สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ “คลอง” เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของชาวสยาม เพราะต้องใช้เดินทางและค้าขาย จนเกิดคลองมากมาย เข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มีการติดต่อกับชาติตะวันตก เกิดถนนขึ้นหลายสาย เป็นการคมนาคมรูปแบบใหม่ แต่คลองก็ยังมีความสำคัญ และยังมีการขุดคลองใหม่อยู่เรื่อยๆ หนึ่งในนั้นคือ “คลองทวีวัฒนา” ที่เกิดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5
“คลองทวีวัฒนา” เกิดขึ้นมาได้จากความคิดของ “เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์” (วร บุนนาค) หลังจากพบว่าคลองที่ชาวบ้านใช้งานมาตลอดตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อย่าง คลองมหาสวัสดิ์และคลองภาษีเจริญ ตื้นเขิน
เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์มองว่าเหตุที่ทำให้ 2 คลองนี้ตื้นเขินเป็นเพราะว่า คลองทั้งสองขุดตรงไปทางทิศตะวันออกและทางทิศตะวันตก อยู่ในแนวเดียวกัน เวลาน้ำขึ้นก็ไหลเข้าคลองพร้อมกันทั้งสองข้าง และไปรวมอยู่ตรงย่านกลาง ดินจึงไปตกตะกอน ทำให้เกิดการตื้นเขินในทุก ๆ ปี เพราะไม่มีทางจะให้กระแสน้ำปัดเป่าให้น้ำไหลตลอดทั่วลำคลองทั้งสองข้างนั้นได้
เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์จึงหาวิธีแก้ไขว่า ควรจะขุดคลองตั้งแต่หลักสองคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ ตัดไปกลางทุ่งถึงศาลากลาง ทะลุคลองมหาสวัสดิ์ฝั่งใต้ เป็นคลองยาว 350 เส้น กว้าง 4 วา ลึก 4 ศอก
ถ้าทำเช่นนี้ก็จะได้ประโยชน์ดี
รัชกาลที่ 5 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ เป็นแม่กองจัดการจ้างจีนขุดในราคาเส้นละ 80 บาท รวมทั้งสิ้น 27,200 บาท
เมื่อขุดเสร็จแล้ว พระองค์ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำพระราชพิธีเปิดคลอง เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2421 และพระราชทานนามว่า “คลองทวีวัฒนา”
อ่านเพิ่มเติม :
- คลองพระโขนง คลอง [หนึ่ง] ที่คนรู้จักมากที่สุดในไทย
- “คลองเปรมประชากร” คลอง 6 แผ่นดิน เริ่มจากไหนถึงไหน ทำไมต้องขุด?
- คลอง “แสนแสบ” ชื่อนี้มาจากไหน หรือจะมาจากยุง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ส. พลายน้อย. ชื่อเสียงเรียงนาม ความรู้ เรื่องแม่น้ำลำคลอง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2555.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มีนาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “คลองทวีวัฒนา” คลองที่รัชกาลที่ 5 โปรดให้ขุดขึ้นเพื่อประชาชน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com