โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

คุยเฟื่องเรื่องรักใคร่ ผ่านดวงตานักจิตวิทยา กับ ผศ.โมนิล เตชะวชิรกุล

The Momentum

อัพเดต 14 ก.พ. 2562 เวลา 12.31 น. • เผยแพร่ 14 ก.พ. 2562 เวลา 12.31 น. • สุทธิพัฒน์ กนิษฐกุล

In focus

  • โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก(Robert Sternberg) อาจารย์จิตวิทยา ในมหาวิทยาลัยเยล (Yale University)ค้นพบว่า ความรักเกิดจากความรู้สึก 3 อย่างที่เอื้อต่อกันและกันจนเกิดเป็นสามเหลี่ยมที่เขาตั้งชื่อว่า ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก (Triangular theory of love) ประกอบไปด้วย ความสนิทสนม(Intimacy) ความใคร่หลง(Passion) และความผูกพัน(Commitment)
  • สามเหลี่ยมในทฤษฎีความรัก ส่งผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์ และระดับความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน แต่ไม่มีมีสูตรสำเร็จยืนยันว่าสัดส่วนควรจะถูกแบ่งเป็นอย่างไร ถึงจะลงตัวที่สุด เพราะแต่ละคนให้ความสำคัญกับทั้งสามองค์ประกอบไม่เท่ากัน
  • สารโดพามีน (Dopamine)เป็นสารที่จะหลั่งออกมาและทำให้เรามีความสุข ซึ่งคนรักสามารถกระตุ้นสารนี้ของเราได้ ในช่วง 6 เดือน - 1 ปี แรกของการคบกัน ทำให้รู้สึกว่าต้องการเขามาก รักมาก หลายคนเรียกช่วงนี้ว่า 'ช่วงโปรโมชั่น'
  • ความผูกพัน เกี่ยวพันกับฮอร์โมนที่ชื่อ ออกซิโทซิน (Oxytocin)ซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกมาและจะทำให้รู้สึกว่ามั่นคง ปลอดภัย ดังนั้นเมื่อความสัมพันธ์เดินทางไปถึงจุดนึง ความรักไม่ได้หมดอายุ มันแค่เปลี่ยนรูปไป จากความหวือหวา ไปสู่ความมั่นคง

           มีความพยายามมากมายที่จะเปรียบเปรยความรัก กับบางสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

           ‘ความรักเป็นเกม’ เขากระแทกหมาก ประกาศรุกฆาต ชิงชัยเธอในเกมกระดานความรัก ก่อนจะออกจากห้องในตอนเช้า และหายลับไปตลอดกาล  

           ‘รักเป็นเหมือนรอยสัก เจ็บปวดแต่งดงาม’ จากบทเพลง ปรากฏการณ์ – อพาร์ตเมนต์คุณป้า

           ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติบ่งบอกว่า เราพยายามทำความเข้าใจความรักตลอดมา พร่ำโหยหามันผ่านวรรณกรรม ใคร่ครวญผ่านเสียงดนตรี เรื่อยมาจนถึงในปัจจุบัน ความรักกลายเป็นหัวข้อที่ศาสตร์หลากแขนงต่างให้ความสนใจศึกษา โดยเฉพาะในวิชาจิตวิทยา

           The Momentum ชวน ผศ.โมนิล เตชะวชิรกุล  คณะศิลปศาสตร์ หัวหน้าสาขาวิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แบ่งปันมุมมองต่อความรัก ความสัมพันธ์ และการจากลา ทั้งในฐานะนักจิตวิทยา และในฐานะคนๆ หนึ่งที่มีความรู้สึก และรักเป็น

ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก

           มีความพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับความรักมากมาย ทั้งในแง่องค์ประกอบ การรักษาความสัมพันธ์ ตลอดจนความสัมพันธ์ที่ดีควรมีกี่คนอยู่ในนั้น

           อาจจะใช่ ความพยายามทำความเข้าใจความรักในแง่มุมต่างๆ เป็นวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องการพิสูจน์ เรียนรู้เพื่อควบคุม ออกแบบความรัก

           หรืออาจไม่ใช่ ถ้าหากเชื่อว่าความรักเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมด และเป็นเรื่องที่แล้วแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน

           อย่างไรก็ตามมีทฤษฎีหนึ่งที่คิดค้นโดยอาจารย์จิตวิทยา ในมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ที่มีชื่อว่า โรเบิร์ต สเติร์นเบิร์ก(Robert Sternberg) ซึ่งเขาได้พยายามตามหาองค์ประกอบสำคัญ ที่ส่งผลให้มนุษย์พัฒนาความสัมพันธ์ต่อกันจนเกิดเป็น ‘ความรัก’ เขาได้ค้นพบว่า ความรักเกิดจากความรู้สึก 3 อย่างที่เอื้อต่อกันและกันจนเกิดเป็นสามเหลี่ยมที่เขาตั้งชื่อว่า ทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก (Triangular theory of love) ประกอบไปด้วย ความสนิทสนม(Intimacy) ความใคร่หลง(Passion) และความผูกพัน(Commitment)

           อาจารย์โมนิลได้อธิบายให้เราฟังว่า “สัดส่วนทั้ง 3 มุม ของสามเหลี่ยมในทฤษฎีความรัก ส่งผลต่อรูปแบบความสัมพันธ์ และระดับความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคน แต่มันไม่ได้มีสูตรสำเร็จยืนยันว่าสัดส่วนควรจะถูกแบ่งเป็นอย่างไร ถึงจะลงตัวที่สุด เพราะแต่ละคนให้ความสำคัญกับทั้งสามองค์ประกอบนี้ไม่เท่ากัน นิยามของความรักของแต่ละคนจึงแตกต่างกันออกไป ความสัมพันธ์ที่ลงตัวที่สุดจึงเป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับทั้งสามส่วนเท่าๆกัน หรือก็คือ มีสามเหลี่ยมที่มีรูปทรงและขนาดเดียวกัน”

           อีกทั้ง ถ้าหากมองตามทฤษฎีสามเหลี่ยมความรัก ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหากคนๆ นึงจะมอบความรู้สึกที่มากกว่าคำว่า เพื่อน ให้กับคนหลายคนในเวลาเดียวกัน เพราะเราต้องไม่ลืมว่า ความรักไม่ใช่เรื่องอภิสิทธิ์เฉพาะคู่รัก หากเรายังมีพื้นที่ให้กับความสัมพันธ์ อาทิ เพื่อนสนิท ครอบครัว หรือไอดอล

           เมื่อเสิร์ซหาคำว่า ‘ความรัก’ ลงไปในช่องค้นหาข้อมูลของกูเกิล เรามักจะพบคำอธิบายหลากหลายทั้งเป็นคำคม บทเพลง ตลอดจนกวี สะท้อนให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้ว ความรักมีนิยามที่หลากหลาย และปรับเปลี่ยนไปตามค่านิยมของยุคสมัย อย่างในอดีต ไม่ใช่เรื่องแปลกที่การเมือง และผลประโยชน์จะต้องมาก่อนความรัก จึงทำให้เรามักเห็นได้จากภาพยนต์ หรือหนังสือ ที่มีภาพเจ้าเมืองยกลูกสาวให้กับเจ้าเมืองจากแคว้นห่างไกล เพื่อเชื่อมสัมพันธ์ไมตรีระหว่างสองรัฐ  

           แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ แอปพลิเคชันในการหาคู่ค่อยๆ มีมากขึ้นให้คนโสดบ้าง และไม่โสดบ้าง ได้เลือกปัดซ้าย ปัดขวา หรือเขย่า เพื่อตามหาความสัมพันธ์ที่ลงตัวที่สุด ซึ่งความสะดวกรวดเร็วที่มากขึ้น ทำให้บางคนตั้งข้อสังเกต และเคลือบแคลงใจว่า ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในแอปเหล่านั้น มันฉาบฉวย และบอบบางกว่าหรือเปล่า

           อาจารย์โมนิลได้ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า “มันเป็นเรื่องของการเปิดโอกาสให้มีตัวเลือกมากกว่า ในสมัยก่อน คนเราแต่งงานกันด้วย การเมือง เศรษฐกิจ บางครั้งไม่มีเหตุผลเรื่องของความรักด้วยซ้ำ แต่ต้องใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ในปัจจุบัน เราสามารถมองหาความสัมพันธ์ที่ตอบโจทย์ความรักของเราได้มากขึ้น”

           “แอปพวกนี้เปิดโอกาสที่เราจะได้เห็นตัวเลือก และผู้คนที่หลากหลาย ส่วนถ้าเราจะเจอความรักจากคนในนั้นเป็นเรื่องของแต่ละคน แอปเหล่านี้ยังมาพร้อมข้อมูลสำเร็จรูป ทำให้เราไม่ต้องใช้เวลาศึกษา ตรงนี้ก็เหมือนเป็นตัวช่วยสกรีนให้เราด้วย ถือว่าสอดคล้องกับยุคปัจจุบันที่อะไรค่อนข้างรวดเร็ว”

           อาจารย์เสริมต่อในเรื่องความฉาบฉวย ที่เราตั้งข้อสงสัย  “มันคงเป็นการด่วนสรุปเกินไปหน่อย ถ้าเรารู้สึกว่าความรักเป็นเกม เราต้องการเอาชนะ หลังจากที่ชนะ ความท้าทายทุกอย่างก็หายไป มันก็ไม่แปลกที่เราจะหมดสนุก และยุติความสัมพันธ์นั้นๆ ไป”

           “ถ้าเราคิดว่าได้มาง่าย ก็เลยทิ้งง่าย มันเหมือนกับดูถูกความรักเกินไปหรือเปล่า เหมือนคนสองคนอยู่ด้วยกันเพราะต้องการเอาชนะ สำหรับอาจารย์เองไม่เรียกว่าเป็นความรัก มันเป็นเพียงมิชชันอย่างหนึ่งในชีวิตเท่านั้นเอง”

           อาจารย์ทิ้งท้ายในประเด็นนี้ไว้ว่า “แต่เราก็ปฏิเสธค่านิยมที่เปลี่ยนไปของสังคมไม่ได้ ในยุคนี้ ต่างคนต่างคิดว่าเรามีทางเลือก สมัยพ่อ-เเม่ เขาจะเจอกันคนสองคน หรือคนเดียวเขาก็เเต่งงานเลย เเต่พอในปัจจุบัน เรามีทางเลือกในชีวิตเยอะขึ้น เราก็จะพยายามเลือกทุกอย่างที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง”

สมัยพ่อ-เเม่ เขาจะเจอกันคนสองคน หรือคนเดียวเขาก็เเต่งงานเลย เเต่พอในปัจจุบัน เรามีทางเลือกในชีวิตเยอะขึ้น เราก็จะพยายามเลือกทุกอย่างที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง

รัก-ใคร่-หลง นานานิยามความรัก

           The Momentum ชวนอาจารย์โมนิลพูดคุยถึงปัญหาเคสต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ และความรัก ซึ่งอาจารย์ออกตัวก่อนว่า ความเข้าใจ และนิยามคำว่ารักของแต่ละคนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ในการอธิบายความสัมพันธ์ที่คนๆ นั้นมี

