แนะผู้ค้า ตรวจสอบสินค้า ป้องกันถูกกล่าวหา ขายสินค้า 'ละเมิดลิขสิทธิ์' ระวัง ‘ผู้แอบอ้าง’ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เรียกค่ายอมความ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดี กรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ผู้ค้ารายย่อย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ได้ร้องเรียนเข้ามาว่า มีกลุ่มคนอ้างตัวเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพการ์ตูนรูปสัตว์ เข้าจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ค้าฐานละเมิดลิขสิทธิ์ โดยนำหนังสือแสดงการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ ที่ออกโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา มาใช้เป็นเครื่องมืออ้างความเป็นเจ้าของ
แนะผู้ค้าตรวจสอบสินค้า ระวังละเมิดลิขสิทธิ์
จากกรณีที่เกิดขึ้น กรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหา กรมฯ ขอเน้นย้ำและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับงานลิขสิทธิ์ ซึ่งมีอยู่หลากหลายประเภท อาทิ วรรณกรรม ภาพยนตร์ เพลง ภาพวาด ภาพถ่าย และการ์ตูน เป็นต้น
เหล่านี้ล้วนเป็นงานที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ ในทันทีที่ได้สร้างสรรค์ โดยเจ้าของสิทธิไม่ต้องยื่นจดทะเบียน แต่สามารถแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมฯ เพื่อรวบรวมไว้ในฐานข้อมูลลิขสิทธิ์ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนทั่วไป ที่สนใจใช้ประโยชน์ในงานลิขสิทธิ์ สามารถติดต่อเจ้าของสิทธิเพื่อขออนุญาตใช้งานได้อย่างถูกต้อง
ซึ่งการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิตามกฎหมาย โดยเมื่อเจ้าของผลงานลิขสิทธิ์ได้ยื่นจดแจ้งลิขสิทธิ์ไว้กับกรมฯ แล้ว กรมฯ จะออกหนังสือแสดงข้อมูลลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้แจ้ง ซึ่งสามารถนำหนังสือแสดงข้อมูลลิขสิทธิ์ดังกล่าว ไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ใช้เป็นเอกสารประกอบในการทำสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์
พ่อค้าแม่ค้าผู้ค้ารายย่อย ก่อนนำสินค้ามาจำหน่าย ต้องให้ความสำคัญในการพิจารณาอย่างรอบคอบ ว่าสินค้าที่นำมาจำหน่ายนั้น เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และได้ขออนุญาตเจ้าของสิทธิ อย่างถูกต้องหรือไม่
หากถูกกล่าวหา ว่าจำหน่ายสินค้าละเมิด ลิขสิทธิ์ ต้องตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือสิทธิของตัวแทนที่เข้าจับกุม มีการแจ้งความร้องทุกข์ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาด้วยหรือไม่
แนะแนวปฏิบัติ ทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์ และ ผู้ค้า
อีกทั้งควรใช้สิทธิตามกฎหมายของตน โดยเฉพาะสิทธิที่จะมีทนายความ ที่สำคัญอย่าจ่ายค่ายอมความในทันที แม้ว่าคดีละเมิด ลิขสิทธิ์จะสามารถยอมความกันได้ก็ตาม แต่ควรดำเนินการต่อหน้าพนักงานสอบสวน และมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
ในส่วนของเจ้าของสิทธิหรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ หากพบการกระทำที่เข้าข่ายละเมิด ลิขสิทธิ์ของตน ควรดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้อง การนำหนังสือแสดงการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไปใช้อ้างสิทธิและเข้าจับกุม เพื่อเรียกค่ายอมความนั้น ถือเป็นการใช้ประโยชน์โดยผิดวัตถุประสงค์ อันก่อให้เกิดความเดือดร้อนทุกข์ใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ที่ปัจจุบันประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับคำปรึกษาจากกรมฯ ได้ที่หมายเลข 02 547 4633 ในวันและเวลาราชการ หรืออีเมล copyright.office@ipthailand.go.th ได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม