คนนิจิวะ !น้องๆ Dek-D คนไหนฝันอยากไปแลกเปลี่ยนหรือเรียนต่อที่ญี่ปุ่น บ้างคะ? แน่นอนว่า “ทุนมง” หรือ ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (MEXT) ต้องเป็นชื่อที่คุ้นหูกันแน่ๆ เพราะเป็นทุนที่รัฐบาลญี่ปุ่นซัปพอร์ตค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนโดยไม่ต้องใช้ทุนคืน มีทั้งระดับแลกเปลี่ยนไปจนถึงเรียนต่อปริญญา ที่สำคัญคือสถาบันที่ไทยและญี่ปุ่นมักจะมีความร่วมมือกัน ทำให้น้องๆ ได้รู้ข่าวสารและมีช่องทางให้สมัครได้เพิ่มไปอีกค่ะ
วันนี้จะพาไปคุยกับ"พี่ยูเมะ-นันทิกานต์"รุ่นพี่เอกภาษาญี่ปุ่น ม.เกษตรศาสตร์ ที่ได้ทุนญี่ปุ่นศึกษาไปแลกเปลี่ยนระยะสั้น (ทุนญี่ปุ่นศึกษา) แบบ University Recommendation ที่ Kagoshima University จากนั้นก็กลับไทยมาทำงานสักระยะ ก่อนตัดสินใจสมัครทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbukagakusho; MEXT) ประเภทนักศึกษาวิจัย ป.โทแบบ Embassy Recommendation ที่ Osaka University เตรียมบินปลายปี 2568 นี้แล้วค่าา
โอกาสปรึกษาฟรีกับ 24 รุ่นพี่ทุนดีกรีสุดปัง
พบกัน 26-27 เม.ย. 68 ที่ไบเทคบางนา
อ่านจบลิสต์ข้อสงสัยไว้ แล้วเตรียมมาพูดคุยปรึกษาแบบ 1:1 กับ "พี่ยูเมะ" ตัวจริงที่งาน Dek-D's Study Abroad Fair นะคะ บอกเลยว่ารอบนี้เราได้รับเกียรติจาก 24 รุ่นพี่เด็กนอกหลายทุน หลายประเทศ ได้แก่ ทุนรัฐบาลไทย, จีน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, อิตาลี, ฮังการี, สวีเดน, Franco-Thai, Fulbright TGS, Chevening, Erasmus+, ทุนตรงจากมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน (แถมมีบูทจาก DAAD ของรัฐบาลเยอรมนีด้วย) ขนทัพมาพร้อมไฮไลต์อีกแน่นงาน
Note:พบพี่ยูเมะได้ในวันอาทิตย์
วันนี้เราจะมาฟังเส้นทางของพี่ยูเมะกันว่าอะไรที่ทำให้เธอตกหลุมรักภาษาญี่ปุ่นแบบถอนตัวไม่ขึ้น? สภาพแวดล้อมแบบไหนที่ช่วยให้การเรียนเอกญี่ปุ่นสนุกขึ้น? และประสบการณ์แลกเปลี่ยนแบบไหนกันนะ ถึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เธออยากกลับไปเรียนต่อ ป.โท ที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง?
ถ้าพร้อมแล้ว Rettsu Gō!
โอกาสปรึกษาฟรีกับ 24 รุ่นพี่ทุนดีกรีสุดปัง
พบกัน 26-27 เม.ย. 68 ที่ไบเทคบางนา
อ่านจบลิสต์ข้อสงสัยไว้ แล้วเตรียมมาพูดคุยปรึกษาฟรีแบบ 1:1 กับ "พี่ยูเมะ" ตัวจริงที่งานDek-D's Study Abroad Fair นะคะ บอกเลยว่ารอบนี้เราได้รับเกียรติจาก 24 รุ่นพี่เด็กนอกหลายทุน หลายประเทศ ได้แก่ ทุนรัฐบาลไทย, จีน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, อิตาลี, ฮังการี, สวีเดน, Franco-Thai, Fulbright TGS, Chevening, Erasmus+, ทุนตรงจากมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน (แถมมีบูทจาก DAAD ของรัฐบาลเยอรมีด้วย) และมาพร้อมไฮไลต์อีกแน่นงาน!
Note:พบพี่ยูเมะได้วันอาทิตย์
1
ฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ
แต่เรากับคณิตศาสตร์ไปกันไม่ได้ค่ะ !
ความฝันสมัย ม.ต้น ยูเมะอยากเป็นนักบินอวกาศค่ะ ก็เลยลองสอบเข้าวิทย์-คณิต (Gifted) แล้วก็ติด แต่พอเรียนเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้ตัวว่า โอเค เราน่าจะไปต่อกับคณิตไม่ได้แล้วนะคะ 555 แต่จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือโรงเรียนบังคับให้ลงวิชาภาษาที่สามด้วย ตอนนั้นยูเมะเลือกลงเรียนภาษาจีนค่ะ แล้วมีช่วงที่เครียดกับการแก้โจทย์คณิต + นั่งดูอนิเมะเป็นงานอดิเรกยุคนั้นโมเดิร์นไนน์มีพากย์ไทยนะ แต่พอไปหาดูต่อในเน็ตพบว่าเรื่องที่สนใจเป็นภาษาญี่ปุ่นหมด ดูไปก็ต้องอ่านซับตลอด
สักพักก็เกิดคำถามในใจว่า “ถ้าเราเข้าใจภาษานี้ได้ทันที จะเป็นยังไงนะ?”
