โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เส้นทางสู่การจรรโลงรัฐบาลเพื่อไทยระยะยาว

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 10 ก.ย 2566 เวลา 13.21 น. • เผยแพร่ 10 ก.ย 2566 เวลา 13.21 น.
ศิโรตม์ copy

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

เส้นทางสู่การจรรโลงรัฐบาลเพื่อไทยระยะยาว

ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็ประสบความสำเร็จในการตั้งรัฐบาลข้ามขั้วทั้งที่ไม่ได้ชนะอันดับ 1 ในการเลือกตั้งเลย และอย่างที่คุณเศรษฐา ทวีสิน พูดไว้ก่อนเข้าทำเนียบว่าพรรคเพื่อไทย “เทหมดหน้าตัก” ในการตั้งรัฐบาล เดิมพันของการได้อำนาจรัฐด้วยวิธีนี้จึงสูงระดับไม่เปรี้ยงปร้างทะลุเพดานก็จบแบบอาทิตย์อัสดง

มลทินที่แก้ไม่ตกของรัฐบาลเศรษฐาคือเพื่อไทยเสียสัตย์ตั้งรัฐบาล ถึงแม้เรื่องนี้ควรจะจบทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้อำนาจรัฐเป็นของตัวเอง ปัญหาความไม่เชื่อมั่นที่ลุกลามเป็นความไม่เชื่อถือยังไม่จบในความรับรู้ของประชาชนด้วย ความเชื่อว่ารัฐบาลไม่ทำตามคำพูดจึงเป็นมวลความรู้สึกที่อยู่ในสังคมตลอดเวลา

โดยปกติรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งควรตั้งต้นด้วยช่วง “ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์” ที่สังคมโอบรับและให้โอกาสรัฐบาล

แต่ด้วยวิธีที่เพื่อไทยได้อำนาจรัฐจนครองทำเนียบเป็นของตัวเอง รัฐบาลเศรษฐากำลังเผชิญปัญหา “ความชอบธรรมบกพร่อง” (Legitimacy Deficit) ที่ทำให้ทำอะไรคนจำนวนมากก็คลางแคลงใจ

ในแง่นี้ จุดอ่อนที่สุดของรัฐบาลเศรษฐาก็คือพรรคเพื่อไทย

แต่ขณะเดียวกันจุดแข็งที่สุดในรัฐบาลเศรษฐาก็คือคุณเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยด้วย หากคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่พรรคร่วมรัฐบาลเศรษฐาทั้งหมดคือพรรคร่วมรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งอย่างย่อยยับ ยกเว้นพรรคภูมิใจไทยซึ่งได้ ส.ส.มากกว่าเดิม

เฉพาะกรณีคุณเศรษฐา จุดเด่นของคุณเศรษฐาคือความตั้งใจทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรี

แต่จุดอ่อนของคุณเศรษฐาคือการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่ “ความนิยม” หรือ Popularity ต่ำกว่าแม้แต่คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงหาเสียง

โจทย์ที่ท้าทายคุณเศรษฐาจึงได้แก่การสร้างความเชื่อมั่นตัวคุณเศรษฐาชดเชยความไม่เชื่อมั่นรัฐบาล

โดยปกติวิธีที่ผู้นำจะสร้างความนิยมได้รวดเร็วคือเร่งทำผลงาน, ใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ รวมทั้งแสดงวิสัยทัศน์จนเป็นที่ยอมรับของสังคม

แต่รัฐบาลหลายพรรคทำให้คุณเศรษฐาเร่งสร้างผลงานได้ยาก

ส่วนการโฆษณาชวนเชื่อยิ่งยากขึ้นจนอาจไม่ได้ผลเลย ไม่อย่างนั้นเพื่อไทยคงไม่ได้ ส.ส.ต่ำกว่าเป้าที่ผ่านมา

พูดให้เห็นภาพยิ่งขึ้น คุณเศรษฐามีสถานะทางกฎหมายเป็นผู้นำรัฐบาล แต่คุณเศรษฐายังไม่สามารถเป็นผู้นำการเมืองของสังคมได้ รวมทั้งยังห่างไกลจากการสร้างการนำทางการเมือง (Political Leadership) ในความหมายของการเป็นผู้นำที่ทุกคนยอมรับอย่างกว้างขวาง หากเข้าใจว่า “ผู้นำ” ไม่เท่ากับ “การนำ”

