ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า หากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเป็นระเบิดเวลาที่อาจปะทุขึ้น จนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
หนี้ครัวเรือน ประเด็นที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันสูง
หนี้ครัวเรือนคือหนี้ที่ประชาชนกู้ยืมจากผู้ให้กู้ สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการนอกระบบ หรือแม้แต่คนรู้จัก เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายตามความต้องการที่แตกต่างกันไป โดยการก่อหนี้หรือการกู้ยืมเงินนั้นช่วยให้เราสามารถใช้จ่ายได้ทั้งในชีวิตประจำวัน และยามจำเป็นเกินกว่ารายได้และเงินออมที่มีอยู่ เช่น จ่ายค่าอาหารมื้อหรูแม้เงินเดือนยังไม่ออก ซื้อรถในฝันแม้ยังไม่มีเงินออมก้อนใหญ่ หรือจ่ายค่ารักษาพยาบาลในยามฉุกเฉิน อย่างไรก็ดี การก่อหนี้เปรียบเสมือนการนำรายได้ในอนาคตมาใช้ แม้จะทำให้เกิดการใช้จ่าย ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในวันนี้ แต่ในอนาคตเราจำเป็นต้องทยอยชำระหนี้คืนทำให้รายได้ที่หามาเหลือใช้น้อยลง และหากครัวเรือนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจก่อหนี้มากเกินไปก็จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจผ่านทาง (1) การบริโภคของครัวเรือนในอนาคตจะลดลง และ (2) ความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดน้อยลง เช่น หากถูกเลิกจ้างหรือถูกลดค่าจ้างลง ก็อาจจะผิดนัดชำระหนี้ที่มีอยู่เดิม ซึ่งสร้างความเสี่ยงให้กับระบบสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ยืม ในกรณีที่การผิดนัดชำระหนี้มีจำนวนมาก ระบบการเงินจะได้รับความเสียหายจนไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติและกระทบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
บางคนอาจมีคำถามว่า แล้วถ้าเป็นการก่อหนี้เพื่อลงทุนทำธุรกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต การก่อหนี้ดังกล่าวแม้จะมากไปบ้าง แต่ไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจใช่หรือไม่ ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน เนื่องจากทุกการลงทุนและการทำธุรกิจมีความเสี่ยงที่ผลตอบแทนจะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ หรือในบางกรณีอาจขาดทุน ซึ่งทำให้ผู้กู้ต้องแบกรับภาระหนี้ และอาจผิดนัดชำระหนี้
อย่างไรก็ดี การก่อหนี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป แต่กลับเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ตราบใดที่ไม่ใช่การก่อหนี้เกินตัวและขาดการวางแผน เพราะหากเราเลือกที่จะไม่ก่อหนี้เลย แต่ต้องการสินค้ามูลค่าสูง เช่น บ้านหรือรถ เราจำเป็นต้องเก็บออมเยอะและยาวนาน กว่าจะมีเงินเพียงพอซื้อสินค้าเหล่านี้ได้ และเมื่อคนจำนวนมากเลือกทำเช่นนั้น เงินออมในระบบเศรษฐกิจจะมากจนเกินไป และเศรษฐกิจในภาพรวมก็จะขยายตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
มาถึงจุดนี้ เชื่อว่าผู้อ่านคงเห็นแล้วว่าการก่อหนี้มีทั้งประโยชน์และโทษ ในด้านหนึ่งการก่อหนี้สูงอาจฉุดรั้งการบริโภคในอนาคตและสร้างความเปราะบางในระบบเศรษฐกิจการเงิน แต่อีกด้านหนึ่งการไม่ก่อหนี้เลยก็ทำให้ครัวเรือนใช้จ่ายได้น้อยลงและทำให้เศรษฐกิจซบเซา ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการก่อหนี้ในระดับที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง
หนี้ครัวเรือนไทยสูงจนน่ากังวลแล้วหรือยัง?
