โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

‘แก๊งหิมะเดือด’ (Frozen Hot Boys) ไม่ใช่แค่หนังวัยรุ่นสู้ฝัน แต่คือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยปัญหาภายในครอบครัว ความหลากหลายทางเพศ และการตีตราผู้กระทำผิด

Mirror Thailand

อัพเดต 22 เม.ย. เวลา 12.10 น. • เผยแพร่ 22 เม.ย. เวลา 12.10 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

*เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

“อยากจะยิ่งใหญ่กันอยู่ในรั้วแคบๆ หรืออยากจะลองออกไปทำอะไรให้ตัวเองภูมิใจดูสักครั้งหนึ่ง”

ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ฉายชัดให้เห็นถึง ‘ความรุนแรง’ ภายในคุก จนกลายเป็นภาพจำซึ่งไร้ความหวังของสถานที่แห่งนี้ ทว่า ภาพยนตร์เรื่อง‘แก๊งหิมะเดือด’ (Frozen Hot Boys) เล่าถึงเรื่องราวของกลุ่ม ‘เด็กผู้กระทำผิด’ ในศูนย์ฝึกเยาวชน ที่รวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน ‘แกะสลักหิมะระดับนานาชาติ’ ณ ประเทศญี่ปุ่น จากการชักชวนของ ‘ครูชม’ (รับบทโดย แต้ว-ณฐพร เตมีรักษ์) ท่ามกลางอุปสรรคและข้อครหาต่างๆ จากสังคมภายนอก

หนังเรื่องนี้ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเยาวชน แต่ยังชวนวิพากษ์เรื่องสภาพแวดล้อมภายในครอบครัว การลงโทษโดยใช้ความรุนแรง การทำให้ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ รวมถึงการมอบ ‘โอกาส’ ให้แก่ผู้กระทำผิด เพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองที่ดี และสามารถใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข

‘ครอบครัว’ สารตั้งต้นสำคัญที่ทำให้ ‘เด็กมีปัญหา’

‘แจ๊บ’ (รับบทโดย แบงค์-ณฐวัฒน์ ธนทวีประเสริฐ) เด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านการแกะสลักเทียนพรรษา กลายเป็น ‘อาชญากรใช้ความรุนแรง’ เพราะโดนทำร้ายร่างกายจากพ่อที่ติดเหล้า ‘วิน’ (รับบทโดย ปาล์ม-ปุณณานนท์ ตรีวรรณกุล) จากเด็กเรียนดีสู่ ‘ฆาตกรหั่นศพ’ เพราะปกป้องแม่จากการโดนพ่อเลี้ยงซ้อม และ ‘ตูมตาม’ (รับบทโดย เอฟ ปิยพงษ์ ดำมุณี) เด็กผู้สร้างรอยยิ้มตัดสินใจเป็น ‘โจรลักทรัพย์’ เพราะไม่ได้รับการดูแลใส่ใจจากพ่อแม่ และถูกมองว่าเป็น ‘ตัวซวย’ ของครอบครัว

แม้แต่ ‘ครูชม’ ครูประจำวิชาแกะสลักไม้ในศูนย์ฝึกเยาวชน ก็พบเจอปัญหาครอบครัวเช่นกัน เนื่องจากงานปัจจุบันไม่ใช่ความฝันของเธอ แต่คือความต้องการของแม่ ทั้งที่จริงแล้ว เธออยากทำงานด้านศิลปะมากกว่า อีกทั้งยังเติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน ‘พ่อ’ ผู้เคยเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเธอนั้นได้แต่งงานใหม่ และย้ายไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ชีวิตของเธอตอนนี้ไม่ต่างอะไรจากกลุ่มเด็กๆ ที่ถูกกักขังอยู่ในพื้นที่ไร้ความหวัง

ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอปูมหลังและประสบการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละคน โดย ‘พื้นฐานครอบครัว’ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พวกเขากลายเป็น ‘เด็กมีปัญหา’ จนถูกส่งตัวมายังศูนย์ฝึกเยาวชนแห่งนี้ หลายครั้งที่ผู้คนเอาแต่กล่าวโทษเด็กที่กระทำผิด แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่า ทำไมพวกเขาจึงทำแบบนั้น และปัญหาที่แท้จริงคืออะไร? จนนำไปสู่คดีของเด็กและเยาวชนในลักษณะเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากการคุ้มครองดูแลเด็กมีประสิทธิภาพมากพอ หรือมีแนวทางการแก้ไขปัญหาภายในครอบครัวอย่างชัดเจน เด็กผู้เคยเป็น ‘เหยื่อ’ คงไม่มีชะตาชีวิตเช่นนี้

‘การทุบตี’ ไม่ใช่การสั่งสอนที่ดี

“นี่มันในคุก เด็กมันทำผิด มันก็ต้องลงโทษ ธรรมดาเปล่าวะ”

ความรุนแรงกับคุกแทบจะเป็นของคู่กัน เมื่อนักโทษทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายกัน ผู้คุมก็ใช้ความรุนแรงลงโทษพวกเขาอีกทีหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เป็นภาพจำที่เรารับรู้ผ่านสื่อมาโดยตลอด แต่ในหนังเรื่อง ‘แก๊งหิมะเดือด’ ตัวละคร ‘ครูชม’ เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่กล้าเรียกร้องความเป็นธรรมเกี่ยวกับประเด็นนี้ เพราะการใช้ความรุนแรงเพื่อลงโทษเด็ก ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาที่ควรยอมรับหรือปล่อยผ่าน

