โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ป่าอยู่ได้เพราะนกกินผลไม้ ช่วยกระจายเมล็ดให้เติบโต แถมยังดูดคาร์บอนได้ดีขึ้น

Environman

เผยแพร่ 02 พ.ค. เวลา 00.00 น.

‘ป่าอยู่ได้เพราะนกกินผลไม้’ สัตว์กินผลไม้ที่บินได้เหล่านี้ช่วยกระจายเมล็ดพืชซึ่งทำให้ป่ามีความหลากหลายเพิ่มขึ้นและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งย้อนกลับมาดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้มากขึ้น

“การปล่อยให้สัตว์กินพืชขนาดใหญ่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระทั่วภูมิภาคป่าไม้ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการฟื้นฟูป่าเขตร้อนให้แข็งแรง” Carolina Bello นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากห้องปฏิบัติการ Crowther Lab ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสในซูริก (ETH Zurich) และผู้เขียนนำของการศึกษากล่าว

นกกินผลไม้ที่มีเอกลักษณ์เหล่านี้เช่น Red-Legged Honeycreeper, Palm Tanager หรือ Rufous-Bellied Thrush เป็นมากกว่าสัญลักษณ์แห่งการอนุรักษ์ เมื่อนักวิทยาศาสตร์พบว่านกมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศป่าเขตร้อนอย่างมาก

การศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ในวารสาร Nature Climate Change ได้ทำการเปรียบเทียบศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของป่าไม้โดยเทียบจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ภูมิประเทศ และการเคลื่อนที่ของสัตว์สายพันธุ์ต่าง ๆ เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลลงไป พวกเขาก็ประหลาดใจว่านกกินผลไม้สามารถสร้างความแตกต่างได้จริง ๆ

ด้วยการเคลื่อนที่ไปอย่างอิสระ พวกมันจะกินผลไม้ ขับถ่าย และกระจายเมล็ดพันธุ์ไปตามเส้นทาง ซึ่งกว่า 70-90% ของพันธุ์ไม้ป่าเขตร้อนถูกแพร่กระจายโดยวิธีนี้ มันทำให้ป่าสามารถเติบโตและมีความหลากหลายได้อย่างน่าทึ่ง

ไม่เพียงเท่านั้นข้อมูลยังแสดงให้เห็นอีกว่าเมื่อต้นไม้เหล่านั้นโตขึ้น พวกมันก็จะมีส่วนช่วยดูดซับคาร์บอนแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากถึง 38% ทั้งนี้มีเงื่อนไขสำคัญคือป่านั้นต้องมีต้นไม้ครอบคลุมไม่ต่ำกว่า 40% ของพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้นกสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ทั้งนกเล็กและนกใหญ่ต่างก็มีประโยชน์ทั้งคู่ โดยนกเล็กที่กินผลไม้มีประสิทธิภาพในการแพร่กระจายเมล็ดสูงกว่าเนื่องจากสามารถเคลื่อนไหวได้คล่องตัวตามต้นไม้ แต่นกขนาดใหญ่ก็มีศักยภาพในการกระจายเมล็ดพันธุ์ที่มีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนสูงกว่าเช่นกัน ทั้งคู่จึงส่งเสริมซึ่งกันและกัน

“เรารู้มาโดยตลอดว่านกมีความสำคัญ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากที่ได้ค้นพบเกี่ยวกับขนาดของผลกระทบเหล่านี้” Thomas Crowther ศาสตราจารย์ด้านนิเวศวิทยาที่ ETH Zurich กล่าว “หากเราสามารถฟื้นฟูความซับซ้อนของชีวิตภายในป่าเหล่านั้นได้ ศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนของมันก็จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก”

น่าเศร้าที่พื้นที่ป่าทั่วโลกกำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ งานวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ผ่านมาระบุว่าโลกกำลังสูญเสียป่าฝนเขตร้อนเท่ากับพื้นที่ 10 สนามฟุตบอลในทุก ๆ นาที ทำให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่ามีพื้นที่ป่าทั่วโลกเหลืออยู่เพียงประมาณ 12% จากพื้นที่เดิมเท่านั้น ซึ่งป่าเหล่านี้เป็นป่าขนาดเล็กที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก และอยู่ห่างจากกันเกินกว่าที่จะทำให้นกเคลื่อนตัวได้อย่างอิสระเต็มที่

ดังนั้นจึงต้องมีการฟื้นฟูป่าอย่างเหมาะสมเพื่อให้ระบบนิเวศอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างแข็งแกร่ง แล้วหลังจากนั้นทุกอย่างนกก็จะเป็นผู้ทำให้ป่าเติบโต

“ด้วยการระบุเกณฑ์ของการปกคลุมของป่าในภูมิภาคโดยรอบ ที่ช่วยให้เมล็ดพันธุ์กระจายตัวได้ เราสามารถระบุพื้นที่ที่สามารถฟื้นฟูตามธรรมชาติได้ เช่นเดียวกับพื้นที่ที่เราจำเป็นต้องปลูกต้นไม้อย่างจริงจัง ซึ่งช่วยให้เราสามารถเพิ่มความคุ้มค่าสูงสุดในการฟื้นฟูป่าไม้” Danielle Ramos หนึ่งในทีมวิจัย กล่าว

ที่มา

https://www.nature.com/articles/s41558-024-01989-1…

https://www.popsci.com/…/toucan-regrow-tropical-forests/

https://phys.org/…/2024-04-tropical-forests-recover…

Photo : ETH Zurich / Christian Ziegler

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0