โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

TOT โชว์ความพร้อม 'อินฟราแชริ่ง' โทรคมครบวงจร

Manager Online

เผยแพร่ 05 พ.ย. 2563 เวลา 02.23 น. • MGR Online

ทีโอทีเดินหน้าวางโครงสร้างพื้นฐาน 5G หลังจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 26 GHz เรียบร้อยแล้ว ด้าน 11 โอเปอเรเตอร์หนุนทีโอที ให้บริการเช่าใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วม (infrastructure sharing) ทุกด้านทั้งท่อร้อยสาย และ 5G เพื่อตอบโจทย์ลดการลงทุนซ้ำซ้อน โดยเน้นวางโครงข่ายเฉพาะพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งาน ขณะที่ 'อีอีซี' อ้าแขนรับหากทีโอทีสนใจลงทุน

'มรกต เธียรมนตรี' รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน)กล่าวว่าเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 ทีโอทีได้ชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz จากการประมูลจำนวน4ใบอนุญาตใบอนุญาตละ 100 MHz รวม 400 MHz มูลค่า 1,920.65 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ให้กสทช.ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขการประมูล

ทั้งนี้เหตุผลที่ ทีโอที ต้องเร่งจ่ายเงินค่าประมูลก็เพื่อให้สามารถนำเข้าอุปกรณ์ได้ และนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวไปทดสอบทดลองหารูปแบบการใช้งาน (use case )ที่เหมาะสม ซึ่งคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz เป็นย่านความถี่สูงซึ่งมีคุณสมบัติในการส่งข้อมูลที่มีความเสถียรมาก รวมทั้งมีความหน่วงเวลาหรือความหน่วงในการส่งข้อมูลต่ำด้วยคุณสมบัตินี้ ทำให้เหมาะกับการใช้งานที่ต้องการความแม่นยำสูงในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรม ด้านสาธารณสุข ด้านโลจิสติกส์ ไม่ว่าจะเป็น การผ่าตัดทางไกล การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน และการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ

'การลงทุนในคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz เป็นการลงทุนที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนในวงกว้าง เมื่อมีลูกค้าแล้วค่อยลงทุนได้ โดยในขณะนี้ มีเอกชนสนใจเข้าเจรจาเพื่อขอนำคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับเชื่อมต่อกับหุ่นยนต์หรือโรบอทแทนการใช้แรงงานคน เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตมากยิ่งขึ้น'

***ส่องความพร้อม 5G ทีโอที

ที่ผ่านมา ทีโอทีมีความร่วมมือกับพันธมิตรหรือหน่วยงานภายนอก ในหลายโครงการได้แก่ 1.ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลกในการจัดทำบันทึกความเข้าใจหรือMOUเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 สำหรับการให้บริการด้านการแพทย์ทางไกลผ่านเครือข่าย 5G ภายใต้ความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเปิดใช้งานภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสื่อสารแบบไร้สาย 5G

รวมทั้งการใช้ระบบเครือข่ายสารสนเทศ ในการพัฒนาด้านวิศวกรรม สาธารณสุขอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ การเกษตร พลังงาน การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การศึกษา และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยและเพื่อทำงานวิจัยร่วมกันให้เกิดประโยชน์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งการพัฒนากำลังคน และการเรียนการสอนเพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสูงสุด

2.การร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลศิริราชสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงข่าย 5G ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมโดยเฉพาะการพัฒนาประเทศด้านสาธารณสุข มาเพิ่มประสิทธิภาพให้ 'หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ศิริราช' (Siriraj Mobile Stroke Unit) ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ในการประสานงานส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยรถพยาบาลการแพทย์ฉุกเฉินมาสู่รถ Siriraj Mobile Stroke Unit ด้วยความปลอดภัย ซึ่งเป็นการบริการโทรคมนาคมเพื่อสาธารณสุขของไทย

