โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เลือกตั้งซ่อม ระยอง เขต 3 เมืองแกลง-สุนทรภู่ 'ผู้ดี' บางกอก โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

MATICHON ONLINE

อัพเดต 30 ส.ค. 2566 เวลา 11.14 น. • เผยแพร่ 30 ส.ค. 2566 เวลา 11.12 น.
พิธา
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมคณะ ได้มาส่ง นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ เข้ามาสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต 3 จ.ระยอง ณ ที่ว่าการอำเภอแกลง จ. ระยอง ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากแห่มาต้อนรับ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2566 (ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_4129424)

จ.ระยอง มีเลือกตั้งซ่อม เขตเลือกตั้งที่ 3 อ.แกลง และ อ.เขาชะเมา

อ.แกลง จ.ระยอง คือเมืองแกลงที่เกี่ยวข้องสุนทรภู่ “มหากวีกระฎุมพี” (ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์)

สุนทรภู่อยู่ในตระกูล “ผู้ดี” ชาวบางกอก (กรุงเทพฯ) รับราชการตำแหน่งสูงใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน

สุนทรภู่ไม่ใช่ชาวบ้านกร่ำ เมืองแกลง (จ. ระยอง) แต่เดินทางไปบ้านกร่ำในฐานะพิเศษ ผู้ปฏิบัติ “ราชการลับ” จากราชสำนัก จึงมีผู้ใหญ่ของเมืองคอยดูแลปรนนิบัติเข้านอกออกในไปมาหาสู่ “กรมการบ้าน” เรียก “ยกกระบัตร” ซึ่งเป็นตำแหน่งหน้าที่ราชการสมัยนั้น ส่วนเมียเป็น “ท่านผู้หญิง” มีกลอนดังนี้

แล้วไปชมกรมการบ้านดอนเด็จ ล้วนเลี้ยงเป็ดหมูเนื้อดูเหลือเข็ญ
ยกกระบัตรคัดช้อนทุกเช้าเย็น เมียที่เป็นท่านผู้หญิงนั่งปิ้งปลา

ขณะอยู่บ้านกร่ำเพื่อรอกำหนดกลับกรุงเทพฯ สุนทรภู่กับคณะที่ไปด้วยกันนั่งๆ นอนๆ อย่างหงอยเหงาเปล่าเปลี่ยว เพราะไม่ใช่ถิ่นกำเนิด จึงไม่คุ้นเคยแม้มีผู้คนคับคั่งแต่ไม่รู้จัก จึงระกำใจรำพึงเป็นกลอนว่า

ถึงคนผู้อยู่เกลื่อนก็เหมือนเปลี่ยว สันโดษเดี่ยวด้วยว่าจิตผิดวิสัย
มาอยู่ย่านบ้านกร่ำระกำใจ ชวนกันไปชมทะเลทุกเวลา

สุนทรภู่เป็นเชื้อสายพราหมณ์เพชรบุรี ไม่มีเชื้อสายชาวชอง แต่มีผู้เข้าใจผิดคิดว่าสุนทรภู่มีเชื้อสายชนเผ่าชองในระยอง เพราะนิราศเมืองแกลงมีความตอนหนึ่งว่า

ด้วยเดือนเก้าเข้าวสาเป็นหน้าฝน จึงขัดสนสิ่งของต้องประสงค์
ครั้นแล้วลาฝ่าเท้าท่านบิตุรงค์ไปบ้านพงค้อตั้งริมฝั่งคลอง
ดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง
ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชองไม่เหมือนน้องนึกน่าน้ำตกกระเด็น

หมายถึง “หนุ่มสาวชาวบ้าน” ที่สุนทรภู่เห็นตามหมู่บ้านแล้ว “รำคาญจิต” นั้น “ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง” (ไม่ใช่สุนทรภู่เป็นเชื้อชอง)

ชอง เป็นชื่อกลุ่มคนพื้นเมืองดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้ว พูดตระกูลภาษามอญ-เขมร นับถือศาสนาผี มีหลักแหล่งอยู่พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก ตั้งแต่ตราด, จันทบุรี, ระยอง, ชลบุรี และเป็นประชากรสำคัญของอาณาจักรกัมพูชา ต่อมากลุ่มชองค่อยๆ กลายตนเป็นไทย พูดภาษาไทย สำเนียงดั้งเดิม (เหน่อระยอง เหมือนสำเนียงโคราช และน่าจะเป็นสำเนียงหลวงอยุธยา)

กร่ำ (ในชื่อบ้านกร่ำ) หมายถึงเครื่องล่อปลาให้เข้าไปอยู่บริเวณที่คนต้องการจับปลา โดยใช้ไม้ปักตามชายฝั่งลำน้ำ เป็นรูปกลมบ้างรีบ้าง แล้วคลุมหรือสุมด้วยกิ่งไม้เพื่อล่อปลาหลงเข้าไป เมื่อจะจับก็เอาเฝือกหรืออวนล้อมแล้วเอาไม้สุมนั้นออก เครื่องล่อปลานั้นเรียก กร่ำ หรือ กล่ำ (เข้ากันได้กับชื่อแกลง, ประแส)

แกลง (ในชื่อเมืองแกลง, อ. แกลง) หมายถึงปลาดุก (กลายคำจากภาษาชองว่า กะแล่ง)

ชื่อนี้บางคนแปลว่า แหวน ซึ่งไม่น่าเชื่อ และที่เคยบอกว่ามาจากคำอื่นก็ไม่น่าเชื่อเช่นกัน

ประแส (ในชื่อบ้านประแส, ปากน้ำประแส) หมายถึงทุ่งนา (กลายคำจากภาษาชองว่า แซ) แต่ปัจจุบันเหมาว่ามาจากกระแสร์ เลยเขียน ประแสร์

การศึกษาไทยยกย่องประวัติศาสตร์ไทย “แห่งชาติ” กระแสหลัก ที่เน้นเรื่องราวของ “ราชธานี” ได้แก่ อยุธยา, สุโขทัย แต่ด้อยค่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ส่งผลให้คนท้องถิ่นมีปัญหาเรื่องความเข้าใจ และอ่อนแอต่อความรักท้องถิ่นตน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น