ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศ ทั้งภาคธนาคารพาณิชย์ บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ภายใต้โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” 2 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” ช่วยลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินไม่สูง ให้สามารถคงทรัพย์สินที่ใช้ในการดำรงชีพและประกอบอาชีพเอาไว้ได้ โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยปรับโครงสร้างหนี้และลดค่างวดในปีที่ 1 เหลือ 50% ในปีที่ 2 เหลือ 70% ในปีที่ 3 เหลือ 90% และพักภาระดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดชำระเงินต้นทั้งหมด ขณะที่ดอกเบี้ยที่พักไว้ตลอดระยะเวลา 3 ปี จะได้รับการยกเว้น ตามเงื่อนไข
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” ช่วยลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่ NPL แต่มียอดคงค้างหนี้ไม่สูง (ไม่เกิน 5,000 บาท) โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพียง 10% ของยอดหนี้คงค้างเพื่อปิดหนี้ได้ทันที
ทั้งนี้ มีลูกหนี้แสดงความประสงค์ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการและอยู่ระหว่างตรวจสอบสิทธิ์แล้ว จำนวน 497,552 ราย จำนวน 576,496 บัญชี ซึ่งยังไม่นับรวมส่วนที่ลงทะเบียนตรงกับสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทะเบียนจะสิ้นสุดเดือน ก.พ. 68 นี้ ก็เชื่อว่ามียอดลูกหนี้ไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 ล้านราย เพราะผ่านมากกว่าครึ่งทางมีลูกหนี้ลงทะเบียนเพียง 25% ของกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้เท่านั้น
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ว่า โครงการคุณสู้เราช่วย เป็นทางเลือกของเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี เมื่อมีเอสเอ็มอีมาลงทะเบียนน้อย ก็บ่งชี้ได้ 2 อย่างที่สำคัญ
ประการแรก คือ เอสเอ็มอีกลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ แสดงว่าโครงการนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อเอสเอ็มอี ในมุมมองของเอสเอ็มอีเอง เพราะคิดว่าอาจจะยังไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ เพราะเอสเอ็มอียังต้องจ่ายเงินต้นอยู่ จึงไม่เห็นประเด็นที่จะเข้าร่วมโครงการ หากจะสืบค้นหาข้อเท็จจริงต่อ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงโครงการในอนาคต หรือเห็นสภาพความเป็นจริงของเอสเอ็มอี
ประการที่สอง ที่เอสเอ็มอีไม่เข้าร่วมโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ก็มาจากข้อเท็จจริงที่เอสเอ็มอีไม่มีความสามารถชำระหนี้จริงๆ แม้กระทั้งเป็นเงินต้นที่ลดลง และยกเว้นดอกเบี้ยไว้ให้ก่อนก็ตาม ซึ่งกรณีนี้อาจชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอาจมีความบอบช้ำมากกว่าที่รัฐบาลประเมิน และสภาพการเงินของเอสเอ็มอีอาจจะมีปัญหามากกว่าที่รัฐบาลคิดไว้ ว่าหากมีมาตราออกแบบนี้แล้วจะทำให้เอสเอ็มอีชำระหนี้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็กลับไปที่ประการแรก คือ เงื่อนไขการชำระหนี้อาจยังไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ที่รัฐบาลอาจจะปรับปรุงในอนาคต
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีที่มาลงทะเบียนแล้ว 25% ของกลุ่มเป้าหมาย ก็ทำให้เห็นว่าโครงการนี้ยังเกิดประโยชน์กับเอสเอ็มอี ที่ยังพอมีศักยภาพ เมื่อมองในมุมบวกทำให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเดินหน้าได้ต่อ ลดภาระการจ่ายดอกเบี้ย และเงินต้นได้ในช่วงแรก และมีความพร้อมที่จะกลับมาทำธุรกิจ
“โครงการคุณสู้เราช่วย เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ แต่ก็มีมุมที่สำคัญที่รัฐบาลอาจต้องกลับมาประเมินสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงใหม่ ว่าเศรษฐกิจมีปัญหามากกว่าที่คิด และเอสเอ็มอีมีปัญหาทางการเงินกว่าที่รัฐบาลคิดไว้จนไม่สามารถเข้าโครงการได้ หรือเงื่อนไขไม่จูงใจ เป็นการบ้านที่รัฐบาลต้องทำงานกันต่อในอนาคต” นายธนวรรธน์ กล่าว