โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที

รูปแบบแป้นพิมพ์ Kedmanee, Pattachote และ Manoonchai คืออะไร ? และแตกต่างกันอย่างไร ?

Thaiware

อัพเดต 20 ธ.ค. 2564 เวลา 02.00 น. • เผยแพร่ 20 ธ.ค. 2564 เวลา 02.00 น. • l3uch
รูปแบบแป้นพิมพ์ Kedmanee, Pattachote และ Manoonchai คืออะไร ? และแตกต่างกันอย่างไร ?
รูปแบบแป้นพิมพ์ Kedmanee, Pattachote และ Manoonchai คืออะไร ? ทั้ง 3 รูปแบบ แตกต่างกันอย่างไร ? และรู้จักจุดเริ่มต้นของแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ (Computer Keyboard)

Kedmanee, Pattachote และ Manoonchai คืออะไร ?

รูปแบบคีย์บอร์ดภาษาไทยทั้ง 3 แบบแตกต่างกันอย่างไร ?

เชื่อว่าหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับคำไร้ความหมายอย่าง “ฟหกด่าสว” และสามารถพิมพ์คำไร้ความหมายนี้ออกมาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องตามหลักการพิมพ์ที่อาจารย์คอมพิวเตอร์สอนมาตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าการพิมพ์ที่ถูกต้องนั้นจะต้องนำเอานิ้วก้อยมือขวาจรดแป้น “ฟ ฟัน”, นิ้วนางวางบนแป้น “ห หีบ”, นิ้วกลางวางที่ตัว “ก ไก่”, นิ้วชี้อยู่บนแป้น “ด เด็ก” เว้นระยะสองแป้นพิมพ์แล้ววางนิ้วชี้ข้างซ้ายที่ “ไม้เอก”, นิ้วกลางวางที่แป้น “สระอา”, นิ้วนางจรดบนตัว “ส เสือ” และนิ้วก้อยที่แป้น “ว แหวน” จากนั้นให้พิมพ์ออกมาให้ไวที่สุดจนนิ้วมือเราเคยชินกับการวางมือบนแป้นพิมพ์ให้สมดุลกันทั้งสองข้าง

การพิมพ์คอมพิวเตอร์ที่ถูกต้อง
การพิมพ์คอมพิวเตอร์ที่ถูกต้อง


ภาพจาก : http://www.thaiemb.com/board/index.php?topic=2800.0

แต่ทราบหรือไม่ว่า แป้นพิมพ์หรือคีย์บอร์ด (Keyboard) ในภาษาไทย ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้นั้นมี “ชื่อเรียกเฉพาะ” ของตัวเองอยู่ แถมมันยังมีพี่น้องแป้นพิมพ์ในภาษาไทยเราให้เลือกใช้งานกันมากกว่า 2 รูปแบบอีกด้วย !

เนื้อหาภายในบทความ

  • จุดเริ่มต้นของ แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์
    (The History of Computer Keyboard)
  • กว่าจะมาเป็น แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ภาษาไทย
    (The Story of Thai Computer Keyboard)
  • รูปแบบแป้นพิมพ์เกษมณี คืออะไร ?
    (What is Kedmanee Keyboard Layout ?)
  • รูปแบบแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ คืออะไร ?
    (What is Pattachote Keyboard Layout ?)
  • รูปแบบแป้นพิมพ์มนูญชัย คืออะไร ?
    (What is Manoonchai Keyboard Layout ?)

