กทม.ยุคชัชชาติเริ่มเดินหน้าเอาสายสื่อสารที่รกรุงรังตามเสาไฟฟ้าลงดิน ล่าสุดรองผู้ว่า หารือร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที เตรียมนำสายสื่อสารลงใต้ดินเพิ่มเติม 100 กม. ขณะที่ความคืบหน้าถนนปลอดเสาไฟฟ้าและสายไฟยังมีความล่าช้า กฟน.สร้างเสร็จไปเพียง 55.7 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการระยะทาง 180.4 กิโลเมตร
การประชุมหารือเรื่อง การนำสายสื่อสารลงใต้ดินของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2565 ที่มี รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน ในเบื้องต้นสรุปว่า ต้องนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ดังนี้
กลุ่มที่ 1 บริเวณที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำเสาไฟฟ้าออกจากพื้นที่และนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินแล้ว บริเวณนี้ต้องนำสายสื่อสารลงใต้ดินภาคบังคับและต้องรีบดำเนินการมีระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร
กลุ่มที่ 2 บริเวณที่การไฟฟ้ายังไม่นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ผู้ประกอบการยังเดินสายบนเสาไฟฟ้า ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการว่าหากบริเวณใดที่มีท่อของเอ็นทีอยู่แล้วขอให้นำสายสื่อสารลงดิน
กลุ่มที่ 3 บริเวณที่ต้องจัดระเบียบ แต่ยังมีเสาไฟฟ้าอยู่ ในกรณีที่ กทม.จะปรับปรุงทางเท้าบริเวณดังกล่าวจะทำการวางท่อสายสื่อสารเพื่อรองรับไว้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
หลังจากนั้นจะขอความร่วมมือผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน
และกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่ต้องใช้ความพยายามมากเพราะอยู่ในถนน ตรอกซอย และยังไม่มีท่อสายสื่อสารกลางได้หารือกันว่าจะทำอย่างไรที่ให้ผู้ประกอบการมาแชร์ค่าใช้จ่ายกันในการนำสายสื่อสารลงดิน เบื้องต้นเอ็นทีเสนอว่าพร้อมจะเป็นตัวกลางในการประสานกับผู้ประกอบการ โดยทั้งหมดนี้รองผู้ว่าฯ กทม.ขอให้คณะทำงานเร่งสรุปแผนภายในหนึ่งสัปดาห์ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ ในสมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. เคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า ตั้งแต่ปี 2561 ที่ผ่านมา กทม. การไฟฟ้านครหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นําสายไฟฟ้า สายสื่อสารลงดินแล้ว 21 เส้นทาง ระยะทางรวม 133,050 เมตร
อย่างไรก็ตาม โครงการนำสายไฟและสายสื่อสารลงใต้ดินยังมีความล่าช้ามากโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 ได้รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามแผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของ กฟน. ปี 2564 ซึ่งตามแผน กฟน.รับผิดชอบดูแลครอบคลุมพื้นที่ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร
แต่ทั้ง 8 แผนงาน กฟน. ทำเสร็จเพียง 55.7 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างดำเนินการระยะทาง 180.4 กิโลเมตร โดยแต่ละแผนมีความล่าช้า