เปิดกระแสพระราชดำริ รัชกาลที่ 3 ถึงเจ้านายผู้จะเสวยราชย์ต่อ ก่อนราชบัลลังก์ตกทอดไปสู่สมเด็จพระอนุชาธิราช “เจ้าฟ้ามงกุฎ” (รัชกาลที่ 4)
ต้น พ.ศ. 2394 เข้าสู่ปีที่ 27 ในราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงมีพระอาการประชวรอย่างรุนแรง เริ่มต้นจากรู้สึกไม่สบายพระองค์ บรรทมไม่หลับ ทำให้ทรงคลื่นเหียน เสวยพระกระยาหารน้อยมาหลายเดือน สู่พระอาการถ่ายพระบังคนเบา (ปัสสาวะ) ขุ่น ดังที่ พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)บันทึกว่า
“พระบังคนเบาก็ขุ่นค่นเป็นตะกอน พระบรมวงศานุวงศ์เสนาบดีข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายหน้าฝ่ายในมีความร้อนใจ พร้อมกันปรึกษาให้แพทย์ประกอบพระโอสถทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย แล้วก็พากันนอนประจำซองอยู่ทั้งกลางวันกลางคืนทุกแห่ง พระโรคไม่คลาย พระอาการประทังอยู่ กำลังพระกายทรุดไปทีละน้อย ๆ”
เดือนต่อมา วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2394 รัชกาลที่ 3 จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เรียก พระยาราชสุภาวดี พระยาพิพัฒน์โกษา (บุญศรี)มาเข้าเฝ้าในที่พระบรรทม มีพระราชดำรัสว่า พระอาการคงเกินกำลังแพทย์จะเยียวยาแล้ว ทำให้ทรงตรึกตรองถึงการแผ่นดินข้างหน้าว่าผู้ใดจะสืบราชสมบัติต่อ
ทั้งนี้ ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า หากทรงเลือกพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งให้เสวยราชย์ตามความพอพระราชหฤทัย อาจสร้างความร้าวฉานแก่ไพร่ฟ้าประชาชนและข้าราชการทั้งปวง จึงมีพระราชดำรัสอนุญาตให้ขุนนางไปประชุมหารือเลือกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่กันเอง
ดังความในจดหมายกระแสพระราชโองการ ที่พระราชทานนำส่งขุนนางในวันถัดมา (10 กุมภาพันธ์) มีความตอนหนึ่งว่า [ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
“…ทรงพระราชดำรัสยอมอนุญาตให้เจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งว่าที่สมุหพระกลาโหม พระยาศรีพิพัฒนรัตนราชโกษา พระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายกกับขุนนางผู้น้อยทั้งปวง จงมีความสโมสรสามัคคีรสปรึกษาพร้อมกัน
เมื่อเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์ พระองค์ใดที่มีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชานุวัตร เป็นศาสนูปถัมภกยกพระบวรพุทธศาสนา และปกป้องไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร รักษาแผ่นดินให้เป็นสุขสวัสดิ์โดยยิ่ง เป็นที่ยินดีแก่มหาชนทั้งปวงได้ ก็สุดแท้แต่จะเห็นดี ปราณีประนอมพร้อมใจกันยกพระบรมวงศ์องค์นั้นขึ้นเสวยมไหสวรรยาธิปัตย์ถวัลยราช สืบสันตติวงศ์ดำรงราชประเพณีต่อไปเถิด
อย่าได้กริ่งเกรงพระราชอัธยาศัยเลย เอาแต่ให้ได้เป็นสุขทั่วหน้า อย่าให้เกิดการรบราฆ่าฟันกันให้ได้ความทุกข์ร้อนแก่ราษฎร”
วันต่อมา คือ 11 กุมภาพันธ์ เวลา 5 โมงเย็น ทรงมีรับสั่งให้ พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)ซึ่งขณะนั้นเป็นจางวางมหาดเล็กเข้าเฝ้าในที่พระบรรทม ทรงถามว่า พระยาพิพัฒน์ฯ เอาจดหมายออกไปหารือเหล่าขุนนางหรือยัง พระยาศรีสุริยวงศ์กราบทูลว่า ได้ทราบเรื่องแล้วทุกคนต่างโศกเศร้า พากันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ แล้วกราบบังคมทูลว่า
“ปรึกษากันว่าพระโรคนั้นยังไม่ถึงตัดรอน แพทย์หมอยังพอฉลองพระเดชพระคุณได้อยู่ ซึ่งจะยกย่องพระวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นก็ยังไม่สมควร จะช่วยกันฉลองพระเดชพระคุณว่าราชการแผ่นดิน มิให้มีเหตุการณ์ภัยอันตรายขึ้นได้”
ได้ทรงทราบดังนั้นจึงรับสั่งให้พระยาศรีสุริยวงศ์ขยับเข้าไปชิดพระองค์ แล้วให้ลูบดูทั่วทั้งพระวรกาย ก่อนจะดำรัสว่า “ร่างกายทรุดโทรมถึงเพียงนี้แล้ว หมอเขาว่ายังจะหายอยู่ไม่เห็นด้วยเลย”
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงมีพระราชปรารภกับพระยาศรีสุริยวงศ์ ถึงความเหมาะสมในราชสมบัติของพระบรมวงศานุวงศ์ใกล้ชิด ซึ่งประกอบด้วยเจ้านาย 4 พระองค์ ที่ล้วนเป็นพระอนุชาธิราชร่วมพระราชบิดา (รัชกาลที่ 2) แต่ต่างมารดาความว่า
“การแผ่นดินไปข้างหน้า ไม่เห็นผู้ใดที่จะรักษาแผ่นดินได้ กรมขุนเดชเล่า ท่านก็เป็นคนพระกรรณเบา ใครจะพูดอะไรท่านก็เชื่อง่าย ๆ จะเป็นใหญ่โตไปไม่ได้ กรมขุนพิพิธเล่า ก็ไม่รู้จักการงาน ปัญญาก็ไม่สอดส่องไปได้ คิดแต่จะเล่นอย่างเดียว
ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้อยู่ ก็เห็นแต่ท่านฟ้าใหญ่ ท่านฟ้าน้อย ๒ พระองค์ ก็ทรงรังเกียจอยู่ว่า ท่านฟ้าใหญ่ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นเจ้าแผ่นดินขึ้น ก็จะให้พระสงฆ์ห่มผ้าอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดินดอกกระมัง
ท่านฟ้าน้อยเล่า ก็มีสติปัญญารู้วิชาการช่างและการทหารต่าง ๆ อยู่ แต่ไม่พอใจทำราชการ รักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึ่งมิได้ทรงอนุญาต กลัวเจ้านายข้าราชการเขาจะไม่ชอบใจเพียงนี้ จึ่งได้โปรดอนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวงสุดแท้แต่เห็นพร้อมเพรียงกัน”
จากข้อความข้างต้น กรมขุนเดช คือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร (ประสูติแต่เจ้าจอมมารดานิ่ม – ต้นราชสกุล เดชาติวงศ์) กรมขุนพิพิธ คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาศิลา – ต้นราชสกุล พนมวัน)
ส่วน ท่านฟ้าใหญ่ ท่านฟ้าน้อยคือ “เจ้าฟ้ามงกุฎ” หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งขณะนั้นยังทรงพระผนวชอยู่ กับเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังทรงมีพระราชวิสัยทัศน์กว้างไกล เล็งเห็นว่าพระยาศรีสุริยวงศ์จะเป็นใหญ่ต่อไปในภายหน้า (ต่อมาเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) จึงทรง “ฝากฝัง” กิจการบ้านเมืองกับจางวางมหาดเล็กคนนี้ อันจะกลายเป็นถ้อยพระกระแสพระราชดำริที่มีการกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง ดังว่า
“การต่อไปภายหน้าเห็นแต่เองที่จะรับราชการเป็นอธิบดีผู้ใหญ่ต่อไป การศึกสงครามข้างญวนข้างพะม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดีอย่าให้เสียทีแก่เขาได้การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”
สุดท้ายคือทรงแจกแจงพระราชพินัยกรรมสำหรับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ (ยังไม่รู้ว่าเป็นพระองค์ใด) ให้นำพระราชทรัพย์ส่วนหนึ่งไปสร้าง-บูรณะวัดวาอารามที่ทรงสร้างค้างคาไว้ให้แล้วเสร็จ ส่วนที่เหลือจึงใช้ในงานราชการแผ่นดิน ความว่า
“ทุกวันนี้คิดสละห่วงใหญ่ได้หมด อาลัยอยู่แต่วัด สร้างไว้ใหญ่โตหลายวัด ที่ยังค้างอยู่ก็มี ถ้าชำรุดทรุดโทรมไป จะไม่มีผู้ช่วยทะนุบำรุง เงินในพระคลังที่เหลือจับจ่ายใช้การแผ่นดินมีอยู่สี่หมื่นชั่ง ขอสักหมื่น ๑ เถิด ถ้าผู้ใดเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ให้ช่วยบอกแก่เขาขอเงินรายนี้ให้ช่วยทะนุบำรุงวัดที่ชำรุดและการวัดที่ยังค้างอยู่นั้นเสียให้แล้วด้วย”
พงศาวดารเล่าว่า เมื่อพระยาศรีสุริยวงศ์รับพระราชโองการแล้วก็ร้องไห้ถอยออกมาจากที่เข้าเฝ้า
กระทั่งวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 รัชกาลที่ 3 ก็เสด็จสวรรคต ที่ประชุมขุนนางและเสนาบดีทั้งหลายจึงพร้อมใจกันอัญเชิญสมเด็จพระอนุชาธิราช “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ให้ขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม รัชกาลที่ 4
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระเจ้าแผ่นดินผู้ไม่ทรงสถาปนาพระบรมราชินี
- “รัชกาลที่ 3” แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ “พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา” องค์สุดท้าย?
- “พระนั่งเกล้าฯ” พระราชนัดดาองค์โปรดใน ร.1 ด้วยมีพระพักตร์คล้ายกัน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศุกลรัตน์ ธาราศักดิ์. เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ รัชกาลที่ 3 สวรรคต “เจ้าฟ้ามงกุฎ” ครองราชย์.ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2543.
ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา เรียบเรียง. (2481). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.กรุงเทพฯ : โสภณพิพรรฒธนากร. อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงวงษานุประพัทธ์ (ตาด สนิทวงศ์ ณอยุธยา). (ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : รัชกาลที่ 3 กับพระราชดำริถึงผู้สืบราชสมบัติ ก่อนบัลลังก์ตกทอดสู่พระอนุชาธิราช (ร.4)
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com