จุดเริ่มต้นของ แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์

(The History of Computer Keyboard)

แน่นอนว่าจุดเริ่มต้นของ แป้นพิมพ์ นั้นก็มีต้นกำเนิดมาจาก “เครื่องพิมพ์ดีด” โดยในปี ค.ศ. 1714 (พ.ศ. 2257) Henry Mill วิศวกรชาวอังกฤษได้ยื่นเรื่องขอจดสิทธิบัตรของ “เครื่องถอดอักษร (Machine for Transcribing Letters)” ขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้เป็นที่พูดถึงและนิยมใช้งานมากนัก จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1808 (พ.ศ. 2351) นักประดิษฐ์ชาวอิตาลีอย่าง Pellegrino Turri ได้ประดิษฐ์ “เครื่องพิมพ์ดีด” เครื่องแรกของโลกขึ้นมาเพื่อให้เขากับ Countess Carolina Fantoni da Fivizzano เพื่อนของเขาที่พิการทางสายตาได้อย่างสะดวกมากขึ้น

และในช่วงศตวรรษที่ 19 ก็ได้มีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ๋ที่จะมาช่วยทุ่นแรงในการเขียนอักษรออกมาค่อนข้างมาก แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากเท่าไรนักจึงไม่มีการบันทึกเอาไว้อย่างชัดเจน จนเมื่อปี ค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413) Malling Hansen บาทหลวงชาวเดนมาร์กได้ทำการประดิษฐ์ “Writing Ball” หรือเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายพิมพ์ดีดที่มีแป้นโค้งเป็นทรงกลมและมีปุ่มกดสำหรับพิมพ์ดีดตัวอักษรลงบนหน้ากระดาษออกมาวางจำหน่ายในท้องตลาด

 

Writing Ball
Writing Ball
Writing Ball
Writing Ball

ภาพจาก : https://www.typewritermuseum.org/collection/index.php3?machine=hansen&cat=kd

ถัดมาในปี ค.ศ. 1873 (พ.ศ. 2416) ก็ได้มีการวางจำหน่าย “เครื่องพิมพ์ดีด Sholes & Glidden” ในสหรัฐอเมริกาและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย โดยเครื่องพิมพ์ดีดชนิดนี้มีแนวคิดมาจากสิ่งประดิษฐ์ของ Christopher L. Sholes และ Carlos Glidden ผู้ช่วยของเขาที่ช่วยกันคิดค้นการนำเอาแผ่นคาร์บอนมาประกบคู่กับกระดาษและกดลงบนแท่นที่มีหลักการทำงานคล้ายคลึงกับเครื่องพิมพ์ดีดที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง (ในตอนแรกสามารถสร้างได้แค่จุดเล็ก ๆ บนแผ่นกระดาษ แต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนแท่นกดให้เป็นรูปตัวอักษรต่าง ๆ จึงสามารถพิมพ์ตัวหนังสือออกมาได้) จากนั้นก็ได้มีการพัฒนานำเอา “หมึกผ้า (Ink Ribbon)” หรือแผ่นผ้าชุ่มน้ำหมึกที่สามารถใช้งานซ้ำได้มากกว่า

เครื่องพิมพ์ดีด Sholes & Glidden
เครื่องพิมพ์ดีด Sholes & Glidden

ภาพจาก : https://www.ssplprints.com/image/83332/sholes-and-glidden-typewriter-1875

นอกจากนี้ “เครื่องพิมพ์ดีด Sholes & Glidden” ยังเป็นเครื่องพิมพ์ดีดชนิดแรกที่ได้มีการใช้งานแป้นพิมพ์แบบ “QWERTY” ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันนี้อีกด้วย โดยในตอนแรกเครื่องพิมพ์ดีด Sholes & Glidden นั้นสามารถพิมพ์ได้เฉพาะแค่ตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์ใหญ่เท่านั้น แต่ต่อมาที่ Sholes ได้ขายลิขสิทธิ์ให้กับ James Densmore เขาก็ได้นำไปพัฒนาร่วมกับ Remington จนประดิษฐ์เป็นเครื่องพิมพ์ดีดที่มีทั้งตัวอักษรพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก โดยในเบื้องต้นมีลักษณะเป็นแป้นพิมพ์แยกตัวอักษรพิมพ์เล็กและพิมพ์ใหญ่ ก่อนจะมีการประดิษฐ์ “ปุ่ม Shift” ขึ้นมาเพื่อรวมตัวอักษรพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็กไว้ในแป้นเดียวและกลายมาเป็นต้นแบบของคีย์บอร์ดที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้

