โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

กัณวีร์ ไม่เห็นชอบ เศรษฐา ลั่นไม่อาจโหวตสวนฉันทามติ ปชช.

MATICHON ONLINE

อัพเดต 22 ส.ค. 2566 เวลา 08.41 น. • เผยแพร่ 22 ส.ค. 2566 เวลา 08.13 น.
728

กัณวีร์ ไม่เห็นชอบ เศรษฐา ลั่นไม่อาจโหวตสวนฉันทามติ ปชช.

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ในการประชุมรัฐสภา มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาวาระโหวตเลือกนายกฯ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย เป็นนายกฯ

นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ลุกขึ้นอภิปรายว่า ไม่สามารถเห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ เพราะไม่สามารถสนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลที่ถือเป็นการโหวตสวนฉันทามติของประชาชน ไม่สามารถสนับสนุนการทำหน้าที่ของผู้แทนประชาชนที่เป็นเพียงผู้รับเหมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกัณวีร์ยังได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า การอภิปรายของตนในการประชุมรัฐสภาที่พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายเศรษฐาเป็นนายกฯ ตนได้นำเรียนผ่านประธานรัฐสภาไปดังนี้

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเพียงการเลือกผู้แทนของพี่น้องประชาชนมาเพื่อเปรียบเสมือนเป็นผู้รับเหมาที่ทำการแทนประชาชนในรัฐสภาเท่านั้น แต่ประชาชนจำนวนมากได้ตัดสินใจเลือกว่าจะอยู่กับโครงสร้างเดิม หรือจะเป็นหนึ่งเสียงเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยเราให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และนี่คือวาระที่หลายพรรคการเมืองใช้ในการรณรงค์หาเสียงกับประชาชนเอาไว้อย่างต่อเนื่อง

“ขอเรียนว่าหนึ่งเสียงของประชาชน ล้วนเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พวกเราที่อยู่ในรัฐสภาแห่งนี้ต้องเคารพต่อพี่น้องประชาชน ว่าพวกเราไม่ใช่ผู้รับเหมาอำนาจจากประชาชนแล้วมากำหนดโครงสร้างอย่างไรก็ได้ ประชาธิปไตยคือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ไม่ใช่การปกครองของพวกท่านโดยพวกเราเพียงแค่จำนวนเล็กน้อย แล้วอ้างว่าการทำการทั้งหมดนี้ พวกเราที่อยู่ในรัฐสภาแห่งนี้ทำเพื่อประชาชน ฟังไม่ขึ้นครับ”

พวกเราจะต้องใช้เหตุผลอย่างสุดความสามารถและตรงไปตรงมา วินิจฉัยให้ได้ถึงเจตนารมณ์ในการลงคะแนนเสียงของประชาชน ซึ่งคะแนนเลือกตั้งโดยรวมและส่วนใหญ่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ประชาชนโดยส่วนมาก ปรารถนาการเปลี่ยนแปลง มากกว่าการคงโครงสร้างเดิมของระบบการเมืองเดิมๆ เอาไว้

ดังนั้น ผมจึงไม่สามารถเห็นชอบกับแนวทางการจัดตั้งรัฐบาล ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างฝ่ายบริหารไปจากช่วง 8-9 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ ที่ใช้ประโยชน์จากคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ และโดยเฉพาะการแสวงประโยชน์จากความปรารถนาของประชาชนที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในช่วงรณรงค์หาเสียง โดยไม่ได้จริงจังและจริงใจอย่างเพียงพอที่จะยึดมั่นในเสียงศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนไว้วางใจและมอบให้

“การโหวตสวนมติพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่เพียงใด แต่ในกรณีนี้ที่ท่านพยายามทำกันอยู่ คือการโหวตสวนมติมหาชนโดยส่วนมาก ย่อมเป็นเรื่องที่ใหญ่หลวงยิ่งกว่าการโหวตสวนมติพรรคการเมือง และผมคงไม่สามารถยอมลดเกียรติของตัวเองที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน ให้ความเห็นชอบกับคุณเศรษฐาเป็นนายกรัฐมนตรีไปได้”

ผมย้ำว่า นี่ไม่ใช่เพราะผมมีข้อกังขาในตัวคุณเศรษฐานะครับท่านประธาน ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาที่ตัวบุคคลครับ ผมให้ความเชื่อถือและเชื่อใจว่าพรรคที่เสนอชื่อแคนดิเดตแต่ละท่าน ย่อมกลั่นกรองอย่างดีแล้ว เป็นแง่มุมที่ผมให้ความเคารพไม่ขอก้าวล่วง แต่ปัญหาของประเด็นนี้มันเป็นเรื่องหลักการที่จะได้มาซึ่งอำนาจฝ่ายบริหาร ที่แม้กรอบกฎหมายจะเปิดทางให้กระทำได้ แต่กรอบของคุณค่าประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ในรัฐสภาแห่งนี้นับเป็นเรื่องผิดปกติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อการทำให้การรณรงค์หาเสียงเป็นเพียงการใช้ประโยชน์เพื่อการโฆษณาเท่านั้น สิ่งนี้เป็นการกระทำที่ด้อยค่าการรณรงค์หาเสียงในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งทำให้การรณรงค์หาเสียงดังกล่าวเหลือไว้แค่เพียงการทำการตลาดทางการเมือง ท่านประธานครับ จริงๆ แล้วการรณรงค์หาเสียงนั้น เป็นขั้นตอนสำคัญในการประมวลเจตนารมณ์ ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ให้กลายเป็นเสมือนหางเสือในการกำหนดทิศทางประเทศชาติร่วมกัน

“ผมยังยืนยันครับว่า แนวทางที่เหมาะสมที่สุดคือ การรอเวลา ตั้งแต่ที่สังคมถกแถลงกันว่า รอปิดสวิตช์มาตรา 272 รอกันได้มั้ย นานไปมั้ย ตอนนั้นจากรอ 10 เดือน เผลอแป๊บเดียวตอนนี้ก็เหลือเพียง 8 เดือนแล้วนะครับ 8 เดือนในการยืนยันมติมหาชนส่วนใหญ่ เทียบไม่ได้หรอกครับกับ 9 ปี ที่ไม่เคยเห็นหัวพี่น้องประชาชนเลย”

ผมขอย้ำว่า เจตนารมณ์ของเสียงส่วนใหญ่ประสงค์จะเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมในทุกด้าน แต่สิ่งที่ประชาชนกลับได้เห็นอยู่ในขณะนี้ คือ ตัวแสดงกลุ่มต่างๆ ที่เคยแข่งขันกัน ขัดแย้งกันแทบเป็นแทบตาย ที่ผ่านมาสุดท้ายกลายเป็นว่า มันเป็นเพียงการต่อสู้เพื่อแย่งกันปีนขึ้นไปอยู่บนยอดพีระมิดของโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมนั่นเอง พูดให้แรงหน่อยครับท่านประธาน คือ ประเทศชาติเราเสียโอกาสไปเป็นสิบๆ ปีกับความขัดแย้งที่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างอันผูกขาดและกดทับประชาชนมาโดยตลอด

เพราะฉะนั้น การจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับโครงสร้างเก่าทางการเมือง จึงเป็นสิ่งที่ผมไม่อาจเห็นชอบได้ การจัดตั้งรัฐบาลโดยสวนมติมหาชนส่วนมาก ตามที่เคยรณรงค์หาเสียงกับประชาชนไว้จึงเป็นสิ่งที่ผมไม่อาจเห็นชอบได้เช่นกัน ผมยังยึดถือและเห็นชอบในมติมหาชนส่วนมากตามครรลองระบอบประชาธิปไตย อันสะท้อนโดยชัดเจนอย่างยิ่งผ่านการเลือกตั้งที่ผ่านมาและเป็นเหตุผลเดียวของการตัดสินใจลงมติครั้งนี้ด้วยการ ไม่เห็นชอบ ให้คุณเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะไม่ชอบด้วยหลักการประชาธิปไตยสากลด้วยประการทั้งปวงครับ

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0