เพราะยังรัก ถึงต้องยังไหว

           บางคนว่า คนรักกันเหมือนลิ้นกับฟัน การกระทบกระทั่งกัน ความผิดพลาด และความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน เป็นเรื่องปกติในความสัมพันธ์ที่คนสองคนแลกเปลี่ยนพื้นที่ เวลา และความเห็น ซึ่งบ่อยครั้งชวนให้เบื่อเต็มที กับข้อถกเถียงกันในเรื่องเดิมๆ แต่หลายๆ คู่ก็เลือกที่ ‘อดทน’ แต่ความอดทนเป็นสิ่งที่จะประคับประคองความรักจริงหรือ เพราะยังรักเราเลย ยังไหว หรือที่เรากัดฟันทน มันเป็นความฝืนมากกว่า

           อาจารย์ให้แง่มุมว่า “เหตุผลที่หลายคู่อยู่ด้วยกันนาน ก็แตกต่างกันไป บางคนอาจจะอยู่ เพราะความคุ้นเคย ซึ่งอาจจะไม่ได้อยากอยู่ เช่น อยู่กับคนนี้แล้วรู้สึกปลอดภัย เพราะว่าต่อให้เบื่อ ไม่มีความสุข อย่างไรก็ยังรู้ว่าคนๆ นี้จะไม่ทำร้ายเรา เพราะสำหรับบางคน เราอาจจะต้องการเพียงใครก็ได้ที่อยู่กับเรา และทำให้เรารู้สึกปลอดภัย หรือบางคนอาจจะอยู่กับคนใด คนหนึ่ง เพราะเขารวย เขาหน้าตาดี หรือเพราะว่ามีลูกด้วยกัน มันก็ขึ้นอยู่กับบุคคลๆ ไป”

           “เราอดทนกับเรื่องอะไรบ้าง สมมุติ เขานอกใจเราซ้ำๆ ตลอด 10 ปี แล้วเราอดทนกับสิ่งนี้ โดยเรายังหวังว่าเค้าจะปรับปรุงตัว เราให้โอกาสเค้า แบบนี้ได้ แต่ถ้าเค้าไม่มีทีท่าจะแก้ไขอะไรเลย การอดทนก็ดูจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเหมือนกัน เพราะเขาก็กำลังแสดงให้เราเห็นแล้วว่า ความรู้สึกของเรามันไม่สำคัญต่อเขา มันมีเส้นบางๆ ระหว่าง อดทนเพราะรัก กับอดทนเพราะเหตุผลอื่น ที่บางทีเราก็สับสน”

           “เพราะฉะนั้นมันก็ต้องถามตัวเราเองว่า สำหรับเราแล้วความรักคืออะไร และสิ่งที่เรากำลังอดทนอยู่มันเป็นเพราะรักมั้ย หรือเราแค่หลอกตัวเอง เพราะจริงๆ เราก็กลัวที่จะอยู่โดยไม่มีเขา กลัวการอยู่คนเดียว เลยต้องอดทน”

เพราะฉะนั้นมันก็ต้องถามตัวเราเองว่า สำหรับเราแล้วความรักคืออะไร และสิ่งที่เรากำลังอดทนอยู่มันเป็นเพราะรักมั้ย หรือเราแค่หลอกตัวเอง เพราะจริงๆ เราก็กลัวที่จะอยู่โดยไม่มีเขา กลัวการอยู่คนเดียว เลยต้องอดทน

ผู้ชายถอยหลังจากร้อย และผู้หญิงเริ่มนับที่ศูนย์ (?)

           คำว่า ‘ผู้ชายเริ่มจากร้อยไปศูนย์ และผู้หญิงเริ่มจากศูนย์ไปร้อย’ คล้ายจะเป็นคำกล่าวที่หลายๆ คนยืนยันว่าเป็นความจริงๆ หรือแม้กระทั่งคำว่า ‘เสือ’ ที่ถูกนำมาเปรียบเปรยผู้ชายเจ้าชู้ หรือนักล่าทุ่งราคะ ก็มักจะเป็นคำที่ได้ยินผ่านหูอยู่สม่ำเสมอ และคล้ายจะมีน้ำเสียงชื่นชมมากกว่าก่นด่าเสียด้วย

           แต่อย่างไรก็ตามมันเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน ในทางจิตวิทยาว่าผู้ชายรักง่าย หน่ายเร็ว เมื่อเทียบกับผู้หญิง

           อาจารย์โมนิลให้ความเห็นว่า “ถ้าพูดว่าชายกับหญิงแตกต่างกัน อาจจะเป็นการเหมารวมเกินไป อาจารย์มองว่ามันเป็นบุคคลิกของแต่ละคนมากกว่า ถ้าเราเหมารวมก็เหมือนพูดว่า ผู้ชายไม่เคยอกหักเลยสิ มันก็เลยอาจจะกลายไปว่ามีแต่ผู้หญิงหรือเปล่าที่มีหัวใจ”

           “แต่ถ้าเรามองในทางสรีระ ผู้ชายมี Testosterone ที่เป็นแรงขับในการหาคู่ ขณะที่ผู้หญิงมีน้อยกว่า เพราะฉะนั้นเวลาจีบกันหรือคบกันใหม่ๆ ผู้ชายเลยเข้าหาผู้หญิงมากกว่า ค่อนข้างถาโถมและโจมตีหนักแต่อาจารย์ยังเชื่อว่ามันขึ้นอยู่กับแต่ละคนมากกว่า สไตล์ของเขาในการมีความสัมพันธ์มันเป็นอย่างไร มุมมองที่เขามีต่อความรัก และประสบการณ์ที่เขาเคยเจอ มันเป็นสิ่งที่จะบอกว่าเขาจะมีความสัมพันธ์ในระดับไหน มากกว่าความแตกต่างเรื่องเพศเพียงอย่างเดียว” อาจารย์ยังยืนยันว่าเป็นเรื่องของตัวบุคคลมากกว่า และการเหมารวมอาจจะไม่ใช่เรื่องที่แฟร์นักสำหรับเพศชาย

