โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

SMEs-การเกษตร

ปลูกผัก เลี้ยงไส้เดือนในกะละมังเจาะรู ได้ผักกินดี เพราะปุ๋ยมูลไส้เดือน

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 19 พ.ค. 2566 เวลา 10.09 น. • เผยแพร่ 19 พ.ค. 2566 เวลา 10.08 น.
ผักไส้เดือน

คุณสุวรรณ วัฒนาวงศ์ (คุณป็อป) อายุ 44 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 339/52 หมู่ที่ 3 บางกรวย-ไทรน้อย เทศบาลนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ปัจจุบัน คุณสุวรรณเป็นเจ้าของฟาร์มไส้เดือนผักกินดี ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรเพาะไส้เดือน ปุ๋ยมูลไส้เดือน และปลูกผักปลอดสารพิษ

คุณสุวรรณ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นความเป็นมาของฟาร์มไส้เดือนผักกินดี เริ่มมาจากตนเองทำงานประจำและทำงานเสริมเป็นช่างถ่ายภาพ หลังจากเวลาว่างจึงอยากหารายได้เสริมเพิ่มที่สามารถทำที่บ้านได้ จึงเริ่มมองดูพื้นที่บริเวณบ้าน เนื่องจากเป็นพื้นที่อยู่อาศัยพื้นที่บริเวณบ้านจึงอยู่ใต้หลังคา จึงได้หาข้อมูลพืชที่สามารถปลูกในร่มได้ และใช้ระยะเวลาในการปลูกไม่นาน จึงตัดสินใจว่าจะปลูกต้นทานตะวันอ่อน เริ่มจากปลูกทานเอง เมื่อเหลือก็นำไปจำหน่ายให้กับคนในพื้นที่ จึงตั้งชื่อฟาร์มในตอนแรกว่า ผักกินดี ถือว่าเป็นรายได้เสริมอีกทางที่เข้ามาและยังเป็นกิจกรรมยามว่างให้กับลูกได้ดีอีกด้วย แต่แน่นอนว่าทุกสิ่งที่ลงมือทำกว่าจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ต้องมีปัญหาเข้ามาให้ได้แก้ไข

คุณสุวรรณ กล่าวว่า เมื่อเข้าช่วงฤดูฝน ต้นอ่อนที่ปลูก พบเจอกับปัญหาเชื้อราหนักมาก พยายามหาวิธีแก้ปัญหาในหลายรูปแบบก็ไม่สามารถแก้ได้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากการปลูกในพื้นที่ใต้หลังคา ที่ทำให้ต้นอ่อนไม่เจอแสงแดดเลย และช่วงนั้นอยู่ในฤดูฝนพอดีแสงแดดอาจไม่มากนักที่ส่องมากระทบต้นอ่อน คุณสุวรรณจึงมองหาอาชีพอื่นมาแทนการปลูกต้นอ่อน หากในช่วงฤดูฝนไม่สามารถปลูกต้นอ่อนได้ จะมีสิ่งไหนที่ตนเองสามารถทำได้โดยใช้พื้นที่บริเวณบ้านได้อีกหรือไม่

คุณสุวรรณ จึงได้ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมและพบกับการเพาะเลี้ยงไส้เดือน จึงศึกษาเพิ่มมากขึ้นทั้งในอินเตอร์เน็ตและไปตามแหล่งอบรมฟรี สำหรับผู้ที่ต้องการเพาะเลี้ยงไส้เดือน จึงได้ซื้อไส้เดือนจำนวนหนึ่งจากการอบรมในครั้งนั้นเพื่อมาทดลองเลี้ยง การเลี้ยงไส้เดือนในตอนแรกนั้นถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี ขายส่งมูลไส้เดือนให้กับร้านต้นไม้ แต่ในช่วงแรกนี้ส่งได้ในจำนวนที่ไม่มาก เนื่องจากในตอนนั้นยังเลี้ยงไส้เดือนในจำนวนน้อย แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน ไส้เดือนเลี้ยงยากมาก เนื่องจากอากาศที่ร้อนทำให้ไส้เดือนตายไปจำนวนมากพอสมควร จึงทำให้ไม่สามารถส่งมูลไส้เดือนให้กับร้านต้นไม้ได้

คุณสุวรรณ พยายามหาวิธีแก้ไขจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ผู้ที่เพาะเลี้ยงไส้เดือน หรือแม้เเต่ข้อมูลในอินเตอร์เน็ต นำวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละที่มาทดลองแก้ไขกับไส้เดือนในฟาร์ม สุดท้ายก็ไม่เป็นผลดี จึงทำให้คุณสุวรรณล้มเลิกความตั้งใจในการเพาะเลี้ยงไส้เดือน ณ ตอนนั้นเอง

คุณสุวรรณ กล่าวว่า เหลือไส้เดือนอยู่จำนวนไม่มาก จึงนำขี้วัวที่ใช้เพาะเลี้ยงไส้เดือนไปตากแดดและรดน้ำบ่อยๆ เพื่อคลายแก๊ส เมื่อเวลาผ่านไป 1 สัปดาห์ คุณสุวรรณกลับมาดูก็พบว่าไส้เดือนที่อยู่ในขี้วัวนั้นตัวอ้วนสมบูรณ์ไม่ตายสักวัน จากตอนแรกที่ยอมแพ้ไปแล้วว่าจะไม่เพาะเลี้ยงไส้เดือนอีก กลับทำให้คุณสุวรรณมีแรงสู้อีกครั้ง

คุณสุวรรณ กล่าวว่า ตอนนั้น จึงทดลองเลี้ยงไส้เดือนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้มีวิธีการเลี้ยงที่หลากหลายขึ้น 1. ทดลองเลี้ยงในกระสอบ 2. ทดลองเลี้ยงในกะละมังที่เจาะรูด้านล่าง 3. ทดลองเลี้ยงในกะละมังที่ไม่เจาะรูด้านล่าง 4. พื้นปูน

เมื่อทดลองได้ 2 สัปดาห์ ทำให้คุณสุวรรณมีความเข้าใจมากขึ้นในการทดลองเลี้ยงทั้ง 4 รูปแบบ 1. การเลี้ยงไส้เดือนในกระสอบทำให้ไส้เดือนโตดี แต่เก็บมูลไส้เดือนได้ยาก 2. การเลี้ยงไส้เดือนในกะละมังที่ไม่เจาะรูด้านล่าง ทำให้ไส้เดือนเติบโตไม่ดี และไม่สามารถเก็บมูลได้ เนื่องจากมีน้ำขังในกะละมัง 3. การทดลองเลี้ยงไส้เดือนในกะละมังที่เจาะรู วิธีนี้ถือว่าได้ผลดีอย่างมาก ไส้เดือนมีการเจริญเติบโตที่ดี ตัวอ้วน มีความชุ่มชื้นในดิน น้ำไม่ขัง และสามารถเก็บมูลไส้เดือนได้ง่าย 4. การทดลองเป็นไปได้ดีดั่งการทดลองที่ 3 แต่การเลี้ยงในพื้นปูน จำเป็นต้องมีพื้นที่พอสมควร อาจจะไม่ตอบโจทย์นัก คุณสุวรรณจึงได้ใช้วิธีการเลี้ยงไส้เดือนรูปแบบที่ 3 มาเลี้ยงไส้เดือนในฟาร์ม หวังให้ประสบความสำเร็จอีกครั้ง

คุณสุวรรณ อธิบายถึงขั้นตอนการในการเพาะเลี้ยงไส้เดือน ดังนี้ มูลวัวนมคืออาหารสำหรับไส้เดือน ก่อนนำมูลวัวนมใส่ลงไปในกะละมังที่เจาะรูด้านล่าง นำมูลวัวนมไปแช่น้ำเพื่อคลายแก๊ส โดยแช่น้ำเป็นเวลา 3 วัน ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกวัน และต้องใส่จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงลงไปในน้ำทุกครั้ง จากนั้นนำมูลที่แช่น้ำเป็นเวลา 3 วัน มาตากแดดให้พอหมาดๆ จึงสามารถใส่มูลลงไปในกะละมังเจาะรูที่เตรียมไว้ โดยอัตราส่วนมูลวัวนม 3 ส่วน 4 ต่อไส้เดือน 2 ขีดครึ่ง จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม ไส้เดือนโดยปกติแล้วจะกินมูลวัวนมจากด้านล่างและขึ้นมาถ่ายมูลไว้ด้านบน ทำให้สามารถเห็นมูลได้ชัดเจนและเก็บง่าย โดยจะเก็บมูลไส้เดือนทุก 3 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน

คุณสุวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันฟาร์มไส้เดือนผักกินดี ถือเป็นอาชีพหลักของตนเองไปเสียแล้ว ทั้งในช่วงนี้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทำให้งานประจำและงานเสริมอย่างถ่ายภาพอาจไม่ค่อยดีนัก แต่ปัจจุบันนี้การเพาะเลี้ยงไส้เดือนทำให้คุณสุวรรณมีรายได้ในการเลี้ยงชีพและครอบครัว มีธุรกิจที่เป็นของตนเองและยังเป็นกิจกรรมเสริมให้กับลูกๆ ทุกครั้งที่คุณสุวรรณโพสต์ภาพลูกๆ ขณะทำกิจกรรมลงบนเฟซบุ๊ก ทำให้ผู้ปกครองหลายท่านเกิดความสนใจและอยากหากิจกรรมเสริมให้กับลูกๆ คุณสุวรรณจึงได้ทำผลิตภัณฑ์ชุดทดลองเลี้ยงให้กับผู้ปกครองที่สนใจทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ

ปัจจุบันมูลไส้เดือน มีผู้สั่งซื้อเข้ามากกว่า 400 กิโลกรัม ใน 1 สัปดาห์ โดยกลุ่มลูกค้า มีทั้งซื้อในราคาส่งสำหรับร้านต้นไม้และลูกค้าทั่วไป การเพาะเลี้ยงไส้เดือนถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ตอบโจทย์อย่างมากในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้ สามารถใช้พื้นที่บ้านให้เกิดประโยชน์ และต้นทุนที่ไม่สูงแต่ได้กำไรดี

คุณสุวรรณ วัฒนาวงศ์ (คุณป็อป) อายุ 44 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 339/52 หมู่ที่ 3 บางกรวย-ไทรน้อย เทศบาลนครนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี โทรศัพท์ 094-362-5499 หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง เฟชบุ๊ก ฟาร์มไส้เดือนผักกินดี

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2564

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น