โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

‘ประเสริฐ – จเรตำรวจแห่งชาติ’ แถลงผลการดำเนินงานปราบแก๊งคอลเซนเตอร์

The Reporters

อัพเดต 17 มี.ค. เวลา 07.44 น. • เผยแพร่ 17 มี.ค. เวลา 07.44 น.

ชี้ เห็นผลชัด หลังใช้ยาแรง ด้าน ‘พล.ต.อ. ธัชชัย‘ ยันชาวต่างชาติ สมัครใจไปทำงาน 100% ไม่มีใครถูกบังคับ ชี้ ฝั่งกัมพูชา สามารถปิดช่องว่าง อ้างเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ เก็บหลักฐานจนออกหมายจับ ”อั้งยี่ - ซ่องโจร - อาชญากรรมข้ามชาติ“ ได้ เตรียมคุย UNODC บ่ายนี้ รู้แน่ BGF ปราบได้ 99% จริงหรือไม่

วันนี้ (17 มี.ค.68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และพลตำรวจเอก ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวผลการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์ ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล

นายประเสริฐ กล่าวว่า ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการให้จัดการเรื่องการปราบปรามแก๊งคอลเซนเตอร์อย่างเด็ดขาด ซึ่งวันนี้จะเห็นได้ชัดว่า ยาแรงที่ได้ใช้ไปเริ่มเห็นผลอย่างชัดเจน

โดยมาตรการตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 และตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต บริเวณแนวชายแดนประเทศกัมพูชา ในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2568 และเป็นไปตลอดจน กำลังส่งของคลื่นสัญญานมือถือที่ส่งข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ให้อยู่ในเขตพื้นที่ประเทศไทยเท่านั้น
สำหรับศูนย์ AOC 1441 กระชับความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กำกับประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหารในพื้นทำการลาดตระเวน เพื่อช่วยเหลือ กวดขัน จับกุม บริเวณชายแดนไม่ให้มีการลักลอบคนเข้าเมืองหรือขนส่งอุปกรณ์ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซนเตอร์ ในแนวตะเข็บชายแดน ที่ลักลอบเดินเสาสายสัญญานอินเทอร์เน็ต ข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

โดยสถิติการรับแจ้งคดีอาชญากรรมออนไลน์ทั้งหมดของประเทศไทยพบว่า ระหว่างวันที่ 1 - 31 มกราคม 2568 มีการแจ้งความทั้งสิ้น 31,159 คดี แต่หลังจากมาตรการตัดน้ำ - ตัดไฟ และตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนคดีลดลงอย่างมีนัยยะ เหลือ 25,487 คดี ลดลงเฉลี่ยประมาณ 20% และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่เดิมมีการรับแจ้งมากกว่า 1,000 คดีต่อวัน โดยเฉพาะคดีคอลเซ็นเตอร์ที่มิจฉาชีพเข้าถึงเหยื่อได้ง่ายที่สุด ลดลงจากเดิมร้อยละ 67 ซึ่งการลดลงของสถิติคดีอาชญากรรมดังกล่าว เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการเข้มข้นของรัฐบาลและการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จาก AOC 1441 พบว่าประชาชนที่โทรเข้ามา มีจำนวนมูลค่าความเสียหายที่ลดลงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ประมาณ 200 ล้านบาท และเมื่อเทียบมูลค่าความเสียหายในเดือน ม.ค.-ก.พ.ของปี 2567 กับปี 2568 แล้วพบว่าความเสียหายลดลงถึง 30%

1.คดีหลอกลวงให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ ลดลงร้อยละ 88.64 มูลค่าความเสียหายลดลงประมาณร้อยละ 94.24 หรือ แอปพลิเคชันดูดเงิน ที่แถบไม่พบปัญหาแล้ว หรือเหลือน้อยมาก

2.คดีหลอกลวงให้กู้เงิน มีจำนวนระงับบัญชีลดลงร้อยละ 17.51 มูลค่าความเสียหายลดลงประมาณร้อยละ 55.49

3.คดีหลอกลวงให้ลงทุนที่เป็นความผิดทางพระราชกำหนดการกู้ยืมเงิน มีจำนวนระงับบัญชีลดลงร้อยละ 62.22 มูลค่าความเสียหายลดลงร้อยละ 97.21 นอกจากนี้ ประชาชนเองก็เริ่มตระหนักถึงภัยจากการหลอกลวงมากขึ้น โดยผ่านการให้ความรู้และการแจ้งเตือนจากภาครัฐ