โลกที่พัฒนาก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้เราเข้าใจว่า ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของปัญหา การทุบตีไม่ใช่การลงโทษที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ความผิดพลาดของตนเอง แต่อาจทำให้พวกเขาเลือกที่จะปกปิดและหลบซ่อนความผิดจากสายตาของผู้ใหญ่ รวมถึงกลายเป็นปมฝังใจที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา

ต่อให้นักโทษจะเคยกระทำผิดพลาดมาก่อน แต่ ‘คุก’ หรือ ‘ศูนย์ฝึกเยาวชน’ ควรเป็นพื้นที่ให้พวกเขาได้เปลี่ยนแปลงตนเอง และกลายเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นของสังคม โดยยื่นมือให้ความช่วยเหลือ และคุ้มครองพวกเขาอย่างจริงจัง มิใช่การผลักไสพวกเขาให้ต่อสู้กับปัญหาอย่างโดดเดี่ยวด้วยการเฆี่ยนตี เพราะ ‘เด็กที่กระทำผิด’ สามารถเปลี่ยนแปลงได้

LGBTQ+ คือ ‘คนปกติ’

สื่อจำนวนไม่น้อยที่นำเสนอภาพของ LGBTQ+ ในมุมมองที่ฉูดฉาด ตลก หรือน่าสงสาร บางครั้งอาจมาจากเจตนาดี ซึ่งต้องการให้ผู้ชมมองเห็นถึงปัญหา หรือเปิดพื้นที่ให้แก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ ‘แก๊งหิมะเดือด’ ถ่ายทอดประเด็นนี้ในแง่มุมใหม่ โดยทำให้ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติในสังคม ผ่านการนำเสนอตัวละคร ‘วิน’ ในฐานะเด็กทั่วไปคนหนึ่ง มิใช่ในลักษณะของการล้อเลียน หรือสร้างความตลกขบขันจากเพศสภาพ สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนการโอบรับตัวละครนี้ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเหมือนกับทุกคน เพราะเขาไม่ต้องเผชิญกับการแบ่งแยกทางเพศ

เด็กเหลือขอ (?) ที่อยากขอโอกาส

สิ่งที่ยากที่สุดในการแข่งขันนี้ ไม่ใช่การแกะสลักหิมะของเด็กที่เติบโตในเมืองร้อน แต่คือ ‘การต่อสู้กับใจตัวเอง’ ท่ามกลางคำด่าทอและการรุมประณามจากสังคม ไม่ว่าจะมาจากอคติที่มีต่อผู้กระทำผิด การป้ายสีความผิดที่ไม่เป็นความจริง (Fake News) หรือแม้แต่ความเจ็บปวดที่ไม่อาจอภัยได้ของครอบครัวเหยื่อ

แม้สังคมจะพร่ำบอกว่า การจำคุกเป็นวิธีการลงโทษที่เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้กลับตัวเป็นคนดี ทว่า ‘ความผิดพลาดในอดีต’ กลับเป็นชนักติดหลัง เปรียบดั่ง ‘โซ่’ ที่ล่ามพวกเขาเอาไว้ไม่ให้บินไปได้ไกลกว่านี้ เพราะผู้คนภายนอกยังคงเหยียดหยาม รังเกียจ และไม่ให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิด แม้พวกเขาจะกลับตัวกลับใจแล้วก็ตาม เมื่อหมดหนทางที่จะได้รับการยอมรับจากสังคม และไม่มีทางเลือกอื่นในชีวิต ท้ายที่สุด พวกเขาจึงต้องเผชิญกับชะตากรรมที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ ซึ่งมองเห็นได้เพียงท้องฟ้าและลวดหนาม

“ต่อไปก็ใช้ชีวิตดีๆ ล่ะ”

คำพูดดังกล่าวจากแม่ของเหยื่อผู้สูญเสียลูก ถือเป็นการปลดล็อกตราบาปในใจของตัวละคร ‘โจ’ (รับบทโดย นนท์-ศดานนท์ ดุรงคเวโรจน์) ซึ่งเคยกระทำผิดพลาดโดยก่อเหตุทะเลาะวิวาท และทำร้ายผู้อื่นจนเสียชีวิต เมื่อโจได้รับโอกาสปล่อยตัว เขาพยายามใช้ชีวิตให้ดีขึ้น โดยไม่ลืมความผิดพลาดของตัวเอง และความเจ็บปวดของครอบครัวเหยื่อ

มากกว่าการแข่งขันแกะสลักหิมะให้ชนะรางวัลที่ 1 บทเรียนสำคัญของภาพยนตร์ ‘แก๊งหิมะเดือด’ (Frozen Hot Boys) คือ ‘การเอาชนะใจตัวเอง’ ไม่ว่าในอดีตจะเลวร้ายแค่ไหน แต่หากเรายอมรับผิด กล้าลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงชีวิต และ ‘เชื่อมั่นในตัวเอง’ ในวันที่ไม่มีใครเชื่อมั่นในตัวเรา ความหวังที่จะมีชีวิตที่ดีกว่าย่อมกลายเป็นความจริงในสักวัน และเราจะบินไปได้ไกลกว่าที่เคยฝันไว้

อ้างอิง

https://about.netflix.com/th/news/frozen-hot-boys-trailer

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง

ตามบทความก่อนใครได้ที่
- Website : Mirror Thailand.com