แป้นพิมพ์แบบ “QWERTY” ที่เราคุ้นเคยกันดี
แป้นพิมพ์แบบ “QWERTY” ที่เราคุ้นเคยกันดี


ภาพจาก : https://www.daskeyboard.com/blog/wp-content/uploads/qwerty-windows-1024x338.jpg

กว่าจะมาเป็น แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ภาษาไทย

(The Story of Thai Computer Keyboard)

สำหรับ แป้นพิมพ์ในภาษาไทย นั้นก็ได้รับอิทธิพลมาจาก “เครื่องพิมพ์ดีด” โดยหลังจากที่มันได้ล่องเรือจากสหรัฐอเมริกามายังประเทศไทยแล้วนั้น คุณ Edwin Hunter McFarland เลขานุการส่วนพระองค์ของสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพก็ได้ดัดแปลงเครื่องพิมพ์ดีดจากภาษาอังกฤษโดยเพิ่มตัวอักษรไทยลงไปบนแป้นพิมพ์ แต่เนื่องจากภาษาไทยมีสระและวรรณยุกต์มาก จึงได้เลือกใช้งานเครื่องพิมพ์ดีดของบริษัท Smith Premier มาดัดแปลงอักษรไทยบนแป้นพิมพ์

แต่ถึงแม้ว่าแป้นพิมพ์ของบริษัท Smith Premier นั้นจะมีจำนวนแป้นพิมพ์มากกว่าเครื่องพิมพ์ดีดทั่ว ๆ ไปแล้วก็ตาม แต่ก็พบปัญหาว่าไม่สามารถนำเอาตัวอักษรในภาษาไทยใส่ลงไปบนแป้นพิมพ์ได้ครบถ้วนทุกตัวอักษร Edwin จึงตัดสินใจนำเอาพยัญชนะตัว “ฃ ฃวด และ ฅ ฅน” ออกไปจากแป้นพิมพ์ดีดภาษาไทย เนื่องจากเป็นอักษรที่ใช้งานไม่บ่อย แถมยังสามารถใช้ตัว ข ไข่ และ ค ควาย ในการพิมพ์ทดแทนได้

เครื่องพิมพ์ดีดของบริษัท Smith Premier ที่มีจำนวนแป้นมากกว่าเครื่องพิมพ์ดีดทั่ว ๆ ไป
เครื่องพิมพ์ดีดของบริษัท Smith Premier ที่มีจำนวนแป้นมากกว่าเครื่องพิมพ์ดีดทั่ว ๆ ไป

ภาพจาก : https://www.antikeychop.com/smith-premier-no1

โดยเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรกของโลกนั้นได้พัฒนาขึ้นเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1892 (พ.ศ. 2435) เป็นแป้นพิมพ์ 7 แถว แถวละ 12 ตัว และไม่มี “ปุ่ม Shift” ต่อมาได้ขายกิจการและกรรมสิทธิ์เครื่องพิมพ์ดีดให้กับบริษัท Remington ทาง Remington จึงได้ทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบของแป้นพิมพ์บนเครื่องพิมพ์ดีดและเพิ่ม “ปุ่ม Shift” ขึ้นมาก่อนวางจำหน่ายในช่วงปี ค.ศ.1915 (พ.ศ. 2458) ซึ่งแป้นพิมพ์ของเครื่องพิมพ์ดีดตัวใหม่นี้มีเพียง 4 แถวเท่านั้น และแป้นพิมพ์แบบใหม่ชนิดนี้เองก็เป็นจุดกำเนิดของแป้นพิมพ์เกษมณี (Kedmanee)

รูปแบบแป้นพิมพ์เกษมณี คืออะไร ?

(What is Kedmanee Keyboard Layout ?)