ปัจจุบัน ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล ไม่ว่าจะเทียบกับในอดีตหรือเทียบกับต่างประเทศ โดยข้อมูล ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ชี้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นสูงถึง 89.3% (รูปประกอบที่ 1) และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้ โดยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่
(1) พฤติกรรมของครัวเรือน จากงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[1] พบว่าครัวเรือนไทยออมน้อย เป็นหนี้สูง และเป็นหนี้นาน เนื่องจากพฤติกรรมใช้จ่ายเกินตัว ทำให้มีเงินออมน้อย เมื่อต้องการซื้อสินค้าที่มีมูลค่าสูงจึงจำเป็นต้องกู้แบบเต็มมูลค่าหรือเป็นหนี้สูง นอกจากนี้ ผู้กู้บางรายยังจำเป็นต้องยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ที่ต้องชำระในแต่ละเดือนสูงจนเกินไป ทำให้เป็นหนี้นาน
(2) แรงกระตุ้นจากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านมามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมักมุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ซึ่งบางมาตรการมีส่วนทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้ในขณะที่ยังไม่พร้อม เช่น โครงการรถยนต์คันแรกในปี 2555 ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนเองก็มีการออกมาตรการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำให้ครัวเรือนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้เช่นกัน
(3) การส่งเสริมของสถาบันการเงิน คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันการเงินมีการแข่งขันกันเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของตนเอง โดยการยื่นข้อเสนอที่เย้ายวนใจ ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนติดกับดักภาระหนี้ เช่น โพรโมชันผ่อน 0% หรือการให้เงินคืน (cash back) เมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต รวมทั้งยังมีการเจาะกลุ่มลูกค้าอายุน้อยซึ่งอาจยังไม่มีความพร้อมทางการเงิน โดยงานศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์[2] พบว่า คนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี กู้เงินเพื่อซื้อรถยนต์มากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้กู้เพื่อซื้อบ้านหลังแรกที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
นอกจากการประเมินสถานการณ์หนี้ผ่านระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP แล้ว เรายังสามารถประเมินผ่านตัวเลขภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระเทียบกับรายได้ต่อเดือน (Debt Service Ratio: DSR) ซึ่งสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน หากตัวเลข DSR ปรับเพิ่มขึ้นสูงจนเกินไป แปลว่ามีภาระหนี้สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ ครัวเรือนก็มีแนวโน้มจะปรับตัวด้วยการลดการบริโภคลงหรือผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้น ตัวเลข DSR ถือเป็นเครื่องชี้วัดสำคัญตัวหนึ่งในการติดตามแนวโน้มการบริโภคและแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้
จากการวิเคราะห์ข้อมูลแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนที่เผยแพร่โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (รูปประกอบที่ 2) พบว่าตัวเลข DSR ณ ระดับ 30% ถือเป็นจุดวกกลับ (turning point) ที่การก่อหนี้จะเปลี่ยนบทบาทจากการกระตุ้นเป็นการฉุดรั้งการบริโภคของครัวเรือน ซึ่งในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 (ปี 2562) ตัวเลข DSR ของครัวเรือนอยู่ที่ 28.6% นับว่าอยู่ใกล้เส้นวิกฤตมากแล้ว และแน่นอนว่าเมื่อเกิดวิกฤตโควิด 19 ช่วงปี 2563 - 2564 รายได้ครัวเรือนหายไปมาก หลายครัวเรือนจำเป็นต้องกู้ยืมเพื่อพยุงกำลังซื้อและรักษาระดับการบริโภคใช้จ่ายสิ่งจำเป็น ทำให้ DSR โดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจนเกินระดับ 30% ภาระหนี้จึงกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
เมื่อมองไปข้างหน้า แม้รายได้ของครัวเรือนจะมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่คาดว่าภาระหนี้ที่สูงจะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากครัวเรือนจำเป็นต้องนำรายได้ที่เพิ่มขึ้นไปชำระหนี้ที่มีอยู่เดิมก่อน ทำให้ไม่สามารถใช้จ่ายได้อย่างเต็มที่
การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน
ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขใน 3 เรื่องควบคู่กัน