นั่นก็คือจุดเริ่มต้นที่ยูเมะเริ่มคัดตัวอักษรญี่ปุ่นเองตั้งแต่ ม.3 พอคัดคนเดียวก็รู้สึกจำยากอยู่ค่ะ แล้วพอขึ้น ม.4 ช่วงเลือกสายเรียนจริงจัง ก็ลองไปชิมลางลงเรียนภาษาญี่ปุ่นข้างนอกคอร์สนึง สรุปเรียนแล้วชอบ ไปไหว เลยตัดสินใจเข้าศิลป์-ญี่ปุ่น ประเดิมเป็นรุ่นแรกของ รร.สตรีสมุทรปราการ (จบมาเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว)
ถึงจะเปิดศิลป์-ญี่ปุ่นปีแรก แต่เซนเซพยายามสอนจนกว่าเราจะเข้าใจที่สุดทุกเม็ดทุกรายละเอียด แล้วค่อยไปบทต่อไปพร้อมกัน เลยเป็นสปีดการเรียนที่ไม่เร่งรีบมาก และโรงเรียนยังมีกิจกรรมให้เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นขึ้นด้วย
แล้วอย่างที่เล่าว่าอนิเมะจุดประกายให้สนใจภาษาญี่ปุ่น เพลง Ending ของอนิเมะก็ยังเพราะอีกค่ะยิ่งพอไม่ใช่ภาษาตัวเองก็ทำให้ยิ่งฟังดูมีเสน่ห์น่าค้นหา(ความหมาย)ขึ้นไปอีก มีช่วงนึงชอบเพลงของโคนัน ถึงกับซื้อมาดูแล้วกดรีรันเพียงเพราะจะรอฟังเพลงจบ // ตอนนั้นเลยตั้งเป้าว่าจะแปลเพลงเองให้ได้ บวกกับจับทางได้แล้วว่าตัวเองถนัดเรื่องเรียนภาษา
หลังจบ ม.ปลาย ภาษาญี่ปุ่นยังอยู่ระดับกลาง (N4) จุดที่เริ่มรู้สึกว่ายูเมะใช้ภาษาญี่ปุ่นได้แล้วก็คือตอนมหา’ลัยที่เริ่มขยับเข้า N3-N2 ค่ะ เวลาดูข่าว ฟังเพลง หรือดูอนิเมะเข้าใจได้ประมาณ 70-80% // โมเมนต์ที่รู้สึก“It’s worth it !”คือตอนที่อ่านออกโดยไม่ต้องเปิดดิก หรือฟังแล้วเข้าใจทันที ภูมิใจมากที่ไม่ยอมแพ้ไปซะก่อน
2
เรียนเอกญี่ปุ่นเจอแต่ความน่ารัก
แรงบันดาลใจอยู่รอบตัว
ตอนจะขึ้นมหา’ลัยยูเมะลองเปรียบเทียบหลายที่ แล้วรู้สึกเอกญี่ปุ่น ม.เกษตรฯ ตอบโจทย์สุดเพราะอยากเรียนแนว practical ที่เอาไปใช้ทำงานจริงได้ เช่น ล่าม ไกด์ การสื่อสาร ฯลฯ พอมาเรียนจริงตรงตามที่หวังเลย อาจารย์ก็น่ารัก คลาสก็จอย อาจมีบางท่านที่เข้มงวดเพราะอยากให้เราใช้ภาษาได้ถูกต้องที่สุด เหตุผลที่ทำให้รักเอกนี้คือยิ่งเรียนยิ่งภูมิใจในตัวเอง อินขึ้นเวลาดูอนิเมะ ฟังเพลง เม้าท์มอยศิลปินญี่ปุ่น แถมเพื่อนในเอกน่ารักด้วยค่ะ
จริงๆ ยูเมะเริ่มหาข้อมูลตั้งแต่ ม.ปลาย เพราะรู้จัก BeamSensei(รุ่นพี่ที่ได้ทุนไปเรียนต่อญี่ปุ่น) เลยตั้งเป้าหมายตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่า “สักวันต้องได้ทุนมงแบบนี้บ้าง” แล้วพยายามเข้า ป.ตรี เอกญี่ปุ่นให้ได้เพราะมีโครงการความร่วมมือที่ส่งนิสิตไปแลกเปลี่ยนที่ญี่ปุ่น 1 ปีในหลายๆมหาวิทยาลัย ในรุ่นยูเมะ 1 ในนั้นมี ม.คาโกชิม่า (Kagoshima University) และไปด้วยทุน MEXT หรืออีกชื่อนึงคือทุนญี่ปุ่นศึกษา (Japanese Studies Student) ค่ะ
3
รีวิวการสมัครทุนญี่ปุ่นศึกษา
แลกเปลี่ยน 1 ปีที่ Kagoshima
แนะนำก่อนว่าทุนนี้ เปิดให้นิสิต/นักศึกษา ป.ตรี ที่กำลังเรียนด้านภาษาหรือวัฒนธรรมญี่ปุ่น ในมหา’ลัยนอกประเทศญี่ปุ่น สามารถสมัครได้นะคะ ช่วยทั้งค่าเล่าเรียนเต็มจำนวน ค่าครองชีพรายเดือน และตั๋วเครื่องบินไป-กลับระหว่างประเทศ แบ่งการสมัครเป็น 2 แบบคือ
- ผ่านสถานทูตญี่ปุ่น (Embassy Recommendation)เลือกมหาลัยได้ 3 อันดับ แต่ต้องแข่งกับผู้สมัครจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
- ผ่านมหาวิทยาลัย (University Recommendation) << ยูเมะสมัครแบบนี้ค่ะเริ่มหลังจากกระบวนการคัดเลือก Embassy Recommendation เสร็จหมดแล้ว ทางมหา’ลัยฝั่งญี่ปุ่นจะส่งทุนมาให้ แล้วมหา’ลัยที่เราเรียน (เช่น ของยูเมะคือเอกญี่ปุ่น ม.เกษตรฯ) จะคัดเลือกเด็กแล้วส่งรายชื่อกลับไป การคัดเลือกไม่มีสอบข้อเขียน บางที่อาจมีเรียกสัมภาษณ์
// โควตาแต่ละมหา’ลัยจะไม่เท่ากันค่ะ แต่ทุกวันนี้คิดว่าจำนวนเยอะขึ้นแล้วเพราะอาจารย์กรุณาสร้างคอนเน็กชันกับมหา’ลัยญี่ปุ่นไว้เพื่อเพิ่มโอกาสให้นิสิตได้ไปแลกเปลี่ยนมากขึ้น
Tips:
ถ้าจะสมัครแบบ Embassy Recommendation เรื่อง Study Plan ต้องเป๊ะมากถึงมากที่สุดตอบให้ได้ว่าอยากไปญี่ปุ่นเพื่อศึกษาอะไร ปัญหาที่เคยเจอคืออะไร? หาคำตอบได้ด้วยวิธีไหน? ผลลัพธ์เป็นยังไง? ถ้าผ่านข้อเขียนแล้วต้องเตรียมตัวโดนเจาะลึกต่อในรอบสัมภาษณ์ค่ะ เพราะฝั่งสถานทูตต้องการแน่ใจว่าเด็กไปแล้วจะเรียนได้และสามารถ contribute ให้กับคลาสเรียนได้แน่นอน
คนที่สมัครแบบ University Recommendation ก็ต้องเขียนให้ดีเหมือนกันแต่เขาอาจไม่ได้ถามเจาะลึกแพลนแบบละเอียดเท่าสถานทูต ซึ่งแล้วกระบวนการของแต่ละมหาวิทยาลัยค่ะ (ตอนนั้นยูเมะเขียนส่งเป็นภาษาญี่ปุ่นค่ะ)อ่านต่อเกี่ยวกับทุนญี่ปุ่นศึกษา
4
เรียนอะไรบ้างที่ Kagoshima
ภาษาคือความท้าทายไหม?
ก่อนหน้านี้เก็บข้อมูลมาเยอะเพราะมีความฝันอยากไปตามรอยศิลปินกับอนิเมะ พอไปถึงสิ่งแรกที่รู้สึกคือบ้านเมืองสะอาดมาก ไม่มีฝุ่น ไม่มีขยะ ทุกอย่างเป็นระเบียบไม่ผิดจากที่เคยอ่านมา ที่สำคัญคือฟิลเตอร์ญี่ปุ่น กดถ่ายมุมไหนก็สวย
พอไปถึงยูเมะไปเรียนภายใต้คณะนิติศาสตร์ของคาโกชิม่าค่ะ การเรียนแบ่งเป็น 2 พาร์ตหลักๆ
- วิชาภาษาญี่ปุ่นแบบเข้มข้นเน้นไวยากรณ์ระดับ N1 ฝึกการอ่านและการเขียน จริงๆ ไม่เครียดมากเพราะเรียนที่ไทยมาแบบแน่นๆ แต่ได้อะไรเพิ่มตลอด และเรียนกับเพื่อนต่างชาติที่ไม่ใช่เด็กญี่ปุ่น
- วิชา sit-in เรียนกับเพื่อนญี่ปุ่นเลยจริงๆ โปรแกรมไม่ได้บังคับให้เรียน แต่ช่วงนั้นยังขยัน ไหนๆ ก็มาทั้งที ลองสักหน่อยจะได้คุ้มๆ
เทอมแรกลงวิชาแนววิทยาศาสตร์พื้นฐาน วิชานึงคล้าย “Man & Sea” ของม.เกษตร เป็นความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับทะเลและระบบนิเวศโลก พอมาเรียนกับเด็กญี่ปุ่นก็รู้เลยว่าถ้าไม่มีพื้นฐานจากที่ไทยมาก่อนคงจะตามไม่ทันแน่ๆ ไหนจะมีควิศหลังจบบทอีก ต้องฟังให้ทัน จดให้ครบ แต่ก็สนุกเพราะเนื้อหาน่าสนใจค่ะ
อีกวิชาที่ลงคือ“ภาษาศาสตร์สังคม”ศึกษาที่มาของภาษาในเชิงสังคม ส่วนใหญ่โฟกัสภาษาญี่ปุ่น เช่น ภาษาถิ่น อาจารย์จะตั้งหัวข้อให้ทุกคลาส แล้วต้องทำรายงานส่งทุกสัปดาห์ เรียนวันจันทร์ วันพุธส่ง สู้กันสุดตัวจนจบเทอม นี่เป็นวิชาที่พี่ๆ ป.โท บอกว่าเดี๋ยวต้องกลับมาเจออีกในระดับที่ลึกขึ้น ตอนนี้เท่ากับเราได้ลองก้าวขามาข้างนึงแล้วค่ะ
วิชา "สัมมนางานวิจัย" อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้ลงตั้งแต่เทอมแรก รูปแบบคือเลือกอ่านงานวิจัยที่สนใจแล้วนำมาพรีเซนต์ให้เพื่อนๆ ฟังว่าทำไมถึงเลือกเรื่องนี้ ประเด็นไหนที่น่าสนใจ พร้อมนั่งดิสคัสกับเพื่อนญี่ปุ่นและเพื่อนต่างชาติหลังจบการนำเสนอ และก่อนจบเทอมต้องเขียนรายงานส่ง มีกดดันช่วงแรกๆ แต่พอจับจุดได้ก็เริ่มสนุก สุดท้ายแล้วก็นำมาต่อยอดเขียนรายงานจบก่อนกลับประเทศไทยได้ด้วย
เทอมสอง มีลงวิชา“ความหลากหลายทางวัฒนธรรม”ในคลาสจะมีทั้งเด็กญี่ปุ่นและเพื่อนจากหลายประเทศ อาจารย์จะสอนประมาณชั่วโมงแล้วให้จับกลุ่มแลกเปลี่ยนว่าประเทศตัวเองมีวัฒนธรรมแบบไหน สถานการณ์สังคมเป็นยังไง เปลี่ยนกลุ่มและหัวข้อไปเรื่อยๆ ทุกคาบ ได้เพื่อนใหม่และเข้าใจวัฒนธรรมหลากหลายขึ้น
เมกเฟรนด์กับเพื่อนเรียนยากไหมนะ ?
