โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

74 ปีประเทศไทยกับสหประชาชาติ

ทันข่าว Today

อัพเดต 28 ธ.ค. 2563 เวลา 00.00 น. • เผยแพร่ 28 ธ.ค. 2563 เวลา 00.00 น. • ทันข่าว Channel
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Highlight

ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2589 หรือเมื่อ 74 ปีมาแล้ว เป็นลำดับที่ 55 ของประเทศสมาชิก วัตถุประสงค์สำคัญของการเข้าเป็นสมาชิกก็เพื่อความความมั่นคงของประเทศไทย

       เนื่องจากสหประชาชาติเป็นองค์การที่สามารถธำรงสันติภาพ สันติสุข ความมั่นคงและความยุติธรรมให้แก่ประเทศเล็ก ๆ เช่นประเทศไทยได้ รวมทั้งเพื่อแสดงให้นานาชาติเห็นว่าประเทศไทยมีความประสงค์จะร่วมมือในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงของโลกอย่างแท้จริง        อันที่จริง ก่อนหน้านี้ 100 ปี ด้วยวิสัยทัศน์อันกว้างไกลขององค์พระประมุข ประเทศไทยได้เข้าไปมีบทบาทในองค์กรต่าง ๆ ที่กลุ่มประเทศใฝ่สันติและความร่วมมือระหว่างประเทศได้จัดตั้งขึ้นก่อน การตั้งสันนิบาติชาติ เช่น ในสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) (ปี พ.ศ. 2426) หลังจากนั้นอีก 2 ปีต่อมา ในสหภาพการไปรษณีย์สากล (UPU) และองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ จนถึงการเข้าร่วมในการเจรจาสันติภาพแวร์ซายส์ที่กรุงปารีสเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ 1 อันทำให้ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสันนิบาตชาติอันดับที่ 32 ในปี พ.ศ. 2462 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว       ตลอดระยะเวลา 74 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในกรอบสหประชาชาติมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการที่มีสำนักงานขององค์กรของสหประชาชาติเป็นจำนวนมากตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่สำคัญคือคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเซียและแปซิฟิก หรือ UNESCAP ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในจำนวน 5 แห่ง ที่สหประชาชาติมีอยู่ทั่วโลก การที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางส่วนภูมิภาคของสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2011 นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ให้ศูนย์สหประชาชาติที่กรุงเทพมหานครเป็น The United Nations Hub for Asia and the Pacific       ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากความร่วมมือกับสหประชาชาติในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านสันติภาพและความมั่นคง ด้านการพัฒนา และสิทธิมนุษยชน งานทั้งสามด้านนี้มีส่วนเชื่อมโยงและสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะด้านการพัฒนา ประเทศไทยมีตัวอย่างของความสำเร็จในหลาย ๆ เรื่องในอดีต เช่นการลดอัตรา การเกิดของประชากร การขจัดวัณโรค และมาลาเรีย และในปัจจุบันคือ การลดความยากจน ความมั่นคงทางด้านอาหาร สุขอนามัยพื้นฐาน ด้านสาธารณสุข การป้องกันการติดเชื้อ HIV และเอดส์ และการป้องกัน การถ่ายทอดไวรัส HIV จากมารดาสู่ทารก ฯลฯ ที่สำคัญ เมื่อไม่นานมานี้ องค์การอนามัยโลกยังได้กล่าวชมเชยรัฐบาลไทยที่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้รับผลดีในลำดับต้น ๆ ของโลก ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไทยได้ทุ่มเทงบประมาณทางด้านสาธารณสุขตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

       ปัจจุบันสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือเพื่อไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goalss : SDGs ) โดยบูรณาการงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนรวมไว้ในเป้าหมาย มีกรอบเวลาการดำเนินงาน 15 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2016 – 2030 ในการนี้ รัฐบาลไทยได้นำเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้าไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564 และในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 –2580 จากการประเมินผลการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 80 ของโลก และอยู่ในลำดับสูงกว่าประเทศอาเซียนอื่น ๆ  ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามเป้าหมายในด้านสุขอนามัย การศึกษา ความเท่าเทียมทางเพศ การใช้พลังงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ        การพัฒนาที่ยั่งยืนมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมของโลกที่เสื่อมโทรมลงอันเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อนได้เพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นอยู่ของชาวโลกโดยรวม ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change ) และพิธีสารเกียวโต ( Kyoto Protocol ) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยโดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์มาจากภาคการผลิตไฟฟ้า ความร้อนจาก การขนส่ง อุตสาหกรรมการผลิตแลการก่อสร้าง ในการเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี พ.ศ. 2015 ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20 – 25 % จากระดับปกติภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนดังกล่าวข้างต้น 1.  ในด้านสิทธิมนุษยชน
ประเทศไทยเป็น 1 ใน 48 ประเทศลำดับต้น ๆ ที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights ) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 เอกสารฉบับนี้เป็นพื้นฐานในการจัดทำกฎหมายภายในของประเทศไทยในเวลาต่อมา ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี ความตกลงทางด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติรวม ๗ ฉบับ รวมทั้งในเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทาง การเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ สิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ ฯลฯ ประเทศไทยให้ความสำคัญในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศและสิทธิสตรี รายงานของ UN Women ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติเกี่ยวกับสตรีกล่าวว่า ในบริษัทขนาดกลาง ในภาคเอกชนไทย มีสตรีเข้าดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เฉลี่ย 24% เมื่อเทียบกับ 20% ของโลก และ 13% ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สตรีไทยยังได้เข้าสู่ตำแหน่งระดับสูงในวงราชการ และในทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งมีการบังคับการใช้แรงงานและการค้าประเวณีโดยเฉพาะต่อเยาวชน โดยประเทศไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง ปลายทางและทางผ่าน ฯลฯ ในปีพ.ศ. 2553 ประเทศไทยยังมีบทบาทที่แข็งขันในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยผู้แทนไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ 2.  ในด้านสันติภาพและความมั่นคง       นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ประเทศไทยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ทั้งชายและหญิง มากกว่า 27,000 คน เข้าร่วมกองกำลังรักษาสันติภาพ และภารกิจสันติภาพอื่น ๆ ของสหประชาชาติรวมประมาณ 20 ภารกิจ ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก รวมทั้งในสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเตราชอาณาจักรกัมพูชา บอสเนีย และเฮอร์เซโกวีนา บริเวณพรมแดนอิรัก-คูเวต ฯลฯ ปัจจุบันยังมีทหารไทยปฏิบัติภารกิจอยู่ในสาธารณรัฐเซาท์ซูดาน ในด้านการลดอาวุธ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในความร่วมมือกับสหประชาชาติ ในการลดอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ได้แก่ อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี และอาวุธชีวภาพ การลดอาวุธแบบดั้งเดิม รวมทั้งอาวุธเบาและกับระเบิดชนิดต่าง ๆ ซึ่งถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในความขัดแย้ง ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก 3.  ในด้านวัฒนธรรม       องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ๕ แห่งในประเทศไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง คือ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียงจังหวัดอุดรธานี มรดกโลกทางธรรมชาติ 2 แห่ง ได้แก่ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร – ห้วยขาแข้ง กลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ และล่าสุด โขนไทยได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ การที่องค์การสหประชาชาติขึ้นทะเบียนมรดกโลกแก่สถานที่เหล่านี้ ทำให้ประชาชนชาวไทยเกิดความภาคภูมิใจ อันมีผลต่อการตระหนักรับรู้และอนุรักษ์สถานที่นั้น ๆ ให้คงอยู่เพื่อให้สืบทอดต่อไปไปยังรุ่นลูกหลาน และที่สำคัญเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่น ชุมชน และประเทศชาติ      ในโอกาสที่ประเทศไทยครบรอบ 74 ของการเป็นสมาชิกสหประชาชาติในปีนี้ ประชาชนชาวไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมและสนับสนุนให้ประเทศไทยมีบทบาทที่เข้มแข็งและสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าประสงค์ในสามเสาหลักของสหประชาชาติ คือ ด้านการรักษาสันติภาพและความมั่นคง การพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นหลักปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประเทศของเรามีความผาสุกและมีการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อให้เป็นโลกที่น่าอยู่สำหรับเราและอนุชนรุ่นหลัง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง