โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

SMEs-การเกษตร

เทคนิคปลูกดูแลส้มโอรสอร่อย การผลิตแปลงใหญ่ส้มโอพิจิตร

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 16 ส.ค. 2566 เวลา 04.29 น. • เผยแพร่ 20 ส.ค. 2566 เวลา 22.00 น.
ปก

จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่ปลูกส้มโอเชิงการค้าที่มีศักยภาพส่งออกอยู่ในระดับต้นๆ ของประเทศไทย มีแหล่งปลูกสำคัญ อยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำพิจิตร (แม่น้ำน่านสายเดิม) อำเภอเมือง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง และอำเภอตะพานหิน โดยเฉพาะที่อำเภอโพธิ์ประทับช้าง มีพื้นที่ในการปลูกมากที่สุดกว่าหมื่นไร่ มีแนวโน้มขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นทุกปี เนื่องจากมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ลูกค้าสำคัญคือ จีน เวียดนาม และตะวันออกกลาง สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่นไม่ต่ำกว่าปีละ 600 ล้านบาท

เนื่องจากส้มโอเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตออกสู่ตลาดได้เกือบตลอดปี ปริมาณผลผลิตส่วนใหญ่ออกสู่ตลาดอย่างมากระหว่างเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนกันยายน มักมีปัญหาผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มากเกินความต้องการของตลาดในช่วงเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน จึงเป็นเหตุให้ส้มโอล้นตลาด ราคาตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อการจัดการสวนเพื่อการผลิตส้มโอคุณภาพในฤดูถัดไป

สำนักงานเกษตรจังหวัดพิจิตรจึงแนะนำให้เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอรายย่อยมารวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตรมาช่วยในการผลิต เพิ่มความสามารถจัดการผลิตผลอย่างมืออาชีพ ทำให้คุณภาพสินค้าได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน เพิ่มศักยภาพทางการตลาด สร้างอำนาจต่อรองการขายผลผลิตกับพ่อค้าคนกลางเพิ่มมากขึ้น

การปลูก

สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ส้มโอ หมู่ที่ 8 ตำบลโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร นิยมปลูก “ท่าข่อย” ส้มโอพันธุ์พื้นเมืองที่ผ่านการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดพิจิตร ส้มโอท่าข่อยเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี เมื่อติดผลแล้ว สามารถปล่อยผลแก่ให้อยู่คาต้นได้นานถึง 11 เดือน โดยไม่ต้องรีบตัด เกษตรกรสามารถเลือกตัดส้มโอท่าข่อยออกขาย เมื่อได้ราคาที่ต้องการ

นอกจากนี้ เกษตรกรนิยมปลูกส้มโอสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ขาวแตงกวา ขาวน้ำผึ้ง ทองดี รวมทั้งส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามโดยซื้อกิ่งตอนจากอำเภอปากพนังมาปลูกในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม ขุดหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร และระยะปลูกส้มโอตามมาตรฐานการปฏิบัติเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ส้มโอ คือ 6×6 เมตร ใส่ปุ๋ย12-24-12 เพื่อเตรียมต้นก่อนการออกดอก 1-2 เดือน เก็บเกี่ยวส้มโอในช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ หลังดอกบาน 6 เดือนครึ่ง ถึง 7 เดือนครึ่ง

ผลผลิตและการเก็บเกี่ยว

ส้มโอเริ่มให้ผลผลิตได้เมื่ออายุเฉลี่ย 4 ปี ผลส้มโอแก่เก็บเกี่ยวได้เหมาะสมต่อการบริโภคสดมีอายุ 6 เดือนครึ่ง ถึง 7 เดือนครึ่งหลังติดผล ในระยะดังกล่าวผลส้มโอจะมีความหวานเพิ่ม (total soluble solids) และปริมาณกรดลดลงทำให้เนื้อกุ้งมีรสชาติ สี และกลิ่นดี นอกจากนี้ ยังต้องดูลักษณะของต่อมน้ำมันและนวลที่ปกคลุมผิวผล สำหรับส้มโอที่ผลิตป้อนตลาดส่งออกต้องควบคุมความปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างและการปนเปื้อนของโรคและแมลงศัตรูที่ติดไปกับผลส้มโอ ซึ่งการควบคุมคุณภาพของผลส้มโอที่มีประสิทธิภาพอาจต้องเริ่มตั้งแต่ผลเริ่มติด เจริญและพัฒนาบนกิ่งและต้น การไว้ผล และการห่อผลในระยะก่อนเก็บเกี่ยว โดยการผสมผสานระหว่างการจัดการเขตกรรมและการจัดการด้านการอารักขาพืชที่เหมาะสม