จับถ่านเก่า คราใด ก็ยังลวกมือ

           บ่อยครั้งที่ความรักในฐานะคนรัก จบลงไป ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ของกันและกัน แต่ความรักที่จบลง ไม่ได้หมายความว่าความรู้สึก และความสัมพันธ์ที่เคยมีต่อกันจะจางหายไปด้วย และถ้าสังเกตดูตัวเองให้ถี่ถ้วน บ่อยครั้งเราจึงมักหวนนึกถึงคืนวานของความรักที่ผ่านมา เคลิบเคลิ้ม คิดถึง จนบางครั้งอดไม่ไหวที่จะทักทาย และสุมไฟรักให้โหมขึ้นอีกครั้ง อาจารย์โมนิลเห็นด้วยว่า ถ่านไฟเก่า หรือความรู้สึกที่ผ่านมาสามารถจุดติดขึ้นได้ และไม่แปลก ถ้าหากมันจะปะทุขึ้นมาอย่างง่ายดาย เพราะว่าบางครั้งความสัมพันธ์ที่จบลงไป ยังเต็มไปด้วยคำถามที่ติดค้างคาใจมากมายของทั้งสองฝั่ง ยิ่งถ้าความสัมพันธ์ในอดีต ให้ความรู้สึกบางอย่างที่ความสัมพันธ์ในปัจจุบันให้ไม่ได้ มันก็จะยิ่งเป็นแรงขับให้โหยหาความสัมพันธ์ครั้งก่อนๆ

            เราสรุปเร็วๆ และตั้งข้อสังเกตว่า ‘ความรักไม่มีวันหมดอายุใช่ไหม ?’

           อาจารย์ตอบกลับอย่างรวดเร็ว ราวกับคาดคะเนถึงคำถามนี้อยู่แล้วว่า “ถ้าอิงตามทฤษฎี ส่วนของความใคร่หลง หรือ Passion จะเป็นสิ่งที่หายไปเร็วมาก สังเกตคู่ที่แต่งงานกันมาเป็นเวลานานจะไม่ค่อยมีความใคร่หลงต่อกัน แต่สำหรับคนใหม่ตรงไหนก็น่ามองไปหมด เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองในมุมนี้ ว่าความรักต้องมีความใคร่หลงตลอด เมื่อมันหมด หลายๆ คนก็จะเข้าใจว่าความรักมันหมดอายุตามไปด้วย”            “แต่มันมีสิ่งหนึ่งที่สเติร์นเบิร์กไม่ได้พูดเอาไว้ คือ เรื่องของ ‘ความผูกพัน’ ตามงานวิจัยของนูโรซายส์(Neuroscience-การศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างและการทำงานของระบบประสาท) พบว่ามีสารสื่อประสาทชื่อว่า โดพามีน (Dopamine)ซึ่งพอมันหลั่งออกมาจะทำให้เรามีความสุขมาก และคนรักอาจจะสามารถกระตุ้นสารนี้ของเราได้ ในช่วง 6 เดือน – 1ปี ของการคบกัน เราเลยรู้สึกว่า เราต้องการเขามาก รักมาก หลายคนเรียกช่วงนี้ว่า ‘ช่วงโปรโมชั่น’ แต่พอเวลาผ่านไป ราก็จะรู้สึกตื่นเต้น โหยหา เขาน้อยลง และพอเวลาเราเริ่มรู้สึกชินชา เราเลยเข้าใจว่า เราหมดรักเขาแล้ว”

           “จากผลงานวิจัยของนูโรซายส์ยังพบอีกว่า ช่วงที่เรารู้จัก ใช้ชีวิตและเวลาร่วมกัน มันจะสร้างสิ่งที่เรียกว่าความผูกพันขึ้นมา ซึ่งมันก็จะเกี่ยวพันกับฮอร์โมนที่ชื่อ ออกซิโทซิน (Oxytocin)ดังนั้นในหลายๆ คนที่ให้นิยามความรักว่า ต้องตื่นเต้น หวือหวา พอผ่านช่วงนี้ เขาเลยมองว่าความรักมันจบไปแล้ว แต่สำหรับคนที่ต้องการความมั่นคง ไม่ต้องการความหวือหวา ในช่วงที่เราอยู่กับเขาและออกซิโทซินหลั่งออกมา มันจะทำให้เรารู้สึกมั่นคง และปลอดภัย เขาจึงมองว่าจริงๆ แล้วความรัก มันก็ไม่ได้หมดอายุ มันแค่เปลี่ยนรูปไป จากความหวือหวา ไปสู่ความมั่นคง”

