โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"เจ้าน้อยค่ำคน"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 10 เม.ย. เวลา 08.11 น. • เผยแพร่ 02 มี.ค. 2565 เวลา 06.00 น.
ล้านนาคำเมือง ปก 2167

เจ้า หมายถึง เจ้าผู้ครองนคร หรือผู้มีเชื้อสายเจ้าผู้ครองนคร

น้อย เป็นคำนำหน้าชื่อของผู้ที่เคยบวชเป็นสามเณรมาก่อน

ฅ่ำ คือ กลั่นแกล้ง ข่มเหง

และ ฅน หมายถึง คน ผู้คน ราษฎร

แปลโดยรวมว่า เจ้าที่เคยบวชเณรกระทำการข่มเหงประชาชน

“เจ้าน้อยฅ่ำฅน” เป็นคำเลียนเสียงจากชื่อของ “เจ้าน้อยคำคง” ผู้มีพฤติกรรมที่ส่อไปทางข่มเหงรังแกประชาชนจนเป็นตำนานเล่าขานของชาวเชียงใหม่

เจ้าน้อยคำคง ชื่อจริงคือ “คำคง” ด้วยความเป็นผู้มีเชื้อสายเจ้าที่บวชเป็นสามเณรมาก่อน จึงมีคำว่า “เจ้าน้อย” นำหน้า

เรื่องราวของท่านผู้นี้มีมากมาย ส่วนใหญ่จะเล่าขานสู่กันฟังในเชิงมุขปาฐะ เนื้อเรื่องอาจแตกต่างกันไป

ในที่นี้ขอนำเรื่องราวบางเรื่องจากงานเขียนของ ปราณี ศิริพร ณ พัทลุง ในหนังสือ เพชรลานนา (1) มาเล่าเป็นตัวอย่าง

เจ้าน้อยคำคงดำรงชีวิตอยู่ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7

คนทั่วไปในสมัยนั้นเรียกชื่อเจ้าน้อยคำคงว่า “เจ้าน้อย” พฤติกรรมของเจ้าน้อยคือชอบข่มเหงรังแกคน ทั้งฉุดคร่าลูกเมียชาวบ้าน กลั่นแกล้งพระเณร ชาวบ้าน ตลอดจนชาวป่าชาวดอย

หญิงชาวบ้านที่มีรูปร่างน่าตาสะสวย ไม่ว่าหญิงนั้นจะเป็นลูกเขาเมียใคร หากเจ้าน้อยพึงพอใจก็จะสั่งให้พ่อแม่นำไปส่งตัวเป็นภรรยา หรือไม่ก็ฉุดคร่าไปด้วยอำนาจ

และถ้าหญิงใดไม่สามารถทนอยู่กับเจ้าน้อยได้ หากมีความปรารถนาจะเป็นอิสระจะต้องเสียเงินค่าเลิกราถึง 50 รูปี ซึ่งเป็นค่าเงินที่สูงมากสำหรับชาวบ้านทั่วไป

ในการทำบุญที่วัด เจ้าน้อยจะไปคอยสังเกตดูการให้ศีลให้พรของพระสงฆ์ หากพระเณรรูปใดลืมหรือให้ศีลให้พรไม่ถูกต้องก็จะถูกไล่ตะเพิดจีวรปลิว

ครั้งหนึ่ง ในช่วงเทศกาลทำบุญเฉลิมฉลองศาสนสมบัติ หลายวัดเตรียมซ้อมการแสดงเพื่อนำไปร่วมในงาน

มีวัดใกล้บ้านเจ้าน้อยวัดหนึ่งซ้อมตีกลองถึงค่อนดึกจนเจ้าน้อยเดือดร้อนรำคาญ รุ่งเช้าจึงให้คนไปนิมนต์พระเณรและเชิญชาวบ้านที่มีส่วนในการซ้อมตีกลองไปที่บ้าน

พอไปถึงก็จัดสำรับอาหารเลี้ยงต้อนรับจนอิ่มหนำสำราญ จากนั้นก็ออกคำสั่งให้ตีกลองไปเรื่อยๆ ห้ามหยุดตีโดยเด็ดขาด หากใครขัดขืนก็ถูกลงหวาย ตีอย่างนั้นตั้งแต่เช้ายันสว่าง

