AOC 1441 เตือนภัย ‘โจรออนไลน์’ หลอกกดไลค์สินค้า แลกค่าคอมฯ – อ้างเป็นดีเอสไอ หลอกเหยื่อโอนเงินตรวจสอบบัญชี เสียหายกว่า 18 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม น.ส.วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 17-23 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง จำนวน 5 เคส ประกอบด้วย
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 1,186,815 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาทำงานหารายได้พิเศษผ่านช่องทาง Tiktok ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามแล้วเพิ่มเพื่อนทาง Line เป็นการลงทุนขายสินค้าใน Tiktok และการกดไลค์สินค้าเพื่อแลกกับยอดเงินค่าคอมมิชชั่น จากนั้นทางมิจฉาชีพส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลทำการโอนเงินค่าสินค้าและค่าดำเนินการต่างๆ แล้วเสนอให้ทำกิจกรรมตามขั้นตอนแล้วจะได้รับค่าตอบแทนสูง ผู้เสียหายจึงโอนเงินเข้าไปสำรองสินค้าเพิ่มขึ้นหวังจะได้ผลกำไรมากขึ้น เมื่อต้องการถอนเงิน มิจฉาชีพแจ้งว่าผู้เสียหายได้กรอกข้อมูลส่วนตัวผิด ต้องทำการโอนเงินไปแก้ไขระบบถึงจะสามารถถอนเงินได้ จากนั้นไม่สามารถติดต่อได้อีก ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 2 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 2,597,856 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ แจ้งว่าผู้เสียหายได้ทำการฟอกเงินและมีบัญชีม้าหลายบัญชี โดยมีบุคคลอื่นสูญเสียเงินติดต่อเข้ามาแจ้งเรื่องเป็นจำนวนมาก และทำการโอนสายสนทนาให้คุยกับมิจฉาชีพที่อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ แจ้งให้ผู้เสียหายโอนเงินในบัญชีทั้งหมดเพื่อเป็นการตรวจสอบเส้นทางการเงิน เมื่อตรวจสอบเรียบร้อยจะทำการโอนคืนให้ หากไม่ทำตามจะมีความผิดทางกฎหมายร้ายแรง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป จากนั้นไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 3 คดีข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน (Call Center) มูลค่าความเสียหาย 1,340,000 บาท โดยผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทย สาขาจังหวัดสุรินทร์ แจ้งว่าผู้เสียหายมีบัญชีใช้ฟอกเงิน จากนั้นเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อคุยรายละเอียด เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งผู้เสียหายว่าต้องทำการโอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชีและเป็นค่าปิดคดี หลังจากทำการตรวจสอบแล้ว หากไม่เกี่ยวข้องจะทำการโอนเงินกลับทันที ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป เมื่อโอนเงินไปแล้วโดนบล็อกช่องทางการติดต่อไม่สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้อีก ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล หรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 689,960 บาท ทั้งนี้ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพผ่านช่องทาง Facebook เป็นการติดต่อหาทนายเกี่ยวกับคดีที่ถูกหลอกโอนเงิน ต่อมาทนายให้เพิ่มเพื่อนทาง Line กลุ่มตำรวจ เพื่อพูดคุยรายละเอียด แจ้งว่าจะตามเรื่องให้และติดตามยอดความเสียหายกลับคืนมา จากนั้นมิจฉาชีพแจ้งว่าต้องการยืนยันสิทธิโดยให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อเป็นค่าการเดินทางและค่าดำเนินการบางส่วนก่อน หากเอกสารดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วจะได้รับเงินคืนภายหลัง ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไป ต่อมาต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจึงติดต่อไป แต่ไม่สามารถติดต่อได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
คดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 12,328,967 บาท โดยผู้เสียหายพบโฆษณาหารายได้พิเศษผ่านช่องทาง Facebook ผู้เสียหายสนใจจึงทักไปสอบถามรายละเอียดและเพิ่มเพื่อนทาง Line จากนั้นมิจฉาชีพชักชวนให้เปิดร้านค้าออนไลน์ โดยให้เลือกสินค้าที่สนใจเพื่อลงทุนซื้อสินค้า และจะได้รับค่าคอมมิชชั่นเป็นการตอบแทน ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงเริ่มโอนเงินเข้าไปลงทุน ระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง ภายหลังมิจฉาชีพให้ลงทุนมากขึ้นและได้รับค่าตอบแทนมากขึ้นเรื่อยๆ จนยอดเงินที่ลงทุนและค่าคอมมิชชั่นสะสมมากขึ้น ผู้เสียหายจะขอถอนเงิน แต่มิจฉาชีพแจ้งว่าไม่สามารถถอนได้ เนื่องจากผู้เสียหายได้ใส่ข้อมูลผิดพลาด ทราบภายหลังโดนบล็อกช่องทางการติดต่อ ผู้เสียหายเชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก
สำหรับมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 18,143,598 บาท
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 21 มีนาคม 2568 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงาน ดังนี้
1. สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,571,798 สาย / เฉลี่ยต่อวัน 3,100 สาย
2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 567,786 บัญชี / เฉลี่ยต่อวัน 1,221 บัญชี
3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่ (1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 180,046 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.71 (2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 135,679 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.90 (3) หลอกลวงลงทุน 83,849 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.77 (4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 61,944 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 10.91 (5) หลอกลวงให้กู้เงิน 41,244 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.26 (และคดีอื่นๆ 65,024 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.45)
“จากเคสตัวอย่างจะเห็นได้ว่า มิจฉาชีพใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหายผ่านสื่อโซเชียล Facebook ให้กดไลค์สินค้า เพื่อแลกค่าคอมฯ ก่อนหลอกให้โอนเงินค่าสินค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นจำนวนมากกว่า 12 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังตรวจพบเคสที่มิจฉาชีพหลอกเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอและธนาคารกรุงไทย แจ้งว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน บัญชีม้า ทั้งนี้ขอย้ำว่า เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐจะไม่โทรติดต่อโดยตรงหรือผ่านทางโซเชียลมีเดีย และไม่มีการให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชีแต่อย่างใด ดังนั้นหากมีการติดต่อ ให้ประเมินว่าเป็นการกระทำของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบ และติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด” น.ส.วงศ์อะเคื้อกล่าว
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1.ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใดๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัพโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ โดยกระทรวงดีอีได้เร่งดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันภัยอาชญากรรมออนไลน์ ผ่านศูนย์ AOC 1441 เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เตือนภัย โจรออนไลน์ หลอกกดไลค์สินค้า แลกค่าคอมฯ เสียหายกว่า 18 ล้านบาท
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th