           “แต่มันยังมีอีกการวิจัยที่นูโรซายส์ทำ และพบว่ามี ผู้ชายคนหนึ่ง แต่งงานกับภรรยามา 20 ปี และเมื่อพบหน้ากันก็ยังพบว่าสารโดพามีนก็ยังหลั่นออกมาอยู่เป็นจำนวนมาก แล้วพอไปสัมภาษณ์ผู้ชายก็บอกว่า ยังรู้สึกตื่นเต้น และดีใจทุกครั้งที่เจอหน้าภรรยา แต่คนที่เป็นแบบสามีคนนี้ก็มีน้อยมากเหมือนกัน ขนาดคนที่ทำการทดลองยังแบบ ฮืมม! ยังมีอยู่ด้วยหรอ เพราะส่วนใหญ่ สารโดพามีนจะหลั่งเป็นเวลา 6 เดือน -1 ปี พอครบปีหนึ่งก็ไม่ตื่นเต้นแล้ว เตรียมนะเดี๋ยวเลิกกัน เราเลยบอกว่ามันเป็นไปได้นะว่า อาถรรพ์ 1 ปี 3 ปี มันก็น่าจะเกี่ยวข้องกับสารตัวนี้”            อาจารย์แนะนำเทคนิคเล็กน้อยในการดูแลความสัมพันธ์ว่า “เวลามีความรักกับใครเเละอยากให้ความรักมันยาวนาน อย่าใช้ชีวิตเเบบเดิมๆ ไปตลอด ให้เราทั้งคู่พยายามหาอะไรใหม่ๆ ทำร่วมกัน เพราะว่าเวลาที่เราอยู่กับความสัมพันธ์เเบบเดิมๆ ไปเรื่อยๆ กินข้าวเช้า กลางวัน เย็น กินข้าวเสาร์ อาทิตย์ ทำให้เราทั้งคู่รู้สึกชินชา”            “มนุษย์เรามีความต้องการที่จะขยายายตัวตนของตัวเองให้มันมากขึ้น เราก็เลยมีความต้องการที่จะทำอะไรแปลกใหม่ๆ อย่างบางคู่ มีการเเต่งชุดคอสเพลย์ ฝ่ายหนึ่งเล่นเป็นคุณครู อีกฝ่ายเป็นนักเรียน ทำให้ความสัมพันธ์ดีมาก ถ้าเราไม่อยากจะให้ความรักมันจืดชืด เราก็ควรจะหาอะไรทำร่วมกันกับเขา ลองไปหาที่เที่ยวใหม่ๆ หรือชวนกันทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทำ ดำน้ำ ปืนเขา หัดเรียนเต้น ทำไม่เป็นไม่เป็นไรหรอกเเต่ได้ใช้เวลาร่วมกัน มันจะช่วยให้ ความสัมพันธ์ของเราอยู่ได้ยาวนานขึ้น”

จริงๆ แล้วความรัก มันก็ไม่ได้หมดอายุ มันแค่เปลี่ยนรูปไป จากความหวือหวา ไปสู่ความมั่นคง

Sex และ Love

           ปัญหาโลกแตกอย่างหนึ่ง สำหรับความสัมพันธ์คงเลี่ยงไม่พ้น เรื่องของ Sex และ Love ซึ่งอาจารย์มองว่า สองอย่างนี้ทั้งอยู่ใกล้และไกลกัน สมานเป็นเนื้อเดียวบางครั้ง แต่บางครั้งก็ต่างราวสีคนละโทน อาจารย์กล่าวว่า            “เรามักจะสับสนว่า Sex เท่ากับ Love แต่คนเราสามารถมี Sex โดยไม่ต้องมี Love เเละตอนที่เรามี Love เเน่นอนว่า Sex มันจะต้องเกี่ยวข้อง เเต่มันก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญเเละจำเป็นอันดับแรก”            “เวลาที่เรามีเซ็กส์ เรามักจะสับสนกับคำว่ารัก เพราะว่าในช่วงที่เรามีเซ็กส์ เป็นธรรมดาที่ร่างกายเราถูกกระตุ้น เรารู้สึกตื่นเต้น เหงื่อแตก มือสั่น ซึ่งเราไม่แน่ใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร เราจึงมักจะเลือกคำอธิบายที่เราพึงพอใจมากที่สุด จึงกลายเป็นความคิดที่สับสนว่า Sex เท่ากับ Love”            ถ้า Sex กับ Love มาด้วยกันอย่างไม่ต้องสงสัย แต่บางครั้ง Sex ไม่จำเป็นต้องมี Love ผสมอยู่ได้ไหม            อาจารย์ให้ความเห็นว่า “ถ้ามี Love ก็ต้องมี sex เราจะพูดอย่างนั้นก็ไม่ผิดเท่าไร เพราะว่าเวลาที่เรามี Love มันประกอบด้วย ความใคร่หลง เราจึงอยากมี Sex กับคนที่เรารัก เเต่เวลาที่เรามี Sex กับใคร เราก็สามารถมีได้โดยที่เราไม่ได้มี Love กับเขาก็ได้”

           “ในเชิงจิตวิทยาเรื่องของ Sex มันเป็นเเรงขับพื้นฐานของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีเเรงขับเเบบนี้ เมื่อเรามีความต้องการเเบบนี้ มันจึงไม่เเปลกที่เราต้องการการถูกเติมเต็ม ดังนั้นเราก็สามารถจะมีเซ็กส์ กับคนอื่นเเบบ One Night Stand, Friend with Benefits เพื่อเติมเต็มความต้องการส่วนหนึ่ง เเค่นี้ก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องเเปลกอะไร มันก็เป็นแค่หนึ่งในความต้องการของมนุษย์”

หึงหวงเพราะรักทั้งนั้น (หรอ?)

           “เรากลัวการอยู่คนเดียว ตามทฤษฎี ความหึงหวงคืออารมณ์ที่เรากำลังจะเสียของของเราไป ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ที่กำลังใช้อยู่ เราก็จะเเบบ เห้ย! เอาไปได้ไง เช่นเดียวกับแฟน ถ้าวันนึงมีคนจะมาเอาเขาไป ความหึงหวงมันเกิดขึ้น”

           “เเต่ความหึงหวงไม่ได้หมายความว่าเรารักเขา เพราะในทางจิตวิทยา มองว่าความหึงเกิดขึ้น เพราะความกลัวที่จะสูญเสียอะไรบางอย่างที่เป็นของๆ เรา ซึ่งความกลัวก็มาจากตัวเราเอง  เราไม่มั่นใจในตัวเราว่าเขาจะอยู่กับเราเพราะตัวเรา เราก็จะหึงเเละก็หวงกลัวว่าเขาจะหนีไปไหน”

           “และถ้าความหึงหวงพัดพาร่างกายไปไกลถึงทำร้ายร่างกายอีกฝั่ง เรียกว่ามันเป็นการรักตัวเองของคนๆ นั้น เพราะว่าถ้าไม่มีคนๆ นั้นเขาอยู่ไม่ได้ เขาจึงต้องเก็บคนๆ นั้นไว้เพิ่มคุณค่าให้ตัวเขาเอง เเต่ในระดับจิตสำนึกเราก็จะไม่คิดอย่างนั้นหรอก เราจะดูเหมือนเราเป็นคนร้าย เราก็เลยจะเอาความรักมาอ้างว่า ก็ฉันรักไง ฉันเลยหึง”

           “ทั้งที่จริง ความรักคือต่อให้เขาไปมีความสุขกับคนอื่น เราก็ยินดีกับเขาด้วยหรือป่าว การหึงคือการรักตัวเอง การที่เรารักตัวเองขนาดจนถึงขั้นไม่ปล่อยเขาไป เพราะเป็นเพราะว่าเรารู้ไงว่าด้วยตัวเราเองเราไม่มีค่า เราต้องมีเขาเราจึงมีค่า อันนั้นเราไม่อยากเสียเขาไปเพราะเราไม่อยากเสียคุณค่าตัวเราเองเหมือนกัน “

อกหัก เพราะรักเป็น

           การหยั่งขาเข้าไปในความสัมพันธ์ คล้ายกับการเดินหลับตาข้างนึง เข้าไปในเขาวงกต ซึ่งถ้าเราเรียนรู้ และถอดรหัสไปจนพบกับแสงสว่างที่ปลายทาง เราก็จะยิ้มและมีความสุขราวกับคนบ้า แต่ถ้าเราเริ่มหลงทาง และรู้สึกว่าถลำเข้าไปผิดที่ทาง เราควรถอดผ้าปิดตาออก และถอนตัวออกจากการแข่งขัน อาการผิดหวังที่เกิดขึ้นนั้น เรียกกันว่า ‘อกหัก’

           อกหัก เป็นอาการของความคาดหวังที่ไม่สำเร็จ ยิ่งถ้าเราคาดหวังมาก เราก็ยิ่งร่วงลงมากระทบพื้นอย่างรุนแรงมาก ซึ่งผลกระทบจากการอกหักนั้น อาจจะทำให้เราเสียศูนย์ มึนหัว เสียความเป็นตัวตน จนอาจจะกลายเป็นคนอีกคนที่เราไม่รู้จัก

           เราจึงได้ถามอาจาย์โมนิล ถึงอาการอกหักในทางจิตวิทยา และวิธีการปฐมพยาบาลบาดแผลที่เกิดขึ้น ในฐานะเพื่อน

           “โดยพื้นฐาน คนอกหักจะรู้สึกว่าตัวตนของตัวเองถูกปฏิเสธ จึงทำให้เสียเซลฟ์ หรือเสียศูนย์ ในช่วงที่ถูกทิ้ง เพราะฉะนั้น ช่วงนี้เขาจะต้องการการสนับสนุนจากคนรอบข้าง เราในฐานะเพื่อนก็สามารถชวนเขามาทำกิจกรรม และทำให้เห็นว่าเขายังเป็นคนที่มีค่า”

           “แต่บางทีคำชวนของเรา อาจจะผิวเผินไปหน่อย เขาอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าเขาสำคัญ เราอาจจะเน้นเขาสักนิดนึงว่า เห้ย! เพื่อนไปกันหมดทุกคนเลย ขาดเธอคนเดียว ไปด้วยกันหน่อยสิ ไปให้มันครบกลุ่ม ให้เขารู้ว่า มันยังมีคนที่ต้องการเขาอยู่ เขายังเป็นคนที่มีคุณค่า แม้ว่าคนบางคนจะไม่ต้องการเขาก็ตาม”

           “การที่คนอกหักได้ใช้เวลากับคนรอบข้าง กับครอบครัว มันจะดีกับเขามาก เพราะว่าเวลาที่เราอยู่คนเดียว มันฟุ้งซ่าน และพอเราคิดถึงแต่ความไม่สมหวัง ความรู้สึกจะพาให้หลักตรรกะ เหตุ-ผล ของเราพังไปด้วย คิดไปคิดมาก็กลับมาโทษตัวเอง ทั้งที่การยุติความสัมพันธ์เป็นเรื่องของคนสองคน ไม่ได้หมายความว่ามีคนใดคนหนึ่งผิด แต่ความสัมพันธ์มันเริ่มไม่ตอบโจทย์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มันจึงไม่แปลกที่ใครคนใดจะไปหาคนที่ตอบโจทย์เขาได้มากกว่า”

           “ดังนั้น เราก็จำเป็นต้องอยู่กับเพื่อน เพื่อพาเขาออกจากวังวนที่คิดโทษตัวเอง เพราะยิ่งคิดยิ่งทำให้รู้สึกแย่ เพื่อนต้องดึงเขาออกมา เพราะคนที่จมอยู่ในวังวนนี้ เขาจะไม่รู้ตัวเองหลอก ว่าความคิดเขาเริ่มเบี้ยวหลุดโลก เขาจะเชื่อในสิ่งที่เขาคิด เราจำเป็นที่จะต้องดึงเขาออกมา อยู่กับเขา แต่ถ้าเราไม่สามารถอยู่ใกล้เขาได้ เราก็สามารถคุยและทักเขาเป็นระยะๆ ให้เขารู้ว่ายังมีคนรอบข้างที่เห็นค่าเขาอยู่”

           “ซึ่งถ้าเราไม่เข้าไปช่วยเหลือ เขาจะหายเองค่อนข้างยาก เพราะว่าพอเขาจมไปกับความคิดนั้นแล้ว เขาจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองจมลึกไปขนาดไหนแล้ว เขาจะเชื่อว่ามันคือความจริง มันคือสิ่งที่ควรจะเป็น น้อยคนมากที่จะคิด และดึงตัวเองขึ้นมา ส่วนใหญ่ก็ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น เพราะคนอื่นที่อยู่นอกปัญหา จะมองเห็นภาพรวมของเหตุการณ์ได้ดีกว่า มันเลยขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความสามารถของคนในการจัดการกับปัญหามากกว่า”