แป้นพิมพ์เกษมณี (Kedmanee) เป็นแป้นพิมพ์ภาษาไทยตั้งต้นและเป็นแป้นพิมพ์มาตรฐานของภาษาไทยที่พัฒนาขึ้นแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1931 (พ.ศ. 2474) โดยที่มาของชื่อแป้นพิมพ์นี้มาจากชื่อของผู้พัฒนาการจัดเรียงอักษรบนแป้นพิมพ์อย่าง “คุณสุวรรณประเสริฐ เกษมณี” นั่นเอง และนอกจากนี้ยังมีคุณสวัสดิ์ มากประยูร และแพทย์ George B. McFarland (น้องชายของ Edwin) ผู้ดำรงตำแหน่งพระอาจวิทยาคมร่วมพัฒนาการเรียงอักษรบนแป้นพิมพ์ภาษาไทยแบบเกษมณีด้วย

แป้นพิมพ์เกษมณีนั้นมีแป้นเหย้าทางซ้ายที่ตัวอักษร “ฟ ห ก ด” และทางขวาที่ “ ่ า ส ว” จึงเป็นที่มาของการพิมพ์ดีด “ฟหกด่าสว” ที่เราคุ้นเคยกันดี อีกทั้งมันยังถูกพัฒนาขึ้นมาให้สามารถพิมพ์ได้ถนัดมือมากที่สุดและพิมพ์ได้รวดเร็วมากที่สุด ซึ่งหากกด “ปุ่ม Shift” ที่ตัว “–ึ” จะได้ไม้หันอากาศและไม้โท “–ั้” ที่ช่วยประหยัดเวลาการพิมพ์ได้

เครื่องพิมพ์ดีดแบบแป้นพิมพ์เก่าที่เมื่อกด “ปุ่ม Shift” ที่ตัว “–ึ” จะได้ไม้หันอากาศและไม้โท “–ั้”
เครื่องพิมพ์ดีดแบบแป้นพิมพ์เก่าที่เมื่อกด “ปุ่ม Shift” ที่ตัว “–ึ” จะได้ไม้หันอากาศและไม้โท “–ั้”


ภาพจาก : http://upic.me/i/sk/dscf1546.jpg

แต่ในภายหลังที่ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการบัญญัติใช้งานแป้นพิมพ์ภาษาไทยร่วมกับคอมพิวเตอร์ในปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) ก็ได้พัฒนาแป้นพิมพ์เกษมณีขึ้นมาให้สมบูรณ์โดยได้เพิ่มตัวอักษรที่หายไปทั้ง 2 ตัว อย่าง “ฃ ฃวด” และ “ฅ ฅน” เพิ่มขึ้นมา รวมทั้งได้เพิ่มตัว “ๅ” และเครื่องหมาย “+” พร้อมทั้งเพิ่มสัญลักษณ์สกุลเงินบาท “฿” ขึ้นมาแทน “–ั้” บนแป้นพิมพ์ดีด ทำให้คีย์บอร์ดในภาษาไทยมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นและใช้งานกันมาอย่างแพร่หลายจนถึงในปัจจุบันนี้นั่นเอง

แป้นพิมพ์เกษมณีรูปแบบใหม่
แป้นพิมพ์เกษมณีรูปแบบใหม่


ภาพจาก : https://dekaus.com/wp-content/uploads/2017/09/MLA22TH.jpg

รูปแบบแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ คืออะไร ?

(What is Pattachote Keyboard Layout ?)

หลังจากที่ได้มีการพัฒนาและใช้งานแป้นพิมพ์เกษมณีไประยะหนึ่ง ในปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) คุณสฤษดิ์ ปัตตะโชติได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการใช้งานแป้นพิมพ์แบบเกษมณีขึ้นมา และพบว่าแป้นพิมพ์เกษมณีนั้นจะมีการใช้งานมือขวาหนักกว่ามือซ้ายในอัตราส่วน 70:30 โดยเฉพาะนิ้วก้อยด้านขวาที่จะมีการใช้งานที่หนักกว่านิ้วก้อยข้างซ้ายอย่างเห็นได้ชัด เขาจึงได้ประดิษฐ์ แป้นพิมพ์ปัตตะโชติ (Pattachote) ขึ้นโดยปรับเปลี่ยนการจัดวางตัวอักษรใหม่ให้มีการเฉลี่ยใช้มือและนิ้วทั้งสองข้างเท่า ๆ กัน (เฉลี่ยการใช้งานมือขวาและมือซ้ายอยู่ที่ 53:47)

