มาตรฐานสินค้า TIS (มอก.), UL, FCC, CE, RoHs, FDA คืออะไร ? แตกต่างกันมั้ย ?
เวลาซื้อสินค้า และ คุณเห็นสัญลักษณ์ เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ บนฉลาก คุณอาจจะสงสัยว่าความหมายของสัญลักษณ์เหล่านั้นมันรับรองเรื่องอะไรในตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งในบทความนี้เราก็ได้รวบรวมเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นได้บ่อย ๆ อย่าง TIS (มอก.), UL, FCC, CE, RoHs, FDA มาฝากไว้ อยากให้ทุกคนลองศึกษาไปพร้อมกันว่ามันแตกต่างกันอย่างไร ?
เนื้อหาภายในบทความ
- TIS - มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย (มอก.)
- UL - มาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง
- FCC - มาตรฐานสำหรับความปลอดภัยบนอุปกรณ์สื่อสาร
- CE - มาตรฐานกลางของเขตเศรษฐกิจยุโรป
- RoHS - มาตรฐานเพื่อสิ่งแวดล้อม
- FDA - มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ ฯ
TIS - มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย (มอก.)
มอก. ย่อมาจาก มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Thai Industrial Satandard) ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้แก่ผู้ผลิต ในการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเหมาะสมกับการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณสมบัติที่สำคัญ วัสดุที่ใช้ผลิต ขนาดที่เหมาะสม รวมถึงวิธีการทดสอบที่ผ่านการรับรองแล้ว โดยข้อกำหนดเหล่านั้นจะครอบคลุมสินค้าในชีวิตประจำวันหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภท โภคภัณฑ์ ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร วัสดุก่อสร้าง เครื่องหอม สิ่งทอ เป็นต้น
ซึ่งสินค้าที่ผ่านมาตรฐาน มอก. จะได้รับโลโก้กับเลขที่ มอก. ระบุอยู่บนตัวสินค้า ถือเป็นเครื่องยืนยันว่า เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ใช้งานได้จริง มีความปลอดภัย และ สมราคา โดยเครื่องหมายของ มอก. จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป
เป็นเครื่องหมายที่ไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ยื่นขอเครื่องหมายสามารถสมัครใจขอการรับรองเพื่อให้การพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดได้ ซึ่งก็จะได้ความเชื่อมั่นกับลูกค้าด้วย เช่น อาหาร, เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ
สำหรับตัวเครื่องหมายมาตรฐานบังคับ จะครอบคลุมสินค้าที่จำเป็นต้องมีมาตรฐาน มอก. มารับรอง เพราะอาจทำให้ผู้บริโภคไม่ปลอดภัย และ เกิดความเสียหายต่อภาพรวม เช่น สายไฟฟ้า ถังดับเพลิง หมวกกันน็อค รถยนต์ หรืออุปกรณ์เซฟตี้ต่าง ๆ เป็นต้น
เครื่องหมายอื่น ๆ ของ มอก.
นอกจากเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป และ เครื่องหมายมาตรฐานบังคับ มอก. ยังมีอีก 4 เครื่องหมายที่เราอาจได้พบเห็นบนสินค้าบางประเภท ซึ่งเป็นเครื่องหมายเฉพาะที่ออกโดย มอก. นั่นคือ
- เครื่องหมายมาตรฐานเฉพาะด้านความปลอดภัย เช่น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า
- เครื่องหมายมาตรฐานเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ตู้น้ำไม่มีสาร CFC ผสม
- เครื่องหมายมาตรฐานเฉพาะด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น อุปกรณ์สื่อสาร โทรศัพท์ วิทยุ ที่ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในปริมาณที่เหมาะสมและไม่เป็นอันตรายกับคน
- เครื่องหมายมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น สินค้า OTOP ที่ผ่านการรับรองโดย สมอ.
