โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รำลึก 31 ปี พุ่มพวง ดวงจันทร์ เหล่าศิลปินจัดคอนเสิร์ตอาลัยราชินีลูกทุ่ง

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 13 มิ.ย. 2566 เวลา 04.43 น. • เผยแพร่ 13 มิ.ย. 2566 เวลา 00.00 น.
พุ่มพวง ดวงจันทร์
ภาพจากเฟซบุ๊ก Petch Poompuang

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 ครบรอบ 31 ปี การจากไปของ “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ราชินีลูกทุ่ง “เปาวลี”-“ตรี ชัยณรงค์” นำทีมศิลปินแกรมมี่โกลด์ร่วมร้องเพลงในคอนเสิร์ตที่วัดทับกระดาน

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 หากกล่าวถึงการประกวดร้องเพลงในประเทศไทย เพลงลูกทุ่งเป็นหนึ่งในโจทย์ประเมินความสามารถของผู้เข้าแข่งขัน ซึ่งแต่ละคนต่างเลือกเพลงที่ชอบและถนัดมาแสดงต่อหน้าคณะกรรมการ ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพลงของศิลปินลูกทุ่งระดับตำนาน โดยเฉพาะฝ่ายหญิงที่มักใช้เพลงของราชินีลูกทุ่ง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ในการประกวด

แม้วันนี้ (13 มิถุนายน 2566) พุ่มพวง ดวงจันทร์ จะลาลับไปเป็นเวลา 31 ปีแล้ว แต่บทเพลงที่ “แม่ผึ้ง” ได้ฝากไว้ยังคงอยู่คู่สังคมไทย เด็กรุ่นใหม่ยังคงใช้ขับร้องแม้ว่าบางคนอาจเกิดไม่ทันยุคนั้นก็ตาม รวมถึงมีการนำบทเพลงของพุ่มพวงมา Cover หรือทำใหม่อยู่เสมอ

“ประชาชาติธุรกิจ” จึงรวบรวมเรื่องราวชีวิตของพุ่มพวง เพื่อเป็นการรำลึก 31 ปี ที่ดวงจันทร์ย้ายมาอยู่ในดวงใจของแฟนเพลง

โลกของผึ้ง

พุ่มพวง ดวงจันทร์ เกิดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2504 มีชื่อจริงว่า “รำพึง จิตรหาญ” ชื่อเล่น ผึ้ง จึงเป็นที่มาที่เด็กรุ่นใหม่เรียกขานว่า “แม่ผึ้ง” นั่นเอง

บ้านเกิดของผึ้งอยู่ที่บ้านหนองนกเขา ตำบลไพรนกยูง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท และมาเติบโตที่ บ้านดอนตำลึง ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นลูกคนที่ 5 ในจำนวน 12 คน ของสำราญ และจรัญ (เล็ก) จิตรหาญ

ครอบครัวมีอาชีพรับจ้างทำไร่อ้อย ซึ่งมีฐานะยากจน ทำให้ผึ้งเรียนไม่จบแม้แต่ชั้น ป.2 เพราะต้องช่วยครอบครัวเก็บผัก หาดอกไม้ป่า หาบไปขายตามโรงงาน

จาก “น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย” สู่ “พุ่มพวง ดวงจันทร์”

ผึ้งชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ โดยเริ่มหัดร้องเพลงและเดินสายประกวดตามงานต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ โดยใช้ชื่อว่า “น้ำผึ้ง ณ ไร่อ้อย”

ในปี 2518 ขณะมีอายุได้ 15 ปี ผึ้งได้ร้องเพลงสาวสวนแตง ของผ่องศรี วรนุช และได้รับรางวัลชนะเลิศนักร้องฝ่ายหญิงที่งานวัดท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี จากนั้นพ่อจึงพาไปฝากเป็นหางเครื่องในวงดนตรีของไวพจน์ เพชรสุพรรณ ที่มาทำแสดงที่วัดท่ามะกาในเวลานั้น

ระหว่างที่อยู่วงดนตรีของไวพจน์ ผึ้งทดลองร้องเพลงหน้าเวทีครั้งแรกในงานประจำปี ที่ตลาดลำนารายณ์ อำเภอไชยบาดาล จังหวัดลพบุรี ต่อมาไวพจน์แต่งเพลง “แก้วรอพี่” ให้ผึ้งร้องบันทึกเสียงเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า “น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ” ขณะเดียวกันผึ้งได้พบรักกับธีระพล แสนสุข สามีคนแรกซึ่งเป็นนักดนตรีอยู่ในวง

ต่อมา รุ่ง โพธาราม นักร้องรุ่นพี่ชักชวนให้ผึ้งแยกมาตั้งวงดนตรีเอง ด้วยการสนับสนุนของมนต์ เมืองเหนือ ครูเพลงลูกทุ่ง ที่รับผึ้งเป็นศิษย์ และตั้งชื่อให้ใหม่จากน้ำผึ้ง เมืองสุพรรณเป็น “พุ่มพวง ดวงจันทร์” แต่กิจการวงดนตรีไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด จึงต้องเลิกไปในที่สุด

อย่างไรก็ดี พุ่มพวงไม่ถอดใจและได้ตั้งวงดนตรีอีกเป็นครั้งที่ 2 แต่ก็ขาดทุนจนเลิกกิจการไปเช่นกัน พุ่มพวงจึงหันมาเป็นนักร้องประจำวงของศรเพชร ศรสุพรรณ และขวัญชัย เพชรร้อยเอ็ด

จากนั้นพุ่มพวงได้ไปทำงานกับบริษัท เสกสรรค์ จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนจากประจวบ จำปาทอง และปรีชา อัศวฤกษ์นันท์ ให้ตั้งวงร่วมกับเสรี รุ่งสว่าง ในชื่อวง เสรี-พุ่มพวง ทำให้พุ่มพวงเริ่มประสบความสำเร็จ

กระทั่งปี 2525 พุ่มพวงไปอยู่บริษัท อโซน่าโปรโมชั่น (ระหว่างปี 2525-2529) พร้อมออกผลงานเพลงตามมาอีกมากมาย เช่น จะให้รอ พ.ศ.ไหน, ดวงตาดวงใจ, สาวนาสั่งแฟน, นัดพบหน้าอำเภอ, ทิ้งนาลืมทุ่ง, คนดังลืมหลังควาย, อื้อฮื้อ ! หล่อจัง, ห่างหน่อย–ถอยนิด, ชั่วเจ็ดที-ดีเจ็ดหน และเรื่องของสัตว์โลก ซึ่งแต่ละเพลงโด่งดังไปทั่วเมืองไทย โดยส่วนมากผลงานของพุ่มพวงในช่วงเวลาดังกล่าวมักประพันธ์โดยลพ บุรีรัตน์

ต่อมาพุ่มพวงย้ายไปอยู่กับพีดี โปรโมชั่น และซีบีเอส เร็คคอร์ด (ประเทศไทย) และอาจารย์ไพจิตร ศุภวารี ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์พุ่มพวงให้เข้ากระแสนิยมของเพลงสตริงในยุคนั้น มีผลงานอัลบั้ม เช่น ตั๊กแตนผูกโบว์ และทีเด็ดพุ่มพวง แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับของนักฟังเพลงลูกทุ่ง จึงได้ย้ายไปทำงานร่วมกับมิวสิคไลน์ มีผลงานอัลบั้มที่ได้รับความนิยมมากมาย เช่น กล่อม, อันตราย, พุ่มพวง 31 (หนูไม่รู้), พุ่มพวง 31 ภาค 2 (หนูไม่เอา) และพุ่มพวง 32 (พี่ไปดู หนูไปด้วย)

ต่อมาได้ย้ายไปทำงานร่วมกับท็อปไลน์ มีผลงานอัลบั้ม เช่น พุ่มพวง 32 ภาค 2, ขอให้รวย และนำผลงานเก่ามาขับร้องใหม่ เช่น พุ่มพวงหลาย พ.ศ. (ตลับทอง และตลับเพชร), น้ำผึ้งเดือนห้า, ซูเปอร์ลูกทุ่งท็อปฮิต 1-6 จากนั้นเธอเริ่มรับจ้างทำงานให้กับอาร์เอส โปรโมชั่น เมโทรเทปและแผ่นเสียง และแฟนตาซี ไฮคลาส สำหรับผลงานกับค่ายอาร์เอส เช่น ลูกทุ่งท็อปฮิตมาตรฐาน เป็นผลงานอัลบั้มที่พุ่มพวงนำเพลงดังของศิลปินลูกทุ่งดังในอดีตมาร้องใหม่ นอกจากนี้ ยังมีค่ายเมโทรฯ ที่ได้ลิขสิทธิ์งานเพลงชุด “ส่วนเกิน” อีก 1 ชุด

ก้าวสู่บทบาทนักแสดง

ระหว่างโลดแล่นอยู่ในวงการเพลง พุ่มพวงได้ตั้งวงดนตรีพุ่มพวง ดวงจันทร์ อีกครั้ง ซึ่งคราวนี้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจเพลงและวงดนตรี เรียกได้ว่าทุกอย่างไปด้วย ยกเว้นชีวิตครอบครัว ประมาณปี 2526 พุ่มพวงตัดสินใจแยกทางกับธีระพล แสนสุข และในปีเดียวกันระหว่างโลดแล่นในวงการเพลง พุ่มพวงก็ได้รับโอกาสในการเข้าสู่วงการภาพยนตร์ในฐานะนักแสดง โดยผลงานเรื่องแรกคือ สงครามเพลง ของฉลอง ภักดีวิจิตร มีเพลงประกอบชื่อ “ดาวเรืองดาวโรย” ที่ลพ บุรีรัตน์เป็นผู้แต่งให้พุ่มพวงร้องในเรื่อง