3.ร่วมพัฒนา 5G FIBO ROBOT (Institute of Field Robotics) กับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 4.ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ในการใช้คลื่น 5G พัฒนาระบบสายพานลำเลียงให้กับโรงงานผลิตเครื่องดื่มในเขตพื้นที่อีอีซี

5.สร้างโครงข่ายร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (IoT)ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจอีอีซีโดยมีแผนงานการลงทุนด้านInfrastructure เพื่อให้บริการ Smart Pole สำหรับบริการ 5G ในพื้นที่เขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองเป็นเมืองอัจฉริยะ และมีแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งเสา Smart Pole เพื่อให้บริการกับนักท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของภาคตะวันออก และ 6.ให้บริการกับบริษัท มิว สเปซ แอนด์แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัดหรือ mu Spaceในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้หุ่นยนต์ในการผลิตชิ้นส่วนประกอบของดาวเทียมวงโคจรต่ำ

***อีอีซีเปิดกว้าง - 11โอเปอเรเตอร์พร้อมใช้โครงข่ายร่วม

สำหรับการวางโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ทั้งเรื่องท่อร้อยสาย ไฟเบอร์ ออปติกและ 5G ในพื้นที่อีอีซีนั้น 'มรกต' กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า 11โอเปอเรเตอร์ ยินดีใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกับทีโอที โดยทีโอทีเป็นผู้ลงทุนในพื้นที่เป้าหมายและให้ 11โอเปอเรเตอร์เช่าใช้ ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุน และลดการลงทุนซ้ำซ้อน ซึ่งเป็นไปตาม MOU ที่ทีโอทีได้ลงนามร่วมกับ 11 โอเปอเรเตอร์ตั้งแต่ต้นปี 2563

'ดังนั้น ทีโอที จะนำ MOU ดังกล่าวเสนอต่ออีอีซีถึงแผนการลงทุนซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่การผูกขาด'

ขณะที่ 'คณิศ แสงสุพรรณ' เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี กล่าวว่า หากทีโอทีสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ก็สามารถทำได้และขอให้ส่งรายละเอียดเข้ามาให้พิจารณา

มรกต ย้ำว่า ในอนาคตทั้งทีโอทีและบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จะกลายเป็นบริษัทเดียวกันคือ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)หรือเอ็นที การควบรวมจะทำให้ เอ็นที กลายเป็นโอเปอเรเตอร์ที่มีโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมาก เป็นการเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ 5G โดย ทีโอที มีเสาสัญญาณจำนวน 25,000 ต้นขณะที่กสท โทรคมนาคม มี 18,000 ต้น รวมแล้วมีเสาสัญญาณโทรคมนาคมมากถึง 43,000 ต้น

ทั้งนี้พื้นที่ อีอีซี ใน 3 จังหวัดประกอบด้วยชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรามี 12 อุตสาหกรรรมเป้าหมายที่อีอีซีต้องส่งเสริม ได้แก่ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมคือ ยานยนต์สมัยใหม่, อิเล็กทรอนิกส์ อัจฉริยะ,การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ,การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพและการแปรรูปอาหาร รวมถึงต่อยอด 7 อุตสาหกรรมใหม่คือหุ่นยนต์,การแพทย์และสุขภาพครบวงจร,การบินและโลจิสติกส์,เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ,ดิจิทัล,การป้องกันประเทศและการพัฒนาบุคลากรและการศึกษา

บริการ 5G จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยปลดล็อคข้อจำกัดและถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ทั้งIoTที่อุปกรณ์ต่างๆสามารถสื่อสาร สั่งการและแลกปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันแบบเรียลไทม์ ตลอดจนวิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) และระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ (Automation)ในโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งล้วนต้องอาศัยความเร็วสูงและความหน่วงต่ำของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้การใช้งานอุปกรณ์ต่างๆมีความแม่นยำสูงและความผิดพลาดน้อยที่สุด

นอกจากนั้น 5G ยังเอื้อต่อเทคโนโลยีในโลกเสมือนจริงอย่าง Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องเช่น Cloud Computing, Machine Learning, Artificial และ Big Data

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น