UL - มาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง
UL ย่อมาจาก Underwriter Laboratories เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1894 (พ.ศ. 2437) ได้รับความเชื่อถือให้เป็นผู้กำหนดมาตรฐานในการผลิตสินค้าของอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะ ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัย เครื่องมือทางการแพทย์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ พลาสติก เครื่องจักรในอุตสาหกรรม วัสดุก่อสร้าง และ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง สายไฟฟ้า เป็นต้น
UL จะมีการเน้นมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะจุดมุ่งหมายขององค์กรคือการทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานทุกประเภท มีความปลอดภัยที่สุด เช่น รับรองสายไฟว่ามีขนาดที่ถูกต้องหรือไม่ รองรับกระแสไฟได้ตามมาตรฐานหรือเปล่า เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้งานสิ่งเหล่านี้จะมีความปลอดภัยสูงสุด
สินค้าที่ได้รับโลโก้พร้อมเลขทะเบียน UL ระบุอยู่บนตัวสินค้า ถือ เป็นเครื่องยืนยันว่า เป็นสินค้าที่มีความปลอดภัย สูงสุดและได้รับการยอมรับในระดับสากลได้รับความเชื่อมั่น ทั้งจากผู้บริโภค ซัพพลายเออร์ พาร์ทเนอร์ รวมถึงบริษัทประกันภัย เป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ในระดับโลก
FCC - มาตรฐานสำหรับความปลอดภัยบนอุปกรณ์สื่อสาร
FCC Certificate หรือ FCC ย่อมาจาก The Federal Communications Commission เดิมเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการเกี่ยวกับการสื่อสาร และ โทรคมนาคมของสหรัฐ ฯ โดยเฉพาะของรัฐบาล แต่ปัจจุบันก็มีหน้าที่รับผิดชอบให้การรับรองผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการสื่อสารทุกประเภทโดยจะครอบคลุมสินค้าประเภท โทรทัศน์ มือถือ กล้องดิจิทัล อุปกรณ์บลูทูธ อุปกรณ์ไร้สาย และ วิทยุ เป็นต้น
มาตรฐานของ FCC หรือ FCC Certification ไม่ได้เป็นตัวกำหนดคุณภาพ หรือ ความคงทนของตัวสินค้า แต่ใช้เพื่อยืนยันว่าสินค้าเหล่านั้นผ่านข้อจำกัดด้านความปลอดภัยจากการใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกประเภท เช่น มีการปล่อยคลื่นรบกวนหรือไม่ หรือ มีการปล่อยสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า (รังสีไอออไนซ์) และทำร้ายตัวผู้ใช้หรือไม่ หากมีการทดสอบแล้วว่าอุปกรณ์เหล่านั้นมีความปลอดภัยที่ผ่านเกณฑ์ และ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ก็จะได้รับการเคลมด้วยมาตรฐาน FCC Certification นั่นเอง
ในแง่ของผู้บริโภคใบรับรอง FCC ประโยชน์ที่ได้คือความปลอดภัย ส่วนตัวผู้ผลิตแล้วนอกจากจะได้ความเชื่อมั่นกับลูกค้า การได้ใบรับรอง FCC บนตัวสินค้าก็เหมือนเป็นใบเบิกทางสู่การขายสินค้าในสหรัฐ ฯ นั่นเอง
CE - มาตรฐานกลางของเขตเศรษฐกิจยุโรป
CE Certification หรือ CE ย่อมาจาก Conformite Europeene เป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรป ที่ถูกใช้เพื่อส่งเสริมนโยบายการค้าของ เขตเศรษฐกิจยุโรป หรือ EEA (The European Economic Area) เพราะแต่เดิมประเทศต่าง ๆ ในแถบยุโรป ก็ไม่ได้มีการใช้มาตรฐานเดียวกันอยู่แล้ว ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่จะมาวางขายในแถบยุโรป ก็ต้องมีการทดสอบหลายมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับสินค้าตัวเอง แถมถ้าต้องการกระจายสินค้าไปทั่วยุโรป ก็ต้องทำให้ผ่านมาตรฐานของแต่ละประเทศด้วย
ดังนั้นเพื่อไม่ให้การนำเข้าสินค้าสู่ยุโรปเป็นข้อจุกจิกยุ่งยาก ทาง EEA จึงได้กำหนดมาตรฐาน CE Certification ขึ้นมาเพื่อใช้เป็น ข้อกำหนดตัวกลางมาตรฐานสำหรับการออกกฎหมายของแต่ละประเภทให้สอดคล้องกัน โดยจะครอบคลุมสินค้าประเภท เครื่องจักรอุตสาหกรรม, อุปกรณ์ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง, อุปกรณ์ทางการแพทย์, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ของเล่น ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ เรียกว่าเกือบทุกอย่างเลยก็ว่าได้
