โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ภูมิภาค

บึงกาฬอ่วม ฝนตกต่อเนื่องน้ำท่วม 17 หมู่บ้าน นาข้าวกว่าเกือบ 4 พันไร่ จมน้ำ

ข่าวเวิร์คพอยท์ 23

เผยแพร่ 05 ส.ค. 2566 เวลา 03.07 น.

(5ส.ค.66) ที่ จ.บึงกาฬ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้านี้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกระจายทั้ง 8 อำเภอ ทางป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบึงกาฬ ให้ข้อมูลว่า จ.บึงกาฬ มีฝนตกตลอดทั้งวันติดต่อกันมาหลายวันแล้ว เนื่องจากช่วงนี้ในพื้นที่ จ.บึงกาฬ รวมถึง จ.อื่น ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนได้รับผลกระทบ

.

เนื่องจากว่ามีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทยตอนบนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า จะส่งผลให้ในเดือน ส.ค. นี้ จ.บึงกาฬ มีฝนตกต่อเนื่องติดต่อกันนานถึง 25 - 27 วัน ปริมาณฝนสะสมทั้งเดือนจะอยู่ที่ ประมาณ 500-600 มิลลิเมตร

.

สำหรับปริมาณน้ำฝนของ จ.บึงกาฬ จากสถานีอุตุนิยมวิทยาบึงกาฬ มีปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ต้นปีจนถึง ณ ปัจจุบันนี้อยู่ที่ 2,000 มิลลิเมตรแล้ว ส่วนปริมาณฝนสะสมของทั้ง 8 อำเภอของจ.บึงกาฬ ก็มีปริมาณน้ำฝนอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเช้านี้วัดได้ 7.70 ม. เพิ่มขึ้นจากวานนี้ 20 ซม. ต่ำกว่าตลิ่ง 6.30 ม.

.

ขณะที่พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตร นาข้าว ตอนนี้มีรายงานเบื้องต้นใน 4 อำเภอ คือ อ.บึงโขงหลง มีไร่นาทางการเกษตรประสบปัญหาอุทกภัย 17 หมู่บ้าน เกษตรกรจำนวน 263 ราย พื้นที่จำนวน 2,043ไร่ / อ.เซกา 300 ไร่ /อ.พรเจริญ 1,200 ไร่ /และ อ.ศรีวิไล อีกกว่า 500 ไร่ มีถนนการเกษตรถูกน้ำกัดเซาะเสียหาย 2 แห่ง /ส่วนอีก 4 อำเภอและพื้นที่การเกษตรอื่นๆอยู่ระหว่างการสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

.

ด้าน นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผวจ.บึงกาฬ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องติดต่อกันตลอด 10 วันที่ผ่านมา ในพื้นที่จ.บึงกาฬ ก็ได้รับผลกระทบ จากปริมาณน้ำฝนที่มากที่สุดในรอบปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นน้ำที่เอ่อขึ้นมาจากแม่น้ำสายหลักคือ แม่น้ำสงคราม และ แม่น้ำสายรองที่อยู่ในพื้นที่ตอนใน

.

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น นายนฤชา บอกว่า ได้เร่งให้ทั้ง 8 อำเภอ สำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เบื้องต้นได้รับรายงานว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 2 ประเภท คือ 1.พื้นที่เกษตรกรรม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นา และมีพื้นที่ส่วนวเป็นบางส่วน ถ้าสถานการณ์ไม่มีปริมาณน้ำฝนตกลงมาเพิ่มเติมอย่างเช่น 10 วันที่ผ่านมา ก็คาดว่าอีกประมาณ 2 วัน ก็ตจะกลับเข้าสู่สถานการณปกติ ความเสียหายของพืชผลที่พี่น้องประชาชนได้ทำการเพาะปลูกก็ไม่น่าจะได้รับความเสียหายมากนัก คาดว่าสามารถฟื้นตัวได้

.

นายนฤชา กล่าวต่อไปว่า ส่วนความเสียหายของถนนเชื่อมติดต่อระหว่างหมู่บ้าน หรือถนนเพื่อการเดินทางไปทำการเกษตร ซึ่งได้รับความเสียหายในบางจุด เนื่องจากถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลาพอสมควรและส่วนใหญ่เป็นถนนลูกรัง เบื้องต้นได้มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว ในระยะต่อไปหากเกินความเสียหายที่ต้องแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้นให้เร่งสำรวจและรายงานมาที่จังหวัด ทางจังหวัดจะได้เร่งของบกลางนำไปช่วยเหลือเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้เดินทางไปมาหาสู่กันได้อย่างสะดวก

.

นายนฤชา กล่าวอีกว่า ส่วนการคาดหมายลักษณะอากาศตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งมานั้น ก็ยังคงจะมีอิทธิพลต่อพื้นที่ จ.บึงกาฬ ไปอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่จะเบาบางลงกว่าในช่วงที่ผ่านมา และปริมาณน้ำฝนในช่วงนี้ ถ้ามองในเชิงพลิกวิกฤติเป็นโอกาสแล้วถือว่าในส่วนของพื้นที่กักเก็บน้ำทั้งในส่วนของพื้นที่ระบบชลประทานขนาดเล็ก และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวในเรื่องของน้ำแล้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งถือเป็นโอกาสของ จ.บึงกาฬ ที่จะได้กักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงเวลานั้น

.

นายนฤชา กล่าวถึงสถานการณ์แม่น้ำโขง แม่น้ำสงคราม ที่จะมีผลต่อการท่วมขังในระดับพื้นที่นั้น ในขณะนี้ยังอยู่ในภาวะปกติคือแม่น้ำโขงยังอยู๋ในระดับต่ำกว่าระดับปกติวัดจากระดับน้ำถึงตลิ่งอีกประมาณ 6 เมตร ส่วนแม้น้ำสงครามยังอยู๋ในระดับต่ำกว่าระดับปกติวัดจากระดับน้ำถึงตลิ่งอีกประมาณ 3 เมตร ก็คาดว่าไม่น่าจะเกิดอุทกภัยใหญ่อย่างในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา

.

นายนฤชา บอกอีกว่า ฝากให้พี่น้องประชาชนว่าเนื่องจากในช่วงนี้ยังมีสถานการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่องอยู่ ขอให้ติดตามข่าวสารของทางราชการ โดยเฉพาะจากทางอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีการแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด

.

"สำหรับพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะเกิดน้ำท่วมได้ขอให้พี่น้องประชาชนได้เตรียมการขนย้ายสิ่งของ สัตว์เลี้ยง สิ่งของมีค่าต่างๆ ขึ้นสู่ที่สูง ตามแผนที่เราได้เตรียมการกันไว้" นายนฤชา กล่าว

.

เพจ:ข่าวเวิร์คพอยท์ https://www.facebook.com/NewsWorkpoin

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0