พล.ต.อ. ธัชชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับเรื่องคอลเซ็นเตอร์ที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นจุดที่สำคัญทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากว่ามีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดี โดยไปตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ไม่ไปหลอกคนในประเทศนั้น ๆ และใช้ช่องทางนี้มาหลอกคนไทย เมื่อมีการกระทำความผิด และมีการจับกุมโดยประเทศนั้น ๆ ส่วนใหญ่จะถูกดำเนินคดีในข้อหาลักลอบหลบหนีเข้าเมือง หรือทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต

จากมาตรการ 3 ตัดของรัฐบาล ทางการไทยได้ร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมา และชนกลุ่มน้อยในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ได้พบว่า สถิติในการกวาดล้างเบื้องต้น จนถึงปัจจุบันมีทั้งสิ้น 5,251 ราย โดยจะมีการคัดแยกอีกครั้งว่า ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดที่ทางการเมียนมาได้มีการดำเนินการ มีการส่งกลับประเทศไปดำเนินการแล้ว 3,533 ราย เหลืออีก 1,718 ราย ซึ่งคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นคนจีน และคนอินเดีย และคงมีการดำเนินการกวาดล้างอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์บริเวณประเทศเพื่อนบ้านฝั่งเมียนมาให้หมดไป แม้ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ แต่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในทางอ้อม ทั้งภาพลักษณ์ และใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน

จากมาตรการของรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกมาตรการ 7 ข้อ ในการควบคุมคนต่างชาติที่เข้าพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยจากสถิติพบว่า จำนวนทั้งสิ้น 3,652 ราย ที่ผ่านช่องทางบก และทางอากาศเข้าพื้นที่อำเภอแม่สอด ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. - 26 ก.พ. 68 พบว่า คนต่างชาติทั้งหมดที่เข้าไปสมัครใจ 100% และมีประมาณเกือบ 5% คือ 164 ราย ที่สมัครใจเดินทางกลับ หลังถูกเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลและซักถามต่างๆ

ดังนั้น จึงยืนยันได้ว่า คนต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ไม่มีใครถูกบังคับ ขู่เข็ญ หรือมีการวางยาสลบ และนำพาข้ามไปที่อำเภอแม่สอด และข้ามแม่น้ำไปที่เมืองเมียวดีแต่อย่างใด จากสถิติตัวนี้ เราเชื่อว่ากลุ่มคนที่เข้ามา นอกจากสมัครใจแล้ว มีความประสงค์ที่จะข้ามช่องทางธรรมชาติไปเมียวดี ซึ่งอาจเข้าไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ บ่อนออนไลน์ หรืองานประเภทอื่น ๆ และต่อมาบางคนถูกบังคับ หรือถูกทำร้าย จะเป็นเรื่องของการค้ามนุษย์หรือ Forced Criminality ในฝั่งเมียวดี ซึ่งไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

“จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถยืนยันได้ว่า คนต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทย 100% ไม่มีใครถูกบังคับ ขู่เข็ญ ให้ไปในพื้นที่อำเภอแม่สอด และข้ามไปฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมา ทุกคนสมัครใจไป” จเรตำรวจแห่งชาติ กล่าว

ส่วนฝั่งกัมพูชา การเดินทางไปของตนเองเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ได้พูดคุยกับทางกัมพูชา ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ จัดตั้งศูนย์ประสานงาน แต่ที่เราเสนอกัมพูชาไป คือเราต้องการเอาคนไทยที่ทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้งหมด กลับมาลงโทษที่ประเทศไทย โดยกัมพูชามีการส่งตัวกลับมา ก็ได้เข้าสู่กระบวนการคัดแยกเหยื่อ และมีมติว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ และในวันถัดมาทางการกัมพูชากวาดล้างคอลเซ็นเตอร์ฝั่งปอยเปรต ตรงข้ามอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และมีการส่งตัวคนไทยกลับมา 119 คน โดยพบว่าเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี 4 คน และจนถึงตอนนี้ทั้ง 115 คนถูกดำเนินคดีทั้งหมด ในข้อหาการมีส่วนร่วมก่ออาชญากรรมข้ามชาติ ที่มีโทษจำคุกถึง 15 ปี ร่วมกันฉ้อโกง อั้งยี่ ซ่องโจร โดยกลุ่ม 15 คนหลัง ไม่ได้ถูกดำเนินคดี เกี่ยวกับเรื่องร่วมกันฉ้อโกง เพราะเกี่ยวข้องกับบ่อนพนันออนไลน์

“นี่เป็นครั้งแรกที่เราสามารถปิดช่องว่าง ในเรื่องที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์เหล่านี้ จะใช้ช่องทางเหยื่อกันค้ามนุษย์ ที่เข้ามาในประเทศไทย โดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี“

