โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศูนย์ฯ PM 2.5 สธ. แนะวิธี DIY ห้องปลอดฝุ่น รับมือฝุ่นสีแดง 15 จังหวัด

The Bangkok Insight

อัพเดต 23 ม.ค. เวลา 10.15 น. • เผยแพร่ 23 ม.ค. เวลา 10.15 น. • The Bangkok Insight
ศูนย์ฯ PM 2.5 สธ. แนะวิธี DIY ห้องปลอดฝุ่น รับมือฝุ่นสีแดง 15 จังหวัด
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ศูนย์ฯ PM 2.5 สธ. เผย ค่าฝุ่นยังพุ่งไม่หยุด อยู่ระดับสีแดง 15 จังหวัด แนะวิธี DIY ห้องปลอดฝุ่น ลดโอกาสสัมผัสฝุ่นในบ้าน

ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ด้านแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 พร้อมด้วย นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงแนวทางการดูแลสุขภาพจากสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดย ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เมื่อวานที่ผ่านมา มีการพิจารณาแนวทางในการประกาศพื้นที่ควบคุมโรคจากฝุ่น PM 2.5 โดยใช้หลักเกณฑ์ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 ในรอบ 24 ชั่วโมง มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ติดต่อกันในระยะเวลาหนึ่ง

PM 2.5
PM 2.5
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดขอความเห็นชอบมาที่อธิบดีกรมควบคุมโรค พิจารณาประกาศ ซึ่งจะทำให้สามารถออกมาตรการต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานและพื้นที่ ไม่กระทบทั้งธุรกิจของนายจ้างและรายได้ของลูกจ้าง โดยจะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมวันนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบจังหวัดที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานรวม 60 จังหวัด แยกเป็น

  • ระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (37.6 - 75 มคก./ลบ.ม) จำนวน 45 จังหวัด
  • ระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ (มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป) จำนวน 15 จังหวัด จากเดิม 9 จังหวัด ได้แก่ ระยอง พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ เพชรบุรี สระบุรี สุโขทัย ปทุมธานี ลพบุรี สมุทรสาคร ปราจีนบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี ราชบุรี สิงห์บุรี และสมุทรสงคราม โดย จังหวัดที่มีค่าฝุ่นสีแดงติดต่อกัน 3 วันขึ้นไป คือ เพชรบุรี สุโขทัย สระบุรี สมุทรสาคร และ กทม.
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าช่วงวันที่ 24-27 มกราคม 2568 พื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ยังคงมีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในระดับสีส้ม จึงขอให้ประชาชนตรวจสอบค่าฝุ่นเป็นประจำและปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ในภาวะที่มีฝุ่นละอองสูงในบรรยากาศ การทำห้องปลอดฝุ่นเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองภายในห้อง และลดโอกาสสัมผัสฝุ่นละอองภายในอาคาร โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น

ขณะที่หลักการสำคัญ คือ กันฝุ่นเข้า กรองฝุ่นในห้อง และดันฝุ่นออก ซึ่งมีแนวทางการจัดทำ 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 การปิดประตู-หน้าต่าง ช่วยป้องกันฝุ่นไม่ให้เข้ามายังภายในห้อง รูปแบบที่ 2 ระบบฟอกอากาศ และรูปแบบที่ 3 ระบบแรงดันบวก

วิธีทำห้องปลอดฝุ่น

1. เลือกพื้นที่หรือห้องสำหรับทำห้องปลอดฝุ่น โดยเลือกที่อยู่ห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่น มีช่องว่าง ประตูหน้าต่างน้อย เก็บหรือทำความสะอาดวัสดุที่เป็นแหล่งสะสมฝุ่นในห้อง

2. ปิดประตู-หน้าต่างให้มิดชิด เพื่อลดช่องว่าง ป้องกันฝุ่นจากภายนอกเข้ามาในห้อง

3. ตรวจสอบรอยรั่วของห้อง เช่น บริเวณประตู หน้าต่าง และปิดช่องหรือรูที่อากาศภายนอกเข้าอาคารได้ด้วยวัสดุปิดผนึก เช่น พลาสติก ยิปซั่มบอร์ด เทป

4. ลดฝุ่นในห้องโดยใช้ระบบฟอกอากาศหรือการเติมอากาศ เพื่อดันฝุ่นออกจากห้อง

5. หมั่นดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ใช้ผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดทำความสะอาด ไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย

กรณีที่ใช้เครื่องฟอกอากาศ ขอให้ตรวจสอบความปลอดภัยเบื้องต้น เลือกเครื่องฟอกอากาศให้เหมาะสมกับขนาดห้อง และดูค่าอัตราการจ่ายอากาศสะอาด (Clean Air Delivery Rate; CADR) ซึ่งจะระบุอยู่ที่ตัวเครื่อง/คู่มือ หมั่นตรวจสอบการทำงานของเครื่องและควรเปลี่ยนแผ่นกรองทุก 6 เดือน – 1 ปี

นอกจากทำห้องปลอดฝุ่นด้วยตนเองแล้ว ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าใช้บริการห้องปลอดฝุ่นได้ทั้งในสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 3,438 ห้อง ศูนย์พัฒนาเด็ก/โรงเรียน 1,003 ห้อง อาคารสำนักงาน 529 ห้อง ร้านอาหาร ร้านกาแฟ และอื่นๆ 426 ห้อง รวม 5,396 ห้อง ใน 62 จังหวัด

ค้นหาห้องปลอดฝุ่นใกล้บ้าน รวมทั้งค้นหาความรู้และวิธีการทำห้องปลอดฝุ่น ได้ที่เว็บไซต์ https://podfoon.anamai.moph.go.th/ หรือสอบถามสายด่วนกรมอนามัย 1478 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่