เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 66 ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติโครงการพักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ทำให้วันนี้ (27 ก.ย. 66) ในเวทีงานสัมมนาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI
นายอภิสิทธิ์ ชุมยางสิม ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรบ้านโนนเขวา จังหวัดขอนแก่น บอกว่า จากการถามความเห็นเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มกว่า 89 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นลูกหนี้ของ ธ.ก.ส.อยากจะเข้าร่วมมาตรการพักหนี้ แต่ติดตรงที่ เงื่อนไขของมาตรการที่กำหนดให้ เกษตรกรที่จะเข้าร่วมมาตรการต้องมีหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท แต่สมาชิกส่วนใหญ่มีหนี้ เฉลี่ย 400,000-500,000 บาท บางคนมีหนี้สะสมหลายก้อน และไม่ได้มีเฉพาะหนี้ที่กู้มาเพื่อทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนปรับเงื่อนไข เพิ่มเพดานหนี้ให้เกษตรกรที่มีหนี้เกิน 300,000 บาท ให้ได้รับการช่วยเหลือด้วย
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ TDRI ระบุว่า ลูกหนี้ที่ รัฐควรเร่งเข้าไปดูแล คือกลุ่มที่มีหนี้รวมเกิน 3 แสนบาท เพราะกลุ่มนี้ มักจะมีปัญหา จ่ายแค่ดอกเบี้ย ทำให้ต้นเงินไม่ลด ดังนั้นมาตรการพักหนี้ ควรจะมีการขยายเงื่อนไข ให้ครอบคลุมลูกหนี้กลุ่มนี้ด้วย และหามาตรการจูงใจ เพื่อให้จ่ายเงินต้น เช่น การลดดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ เกษตรกรหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้
ด้าน นางมิ่งสรรค์ ขาวสะอาด ประธานมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ให้ความเห็นว่า มาตรการพักหนี้ไม่ต่างจากการย้ายหนี้ ไปไว้ในอนาคต ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมา เกษตรกรที่เข้าร่วมมาตรการก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ได้ ดังนั้นรัฐบาลควรปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตให้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น สนับสนุนการนำเทคโนโลยี และเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการผลิต ไม่อยากให้มีแค่นโยบายพักหนี้เพียงอย่างเดียว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมาตรการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลหาเสียงไว้ ไม่ทำไม่ได้ แต่มีหลายคนเคยวิจารณ์ว่า การพักหนี้ก็เหมือนยาแดง ประชาชนอยากเห็นการแก้ไขหนี้สินระยะยาว หากพักหนี้ระยะเวลา 3 ปี ถ้ารัฐบาลอยากอยู่ถึงปีที่ 4 จะทำอย่างไร?
นอกจากนี้ผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า โครงการพักหนี้เกษตรกรที่ผ่านมา มีผู้ร่วมโครงการเป็นหนี้เพิ่มถึง 70% ดังนั้น รัฐบาลต้องเตรียมแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้า และต้องเตรียมงบประมาณไว้ในระยะยาว เพราะโครงการดังกล่าวเป็นการเอาเงินของคนทั้งประเทศมาชดเชยให้สถาบันการเงิน