แน่นอนว่าผู้นำแต่ละคนมีวิธีสร้าง “การนำทางการเมือง” แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น คุณประยุทธ์สร้างด้วยการใช้กำลังและการขู่จนประชาชนกลัว คุณทักษิณ ชินวัตร สร้างด้วยความยอมรับด้านเศรษฐกิจ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สร้างด้วยคำประกาศ “ทักษิณคิด ยิ่งลักษณ์ทำ”

คำถามสำคัญสำหรับคุณเศรษฐาคือจะสร้างการนำด้วยวิธีไหนดี

การสร้างภาวะการนำทางการเมืองโดยชูความมีวิสัยทัศน์ (Visionary Political Leadership) คือทางเดียวที่คุณเศรษฐาทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลงานหรือนโยบายเลย

แต่คุณเศรษฐาเป็นนักบริหารองค์กรมากกว่าจะเป็นนักแสดงวิสัยทัศน์อย่างที่คุณทักษิณเคยทำสมัย “ตาดูดาว เท้าดิดดิน” จนคงต้องใช้เวลาตามสมควร

ทุกวันนี้เพื่อไทยโดนวิจารณ์เรื่องสนับสนุน “นางแบก” ให้โจมตีคนที่เห็นต่างทางการเมืองทั้งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งจนปัจจุบัน

แต่ในแง่การสร้างการนำทางการเมือง คุณเศรษฐาในเวลานี้ต้องแสดงบทบาท “นายแบก” เพื่อให้ความเป็นคุณเศรษฐาพยุงความอ่อนยวบของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลโดยรวม

โดยหลักการแล้วพรรคแกนนำรัฐบาลควรมี “รัฐมนตรี” หรือบุคคลซึ่งทำหน้าที่ “นายแบก” หรือ Brand Ambassador เพื่อพยุงความนิยมของนายกและรัฐบาล

ตัวอย่างเช่น คุณทักษิณสมัยเป็นนายกฯ เคยมีรัฐมนตรีและที่ปรึกษาพันศักดิ์ วิญญรัตน์, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ หรือสุรเกียรติ์ เสถียรไทย

อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลรอบนี้โดยไม่มีใครทำหน้าที่ “นายแบก” ให้คุณเศรษฐาเลย

ภาพลักษณ์ของคณะรัฐมนตรีเต็มไปด้วยนักการเมืองรุ่นเก่า, ลูกหลานคนใหญ่คนโต, สปอนเซอร์พรรค หรือคนสนิทขาใหญ่ในพรรคจนหาใครค้ำยันความนิยมของรัฐบาลช่วยคุณเศรษฐาไม่ได้เลย

ถ้าไม่มีคุณเศรษฐาเป็นหัวหน้ารัฐบาล คณะรัฐมนตรีชุดนี้ไม่มีใครที่ช่วยสร้าง “ความนิยมทางการเมือง” ได้แม้แต่น้อย

นโยบายที่ชัดเจนและความสำเร็จในการบริหารนโยบายให้เกิดผลจริงๆ จึงเป็น “ทางรอด” ที่รัฐบาลต้องทำเพื่อแก้ปัญหา “ความชอบธรรมบกพร่อง” ตั้งแต่ช่วงตระบัดสัตย์เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

สูตรสำเร็จของรัฐบาลเพื่อไทยที่สืบทอดโดยรัฐบาลประยุทธ์และส่งต่อมาถึงรัฐบาลเศรษฐา 1 คือนโยบายแจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและคะแนนนิยม แต่นโยบายแจก 1 หมื่นจะทำให้เศรษฐกิจโตหรือไม่ยังไม่รู้ และคณะรัฐมนตรีจะผลักดันนโยบายรับลูกแจกเงินรวดเดียวกว่า 5 แสนล้านได้หรือไม่ก็ไม่รู้ด้วยเช่นกัน

คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจควรเป็นแกนหลักของคุณเศรษฐาเพื่อเสริมสร้าง “กระแส” ของรัฐบาล แต่รายชื่อรัฐมนตรีเศรษฐกิจในเวลานี้กลับมีศักยภาพช่วยคุณเศรษฐาได้น้อยมาก เพราะรัฐมนตรีพาณิชย์ไม่เคยแสดงวิสัยทัศน์หรือมีบทบาทเรื่องการพาณิชย์ ส่วนรัฐมนตรีอุตสาหกรรมก็ไม่เคยพูดอะไรเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

