โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

14 ตุลารำลึก : หยาดน้ำตาในอุดมการณ์การ์ดอาชีวะ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย

Sarakadee Lite

อัพเดต 12 ต.ค. 2564 เวลา 11.16 น. • เผยแพร่ 12 ต.ค. 2564 เวลา 11.14 น. • สุกฤตา โชติรัตน์

ถ้าย้อนกลับไปกว่า 10 ปีก่อน ทุกปีในวันครบรอบ 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ จะเห็นภาพชายผมยาวยืนเด่นท่ามกลางผลงานศิลปะ เป็นงานศิลปะบนหยาดน้ำตาและอุดมการณ์ที่ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้สูญเสียในเหตุการณ์ที่เขาได้เข้าไปยืนประจันหน้าในฐานะการ์ดอาชีวะ แม้กงล้อประวัติศาสตร์จะล่วงเลยมากว่า 48 ปี แต่ความคิดและผลงานศิลปะยังคงปลุกเร้า สร้างความหวังให้แก่ผู้คน ได้มีแรงหยัดยืนเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ตนเองและผู้อื่น

ปี 2564 นี้การจัดงานรำลึกเดือนตุลาฯ มีคนรุ่นใหม่สนใจมากขึ้น และมาร่วมทำกิจกรรมดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระบบด้วยความริเริ่มของพวกเขาเอง ต่างจากแต่ก่อนที่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วม แต่ก็เป็นการกระตุ้นของคนเดือนตุลาฯ แต่ปัจจุบันสินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตยมองว่าคนรุ่นใหม่เหล่านี้กลับเข้ามามีส่วนร่วมด้วยความสมัครใจ และคิดค้นสร้างสรรค์กิจกรรม โดยหาข้อมูลจากคนรุ่นก่อน แต่ถ้ามองในแง่สังคมการเมือง ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐยังมีโครงสร้างเหมือนเดิม เพียงแต่รายละเอียดปลีกย่อยบางอย่างเปลี่ยนไป

สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย
สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย

ย้อนบรรยากาศชุมนุม 14 ตุลาคม 2516

ผมมีส่วนร่วมอยู่ใน 2 เหตุการณ์สำคัญของเดือนตุลาคม โดยช่วง 14 ตุลาคม 2516 มีนิสิตนักศึกษาเป็นแกนหลักในการเคลื่อนไหว เหตุการณ์เริ่มจากในวันที่ 6 ตุลาคม มีการเดินแจกใบปลิวตั้งแต่สนามหลวงไปถึงประตูน้ำ จนถูกจับกุมในเวลาต่อมา นี่เป็นจุดเริ่มต้นการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 7-8 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นำโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล จนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม แม้เหตุการณ์นั้นจบลงด้วยชัยชนะของประชาชน แต่ความขัดแย้งต่าง ๆ ยังมีอยู่ เพราะขบวนการนักศึกษาเป็นแค่หมากตัวหนึ่ง ตอนนั้นมีฝ่ายอำนาจรัฐพรรคการเมืองฝ่ายค้าน และขบวนการประชาชน ซึ่งบางครั้งฝ่ายประชาชนเหมือนจะชนะแต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะแท้จริงแล้วขบวนการฝ่ายอื่นใช้โอกาสนี้แสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง

ยุคนั้นกลุ่มนักศึกษาได้เข้าร่วมกับชาวนาและประชาชน โดยประเด็นการรณรงค์นอกจากเรื่องสิทธิเสรีภาพแล้ว ก็ยังเรียกร้องความเป็นธรรมที่ไม่เท่าเทียม จนเกิดความร่วมมือกันของ 3 ประสานคือ นักศึกษา กรรมกร และชาวนา แต่ระหว่างนั้นมีการใส่ร้ายและจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เช่น นวพล กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้านที่มีอยู่แล้วก็เสริมเขี้ยวเล็บให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อทำลายขบวนการนักศึกษา โดยมีการเคลื่อนไหวโจมตีผ่านหนังสือพิมพ์วิทยุ