1. เพิ่มรายได้ของครัวเรือน เพราะตราบใดที่ครัวเรือนยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องก่อหนี้เพื่อนำไปใช้จ่าย ในภาพใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนคงต้องช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรให้แรงงานไทยเก่งขึ้น มีทักษะการทำงานที่ตรงกับความต้องการของตลาด จะทำอย่างไรให้แรงงานในภาคเกษตรกรรมที่มีจำนวนถึง 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมดมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน รวมทั้งปัญหาแรงงานในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่รายได้ฟื้นตัวช้า ท่ามกลางวิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนไป
นอกจากนี้ยังต้องทำให้ภาคธุรกิจเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยยกระดับผลิตภาพการผลิตและรายได้ของประชาชน หรือแม้แต่การกระจายรายได้และโอกาสให้ทั่วถึงเพื่อให้คนส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นและเป็นกำลังซื้อสำคัญของประเทศ ประเด็นเหล่านี้เป็นโจทย์ที่สำคัญและท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
2. สร้างความตระหนักรู้ทางการเงินให้กับครัวเรือน เพื่อไม่ให้ครัวเรือนเกิดการใช้จ่ายและการก่อหนี้ที่เกินตัว ให้ความสำคัญกับการออมและการลงทุน รวมถึงรู้จักวางแผนการเงินและบริหารความเสี่ยง เพราะหากไม่มีการวางแผนการเงินที่เหมาะสมและรอบคอบ แม้รายได้จะมากเพียงใดก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และอาจจะกลับไปพึ่งพาการกู้ยืมอยู่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ของหลายภาคส่วนที่ต้องทำร่วมกัน โดยภาครัฐต้องส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้กับประชาชน ขณะที่ภาคครัวเรือนก็ต้องหาความรู้และฝึกวินัยทางการเงินด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ ภาคสถาบันการเงินต้องไม่ออกโพรโมชันหรือผลิตภัณฑ์การเงินที่สุ่มเสี่ยง จะทำให้ประชาชนติดกับดักหนี้ โดยที่ผ่านมา ธปท. ตระหนักถึงความสำคัญของการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ จึงผลักดันและร่วมมือกับสถาบันการเงินเพื่อทำให้การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
3. ปลดหนี้เดิม ในช่วงที่ผ่านมา หลายหน่วยงานริเริ่มมาตรการต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ทยอยปรับตัวและหลุดพ้นจากปัญหาหนี้ที่ประสบอยู่ โดย ธปท. ได้ผลักดันหลายโครงการ อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้ คลินิกแก้หนี้ และโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อให้ลูกหนี้รายย่อยปรับภาระหนี้ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนให้สอดคล้องกับรายได้ที่เปลี่ยนไป ด้านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานก็เดินหน้าช่วยเหลือกลุ่มข้าราชการครูที่ประสบปัญหาหนี้สินสูง สำหรับกรมส่งเสริมสหกรณ์เริ่มออกแบบมาตรการช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และเกษตรกร อย่างไรก็ดี ยังคงต้องเร่งเดินหน้าต่อไปเพื่อทำให้หลายมาตรการที่ออกมาเกิดผลดีในวงกว้าง
โดยสรุป ปัญหาหนี้ครัวเรือนถือเป็นจุดเปราะบางสำคัญของระบบเศรษฐกิจการเงินไทยที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างรอบด้านโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน
ผู้เขียน: รชต ตั้งนรารัชชกิจ นักเศรษฐศาสตร์ สายนโยบายการเงิน ธปท. ผู้ที่อยากไขปริศนาเกี่ยวกับพฤติกรรมของครัวเรือนไทยในมิติต่างๆ รวมถึงเสาะหาต้นตอและทางออกสำหรับปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ผู้เขียน: พิรญาณ์ รณภาพ นักเศรษฐศาสตร์ที่สนุกกับการวิเคราะห์ข้อมูลจุลภาคโดยอาศัยเทคนิคทางเศรษฐมิติ เพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของภาคครัวเรือน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
[1] สรา ชื่นโชคสันต์ และคณะ (2562) "8 ข้อเท็จจริง ปัญหาการเงินของครัวเรือนไทย" ธนาคารแห่งประเทศไทย
[2]โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคณะ (2562) "เข้าใจพลวัตหนี้ครัวเรือนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร" aBRIDGEd No.9/2019 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ติดตามช่องทาง LINE ของแบงก์ชาติ เพื่อให้ไม่พลาดข่าวสาร สาระความรู้ดี ๆ จากเรา คลิกเลย ➡️ https://lin.ee/P5xJWV2
ความเห็น 1
K堂ไกรวิทย์
คุมสินเชื่อบัตรเครดิต....ทำไมปล่อยให้มีหลายใบ
กฎคือ1.5เท่าของรายได้..มี5ใบก้อ7.5เท่า...ใช่มะ
15 มี.ค. 2565 เวลา 05.54 น.
ดูทั้งหมด