่าอาหารไม่น้อยกว่า 4,000 บาท หรือประมาณ 45.09% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งผู้เลี้ยงจำนวนไม่น้อยขยายเวลาเลี้ยงนานขึ้นจาก 100 กิโลกรัม เป็น 110 – 120 กิโลกรัม แน่นนอนต้นทุนอาหารก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

เด้งที่ 4 สภาพอากาศที่ร้อน สุกรจะกินอาหารน้อยกว่าปกติ ทำให้โตช้า ฟาร์มต้องเลี้ยงนานขึ้น ทำให้ต้นทุนอาหารในช่วงหน้าร้อนสูงกว่าปกติ

หากถามว่าเด้งไหนที่รัฐพอจะบรรเทาปัญหาได้คือ เด้งที่ 2 การแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบ โดยทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้เสนอแนวทางแก้ไข 3 ข้อไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ได้แก่

1.ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2%

2.ยกเลิกมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1

3.เปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบ WTO, AFTA ยกเลิกโควต้า ภาษีและค่าธรรมเนียม ในปริมาณขาดแคลนชั่วคราว ในปี 2565

ข้อเสนอทั้ง 3 ได้รับการตอบสนองเพียงส่วนเดียว ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน หรือเป็นที่ยอมรับของภาคปศุสัตว์และอาหารสัตว์ กล่าวคือการผ่อนปรนให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ตามกรอบ WTO ไม่เกิน 0.38 ล้านตัน ในช่วงเมษายน – กรกฎาคม 2565 ซึ่งขณะนี้กำลังจะหมดเดือนเมษายน แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตาม การอนุญาตนำเข้าข้าวโพดอาจมีส่วนช่วยให้ผู้กักตุนข้าวโพดขณะนี้ยอมคายผลผลิตที่กักตุนไว้เก็งกำไรได้

ข้อเท็จจริงอีกข้อคือ ราคาข้าวสาลีในขณะนี้สูงเทียบเท่าข้าวโพดแล้ว จึงไม่มีแรงจูงใจให้เกิดการนำเข้าข้าวสาลีมาเป็นวัตถุดิบทดแทนตามมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3:1 ส่วน ส่วนมาตรการยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ซึ่งจัดการได้ง่ายที่สุด และสามารถยกเลิกได้ทันที แต่มาตรการนี้ก็ถูกยื้อไว้นานที่สุด โดยที่ยังไม่มีการตอบสนองใดๆ

สำหรับมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ควรต้องผ่อนปรนมากขึ้น หากรัฐไม่ต้องการซ้ำเติมปัญหาให้แก้ยากไปกว่านี้ เนื่องจากรัฐได้กำหนดนโยบายประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ 8.5 บาท/กิโลกรัม และรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศ 19.75 บาท/กิโลกรัม เหล่านี้เป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลืองได้รับการดูแลอยู่แล้ว จึงควรปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี

เนื่องจากสถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครนยังคงยืดเยื้อ และกำลังการผลิตของผู้ผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพดสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล น่าจะมีปัญหาในปีการผลิตปัจจุบันเนื่องจากต้นทุนน้ำมันและปุ๋ยแพง เหล่านี้จะทำให้ราคาต้นทุนการผลิตสุกรไม่น่าจะลดลงได้ นั่นหมายถึงราคาเนื้อสุกรคงต้องแพงขึ้นอีก นอกจากนี้ รัฐต้องเข้มงวดกวดขันการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อนอีกปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวบ่อนทำลายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูไทย ซึ่งจะกระทบไปยังเกษตรกรพืชไร่อีกหลายแสนรายด้วยอย่างแน่นอน

เมื่อรัฐไม่มีความสามารถแก้ปัญหาต้นทางจัดการต้นทุนวัตถุดิบได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ มิเช่นนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่เหลืออยู่ไม่ถึงแสนราย คงต้องเซย์กู้ดบายถาวรเพราะต้นทุนที่แบกรับกันอยู่ตอนนี้ แบกกันแอ่นจนหลังจะหักแล้ว สำหรับผู้บริโภคคงได้เพียงบริหารจัดการเงินในกระเป๋า ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เพราะการตรึงราคาสุกรหน้าฟาร์มคงไม่สามารถสั่งได้เหมือนในอดีต และในอีกไม่กี่วันนี้ก็จะต้องเผชิญกับการปรับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิด

-005

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0