กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระราชานุสาวรีย์ และทรงเททองหล่อพระบรมรูปในหลวง รัชกาลที่ 9
18 มิ.ย.2565 - ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เสด็จออก ณ ท้องพระโรง ตำหนักทิพย์พิมาน ต.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เสด็จทรงบำเพ็ญพระกุศลและเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระราชานุสาวรีย์ และทรงเททองหล่อพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 17 มิ.ย.2565
ในการนี้ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ทรงศีล เจ้าพนักงานศุภรัตอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์ 10 รูปเจริญพระพุทธมนตร์ จากนั้น ทรงจุดเทียนที่ครอบทำน้ำพระพุทธมนต์ และเสด็จไปทรงประเคนครอบทำน้ำพระพุทธมนต์แด่สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานฝ่ายสงฆ์ จากนั้น ทรงเสด็จเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระราชานุสาวรีย์ และทรงเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระรูปสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยมีคณะผู้บริหารราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เฝ้ารับเสด็จฯ
โอกาสนี้ พระราชทานพระวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เข้าเฝ้ากราบทูลถวายรายงานการดำเนินโครงการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเพื่ออัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถนนแจ้งวัฒนะ ซอย 5 เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการเทิดพระนามและแสดงความระลึกถึงพระเกียรติคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างหาที่เปรียบมิได้ อีกทั้งเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และประชาชนทั่วไปสืบไป
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญา "สมเด็จพระภัทรมหาราช" อันมีความหมายว่า "พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง" ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐเป็นเวลายาวนานที่สุดพระองค์หนึ่ง ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณด้านการแพทย์และการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์ทั้งในและต่างประเทศตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติ และทรงเป็นแบบอย่างที่ประชาชนสมควรเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ทั้งนี้ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระดำริให้จัดสร้าง ศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ขึ้น เพื่อให้เป็นอาคารส่วนต่อขยายบริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยบูรณาการศูนย์แพทย์เฉพาะทางให้ครอบคลุมการรักษาทุกโรค เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาด้วยวิทยาการแพทย์ขั้นสูงอย่างครบวงจร เป็นที่พึ่งแก่ประชาชนคนไทยทุกระดับชั้นให้สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐานสากล และพระราชทานนามศูนย์การแพทย์แห่งนี้ว่า “ภัทรมหาราชานุสรณ์” อันมีความหมายว่า ที่ระลึกถึงพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสืบสานแนวพระราชดำริในการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย
สำหรับองค์ประติมากรรม พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ออกแบบโดย อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ.2557 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) มหาวิทยาลัยศิลปากร องค์ประติมากรรม ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศนายทหารพิเศษ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระหัตถ์ขวาทรงถือพระคฑาจอมทัพภูมิพล พระหัตถ์ซ้ายทรงถือกระบี่และถุงพระหัตถ์ บนโต๊ะเคียงทอดพระมาลาทหารราชวัลลภสีขาวพู่สีดำ และการออกแบบอาคารประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์โดย อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติประจำปีพุทธศักราช 2546 สาขาสถาปัตยกรรม(แบบประเพณี), สถาบันศิลปสถาปัตยกรรมไทยเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์จากเอกลักษณ์ของพระมหาพิชัยมงกุฎในพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะประดิษฐานอยู่ ณ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ด้านหน้าของศูนย์การแพทย์ภัทรมหาราชานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
นอกจากนี้ ภายในพื้นที่โครงการกำหนดให้มีสถานที่ประดิษฐาน พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน” และ “พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบท” เพื่อเป็นการถวายสักการะ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจแก่วงการแพทย์ พยาบาลและการสาธารณสุขของประเทศไทย รวมทั้งได้เสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่โรงเรียนแพทย์ และพัฒนาการเรียนการสอนตลอดจนการผลิตแพทย์ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการวางรากฐานแก่การแพทย์ และการสาธารณสุขให้เจริญพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศในกาลต่อมา
ทั้งนี้ การออกแบบองค์ประติมากรรมโดย อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระอิริยาบถยืน ฉลองพระองค์ แบบตะวันตก และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนีประทับพระเก้าอี้ทางเบื้องขวา และการออกแบบแท่นประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์ โดย อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร เป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ผสมผสานศิลปกรรมตะวันตก จากพระราชสมัญญานาม “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขไทย” และ “พระมารดาแห่งการแพทย์ชนบท” ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้นำความรู้ด้านสาธารณสุขจากต่างประเทศมาพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย โดยพระราชานุสาวรีย์ฯ จะประดิษฐานอยู่ระหว่างอาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน และอาคารหอพัก
อนึ่ง วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มุ่งผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในสาขาที่ขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของประเทศที่เป็นผู้นำด้านสุขภาพและการบริการทางการแพทย์ที่มีความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม รวมทั้งมีจิตวิญญาณอุทิศตนเพื่อสังคม โดยมีหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2563 หลักสูตรที่จัดตั้งขึ้นจากพระปณิธานใน สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ยกระดับการเรียนการสอนแพทย์สู่มาตรฐานสากลเพื่อการผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีศักยภาพขั้นสูง โดยได้เสด็จฯ สร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยยูซีแอล สหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของโลกด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตแนวใหม่ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับพระปณิธาน โดยโครงการก่อสร้างอาคารทั้งหมดมีกำหนดการแล้วเสร็จและจะเริ่มเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม พ.ศ.2565 นี้