โดยสินค้าที่ได้รับรอง CE Certification ก็หมายความว่าสินค้าเหล่านั้นมีความปลอดภัยทั้งด้านอุบัติเหตุ หรือ ด้านสุขภาพ และเรื่องของการรักษาสิ่งแวดล้อมของตัวสินค้า ถือว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและได้สิทธิ์ทันทีในการกระจายสินค้าไปทั่วยุโรป เว้นแต่ว่าสินค้าบางประเภทจะต้องมีมาตรฐานเฉพาะ เพื่อรับรองเพิ่มเติมอีกทีเช่น มาตรฐานความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) ในกลไกของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
RoHS - มาตรฐานเพื่อสิ่งแวดล้อม
RoHS Certification หรือ RoHS ย่อมาจาก Restriction of Certain Hazardous Substances เป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรปเช่นกัน แต่เกี่ยวเนื่องเฉพาะด้านการใช้สารอันตรายในผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ซึ่งหมายความว่ามาตรฐานของ RoHS จะใช้กำหนดค่าสูงสุดของสารต่าง ๆ จำพวก ตะกั่ว ปรอท และ แคดเมียม ที่มีความจำเป็นต่อเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด
โดยหากสินค้าพวกนั้นจำเป็นต้องใช้สารเหล่านี้ ก็ต้องได้รับการรับร้องมาตรฐาน RoHS ด้วยว่ามีการใช้ในปริมาณที่เหมาะสมหรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ รวมถึงสิ่งแวดล้อม
RoHS มีผลบังคับใช้โดยตรงในบางประเทศ ซึ่งรวมถึงในสหภาพยุโรปทั้งหมด สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทุกชนิดที่ใช้สารเหล่านี้หากไม่ผ่านใบรับรองมาตรฐาน RoHS คุณจะไม่มีสิทธิ์ขายสินค้าในประเทศเหล่านั้นได้เลย เพราะมาตรฐานนี้เกี่ยวพันกับสิ่งแวดล้อมของโลก มันจึงค่อนข้างสำคัญมากทีเดียวสำหรับยุคนี้
FDA - มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ ฯ
FDA Certification หรือ FDA ย่อมาจาก Food and Drug Administration คือ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา พูดง่าย ๆ ก็คือเหมือนกับ 'อย.' บ้านเรา โดยมาตรฐานของ FDA ก็จะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของสินค้าอุปโภค บริโภค ทั้ง ยา และ อาหาร รวมถึงเครื่องสำอางค์ กับ อุปกรณ์ทางการแพทย์ในสหรัฐ ฯ
เช่นเดียวกับ 'อย.' ในบ้านเรา แม้ว่ามาตรฐานของ FDA จะครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์จำนวนมาก แต่สินค้าบางประเภทอย่างอาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม และ เครื่องสำอางค์ ไม่จำเป็นต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน FDA ถึงจะสามารถวางขายในสหรัฐได้ เว้นแต่จะทำโรงงานผลิตเอง เพราะโรงงานทุกแห่งต้องผ่านมาตรฐานของ FDA เสมอ
นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดอีกอย่าง คือ หากมีการใช้วัตถุเจือปนชนิดใหม่บน อาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม และเครื่องสำอางค์ ที่ไม่เคยปรากฏในทะเบียนของ FDA มาก่อน แล้วทำการโฆษณาสรรพคุณที่ได้จากวัตถุเจือปนเหล่านั้น สินค้าเหล่านั้นจะต้องทำการทดสอบและผ่านการพิสูจน์ความปลอดภัยโดย FDA ก่อน ถึงจะทำการเคลมสรรพคุณนั้น ๆ ได้ ไม่เช่นนั้นหากมีการอวดอ้างสรรพคุณที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์โดย FDA จะถือเป็นการอวดอ้างเกินจริง หรือก็คือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายนั่นเอง
ถึงแม้ว่าคนอเมริกันจะสามารถวางขายสินค้าบางประเภทที่ครอบคลุมในความดูแลของ FDA โดยไม่ผ่าน FDA ได้ แต่หากเราเป็นคนไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปขายในสหรัฐ ฯ จำเป็นที่จะต้องได้รับการจดทะเบียน FDA และได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องเสมอ ดังนั้นเครื่องหมาย FDA จะมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการสินค้าเหล่านี้ที่ต้องการส่งออกเป็นอย่างมาก
ความเห็น 0