ทำเอาทุกคนเข็ดหลาบไม่มีวัดใดกล้าซ้อมตีกลองอีก

สมัยโบราณ หน้าบ้านของชาวล้านนาจะมีหม้อน้ำบรรจุน้ำตั้งอยู่พร้อมมีกระบวยแขวนไว้เพื่อให้น้ำเป็นทานแก่ผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา

หน้าบ้านของเจ้าน้อยก็มีหม้อน้ำและแขวนกระบวยไว้ 2 อัน อันหนึ่งเล็กมาก อีกอันหนึ่งใหญ่มาก

วันๆ เจ้าน้อยจะถือคันกระสุนเร้นกายอยู่ในที่ลับคอยแอบดู หากคนไหนใช้กระบวยเล็กตักน้ำดื่มแล้วไม่อิ่มจะตักอีกครั้งเป็นต้องโดนยิงด้วยลูกกระสุนทันที พร้อมกันนั้นจะได้ยินเสียงตวาด “สูอยากกินอิ่ม หยังบ่ใช้อันใหญ่ตัก”

และถ้าใครใช้กระบวยใหญ่ตักแล้วเททิ้งเพราะกินไม่หมด ลูกกระสุนก็ปลิวไปกระทบกายให้เจ็บปวดพร้อมเสียงตะหวาด “สูจะกินน้อย หยังบ่ใช้อันน้อย” เป็นอย่างนี้ทุกวันจนไม่มีผู้ใดแวะเวียนไปดื่มน้ำหน้าบ้านหลังนั้นอีกเลย

วันหนึ่ง มีชายหนุ่มคนหนึ่งเดินผิวปากผ่านหน้าบ้านเจ้าน้อยอย่างมีความสุข เจ้าน้อยเห็นก็เรียกเข้าบ้านแล้วสั่งให้ผิวปากให้ฟังห้ามหยุด พอผิวไปๆ เกิดปากแห้งก็อนุญาตให้ใช้น้ำทาปากได้

การผิวปากนานๆ จะทุกข์ทรมานปานใด แต่ก็เป็นความสุขใจของเจ้าน้อยในครั้งนั้น

การข่มเหงรังแกของเจ้าน้อย ใช่จะมีเฉพาะคนในเมืองเท่านั้น แม้แต่ชาวเขาชาวดอยก็ไม่ได้ละเว้น อย่างเช่นครั้งที่เจ้าน้อยถูกสั่งให้ไปปฏิบัติราชการที่เมืองยวม อำเภอแม่สะเรียงในปัจจุบัน

เมื่อไปถึงที่หมายเจ้าน้อยสั่งให้เกณฑ์ชาวกะเหรี่ยงมาทำพลับพลาที่พัก

พวกกะเหรี่ยงก็มาตามคำสั่ง แต่ไม่ได้เอาเครื่องมือมาทำงาน

เจ้าน้อยก็ทำโทษให้กะเหรี่ยงแยกกันยืนเป็นเสาพลับพลา แล้วเอาไม้พาดเป็นตงเป็นขื่อแป ความสูงของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทำให้พลับพลาเอียง

เจ้าน้อยก็ขู่ว่าคนไหนสูงจะตัดขาออก ทำให้คนที่ต่ำกว่าต้องพยายามยืนเขย่งด้วยความทรมานเพราะกลัวพรรคพวกของตนจะถูกตัดขา

ยิ่งกว่านั้นยังสั่งให้คนที่เหลือมาทำหน้าที่เป็นเสาเตียงนอนหามตนตลอดเวลาหลับอีก

ทั้งหมดที่เล่ามา เป็นสาเหตุที่ชาวล้านนาเรียกชื่อ “เจ้าน้อยคำคง” เป็น “เจ้าน้อยฅ่ำฅน” ด้วยประการฉะนี้

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “เจ้าน้อยค่ำคน”

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichonweekly.com

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น