เมืองบางกอก หรือกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน เป็นเมืองท่าและเมืองหน้าด่านสำคัญของกรุงศรีอยุธยา สภาพโดยทั่วไปของบางกอกยังคงเป็นป่าที่อุดมด้วยสัตว์นานาชนิด มีชุมชนอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันตก ทั้งมีการสร้างวัดต่างๆ ขึ้นในชุมชน
หลังกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 เกิดความเสียหายเกินกว่าจะบูรณะ จึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯ ตามลำดับ วัดต่างๆ ที่เคยมีมาตั้งแต่ครั้งเป็นเมืองบางกอก สมัยกรุงศรีอยุธยา บางแห่งก็มีการปฏิสังขรณ์แล้วก็เปลี่ยนชื่อไปตามเหตุปัจจัยต่างๆ ดังเช่น
วัดกลางนา ที่มีคำเล่าลือกันว่า เมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีนายทหารมอญจำนวนมาก ได้เข้ามาร่วมในกองทัพของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (พระอนุชาในรัชกาลที่ 1) ในสงครามเก้าทัพ และสงครามอื่นๆ ระหว่างทางที่ทรงยกทัพกลับมาจากการศึก ทรงเลือกวัดกลางนาเป็นที่พักแรม และพักกองทัพ เพื่อจัดกระบวนทัพ หุงหาอาหาร ชำระล้างพระวรกายก่อนเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 1 ภายในพระบรมมหาราชวัง
ภายหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงรับสั่งให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดกลางนา ให้เป็นวัดสำหรับพระสงฆ์ฝ่ายรามัญใช้ประกอบพิธีทางศาสนาในแบบของตน เพื่อปูนบำเหน็จรางวัลความดีความชอบให้กับนายทหารมอญและครอบครัว ทั้งทรงอนุญาตให้ปลูกสร้างบ้านเรือนโดยรอบ ทำให้วัดและชุมชนรอบวัด เป็นชุมชนมอญตั้งแต่นั้นมา ชาวมอญพากันเรียกว่า “วัดตองปุ” ตามชื่อวัดในหมู่บ้านเดิมที่เมืองมอญ
ต่อมาเมื่อการปฏิสังขรณ์วัดแล้วเสร็จ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงน้อมเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 1 แล้วทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดชนะสงครามราชวรวิหาร”
วัดโพธาราม ที่สันนิษฐานว่ามีมาแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธารามเป็นพระอารามหลวงในส่วนของกรุงธนบุรี มีพระราชาคณะปกครอง ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งเดียวกับวัดโพธาราม จึงโปรดให้ปฏิสังขรณ์เป็นวัดหลวงคู่พระนครอีกแห่งหนึ่ง ใช้เวลาปฏิสังขรณ์ยาวถึงนาน 7 ปี 5 เดือน จนเหมือนสร้างวัดใหม่ แล้วพระราชทานนามพระว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส” (สมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนเป็น วัดพระเชตุพนวิทลมังคลาราม)
วัดสะแก เดิมแป็นวัดเล็กๆ ในหมู่บ้านกลางทุ่ง ตามคำบอกเล่าว่า เมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จยกทัพกลับจากรบเขมรก่อนปราบดาภิเษกได้แวะอาบน้ำกับสระหัวที่วัดแห่งนี้ จึงพระราชทานนามเมื่อปฏิสังขณณ์เสร็จว่า “วัดสระเกศ” แล้วให้เป็นที่เผาศพคนในเมืองที่หามออกประตูผี คราวเกิดโรคระบาดมีฝูงแร้งลงกินซากศพเต็มไปหมดจนเรียกว่า “แร้งวัดสระเกศ”
ข้อมูลจาก :
สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เรื่องใน พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
สุจิตต์ วงษเทศ. “ฉลองผ้าป่า ลิเกเสภาขับ วังหน้า ชนะสงคราม” ใน สูจิบัตรศูนย์สังคีตศิลป์สัญจร ครั้งที่ 20 , ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ธนาคารกรุงเทพ สมทบทุนบูรณปฏิสังขรณ์วัดชนะสงคราม ณ โรงเรียนวัดชนะสงคราม ในบริเวณวัดชนะสงครามราชวรวิหาร (บางลำพู) วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2548
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2564
ความเห็น 0