ขณะเดียวกันขบวนการฝ่ายซ้ายก็เข้ามามีส่วนในการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน จนนำไปสู่การทำลายขบวนการนักศึกษา โดยมีการลอบสังหารผู้นำ ชาวนา อาจารย์มหาวิทยาลัย เช่น อ.บุญสนอง บุณโยทยาน อดีตหัวหน้าแผนกวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมก่อตั้งและเลขาธิการพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทยแสง รุ่งนิรันดรกุล ผู้นำนักศึกษา ม.รามคำแหง ถูกลอบยิงกลางป้ายรถเมล์ ฯลฯ

พอมาถึงปี พ.ศ. 2519 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาเพื่อต่อต้านฐานทัพอเมริกาที่มาตั้งอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีการชุมนุมในเดือนมีนาคมของปีนั้นและมีการขว้างระเบิดใส่ผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย และมีการลอบสังหารคนที่เห็นต่างอยู่เป็นระยะ จนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงวันที่ 6 ตุลาคม 2519

สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย
สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย

การทำหน้าที่การ์ดดูแลผู้ชุมนุมยุคนั้นเป็นอย่างไร

เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ผมเป็นการ์ดในแนวหน้าร่วมกับกลุ่ม กนก 50 ตอนนั้นผมเรียนศิลปะอยู่เพาะช่าง แต่ได้มีส่วนร่วมกับกลุ่มนี้ในการดูแลรถนำขบวนคันแรกที่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อยู่บนรถ เช้าวันเกิดเหตุผู้ชุมนุมเริ่มสลายตัวแล้วหลังจากมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐตอบรับข้อเรียกร้อง แต่กลับมีการล้อมปราบเกิดขึ้น ซึ่งการ์ดที่อยู่แนวหน้าเวลานั้นถูกแก๊สน้ำตาจนแตกกระเจิง และมีการปะทะกันบริเวณด้านหน้าสวนจิตรลดา จนมีนักเรียน นักศึกษา ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ตอนนั้นผมจำได้ว่า อุ้มเด็กผู้หญิงพณิชยการราชดำเนินคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บ มีเลือดท่วมไปส่งยังหน่วยพยาบาล ก่อนกลุ่มของผมจะเคลียร์กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากจุดปะทะ แล้วพวกเราก็ค่อย ๆ ออกจากจุดนั้นเป็นกลุ่มสุดท้าย

กลุ่มการ์ดที่ดูแลผู้ชุมนุมสมัย 14 ตุลาฯ ไม่มีการจัดการที่เป็นระบบเหมือนสมัยนี้ แต่การ์ดส่วนใหญ่เป็นนักเรียนอาชีวะที่มีอยู่ 2 สายคือ ช่างก่อสร้างกับช่างเทคนิค โดยสองกลุ่มนี้ในสถานการณ์ปกติจะตีกันอยู่ประจำ แต่พอมาในเหตุการณ์นี้ เราทุกคนกอดคอกันว่าจะร่วมมือกัน จึงมีการจัดตั้งกันแบบหลวม ๆ ในการดูแลความปลอดภัย ซึ่งหลายครั้งเมื่อฝ่ายผู้ชุมนุมถูกจัดการด้วยความรุนแรง กลุ่มอาชีวะจะระบายความโกรธแค้น ด้วยการทำลายไฟเขียวไฟแดง ทั่วกรุงเทพฯจนเกิดความโกลาหล

ความรุนแรงที่เป็นจุดเริ่มต้นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ

ตอนนั้น จีระ บุญมาก นักศึกษาปริญญาโทสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ ถือเป็นศพแรกในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่ตอนนั้นเขาเห็นข่าว จึงออกมาซื้อส้มที่ตลาดในสนามหลวง เพื่อมาแจกนักศึกษาและเจ้าหน้าที่รัฐ แต่มีความเข้าใจผิดว่าส้มที่โยนให้เจ้าหน้าที่เป็นวัตถุอันตราย จึงถูกปืนยิงใส่จนเสียชีวิต พวกผมก็เอาธงชาติไปคลุมศพ และแบกศพแห่ไปตามจุดต่างๆ แล้วปีนขึ้นไปบนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อนำศพของจีระไปตั้งไว้บนพานอนุสาวรีย์ เขาถือเป็นวีรชนคนแรกที่ถูกทำร้าย และเมื่อข่าวนี้แพร่กระจายออกไปประชาชนก็มาร่วมชุมนุมมากขึ้น จนนักเรียนอาชีวะต้องจัดตั้งกลุ่มการ์ดเพื่อรักษาความปลอดภัย