การตัดแต่งกิ่ง

หลังหมดฤดูการเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะทำการตัดแต่งกิ่งกาฝาก กิ่งแห้ง เพื่อให้การติดดอกดีโดยตัดแต่ง 2 ครั้ง หลังเก็บเกี่ยว ครั้งที่ 1 ช่วงเดือนพฤศจิกายน ครั้งที่ 2 ช่วงเดือนกันยายน

การให้น้ำ

ระยะออกดอก หากให้น้ำมากเกินไปทำให้ใบร่วง และระยะออกดอกทำให้ดอกร่วง หากฝนตกเมื่อดอกบานแล้วทำให้ดอกร่วงเช่นกัน ระยะติดผลควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะเดือนมีนาคม ให้น้ำ 3-5 วันต่อครั้ง

เตรียมต้นก่อนออกดอก

เดือนพฤศจิกายน หลังตัดแต่งกิ่งให้รดน้ำ ใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น

ระยะออกดอก

เดือนมกราคม พ่นปุ๋ยเกล็ดทางใบ สูตร 0-52-34 อัตรา 0.4 กิโลกรัมต่อไร่ ทุก 15 วัน ใช้น้ำหมักชีวภาพและฮอร์โมนไข่ฉีดเสริม เดือนกุมภาพันธ์ ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น และปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น

ระยะติดผล

เดือนพฤษภาคม ใส่ปุ๋ยสูตร 16-16-16 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น และปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น เดือนมิถุนายน ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-60 อัตรา 2 กิโลกรัมต่อต้น พ่นปุ๋ยเกล็ดทางใบ สูตร 0-52-34 อัตรา 0.4 กิโลกรัมต่อไร่

การจัดการโรคและแมลง

เดือนมกราคม ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ป้องกันเพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ ไรแดง หนอนเจาะดอก ได้แก่ อีไทออน ไซเพอร์เมทริน อิมิดาโคลพริด เดือนเมษายน ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ป้องกันเพลี้ยไฟ หนอนชอนใบ ไรแดง หนอนเจาะดอก ได้แก่ อีไทออน ไซเพอร์เมทริน อิมิดาโคลพริด พ่นยาตามอัตราและคำแนะนำข้างขวด และสลับกลุ่มยาในการพ่น เพื่อป้องกันการดื้อยา ช่วงก่อนการเก็บเกี่ยว 15-30 วัน งดฉีดพ่นสารเคมี

ผลักดันส่งออกส้มโอ

ฉายรังสีไปสหรัฐอเมริกา

เนื่องจากส้มโอไทยคุณภาพมีศักยภาพในการส่งออก ประกอบกับ ปัจจุบันทางประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎระเบียบเพิ่มเติมให้ไทยสามารถส่งออกส้มโอผลสดได้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ดังนั้น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ทุนสนับสนุนแก่ รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท แห่งมหาวิทยาลัยนเรศวร และคณะดำเนินโครงการวิจัย เรื่อง “การศึกษาผลของการฉายรังสีต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงมหาชนกและส้มโอเพื่อการส่งออกประเทศสหรัฐอเมริกา”

รศ.ดร.พีระศักดิ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ดำเนินการวัดการกระจายปริมาณรังสีดูดกลืนในบรรจุภัณฑ์ (กล่องที่บรรจุส้มโออยู่ภายใน) โดยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) จากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา มาร่วมดำเนินการรับรองผลไปเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

โครงการดังกล่าวมีเกษตรกรและผู้ประกอบการเข้าร่วม จำนวน 2 ราย ได้แก่ คุณแล โพธิ์วัด แห่งสวนลุงแล และ คุณบุญเกิด มีทวี แห่งศูนย์ส่งออกส้มโอบ้านโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากเกษตรกรและผู้ประกอบการเป็นอย่างดี นอกจากนี้ คณะนักวิจัยมีกำหนดการที่จะนำส้มโอฉายรังสีไปจัดแสดงในงาน Natural Products Expo East 2023 ณ เมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 20-23 กันยายน 2566 ที่จะถึงนี้ นับเป็นความภาคภูมิใจของนักวิจัยไทย ภายใต้การสนับสนุนจาก วช. ที่สามารถผลักดันให้ผลไม้ไทยได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับและก้าวไกลในตลาดโลก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น