จากประสบการณ์ส่วนตัวยูเมะนะคะ* ถ้าเป็นคนไทยหรือต่างชาติด้วยกันจะเข้าใจกันเร็ว เพราะทุกคนมาสภาพแวดล้อมที่ต้องปรับตัวเหมือนกัน แต่ถ้าคนญี่ปุ่นเขาอาจจะไม่ค่อยเข้าหาเพื่อนต่างชาติขนาดนั้น ยกเว้นคนที่เลือกลงเรียนวิชาเกี่ยวกับวัฒนธรรม (Cultural Studies) หรือวิชาที่ต้องแลกเปลี่ยนความคิดกันเยอะๆ เพื่อนญี่ปุ่นกลุ่มนี้จะอยากทำความรู้จักเด็กต่างชาติมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
อยากเมกเฟรนด์กับคนญี่ปุ่นต้องใช้ความจริงใจสู้ หลายคนใจดีมาก และตั้งใจฟังเราพูดเสมอ แม้อาจต้องใช้เวลาปรับตัวให้สนิทกันค่ะ อย่างยูเมะเองก็เคยมีเพื่อนที่เรียนสัมมนาด้วยกัน ไม่ค่อยคุยกันเลย จนวันหนึ่งเขาจะมาดูคอนเสิร์ตที่ไทย พอชวนไปเที่ยวด้วยกันก็ได้เริ่มคุยกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
6
จากความฝันสมัย ม.ปลาย
เหมือนเราได้โฟกัสเป้าหมายที่ชัดขึ้น
ช่วงแลกเปลี่ยนทำให้เห็นภาพเป้าหมายตัวเองชัดขึ้น ตอนนั้นเรามี N2 แล้วก็จริง แต่พอไป sit-in กับเด็กญี่ปุ่นก็พบว่ามันยากกว่าที่คิด ต้องเรียนเลกเชอร์ เขียนรายงานเหมือนพวกเขา เปลี่ยนจากการเรียนแบบท่องจำที่ไทย ไปเป็นการต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นแบบลึกซึ้งจริงๆ ที่สำคัญคือการเขียนเล่มจบ ถึงแม้จะเป็นเล่มเล็กๆ แต่ก็ใช้เวลามาก
ยูเมะคิดต่อว่าถ้าจะเรียนโทจริงๆ ต้องเขียน 100+ หน้า เราไหวไหม? ซึ่งสุดท้ายผ่านเล่มตอนแลกเปลี่ยนได้แล้วเริ่มเข้าใจสเต็ปว่า“อ๋อ มันต้องเตรียมแบบนี้”จากลังเลก็มั่นใจว่าตัวเองไหว แทนที่จะยอมแพ้ ยูเมะลองวางแผนว่าต้องทำอะไรบ้างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เพราะนี่ทำสำเร็จมาครั้งนึงแล้ว ต่อไปก็แค่ต้องเพิ่มระดับขึ้นเท่านั้น
ถ้าใครตั้งใจจะมาฝึกภาษา ยูเมะว่ายังไงก็พัฒนาขึ้นแน่นอน เพราะต้องเข้าไปเรียนในคลาส ตอนออกไปซื้อของก็เลี่ยงไม่ได้ ตื่นมาเจอภาษาญี่ปุ่นทั้งวัน ทำให้ได้ฟังเยอะขึ้นแบบอัตโนมัติ แล้วเราเองก็อ่านหนังสือเสริมศัพท์ไปเรื่อยๆ สังเกตว่าสกิลตัวเองดีขึ้นมาก โดยเฉพาะการฟังและพูด พอถึงจุดที่ต้องสอบ N1 ไม่ต้องเตรียมเยอะเลย เพราะได้ฝึกมาเต็มที่แล้วจากการใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นค่ะ
7
การปรับตัวในญี่ปุ่น:
เรื่องเล็กๆ ที่ต้องเรียนรู้
- การแยกขยะเรื่องนี้ต้องปรับตัวตั้งแต่วันแรกมีไปที่ทำการอำเภอเลยค่ะ เจ้าหน้าที่แจกคู่มือการทิ้งขยะมาให้ บอกชัดเจนว่าขยะแต่ละประเภทต้องทิ้งวันไหน กี่โมง หอพักแปะกฎชัดเจน ถ้าใครไม่ชินแล้วทิ้งผิดวันอาจถูกเจ้าของหอดุได้เลยนะ
- การจ่ายบิลในทุกเดือนเมืองจะส่งบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส และค่าประกันสุขภาพ แล้วให้เราไปจ่ายที่ร้านสะดวกซื้อเอง (ปัจจุบันจะมีค่าโทรศัพท์ + อินเทอร์เน็ต + ค่าหอ ที่เขาหักผ่านบัญชีแบบอัตโนมัติเลยค่ะ)