พล.ต.อ. ธัชชัย ย้ำว่า ส่วนนี้เรามีการดำเนินคดี และเพิ่มเติมการตรวจสอบข้อมูลจากการสัมภาษณ์ในการการคัดแยกเหยื่อ การตรวจร่างกาย ตรวจข้อมูลทางโทรศัพท์ ธนาคาร และข้อมูลพยานหลักฐานต่าง ๆ ซึ่งสามารถยืนยัน จนกระทั่งศาลเชื่อ และอนุมัติการออกหมายจับทั้ง 115 คน ซึ่งยังไม่รวมคนจีนอีก 2 คน

พล.ต.อ. ธัชชัย เชื่อว่า การดำเนินการต่อจากนี้ สามารถเอาคนไทยที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายมาดำเนินคดีได้ในข้อหาหนัก รวมทั้งเรื่องของการยึดทรัพย์ด้วย

พล.ต.อ. ธัชชัย ระบุว่า ส่วนการเดินทางไปประเทศกัมพูชาในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 - 14 มี.ค. ตนเองได้พบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และกสทช. ของทางกัมพูชา โดยครั้งนี้ได้ขอบคุณเรื่องที่กัมพูชาให้ความร่วมมือในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เป็นคนไทย ซึ่งทั้งสองประเทศจะมีการร่วมมือกันอย่างแน่นในการปราบปรามคนไทยที่ลักลอบตั้งแก๊งคอลเซ็นเตอร์ฝั่งกัมพูชา และนำมาดำเนินคดีตามกฎหมายไทย รวมถึงมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจุดที่ตั้งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยไม่สามารถเปิดเผยได้ และทางการกัมพูชาจะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

เมื่อถามว่า ทางกลุ่ม BGF ของเมียนมา ได้แถลงว่าสามารถปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในเมืองเมียวดีได้กว่า 99% แล้วนั้น จเรตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าว ตนเองขอให้เป็นข้อมูลที่ยืนยันได้อีกครั้ง เพราะเราเชื่อว่าฝั่งเมียวดียังมีมากกว่า 10,000 คนขึ้นไป ที่ทำงานอยู่ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และอีกส่วนหนึ่ง จะมีประชุมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime หรือ UNODC) ในช่วงบ่ายวันนี้ ตนเองจะให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศที่มีคนถูกหลอกมาที่เมียวดี เพื่อดูว่าจากนี้ไป ยังมีคนในประเทศนั้นถูกหลอกจากฝั่งเมียวดีหรือไม่ ซึ่งตัวเลขส่วนนั้นจะยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์จากฝั่งเมียวดีได้หมดไปจริงหรือไม่

พล.ต.อ. ธัชชัย ยืนยันว่า ตัวเลขที่ BGF แถลงว่าจับกุมได้กว่า 7,000 คน และตัวเลขที่เราแถลงนั้น ไม่ตรงกัน โดยตัวเลขที่เราแถลง เป็นตัวเลขจากข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ 5,251 คน โดยตัวเลขนอกเหนือจากนั้น ตนเองเข้าใจว่าเป็นเรื่องของการยืนยันตัวบุคคลของประเทศนั้น ๆ ก่อนว่าเป็นใครบ้าง ซึ่งตัวเลขอาจเหลื่อมกันบ้าง แต่ตัวเลขที่เราแถลงคือคนที่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงการต่างประเทศและเป็นข้อมูลอย่างเป็นทางการ

ส่วนที่กลุ่ม BGF แถลงว่าอาจดูแลชาวต่างชาติจำนวนมากไม่ไหว พล.ต.อ. ธัชชัย ระบุว่า ตนเองได้พูดคุยกับทาง UNODC และสถานทูตต่าง ๆ ว่าในการระบุตัวบุคคลว่าเป็นคนประเทศไหนเป็นเรื่องแรก และเป็นเรื่องสำคัญ อีกส่วนคือการเร่งระบาย โดยหัวใจสำคัญของการทำงานของฝั่งเมียวดี คือการทำอย่างไรให้คนที่ตรวจสอบพบ และมีการจับกุมมา มีการเร่งระบายกลับประเทศอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ชนกลุ่มน้อย และฝั่งเมียนมา ได้ขับเคลื่อนการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง โดยทางการไทย จะช่วยเหลือเรื่องการเร่งระบาย หากต้องการใช้เส้นทางผ่านไทย ซึ่งเป็นประเด็นที่เราต้องช่วยทางฝั่งเมียวดี