เลือกตั้งบอร์ด สปส. ดูแลสิทธิผู้ประกันตน
24 ธันวาคม 2566 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทย ที่จะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หรือที่รู้จักในชื่อ บอร์ดประกันสังคม โดยเป็นการคัดเลือก ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และ ผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน เพื่อเข้าไปทำหน้าที่เสนอความเห็นและนโยบายในการดูแลบริหารจัดการ กองทุนประกันสังคม ที่มีวงเงินกว่า 2.3 ล้านล้านบาท ให้กับผู้ประกันตนและนายจ้างที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 24 ล้านคน
การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนผู้จ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคมเป็นประจำต่อเนื่องทุกเดือน ทั้งผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวมทั้งนายจ้าง จะได้เข้าคูหาเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารจัดการเงินกองทุนประกันสังคมโดยตรงแบบ 1 สิทธิ 1 เสียง เพื่อเป็นตัวแทนดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของนายจ้างและผู้ประกันตนให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
หลายคนคงสงสัย การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมเกิดขึ้นได้อย่างไร หากย้อนไปนับตั้งแต่มี พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ถูกแก้ไขในยุคสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2558 เขียนขึ้นเป็นครั้งแรกในมาตรา 8 ระบุว่า ให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนฝ่ายละ 7 คน มาจากการเลือกตั้ง โดยคํานึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการ และ
ผู้ด้อยโอกาส
แต่การเลือกตั้งกลับไม่ได้เกิดขึ้น เพราะเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 40/2558 ออกมาตามอำนาจพิเศษของ มาตรา 44 ระบุว่าให้ งดการบังคับใช้ บางมาตราที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคมทุกตำแหน่งเข้ามาทำหน้าที่ โดยให้มีกำหนดวาระการทำงาน 2 ปี
ต่อมาก่อนที่ คสช.จะหมดอำนาจ ได้ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 9/2562 ให้คณะกรรมการประกันสังคมชุดเดิมที่แต่งตั้งไว้เมื่อปี 2558 พร้อมที่ปรึกษา อยู่ในตำแหน่งไปก่อนระหว่างการร่างระเบียบหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง ซึ่งใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปี ทำให้ พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ระบุให้มีการเลือกตั้งยังไม่เคยได้ใช้จริง และคณะกรรมการชุดแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งยาวนานกว่า 8 ปี
เมื่อพิจารณาบทบาทสำคัญของบอร์ดประกันสังคม คือ
1.เสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคม
2.พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่างๆ
3.วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการรับเงินการจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน
4.วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน
5.พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนและรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงาน ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสังคม
6.ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน
7.ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายหรือตามที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมอบหมาย
ไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานบอร์ดประกันสังคม ให้ข้อมูลว่า ในอดีตบอร์ดประกันสังคมเป็นการเลือกตั้งจากระบบของผู้แทนสหภาพแรงงาน โดยไม่ได้คำนึงถึงจำนวนสมาชิกของแต่ละสหภาพ ทำให้มีข้อท้วงติงว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย ฉะนั้น การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ประชาชนผู้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน ทั้งในมาตรา 33 มาตรา 39 และ 40 รวมถึงนายจ้าง จะได้เข้าคูหาเลือกผู้แทนจากฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ที่จะมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน
ทั้งจัดการบริหารเงินกองทุนประกันสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของนายจ้างและผู้ประกันตนในทุกมาตรา ไปจนถึงการมีอำนาจในการเสนอและพิจารณานโยบายเกี่ยวกับประกันสังคม การวางแผนการรับเงินจ่ายเงิน การรักษาเงินและรักษาผลประโยชน์ของกองทุน พิจารณางบดุล รายรับรายจ่ายของกองทุนตลอดจนการให้คำปรึกษาและคำแนะนำแก่คณะกรรมการ และหน้าที่อื่นๆ ที่ต้องรับผิดชอบ
ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก เราได้พบปัญหาว่าผู้ประกันตน รวมถึงนายจ้าง ยังไม่ทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ผมมีความเชื่อมั่นว่าผู้รับสมัครเป็นกรรมการประกันสังคม ได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ไปยังผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งให้ได้รับทราบแล้ว ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของผู้ประกันตนและนายจ้าง ที่จะต้องลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งผ่านเว็บไซต์ก่อน แล้วก็เดินทางไปลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งในคูหาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม เราจะนำข้อติดขัดต่างๆ เหล่านี้ มาถอดบทเรียนเพื่อให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้ามีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น ปลัดกระทรวงแรงงานแจกแจง
ไพโรจน์ยังระบุว่า ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง 945,000 คน จากจำนวนผู้ประกันตนที่มีสิทธิเลือกตั้ง 12 ล้านคน โดยผู้รับสมัครเลือกตั้งเป็นบอร์ดประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันตน 247 คน ผ่านคุณสมบัติ 228 คน ส่วนฝ่ายนายจ้าง 69 คน ผ่านคุณสมบัติ 65 คน ซึ่งทั้งฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างได้ประชาสัมพันธ์อย่างคึกคักเพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ลงทะเบียนไว้ ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ถือเป็นการชิงเก้าอี้ตัวแทนบอร์ดประกันสังคมที่ดุเดือด เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก ทั้งนี้ ประชาชนสามารถเข้าไปดูรายชื่อผู้รับสมัครเลือกตั้งได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.co.th ซึ่งจะมีหมายและภาพของผู้สมัครทุกคน
สำหรับขั้นตอนการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมนั้น ปลัดกระทรวงแรงงานบอกว่า ขณะนี้ได้มีการจัดหน่วยเลือกตั้งไว้ทั้งหมด 934 หน่วย โดยคูหาเลือกจะเปิดตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ขั้นตอนในการเข้าไปลงคะแนนเสียง ผู้ที่จะไปใช้สิทธิสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.co.th หรือตรวจสอบรายชื่อได้ ณ หน่วยเลือกตั้ง
เมื่อตรวจสอบรายชื่อแล้ว ผู้ใช้สิทธิจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือใบขับขี่ และหนังสือเดินทาง กรณีที่ใบประจำตัวระบบอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องเป็นเอกสารในแอพพลิเคชั่นของรัฐ คือ ThaID กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรือ DLT Smart Queue กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เท่านั้น
ส่วน การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายจ้างและผู้ประกันตนจะต้องเขียนหมายเลขของผู้รับสมัครเลือกตั้ง ด้วยเลขอารบิค จำนวนไม่เกิน 7 หมายเลข ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 สามารถเลือกเฉพาะผู้รับสมัครเป็นตัวแทนฝ่ายประกันตน ไม่เกิน 7 คน ขณะที่นายจ้าง เลือกเฉพาะผู้รับสมัครเป็นตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ได้ไม่เกิน 7 คนเช่นกัน และขั้นตอนสุดท้ายคือ หย่อนบัตรลงคะแนนด้วยตนเองลงในคูหาเลือกตั้ง
ส่วน การนับคะแนน จะเป็นไปตามระเบียบของการนับคะแนนที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กำหนด เมื่อปิดคูหาแล้วก็มีการจะขานนับ ณ หน่วยเลือกตั้ง โดยสามารถให้ประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การนับคะแนนได้ คาดว่าการนับคะแนนจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 24 ธันวาคม และจะมีการประกาศรายชื่อบอร์ดประกันสังคมที่มาจากการเลือกตั้งให้ประชาชนรับทราบอย่างเป็นทางการต่อไป ปลัดกระทรวงแรงงานสรุป
รอลุ้นว่า ผลการเลือกตั้ง บอร์ดประกันสังคม ครั้งประวัติศาสตร์ จะมีใครบ้าง ที่จะช่วยดูแลสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนกว่า 24 ล้านคน
ความเห็น 0