หลังจากนั้นพุ่มพวงก็ได้แสดงหนักอีกหลายเรื่อง เช่น ผ่าโลกบันเทิง, สาวนาสั่งแฟน, มนต์รักนักเพลง, อาจารย์เด๋อเจอพุ่มพวง ฯลฯ

รางวัลพระราชทาน

การเข้าวงการแสดงทำให้พุ่มพวงได้พบกับ “ไกรสร แสงอนันต์” สามีคนที่ 2 ซึ่งมีลูกชายด้วยกัน 1 คน คือ เพชร-ภัควรรธน์ ลีละเมฆินทร์ ไกรสรเข้ามาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพุ่มพวง ด้วยการนำวงดนตรีของพุ่มพวง เปิดคอนเสิร์ตการกุศลหน้าพระพักตร์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี เมื่อปี 2529 ซึ่งถือเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการลูกทุ่งไทย

ต่อมาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2532 พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอีกครั้ง ในสาขารางวัลขับร้องเพลงดีเด่น กับเพลง “สยามเมืองยิ้ม” ประพันธ์โดยครูลพ บุรีรัตน์ ในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่ง ภาค 2

นอกจากนี้ พุ่มพวงยังเป็นนักร้องลุกทุ่งหญิงคนเดียว ที่เดินทางไปเปิดการแสดงที่สหรัฐอเมริกาตามคำเชิญของแฟนเพลงแดนไกลบ่อยที่สุด สถิติจากร้านจำหน่ายเพลงของคนไทยในลอสแองเจลิส ปี 2533-2534 แจ้งว่ามียอดจำหน่ายสูงสุดถึง 1 ล้านตลับ

วาระสุดท้ายของราชินีลูกทุ่ง

พุ่มพวงได้ห่างหายจากวงการเพลงในระยะหนึ่ง เนื่องจากป่วยเป็นโรคไต อาการรุนแรงจนต้องส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ต่อมามีการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแพทย์ตรวจพบว่า พุ่มพวงป่วยเป็นโรค “เอสแอลดี” หรือโรคลูปัส โรคในกลุ่มข้ออักเสบและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทําให้ร่างกายสร้างสารโปรตีนชนิดหนึ่งต่อต้านเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายตนเอง และเกิดปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เป็นพิษต่ออวัยวะขึ้น (แพ้ภูมิตนเอง) ทําให้มีอาการและอาการแสดงได้กับทุกระบบในร่างกาย ต่อมาได้มีการเรียกโรคนี้ว่า “โรคพุ่มพวง”

กระทั่งวันที่ 13 มิถุนายน 2535 พุ่มพวงที่มีอาการป่วยเรื้อรังและญาติ ๆ เดินทางไปนมัสการพระพุทธชินราช ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จ.พิษณุโลก พุ่มพวงเกิดหมดสติกะทันหันจนต้องนำส่งโรงพยาบาล แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น สุดท้ายเธอก็เสียชีวิตลงในค่ำคืนนั้น ด้วยวัยเพียง 30 ย่าง 31 ปี

พิธีรดน้ำศพของพุ่มพวงจัดขึ้นที่วัดมกุฏกษัตริยารามในช่วงเย็นวันที่ 14 มิถุนายน 2535 และพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 25 กรกฎาคม 2535 ณ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ

งานศพของพุ่มพวงเต็มไปด้วยความเศร้าโศกเสียใจของครอบครัว และแฟนเพลงนับแสนที่เดินทางจากทั่วประเทศมาอำลานักร้องในดวงใจ

รำลึก 31 ปี พุ่มพวง ดวงจันทร์

หลังการจากไปของพุ่มพวง ก็ได้มีการจัดงานรำลึกราชินีลูกทุ่ง “พุ่มพวง ดวงจันทร์” ขึ้นทุกปี ณ วัดทับกระดาน อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยปีนี้ศิลปินจากแกรมมี่โกลด์ ก็ขนทัพไปร่วมร้องเพลงในคอนเสิร์ตเพื่อถ่ายทอดบทเพลงของราชินีลูกทุ่งที่หลายคนรักและคิดถึง ในวันที่ 13 มิถุนายน 2566

นำโดย เปาวลี พรพิมล, ตรี ชัยณรงค์, เอิ้นขวัญ วรัญญา, ก้านตอง ทุ่งเงิน, อิสร์ อิสรพงศ์, ลำยอง หนาวหินห่าว, มิ้วส์ อรภัสญาน์, กิ๊ก+มัทรี นิวคันทรี่ และกิมกลอย ไทดอลมิวสิค

ซึ่งศิลปินทั้งหมดจะรวมตัวกันไปไหว้สักการะหุ่นแม่ผึ้ง พุ่มพวง ที่ศาลากลางน้ำ เวลา 17.30 น. จากนั้นก็จะขึ้นคอนเสิร์ตร้องเพลงสุดอมตะของราชินีลูกทุ่งที่อยู่ในใจแฟน ๆ ตลอดกาล ในเวลา 20.00 น. เป็นต้นไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น