หุ้น AMARIN หรือ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) เดินมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ หลังดำเนินธุรกิจมากว่า 47 ปี
เริ่มต้นจากการผลิตนิตยสาร"บ้านและสวน" ที่ออกสู่ตลาดในปี 2519 จนประสบความสำเร็จ และได้ขยายการเติบโตสู่การทำธุรกิจสื่อครบวงจร ทั้งนิตยสาร สำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ ทีวีดิจิทัล และสื่อออนไลน์
AMARIN ก่อตั้งโดย"ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์" และบริษัทก็อยู่ในการบริหารของตระกูลอุทกะพันธุ์มาตลอด 4 ทศวรรษ กระทั่งในปี 2559 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของอาณาจักรอมรินทร์ เมื่อบริษัทตัดสินใจขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น ให้กับ กลุ่มสิริวัฒนภักดี รวมมูลค่า 850 ล้านบาท
ภายหลังการซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนั้น ทำให้ตระกูลสิริวัฒนภักดี ขยับขึ้นมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเครืออมรินทร์ โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 47.62% ขณะที่ผู้ก่อตั้งกลุ่มครอบครัวอุทกะพันธุ์ มีสัดส่วนหุ้นลดลงเหลือ 30.83%
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2566 ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่อีกครั้ง เมื่อ "ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์" ทายาทผู้ก่อตั้ง ได้ขายหุ้น Big Lot จำนวนรวม 138,387,052 หุ้น คิดเป็น 13.86% ของหุ้นทั้งหมดให้กับ บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด ทำให้ตระกูลสิริวัฒนภักดีเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ใน AMARIN เป็น 60.35% ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ กลุ่มผู้บริหารในตระกูลอุทกะพันธุ์ ประกอบด้วย เมตตา อุทกะพันธุ์ ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ และโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ ก็ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งของบริษัททั้งหมด เพื่อเปิดทางให้กลุ่มทุนใหญ่เข้าบริหารอย่างเต็มตัว
นับเป็น "ปฐมบทใหม่" ของ เครืออมรินทร์ก็ว่าได้ โดยเปลี่ยนจากการบริหารของตระกูลอุทกะพันธุ์ สู่หัวเรือใหม่ภายใต้ตระกูลสิริวัฒนภักดีอย่างเต็มรูปแบบ จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างมากว่าธุรกิจสื่อของบริษัทนับจากนี้จะปรับตัว และเดินหน้าด้วยกลยุทธ์แบบใด
อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตจะเห็นว่าที่ผ่านมา AMARIN พยายามจะสร้างภาพลักษณ์ใหม่มาโดยตลอด ให้มีความทันสมัยขึ้น ทั้งการเปลี่ยนโลโก้ร้านนายอินทร์ การเพิ่มรูปแบบคอนเทนต์ เน้นโลกออนไลน์มากขึ้น เช่น การเข้าถือหุ้นเว็บไซต์ "เด็กดี" (Dek-D) และ การเปิดตัวสำนักพิมพ์ใหม่ "ฟีนิกซ์" (PHOENIX)
สำหรับผลประกอบการของ AMARIN ถือว่าอยู่สถานะกำไร และกลับมาเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากจากการขาดทุนอย่างหนักระหว่างปี 2557-2560 หลังกระโดดเข้าไปเล่นในธุรกิจทีวีดิจิทัล
สรุปรายได้-กำไร AMARINในรอบ 10 ปี
- ปี 2556 รายได้รวม 2,064.47 ล้านบาท กำไรสุทธิ 285.08 ล้านบาท
- ปี 2557 รายได้รวม 1,892.35 ล้านบาท ขาดทุน -89.70 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้รวม 1,968.63 ล้านบาท ขาดทุน -417.15 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้รวม 1,894.00 ล้านบาท ขาดทุน -628.12 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้รวม 2,196.42 ล้านบาท ขาดทุน -163.94 ล้านบาท
- ปี 2561 รายได้รวม 3,327.10 ล้านบาท กำไรสุทธิ 172.68 ล้านบาท
- ปี 2562 รายได้รวม 3,268.46 ล้านบาท กำไรสุทธิ 167.72 ล้านบาท
- ปี 2563 รายได้รวม 2,937.11 ล้านบาท กำไรสุทธิ 170.67 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้รวม 2,960.61 ล้านบาท กำไรสุทธิ 313.11 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้รวม 4,274.45 ล้านบาท กำไรสุทธิ 474.37 ล้านบาท
ขณะที่ผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 1,982.58 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 128.48 ล้านบาท จากธุรกิจหลัก 3 ด้าน ได้แก่ สำนักพิมพ์ ตามด้วยมีเดียและอีเวนต์ รวมทั้ง สิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์
สุดท้ายนี้ คงต้องจับตาดูว่า ก้าวสำคัญของ AMARIN จะน่าตื่นเต้นแค่ไหน ทั้งการวางโครงสร้างธุรกิจใหม่ ภาพจำใหม่ สายป่านที่แข็งแกร่งขึ้น ตลอดจนการผสานจุดแข็งกับบริษัทต่าง ๆ ในเครือเจ้าสัวเจริญ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม ร้านอาหาร โรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ซึ่งน่าจะได้เห็นความชัดเจนของแผนธุรกิจในเร็ว ๆ นี้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ความเห็น 0