- การใช้โทรศัพท์บนรถไฟเวลาขึ้นรถไฟหรือรถรางในเมือง จะมีประกาศตลอดว่าให้ปิดมือถือหรือเปิดโหมดเครื่องบินค่ะ นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือไม่ให้คุยโทรศัพท์ มีครั้งนึงบนรถรางในเมืองคาโกชิม่า มีคุณป้าคนหนึ่งคุยโทรศัพท์เสียงดังบนรถราง เจ้าหน้าที่ที่เป็นคนขับถึงกับหยุดรถไปพักใหญ่เลยค่ะ เพื่อรอให้คุณป้าคนนั้นวางสาย
- การเข้าโรงพยาบาลต้องวางแผนดีๆมีช่วงนึงอากาศเปลี่ยนทำให้ยูเมะต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อย บางที่ Walk-in ไม่ได้ ต้องเช็กเวลาแล้วจองไว้ บางที่ก็เปิดแค่ช่วงเช้าหรือบ่าย
- การซักประวัติที่โรงพยาบาล ที่ไทยจะมีพยาบาลมาถามเป็นข้อๆ แต่ญี่ปุ่นให้ A4 แผ่นเดียว ติ๊กและกรอกข้อมูลเองหมด // ถ้าจะมาเรียนอยากให้เตรียมภาษาญี่ปุ่นสำหรับใช้ในสถานพยาบาลมาเผื่อด้วยดีที่สุดค่ะ
- ระบบการรับยาไม่เหมือนกันหาหมอเสร็จไม่ได้รับยาทันที ต้องออกจากโรงพยาบาลไปที่จุดจ่ายยา โดยจะมีสมุดยา (お薬手帳 - Okusuri Techou) เป็นของตัวเอง ต้องเอาไปด้วยเพื่อให้เภสัชจะได้เช็กประวัติยาเราค่ะ
- ไปหาหมอห้ามลืมบัตรประกันสุขภาพถ้าลืมบิลพุ่งทันทีนะคะ ปกติประกันจ่าย 70% เราจ่ายเองแค่ 30% (ถ้าแค่ไม่สบายเล็กๆ ไปแนะนำไปคลินิกถูกกว่า)
- การซื้อบัตรคอนเสิร์ตในญี่ปุ่น ไม่เหมือนที่ไทยเลยถ้าไทยมีเงินกับเน็ตก็ซื้อได้แล้ว แต่ที่ญี่ปุ่นต้องใช้ดวงด้วย เพราะเขาจะให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ก่อนว่าจะซื้อกี่ใบ แล้วระบบจะสุ่มว่าได้ไหม (Lottery System) ถ้าได้ก็ต้องยอมรับโชคชะตา เพราะระบบจะเลือกที่นั่งให้เรานะคะ
เรื่องระบบการซืิ้อบัตรคอนเสิร์ตมีจุดที่น่าสนใจคือเขาออกแบบระบบมารัดกุมมาก เพื่อตัดปัญหาการอัปบัตรราคาเกินจริง เช่น
- ถ้าไม่สามารถไปได้ ทาง Official ยังช่วงที่ให้โอกาสเราส่งบัตรคืนผ่านระบบ Resale
- เจ้าของบัตรต้องไปถึงหน้างานแล้วต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต และเบอร์โทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้เท่านั้น ป้องกันการซื้อบัตรไปขายต่อ
- จำกัดจำนวนบัตรที่สามารถซื้อได้ และถ้าใครซื้อหลายใบเพื่อพาเพื่อนไป เจ้าของข้อมูลก็ต้องอยู่หน้างานด้วยค่ะ
ไหนๆ ก็เล่าถึงเรื่องบัตรคอน ยูเมะเริ่มติ่ง‘Mrs. GREEN APPLE’แบบจริงจังตอนแลกเปลี่ยนที่ต้องเขียนรายงานจบภาษาญี่ปุ่นก่อนกลับ แล้วบังเอิญเปิด YouTube ขึ้นมาเจอเพลงของวงนี้ ฟังแล้วรู้สึกได้กำลังใจมาก แนวเพลงสู้ชีวิต ประมาณว่า“พรุ่งนี้ยังมีอยู่นะ~”ฟังไปฟังมากลายเป็นความฮีลใจ แล้วสุดท้ายคือไปซื้อบัตรคอนเสิร์ตดูเลยค่ะ
สำหรับใครอยากฝึกภาษาญี่ปุ่นจากเพลง แนะนำว่าควรมีพื้นฐาน N3 ขึ้นไปจะได้ผลกว่า เพราะเพลงญี่ปุ่นก็จะมีการตัดคำ ตีความ และแฝงเจตนาไว้ เช่น ใครเป็นคนพูด? หมายถึงอะไร? และเพลงก็มักจะสั้น มีการตัดตอนประโยคที่ทำให้เราต้องเดาความหมายต่อ ถ้ามีพื้นฐาน N3 ขึ้นไปจะพอเข้าใจ และเจอศัพท์แปลกๆ ที่ไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันบ้าง โดยเฉพาะศัพท์ระดับ N2-N1
8
รีวิวชีวิตที่ Kagoshima
น่ารักได้ใจ ไม่วุ่นวาย วิวก็สวย