ทั้งสองเหตุการณ์สำคัญนี้ทำให้ได้เรียนรู้อะไรบ้าง

สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากทั้งสองเหตุการณ์เดือนตุลาคม คือ เมื่อใดที่มีการกดขี่ย่อมมีการต่อสู้ แม้บางครั้งเราจะได้ผลประโยชน์เพียงครั้งคราว แต่เราและครอบครัวต้องถูกกดหัวไว้ตลอดชีวิต การต่อสู้ไม่สามารถสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จได้อย่างรวดเร็ว จึงต้องใช้เวลาต่อสู้ยาวนาน ซึ่งตัวอย่างไม่ใช่แค่ในไทย แต่หลาย ๆ ประเทศในโลก เมื่อเกิดความขัดแย้งจะมีกติกาใหม่เกิดขึ้นมาในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วก็เกิดความขัดแย้งใหม่ขึ้นมาอีก เพื่อที่จะมีการต่อสู้ และทำให้สังคมพัฒนาไปข้างหน้าต่อไปเรื่อย ๆ

มองความขัดแย้งในไทยตอนนี้ว่าเป็นอย่างไร

ประเทศไทยยังวนอยู่ในซากเดนความคิดแบบเก่า ที่พยายามฉุดรั้งให้กงล้อประวัติศาสตร์ความรุนแรงหมุนย้อนกลับมาเป็นแบบเดิม ตอนนี้สิ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นก็ได้เห็นคือ การเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่ ที่เป็นหมุดหมายสำคัญ และคนเหล่านี้เป็นความหวัง เพราะคนที่ต่อสู้ในเหตุการณ์เดือนตุลา ตั้งแต่อดีต หลายคนนอนตายตาหลับเมื่อเห็นการต่อสู้ของกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อให้เกิดสังคมที่ดีกว่า

จากประสบการณ์ที่ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนตุลาฯ มาทั้งสองครั้ง ถ้าให้มองถึงการแก้ไขปัญหาในทางการเมืองปัจจุบันที่กลุ่มคนรุ่นใหม่มีการตื่นตัวมากขึ้น ภาครัฐหากมีความจริงใจจะต้องถอดบทเรียนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุมาจากอะไร การที่ผู้มีอำนาจกระทำกับผู้ชุมนุมมาจนถึงเวลานี้ ยังคงยึดมั่นว่า สิ่งที่เขาทำมาตลอดถูกต้องทุกอย่าง แม้จะมีการทำผิดพลาด แต่ก็ไม่ยอมรับ

การเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนในปัจจุบัน ส่วนตัวมองว่า เด็กรุ่นใหม่มองสภาพปัญหาต่าง ๆ ทะลุหมดแล้ว และมีความกล้าหาญที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมามากกว่าคนเดือนตุลาฯ โดยขบวนการคนหนุ่มสาวยุคนี้จะต้องเดินต่อไปอย่างมั่นคง แต่ต้องมีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อจะได้ดึงคนที่มีจำนวนเยอะกว่านี้ให้เข้ามามีส่วนร่วม

คนไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบทางการเมืองไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะถ้ามองทุกอย่างด้วยความเป็นธรรม และใช้สติในการเสพสื่อ หลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้ายังใช้ได้อยู่ โดยเราอย่าไปเชื่อข่าวลือ แต่ให้มองโลกในหลักความเป็นจริง วิเคราะห์ดูทุกอย่างให้ถ่องแท้ เพราะถ้ามองดูว่าเด็กรุ่นใหม่ทำไมต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน ซึ่งถ้าวิเคราะห์ให้ชัดก็อาจจะมีความไม่เป็นธรรมอะไรบางอย่างที่มีอยู่ในระบบ หรือทำไมแนวคิดอนุรักษ์นิยมไม่สอดคล้องกับสังคมที่หมุนไปข้างหน้า แต่พยายามแข็งขืนฝืนให้เป็นอยู่ในแบบเดิม ทั้งที่ความเป็นธรรมชาติของโลกทุกอย่างต้องหมุนเดินไปข้างหน้า แต่ต้องยอมรับความคิดและปรับเปลี่ยนให้ทันกับยุคสมัย

The post 14 ตุลารำลึก : หยาดน้ำตาในอุดมการณ์การ์ดอาชีวะ สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเตย appeared first on SARAKADEE LITE.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0