ซึ่งจากการวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติก็ได้ระบุว่าแป้นพิมพ์ปัตตะโชตินั้นสามารถเพิ่มความสามารถในการพิมพ์ได้รวดเร็วกว่าแป้นพิมพ์แบบเกษมณีถึง 25.8% ทั้งยังช่วยลดอาการปวดนิ้วมือจากการพิมพ์ได้อีกด้วย แต่แป้นพิมพ์ปัตตะโชตินี้ก็ไม่ได้รับความนิยมในการใช้งานมากนัก เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่เกิดความเคยชินกับการใช้แป้นพิมพ์เกษมณีไปก่อนแล้ว

แป้นพิมพ์ปัตตะโชติ
แป้นพิมพ์ปัตตะโชติ

ภาพจาก : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/11/Pattajoti.gif

โดยแป้นพิมพ์ปัตตะโชตินั้นจะมีแป้นเหย้าทางซ้ายที่ “  ้ ท ง ก” และทางขวาที่ “า น เ ไ” รวมทั้งมีแป้นเพิ่มเติมขึ้นมาอีก 1 แป้น แต่ยังไม่มีการนำเอาพยัญชนะ ฃ ฃวด และ ฅ ฅนเพิ่มเข้ามาเหมือนกับแป้นพิมพ์เกษมณีในยุคแรก ๆ

วิธีการปรับการตั้งค่าใช้งานแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ

สำหรับใครที่อยากลองใช้งานแป้นพิมพ์ปัตตะโชติก็สามารถเข้าไปตั้งค่าการใช้งานคีย์บอร์ดภาษาไทยได้ดังนี้

  • เข้าไปใน "เมนู ตั้งค่า" (Setting)
  • เลือก "เมนู Time & Language”
  • จากนั้นไปที่ “เมนู Language”
  • กดที่ “ปุ่ม Option” ของภาษาไทยใน Preferred languages
  • เลือก [ + Add a keyboard] แล้วกดเพิ่ม ไทย ปัตตะโชติ (Thai Pattachote)

ก็จะสามารถสลับใช้งานแป้นพิมพ์แบบปัตตะโชติได้แล้ว ส่วนใครที่ใช้งาน macOS ก็สามารถเข้าไปตั้งค่าการใช้งานแป้นพิมพ์ได้ที่ “เมนู System Preferences”

 

วิธีการปรับการตั้งค่าแป้นพิมพ์ปัตตโชติ
วิธีการปรับการตั้งค่าแป้นพิมพ์ปัตตโชติ
วิธีการปรับการตั้งค่าแป้นพิมพ์ปัตตโชติ
วิธีการปรับการตั้งค่าแป้นพิมพ์ปัตตโชติ
วิธีการปรับการตั้งค่าแป้นพิมพ์ปัตตโชติ
วิธีการปรับการตั้งค่าแป้นพิมพ์ปัตตโชติ
วิธีการปรับการตั้งค่าแป้นพิมพ์ปัตตโชติ
วิธีการปรับการตั้งค่าแป้นพิมพ์ปัตตโชติ

รูปแบบแป้นพิมพ์มนูญชัย คืออะไร ?

(What is Manoonchai Keyboard Layout ?)

นอกเหนือไปจากแป้นพิมพ์มาตรฐานอย่างแป้นพิมพ์เกษมณีที่นิยมใช้งานกันทั่วบ้านทั่วเมืองและแป้นพิมพ์ทางเลือกอย่างแป้นพิมพ์ปัตตะโชติแล้ว ยังมีแป้นพิมพ์น้องใหม่แกะกล่องที่เพิ่งเปิดตัวในช่วงปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) นี้อย่าง แป้นพิมพ์มนูญชัย (Manoonchai) อีกด้วย โดยทางผู้คิดค้นระบุว่าแป้นพิมพ์มนูญชัยนี้ช่วยให้สามารถพิมพ์ได้รวดเร็วกว่าแป้นพิมพ์เกษมณีถึง 45 % เลยทีเดียว เนื่องจากมีการนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยในจัดเรียงพยัญชนะบนแป้นพิมพ์ให้เหมาะกับการใช้งานของคนไทยในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