- ตอนแรกที่ได้ยินชื่อเมืองนี้ ยังไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าคือที่ไหน ยูเมะเลือกจะไม่คาดหวังแล้วไปเซอร์ไพรซ์ที่นู่นเลย แล้วพอไปถึงพบว่าเป็นเมืองที่น่าประทับใจมาก เงียบสงบไม่วุ่นวาย และมีทุกอย่างครบแบบเมืองใหญ่ทั้งห้างร้านและซูเปอร์มาร์เก็ต ธรรมชาติเยอะแยะทั้งในและนอกตัวเมือง
- ในเมืองจะมีน้องภูเขาไฟลูกนึงที่ยังปะทุชื่อว่า ‘ภูเขาไฟซากุระจิมะ’ (桜島 / Sakurajima) แต่น้องไม่ได้เกรี้ยวกราดค่ะ แค่บางวันจะปะทุเป็นควันนิดนึงแล้วพวกเถ้าอาจจะกระจายมาโดนเสื้อผ้าที่คนตากผ้าไว้เท่านั้นเองค่ะ บางทีรัฐจะให้ถุงมาเก็บเถ้าไรงี้ด้วย และด้วยความที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนเมือง แต่อยู่กลางทะเลในเขตจังหวัด ถ้าน้องรุนแรงจริงๆ ก็หนีทัน คนในพื้นที่ชินแล้วด้วยซ้ำ
// หอพักยูเมะห่างจากทะเลแค่ 15-20 นาทีเท่านั้น ถ้าไปนั่งริมทะเลก็จะมองเห็นภูเขาไฟได้พอดีเป๊ะ เป็นวิวที่ถูกต้องมากค่ะ
คนที่คาโกชิมาพูดตรงไปตรงมาไหมนะ?อืม… รู้สึกจะค่อนข้างใจๆ เลยนะคะ 5555 อาจจะมีบางสถานการณ์ที่ใช้ภาษาทางการหรือพูดแบบไม่จบประโยค ซึ่งถ้าเรียนเอกภาษาญี่ปุ่นจะคุ้นกับรูปแบบนี้ดี เช่น ถ้าเป็นภาษาไทย เราอาจพูดว่า “คุณยูเมะช่วยส่งอันนี้ให้หน่อย จะขอบคุณมากๆ เลยนะ” แต่ถ้าเป็นคนญี่ปุ่น อาจพูดว่า“คิดว่าถ้าคุณยูเมะส่งมาให้…” แล้วหยุดแค่นั้น ซึ่งจริงๆ คือเป็นการพูดแบบละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าอีกฝ่ายควรจะช่วยส่งให้
จริงๆ การพูดแบบไม่จบประโยคนี้ เป็นเรื่องของบริบทและมารยาทในภาษาญี่ปุ่น เพื่อแฝงความสุภาพและเว้นช่องให้คู่สนทนาตัดสินใจเอง แต่ถ้าไม่ได้คุ้นเคยมาก่อน อาจรู้สึกเหมือนฟังไม่รู้เรื่องว่าตกลงให้ทำอะไรต่อกันแน่ถ้าเทียบกับเมืองอื่นๆ ช่วงแลกเปลี่ยนที่คาโกชิมายูเมะมีโอกาสได้ไปโตเกียวด้วยค่ะ ต้องบอกเลยว่าระบบขนส่งนี่ซับซ้อนสุดๆ หลงกันไปหลายรอบ ต้องหยุดยืนดูแผนที่นานมากๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า โตเกียวคือมีทุกอย่างครบจริงๆ ส่วนโอซาก้าที่เลือกสมัคร ป.โท ตอนนั้นได้ไปเที่ยวแค่แป๊บเดียวเองค่ะ แต่สัมผัสได้เลยว่าเป็นเมืองท่องเที่ยวที่คึกคักสุดๆ คนเยอะมาก มีความหลากหลายเพราะชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยวกัน
9
รีวิวสมัครทุนมง ป.โท (Embassy Recommendation)
ติดแล้ว เตรียมบินเร็วๆ นี้ค่ะ ~~~~
ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (MEXT) ระดับ ป.โท ผู้สมัครต้องเรียนจบ ป.ตรีแล้วหรือกำลังจะจบในปีที่สมัครค่ะ คราวนี้ยูเมะเลือกสมัครแบบ Embassy Recommendation นั่นคือสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศของตนจะเป็นผู้คัดเลือก ข้อดีคือเป็นทุนที่เรียนฟรี มีค่าครองชีพ และตั๋วเครื่องบินขาไปและขากลับ ระยะเวลาทุน ป.โท ตามมาตรฐานของหลักสูตรเลย แต่ถ้าสำหรับนักศึกษาวิจัยจะกำหนดสูงสุด 2 ปี (รวมเรียนภาษาญี่ปุ่น 6 เดือนด้วย)
เลือกมหาวิทยาลัยยังไงดี?