ไม่มีใครไม่รู้ว่ารัฐมนตรีเศรษฐกิจทุกคนได้ตำแหน่งเพราะระบบโควต้าของพรรคร่วมรัฐบาล รัฐมนตรีคนหนึ่งต้องการเป็นรัฐมนตรีอีกกระทรวง แต่เจอตอจากหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลที่ต่อรองกับผู้มีอำนาจตัวจริงได้สำเร็จ ขณะที่รัฐมนตรีอีก 2-3 มาจากตระกูลการเมืองที่พ่อเป็นถุงเงินใหญ่ของพรรคการเมือง

เมื่อเทียบกับรัฐมนตรีคนอื่นที่ไม่เคยมีบทบาทเศรษฐกิจเลย กระทรวงการคลังคือกระทรวงเดียวที่เชื่อถือได้ที่สุดในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่เมื่อคำนึงว่ารัฐมนตรี 3 คนมีรัฐมนตรีช่วยเพียงคนเดียวที่เคยผ่านงานกระทรวงการคลัง

โจทย์ของคุณเศรษฐาในการอุ้มรัฐบาลตัวเองจึงยิ่งยากขึ้นเป็นทวีคูณ

ปัญหาของรัฐบาลเศรษฐาคือนอกจากนโยบายแจก 1 หมื่นแล้วไม่มีนโยบายที่สร้างความนิยมถล่มทลายเลย แต่นโยบายแจก 1 หมื่นกลับเป็นนโยบายที่สร้างความสับสนมาก ซ้ำยังเป็นความสับสนที่ไม่มีใครชี้แจงให้ชัดเจนด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาของเงิน, กระบวนการแจกเงิน และปัญหาของนโยบายเอง

วันเดียวกับที่คุณเศรษฐาเข้าทำเนียบทำหน้าที่นายกฯ วันแรกคือวันที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะยืมเงิน 5.6 แสนล้านไปแจกประชาชน

จากนั้นก็มีข่าวอีกว่าวิธีแจกก็จะใช้แอพพ์เป๋าตังแทนที่จะเป็นบล็อกเชนอย่างที่บอกไว้ และท้ายที่สุดก็มีปัญหาเรื่องการยืมเงินไปแจกอาจมีปัญหาเรื่องต้องทลายเพดานวินัยการเงินการคลัง

ท่ามกลางข่าวที่แสดงความสับสนของนโยบายหลักของรัฐบาล พรรคเพื่อไทยในฐานะต้นสังกัดของคุณเศรษฐากลับมีบทบาทยุติความอลหม่านทางนโยบายน้อยมาก โฆษกพรรคบอกว่าเรื่องนี้เป็นงานรัฐบาล พรรคยังตอบไม่ได้ และกว่าที่รัฐมนตรีจะตอบได้ก็ปล่อยให้ความสับสนทางนโยบายสะพัดไปทั่วทั้งวัน

เพื่อไทยเป็นพรรคเดียวที่มีทีมสื่อขนาดใหญ่เป็นของตัวเอง ยิ่งกว่านั้นก็คือทีมสื่อเพื่อไทยมาจากองค์กรสื่อจริงๆ และทีมรัฐบาลซึ่งไม่ควรปล่อยให้นโยบายที่เป็นแกนหลักเกิดความสับสนแบบนี้แม้แต่นิดเดียว

คุณเศรษฐาพูดถูกว่าเพื่อไทยคราวนี้เทหมดหน้าตักเพื่อตั้งรัฐบาล และคุณภูมิธรรม เวชยชัย ก็พูดถูกอีกเช่นกันว่าเพื่อไทยใช้ต้นทุนไปเยอะมากเพื่อตั้งรัฐบาลแบบนี้ คำถามทางการเมืองที่ท้าทายคือการบริหารงานรัฐบาลแบบไหนที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยชดเชยหน้าตักที่ควักไปในปฏิบัติการครอบครองทำเนียบรัฐบาลคราวนี้จริงๆ

ไม่มีใครไม่รู้ว่าเพื่อไทยตั้งรัฐบาลโดยมีภารกิจพิเศษเพื่อกร่อนเซาะหรือ “ลดเพดาน” ประชาธิปไตยในระยะยาว

ความล้มเหลวของเพื่อไทยจึงไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของเพื่อไทย หากยังเป็นปัญหาต่อความชอบธรรมของภารกิจกร่อนเซาะประชาธิปไตยที่จะกลายเป็นปัญหาใหม่ทางการเมือง

ไม่มีเวลาสำหรับการฮันนีมูนของรัฐบาลเพื่อไทย มีแต่การเดินหน้าตั้งรัฐบาลที่พลาดไม่ได้นิดเดียว

สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj

— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น