ความรักของคนๆ หนึ่ง

           ตลอดบทสนทนายาวๆ ถึงทฤษฎีความรักในมุมมองของอาจารย์จิตวิทยาคนหนึ่ง เรามักจะได้ยินคำว่า ‘ขึ้นอยู่กับนิยามความรักของแต่ละคน’ ดังออกมาจากปากของอาจารย์โมนิลอยู่เสมอ เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า ทั้งในฐานะผู้ศึกษาเรื่องความรักอย่างจริงจัง และในฐานะคนๆ หนึ่งที่มีความรู้สึก รัก โกรธ หลง อย่างปุถุชนธรรมดา นิยามความรัก ความเชื่อ และวิธีการดีลกับปัญหาต่างๆ ของเธอเป็นอย่างไร

นิยามรักของโมนิน

           เธอตกใจ และแก้มระเรื่อเป็นสีชมพูขึ้นเล็กน้อย เมื่อเราถามถึงคำว่า ‘ความรัก’ สำหรับเธอ ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง “โห ความรักหรอ มันค่อนข้างเป็นความรู้สึกที่มีอิทธิพลเเละให้พลังกับเรา เป็นความรู้สึกที่ทำให้เราอยากปรับเปลี่ยนตัวเอง ปรับจูนให้ตรงกับอีกฝ่าย เเละมันยังเป็นความรู้สึกที่ทำให้เราสามารถให้อภัยคู่ของเราได้ ซึ่งให้อภัยก็คือไม่จดจำความผิดเขาด้วย”

           “ความรักเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยากจะเห็นสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิตของคู่ของเรา อยากอวยพรให้เขาเจอเเต่สิ่งดี เเม้ว่าจะเลิกรากันไปแล้ว ความรักทำให้เรายังสามารถยิ้มไปกับเขาความสุขของเขาได้ เเม้เราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของมันก็ตาม”

           “สำหรับเรา ความรักไม่ได้จำกัดเเค่กับเเฟน ถ้าเรามีความปรารถนาดีให้กับครอบครัว หรือเพื่อน เรามองว่าความรักเป็นสิ่งสวยงาม มันไม่ทำร้ายใครหรอก เเต่มนุษย์เรานี่แหละมักจะใช้ชื่อของความรักไปทำร้ายกันเอง ถ้าหากว่าเรารักเป็น เรารักเขาจริงๆ เราจะห่วงใย ใส่ใจเขา ไม่อยากทำให้เขาเจ็บปวด เพราะงั้นการที่เราต้องเจ็บปวดเพราะความรัก อาจจะไม่ใช่ความรักที่ถูกก็ได้ อาจจะเป็นเพราะเราอ้างความรักเพื่อใช้ทำร้ายกันเเละกัน”

           “สิ่งที่เราคิดว่าสำคัญที่สุดสำหรับความรักคงจะเป็นความหวังดี ความปราถนาที่จะให้เขาเจออะไรดีดี”

           เราสะดุดกับคำตอบนี้ ก่อนเราจะโพล่งถามเธอไปว่า “ถ้าเขาเจอคนที่ดีกว่า เขาสามารถไปได้ทุกเมื่อ ?”

           “ใช่ มันยากใช่ไหม เเต่ก่อนเราก็เป็น ทำไม่ได้หรอกเลิกกันเเล้วเป็นเพื่อนกันทำไม่ได้หรอก เเต่พออยู่ไปอยู่มาจะมีจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่าขอเเค่คนคนนี้ยิ้มได้ ต่อให้คนที่ทำให้เขายิ้มได้ไม่ใช่ฉัน ขอเเค่เขามีความสุขอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้สักที่เเค่นี้ฉันก็โอเคเเล้ว”

           อาจจะเป็นคำตอบที่ดูน้ำเน่า และไม่เดียงสา แต่เรากลับสัมผัสถึงความจริงใจจากถ้อยคำ และน้ำเสียงที่เธอกล่าวออกมา

ถ้าหากว่าเรารักเป็น เรารักเขาจริงๆ เราจะห่วงใย ใส่ใจเขา ไม่อยากทำให้เขาเจ็บปวด เพราะงั้นการที่เราต้องเจ็บปวดเพราะความรัก อาจจะไม่ใช่ความรักที่ถูกก็ได้ อาจจะเป็นเพราะเราอ้างความรักเพื่อใช้ทำร้ายกันเเละกัน

ความรักสำคัญไฉน

           หลายคนมักจะมองว่า ความรักจะเปล่งปลั่งที่สุดในวัยหนุ่ม-สาว สำคัญถึงขั้นที่ว่าจะกินข้าว นอนหลับ เรียนหนังสือ ก็ยังต้องมีความรักอบอวลอยู่บ้าง ให้พอทำอะไรได้ระรื่น คล่องตัว

           แต่ดอกไม้แห่งความรักออกดอก ผลิใบ แย้มออกมาเฉพาะในช่วงวัยรุ่นเท่านั้นเองหรือ เมื่อเราโตขึ้นความรักไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ สำหรับการใช้ชีวิตอีกแล้วจริงหรือ มนุษย์เราเกิดมาเพื่ออยู่ และจากไปด้วยตัวคนเดียวจริงหรือเปล่า

           เธอเน้นว่า “มองตามความจริง ผู้ใหญ่ก็ต้องการความรัก เพราะฉะนั้นเรื่องรักเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็ตาม แต่ไม่รู้อะไรที่ทำให้หลายๆ คน มองว่าไม่มีรัก ไม่มีปัญหาเท่าไม่มีเงิน ทำให้กลายเป็นว่าพอเราจะคบหากับใคร เราเลยไปเน้นว่ามันตอบโจทย์ที่เป็นรูปธรรมกับเราได้ไหม มีเงินทอง มีชื่อเสียง หรือว่าสถานะทางสังคมให้เราหรือเปล่า”

           “มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่อยากรู้ว่าสิ่งที่ทำให้ชีวิตเรามีความสุขคืออะไร เขาเลยไปเก็บข้อมูลเป็นระยะเวลา 75 ปี ชั่วชีวิตคนหนึ่ง และก็พบว่าสิ่งที่ทำให้สุขภาพจิต และกายแข็งแรง และอายุยืนนาน คือ ความรัก แต่มันไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นความรักระหว่างสองสามี-ภรรยา แต่คือเป็นความสัมพันธ์ที่เรามีกับเพื่อนบ้างข้างๆ เพื่อน คนในครอบครัวด้วย เพราะฉะนั้นมองว่า ความรักไม่ใช่เรื่องเล็กเหมือนกัน”

พรหมลิขิต

           เราถามเธอต่อถึงความเชื่อในเรื่องเหนือวิทยาศาสตร์ อย่าง ‘พรหมลิขิต’

           เธอกล่าวว่า “ส่วนตัวเชื่อว่า การที่คนเราจะเจอกันได้มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันมีเหตุ-ผลอยู่เบื้องหลังว่าทำไมเราถึงได้มาเจอกับเขา ซึ่งถ้าเราอธิบายได้ก็จะบอกว่ามันไม่ใช่พรหมลิขิต เเต่ถ้าเราอธิบายไม่ได้เราก็ยกมันให้เป็นเรื่องของคนบนฟ้า”

           “เเม้เเต่การที่เราจะมีคู่หรือไม่มีคู่ คนบางคนที่เขาอยู่เฉยๆ ไม่เปิดตัวเองออกไปพบเจอคนอื่น ปิดตัวเอง เขาก็จะหาคำอธิบายให้ตัวเขาพอใจว่าการที่เขาไม่มีคู่นั้นเป็นเพราะดวงคนไม่มีคู่ ซึ่งมันทำให้เขาสบายใจมากกว่า”

           “เเต่ถ้าเราได้มาเจอกันเเล้ว ไม่ว่าด้วยพรหมลิขิต หรืออะไรก็ตาม การที่เราจะไปรอดไปไม่รอด เป็นเรื่องของเราสองคน มันไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาเป็นคนกำหนดได้”

ความรัก และระยะทาง

           ‘รักแท้แพ้ระยะทาง’ หลายคนคงเคยประสบพบเจอกันสถานะนี้

           แต่เธอกลับมองว่าเราควรเริ่มจากการแยกความรู้สึกที่เราต้องการ กับคนที่เรารัก ออกจากกันเสียก่อน เพราะบางครั้งสิ่งเหล่านี้ปนเปกันพอสมควร อาจารย์กล่าวว่า “ถ้าเรารักกันจริง เราก็จะไม่หวั่นไหวกับคนใกล้ตัวหรอก ที่เราหวั่นไหวเป็นเพราะคนของเราอยู่ไกล เพราะฉะนั้นเราอาจไม่ได้ต้องการคนๆ นี้เเล้วสิ เราเเค่ต้องการสิ่งที่เขาให้กับเรา เมื่อคนเดิมให้ไม่ได้ ก็ไปหาคนใหม่ที่ให้ได้ นั่นเเสดงว่าตลอดเวลาที่คบมาคุณต้องการของบางสิ่งบางอย่างจากคนนั้น เมื่อเขาให้ไม่ได้ เราก็ไปหาคนใหม่ที่ให้ได้”

           เรามักจะเอาคนๆ หนึ่ง กับความสัมพันธ์มารวมเป็นอันเดียว เพราะฉะนั้นเราบอกว่าเราในความสัมพันธ์นี้ฉันต้องการความเข้าใจ ถ้าคนๆ นี้ให้ได้เราเลยรักคนนี้ เเต่วันหนี่งที่คนนี้ให้ไม่ได้ เราก็อาจจะไปหาคนใหม่ที่ให้ความเข้าใจกับเราได้มากกว่า เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องการคือ เราไม่ได้ต้องการตัวตนของคนๆ นี้ เราเเค่ต้องการคนที่สามารถตอบสนอง คนที่ให้ความรู้สึกที่เราต้องการได้ต่างหาก

วาเลนไทน์ กับคนโสด

           ก่อนจะร่ำลากันไป ในฐานะคนโสดในวันแห่งความรักที่จะมาถึง เราเลือกคำถามสุดท้ายว่า “ในวันวาเลนไทน์ คนโสดควรออกไปซึมซับบรรยากาศแห่งความรักไหม เผื่อสิ่งต่างๆ รอบตัวจะเร่งเร้าให้เรามีความรักบ้าง ?”

           เธอขำเล็กน้อย ก่อนพูดว่า “อยากทำอะไรก็ทำ ถ้ามันไม่ได้เดือดร้อนใครก็ทำ ถ้าคิดว่าจิตใจอ่อนไหวออกไปเห็นคู่อื่น เเละจะกลับมาเฮิร์ทก็อย่าไป เเต่ถ้าคิดว่าเจอคนรักกัน ดีจังเลย มีความสุขก็ไป แต่ถ้าความสัมพันธ์เริ่มต้น เพราะบรรยากาศของวันแห่งความรักพาไป ซึ่งเราอาจไม่ได้มีความรู้สึกที่ต้องการเขาจริงๆ ถ้ามันเป็นว่าอารมณ์เเละบรรยากาศมันพาเราไป พอเราได้มาพูดคุยกัน รู้จักกันจริงๆ เเล้วเรากับเขาไปด้วยกันไม่ได้ มันก็เลิกอยู่ดีหรือเปล่า”

.

.

‘มันก็จริง และไม่จริง’ เราคิดในใจ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0