แป้นพิมพ์มนูญชัยพิมพ์ง่ายกว่าแป้นพิมพ์เกษมณีถึง 45%
แป้นพิมพ์มนูญชัยพิมพ์ง่ายกว่าแป้นพิมพ์เกษมณีถึง 45%

ภาพจาก : shorturl.at/rsNT6

สำหรับชื่อของแป้นพิมพ์มนูญชัยนี้ก็นำเอาหลักการตั้งชื่อเดียวกับแป้นพิมพ์รุ่นพี่ทั้ง 2 คือ นำเอานามสกุลของผู้คิดค้นและจัดเรียงตัวอักษรมาเป็นชื่อแป้นพิมพ์ โดยผู้ที่คิดค้นการจัดเรียงตัวอักษรให้กับแป้นพิมพ์มนูญชัยนี้ก็ได้แก่ คุณมนัสสาร มนูญชัย ผู้ที่ได้นำเอาโค้ดและ Algorithm ร่วมกับข้อมูลจาก Big Data มาประมวลผลการจัดเรียงตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ใหม่โดยคงสมดุลการใช้งานมือทั้งมือซ้ายและมือขวาในสัดส่วนเดียวกับแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ (53:47)

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของแป้นพิมพ์มนูญชัยคือ การใช้งานเลขอารบิกเป็นค่าตั้งต้น เพราะในปัจจุบันไม่นิยมใช้งานเลขไทยกันมากเท่าสมัยก่อนแล้ว จึงนำเอาตัวเลขอารบิกมาเป็นเลขตั้งต้นของแป้นพิมพ์แทนเพื่อลดระยะเวลาและความผิดพลาดของการสลับใช้งานภาษา และหากต้องการพิมพ์เลขไทยก็สามารถกด Alt ค้างไว้เพื่อพิมพ์เลขไทยได้ อีกทั้งยังปรับการใช้งานแป้นพิมพ์ให้เหมาะกับแลปท็อปหรือคีย์บอร์ดขนาดเล็กที่จะไม่มีตัวอักษรไทยปะปนอยู่ในแถวตัวเลขเพื่อลดความสับสนในการใช้งานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

แป้นพิมพ์มนูญชัย
แป้นพิมพ์มนูญชัย


ภาพจาก : https://manoonchai.com/

ไม่เพียงเท่านั้น การจัดเรียงตัวอักษรของแป้นพิมพ์มนูญชัยยังนำเอา AI มาช่วยประมวลผลข้อมูลจำนวนมากเพื่อลดความเอนเอียง (Bias) ทำให้เป็นแป้นพิมพ์ที่เหมาะกับการใช้งานทั่วไปมากที่สุด (แป้นพิมพ์แบบเกษมณีหรือปัตตะโชติอาจเอื้อในการพิมพ์เอกสารราชการหรือบทความวิชาการต่าง ๆ ที่มากกว่าแป้นพิมพ์มนูญชัย) ซึ่งผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งสิ้นแล้วก็ได้ตัดตัวอักษรออกไปทั้งหมด 4 ตัว ได้แก่ ฃ ฃวด, ฅ ฅน, ฦ และ ๏ รวมทั้งนำเอาตัวอักษรที่ไม่นิยมใช้งานอย่าง ฑ, ฬ, ฌ และ ฯ ไปไว้ตำแหน่งขวามือสุดเหนือปุ่ม Enter ส่วนแป้นเหย้าของแป้นพิมพ์มนูญชัยทางซ้ายจะเป็นตัวอักษร “ง เ ร น” และ “า ่  ้ว” ที่ทางขวา

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจใช้งานแป้นพิมพ์มนูญชัยก็สามารถเข้าไปทดลองพิมพ์และดาวน์โหลดมาติดตั้งได้ที่เว็บไซต์ https://manoonchai.com/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น