การสมัครเรียน ป.โท ต้องเลือกมหาวิทยาลัยแบบจริงจังกว่าตอนแลกเปลี่ยนเยอะเลย เราต้องโฟกัสไปที่ “อาจารย์ที่สนใจอยู่ที่ไหน” ใครทำวิจัยหัวข้อที่เราสนใจจะทำตอน ป.โทบ้าง แล้วมุ่งไปสมัครที่นั่น แต่ถ้าใครให้ความสำคัญกับมหาวิทยาลัยเป็นอันดับแรกจริงๆ ก็ตั้งไว้ได้ค่ะ แล้วดูว่าอาจารย์ที่นั่นมีงานวิจัยอะไรที่คล้ายกับสิ่งที่เราอยากทำบ้าง
ทั้งนี้ การสมัครทุน ป.โท เราจะต้องรอให้สอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ให้ผ่านก่อน แล้วถึงจะติดต่ออาจารย์โดยตรง (ทั้งนี้ทั้งนั้นรอฟังคำแนะนำจากสถานทูตเกี่ยวกับการติดต่อด้วยจะดีสุดค่ะ) แล้วขอจดหมายรับรองว่าเขาจะรับเราหรือเปล่าค่ะ
ตอนสมัครยูเมะสนใจเรียนต่อสาขาญี่ปุ่นศึกษาเพราะสนใจการวิจัยเรื่องภาษา แล้วพอได้เจอครูสอนญี่ปุ่นที่ดีมาตลอดเลยเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเป็นอาจารย์สอนเอกญี่ปุ่นมาตั้งแต่ ม.ปลายแล้วค่ะ ยูเมะก็เริ่มจากมองหาอาจารย์ที่เคยทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วตอนทำเล่มจบตอนแลกเปลี่ยน ก็ได้เห็นชื่อของอาจารย์ท่านนึงจากเพื่อนที่เคยพูดถึง เลยมั่นใจว่าความสนใจตรงและจะติดต่ออาจารย์ไปตอนสมัคร ป.โทค่ะ
มหาวิทยาลัยที่ยูเมะเลือก 3 อันดับคือ
- Osaka University<< ติดค่ะ
- Nagoya University
- Kyoto University
ทุกอันดับที่เลือกเด่นเรื่องภาษาศาสตร์หมดเลยค่ะ แต่เหตุผลที่ยูเมะเลือก Osaka University ไว้อันดับแรก
(เอ… จริงๆ อยากเข้าโอซาก้ามานานแล้ว ไม่รู้ทำไม 555)
ถ้าพูดถึงมหาวิทยาลัยโอซาก้า อัตรานักศึกษาต่างชาติก็ค่อนข้างสูงเหมือนกัน ตรงนี้แหละที่ยูเมะคิดว่าเป็นจุดที่ดึงดูดให้ตัดสินใจสมัคร เพราะเด็กเอกญี่ปุ่นที่ได้เรียนในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ก็น่าจะเปิดรับความหลากหลายได้มากขึ้น มีโอกาสเรียนรู้จากกันและกันเยอะขึ้นแน่นอน
นอกจากนี้ อาจารย์ที่คณะยูเมะก็มีคอนเน็กชันกับฝั่งนั้นด้วย เป็นมหา'ลัยที่เปิดกว้างเรื่องหัวข้อวิจัย และที่สำคัญคือมีเปิดสอนเอกภาษาไทย ทำให้ยูเมะอยากคุยกับนักศึกษาชาวญี่ปุ่นที่เรียนเอกไทย เผื่อได้ขอความร่วมมือในการทำวิจัยด้วยค่ะ~
ผ่านกี่ด่านกว่าจะติดทุน?
ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ป.โท จะมีคัดเลือกรอบแรกโดยพิจารณาจากเอกสาร เราต้องอ่านละเอียดกำหนดการละเอียดทุกบรรทัด ถ้าผ่านก็เข้าสอบข้อเขียนต่อ เตรียมตัวให้พร้อมเลยค่ะ ข้อสอบจะมี 3 สายคือ สาขาสายศิลป์ แบ่งออกเป็น R1A (อักษรศาสตร์ กฎหมาย รัฐศาสตร์) สอบวิชาภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ R1B (บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ บัญชี) สอบวิชาภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ ในส่วนของสาขาสายวิทยาศาสตร์ R2 สอบวิชาภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ (ผู้สอบเลือกเพียงหนึ่งวิชาจากเคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา)
พอยูเมะตั้งใจจะเลือกญี่ปุ่นศึกษาแล้ว ก็เลือกสมัครสอบสายศิลป์ R1A ค่ะ เจอวิชา"ภาษาญี่ปุ่น" คิดว่าถ้าผ่าน N1-2 แล้วไม่มีปัญหา แต่ "ภาษาอังกฤษ" สำหรับเรายากมากก เกือบทำไม่ทันเลยค่ะ (ข้อสอบตัวอย่างมีในเว็บสถานทูตฯ) ถ้าใครไม่ได้อยู่กับอังกฤษบ่อยๆ ก็อาจต้องเตรียมเยอะหน่อย
10
ไม่มีอะไรน่ากลัวเท่าความคิดตัวเอง
ที่บอกว่า “เราจะทำไม่ได้”
การสมัครทุนผ่าน Embassy Recommendation อาจฟังดูการแข่งขันสูง แต่อย่าให้ความกลัวมาดับฝันเรา แทนที่จะคิดว่า “เราทำมันไม่ได้หรอก” จริงๆ แล้วเรื่องที่น่ากังวลกว่าคือ “เราจะเตรียมตัวทันไหม?” มากกว่า
ทางสถานทูตฯ ให้ข้อมูลเรื่องทุนเรามาครบแล้ว ขอแค่เรารู้คุณสมบัติของตัวเอง หากต้องใช้อะไรก็เตรียมสอบไว้ให้พร้อม ส่วนเรื่อง Study Plan สำหรับ ป.โท ซีเรียสขึ้นกว่าแลกเปลี่ยน เพราะ ป.โท ต้องเริ่มศึกษางานวิจัยคนอื่นหาสิ่งที่เราสนใจให้เจอแล้วเขียนเป้าหมายออกมาให้ชัด ซึ่งยูเมะแนะนำให้จัดสรรเวลาแล้วค่อยๆ ทำสะสมไว้ค่ะ โดยเฉพาะการหางานวิจัยอ่านหรือข้อมูลที่ใช้ในการเขียนของเรา ควรเตรียมไว้ให้พร้อมเลยค่ะ สถานทูตจะให้เวลาในการส่งใบสมัครและเอกสารต่างๆเป็นระยะเวลา 1 เดือน หากเราเตรียม study plan ก่อนเปิดรับสมัครได้ยิ่งดีค่ะและอย่าลืมปรึกษากับอาจารย์ที่คณะหรือสาขาตัวเองให้เยอะๆ เช่น หลังจากหาข้อมูลและอ่านมาเต็มที่แล้ว ภายในเดือนแรกอาจเขียนให้จบก่อน ส่วนเดือนถัดไปเผื่อสำหรับปรับแก้และปรึกษาอาจารย์เพื่อให้เป็นเวอร์ชันที่ดีที่สุดก่อนส่ง เมื่อถึงเวลาเปิดรับสมัครเราจะได้ไม่ต้องรีบเตรียมใหม่ตอนนั้นทั้งหมดค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นระยะเวลาที่ใช้ในการเตรียมแพลนวิจัยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนค่ะ ว่ามีความพร้อมในเรื่องข้อมูลที่จะเขียนมากน้อยแค่ไหน
. . . . . .
สุดท้ายแล้วยูเมะมั่นใจว่าสิ่งที่กำลังจะไปเจอนี้ ไม่เหมือนตอนแลกเปลี่ยนแน่นอน พอเป็นระดับ ป.โท ต้องทั้งเก็บหน่วยกิต พร้อมกับการโฟกัสธีสิส ทำให้เวลาที่จะไป sit-in คาบที่สนใจมีน้อยกว่าตอนแลกเปลี่ยน เราต้องอยู่กับตัวเองและคุยกับที่ปรึกษาเยอะขึ้น ที่สำคัญคือปรับ mindset วางแผนชีวิตให้เป็นระบบและรับผิดชอบตัวเองมากขึ้นด้วยค่ะ
อ่านต่อเกี่ยวกับทุน MEXT ป.โท
. . . . . .
[ You are all Invited. ]
โอกาสปรึกษาฟรีกับ 24 รุ่นพี่ทุนดีกรีสุดปัง
พบกัน 26-27 เม.ย. 68 ที่ไบเทคบางนา
เคลียร์คิวให้พร้อม เพราะ Dek-D's Study Abroad Fairจะคัมแบ็กแบบเล่นใหญ่! พาว่าที่เด็กนอกเริ่มก้าวแรกเตรียมพร้อมออกเดินทาง เพื่อพิชิตฝันเรียนต่อต่างประเทศให้เป็นจริง
- ปรึกษาฟรี 1:1 กับ 24 รุ่นพี่นักเรียนทุน ป.ตรี/โท/เอกอย่าพลาดโอกาสนี้! เพราะรอบนี้เราได้รับเกียรติจากทั้งศิษย์เก่าทุนรัฐบาลไทย, จีน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, อิตาลี, ฮังการี, สวีเดน, Franco-Thai, Fulbright TGS, Chevening, Erasmus+ รวมถึงทุนจากมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชน(แถมมีบูทจาก DAAD ของรัฐบาลเยอรมนีด้วย) เปิดบูทให้ทุกคนสามารถ Walk-in เพื่อพูดคุย ปรึกษา หรือรีวิว SoP แบบตัวต่อตัวได้
- แจกฟรี Planner วางแผนเรียนต่อนอกสำหรับมือใหม่
- IELTS Mock Test - ทดลองสอบ IELTS ฟรีโดย British Council IELTS (Walk-in only)
- Alumni’s Talk: #ทอล์กเด็กนอกรายการพูดคุย-สัมภาษณ์รุ่นพี่นักเรียนทุนจากหลากประเทศ & แชร์ประสบการณ์เรียนต่อ การใช้ชีวิต จัดเต็ม 24 หัวข้อสุด Exclusive
- จัดพร้อม Dek-D’s TCAS Fair 2025 งานเรียนต่อมหาวิทยาลัยในไทยที่ใหญ่ที่สุด มางานเดียวคุ้ม ได้เลือกทั้งไทยและต่างประเทศ