โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ย้อนรอย RS ยักษ์ใหญ่วงการสื่อ เกิดอะไร ทำไมราคาหุ้น “ต่ำบาท”

Thairath Money

อัพเดต 23 เม.ย. เวลา 10.13 น. • เผยแพร่ 23 เม.ย. เวลา 10.13 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ภาพของ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น RS ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการบันเทิงไทย ชื่อที่คุ้นเคยกับเพลงฮิตติดชาร์ต และศิลปินขวัญใจมหาชน กลับดูเลือนรางเมื่อเทียบกับสถานะปัจจุบันในตลาดหลักทรัพย์ ที่ราคาหุ้นวนเวียนอยู่ระดับ “ต่ำบาท” การพลิกผันในครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร

“Thairath Money” พาไปสำรวจเส้นทางของ RS ตั้งแต่จุดเริ่มต้น และยุคทองของการเป็นเจ้าแห่งสื่อ สู่การตัดสินใจครั้งใหญ่ในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์สู่โมเดล "Entertainmerce"

และการเผชิญหน้ากับมรสุมต่างๆ จนถึงเหตุการณ์สำคัญที่สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นอย่างการบังคับขายหุ้น (Forced Sell) ที่สังคมให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง และท้ายที่สุดคือการกลายเป็น "หุ้นต่ำบาท" ที่ถูกตั้งคำถามในเวลาต่อมา

ย้อนรอย “ยุคทอง” สู่การเปลี่ยนหางเสือธุรกิจเป็น“Entertainmerce”

ความสำเร็จของ RS เริ่มต้นจากช่วงที่สามารถสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรม T-pop ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผ่านโมเดลธุรกิจที่ครอบคลุมทั้งการปั้นศิลปิน ผลิตคอนเทนต์ และช่องทางเผยแพร่ ทำให้บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2546 ด้วยราคาไอพีโอ 28.00 บาท (พาร์ 5 บาท) พร้อมขยายสู่ธุรกิจกีฬาและทีวีดาวเทียม กลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักของวงการสื่อไทยในขณะนั้น

นอกจากนี้ RS นับว่าเป็นหุ้นเด่นในกลุ่ม Media ของตลาดหุ้นไทย ด้วยความสำเร็จในเชิงธุรกิจ และการจดจำของผู้บริโภค สะท้อนถึงอำนาจของ RS ในยุคทองได้เป็นอย่างดี

ในยุคต่อมา การเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่อธุรกิจสื่อดั้งเดิม รวมถึงเพลงสตรีมมิ่งที่เข้ามาแทนที่การขายแผ่นซีดี รายได้โฆษณาจากทีวีและวิทยุแบบเดิมลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ RS ตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เพื่อความอยู่รอด

RS เปิดตัวและสร้างแบรนด์ภายใต้แนวคิด "Entertainmerce" อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นการรวมกันของคำว่า Entertainment และ Commerce และการย้ายหมวดธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากกลุ่มสื่อ (Media/Entertainment) ไปยังกลุ่มพาณิชย์ (Commerce) เมื่อ 29 มีนาคม 2562 เพื่อสะท้อนทิศทางธุรกิจใหม่ด้วย

ในช่วงแรก โมเดล Entertainmerce ดูเหมือนจะให้ผลลัพธ์ที่เป็นบวกอย่างชัดเจน ผลประกอบการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการขายสินค้าในกลุ่ม Commerce ที่มีอัตรากำไรสูงกว่าธุรกิจสื่อดั้งเดิม จนทำให้นักวิเคราะห์ในขณะนั้นต่างคาดการณ์ว่า RS กำลังจะสร้างสถิติผลกำไรสูงสุดใหม่

ความสำเร็จในช่วงแรกนี้ เกิดจากการที่ RS สามารถใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมแต่ยังใช้ไม่เต็มศักยภาพ มาสร้างธุรกิจใหม่ที่มีอัตรากำไรสูง ช่วยเพิ่มผลกำไรได้อย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนเวลาออกอากาศที่อาจไม่มีรายได้ ให้กลายเป็นช่องทางขายสินค้าที่ทำกำไรได้โดยตรง ย่อมส่งผลบวกต่อบรรทัดสุดท้ายของงบการเงินอย่างชัดเจน

สัญญาณ “ขาดทุน” วัดฝีมือโมเดลธุรกิจใหม่

อย่างไรก็ตาม RS ต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารธุรกิจที่หลากหลาย ทั้งด้านสื่อและพาณิชย์ โดยเฉพาะการขยายโมเดล Entertainmerce ที่แม้จะดูเสริมกันในทางทฤษฎี แต่กลับต้องเผชิญความซับซ้อนทางธุรกิจ และการแข่งขันรุนแรงในอีคอมเมิร์ซ รวมถึงปัจจัยภายนอกอย่างเศรษฐกิจชะลอตัวและผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งล้วนส่งผลต่อกำลังซื้อและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

  • ปี 2563 รายได้ 3,790.22 ล้านบาท กำไร 528.28 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 3,589.59 ล้านบาท กำไร 127.35 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 3,549.21 ล้านบาท กำไร 137.07 ล้านบาท
  • ปี 2566 รายได้ 3,805.23 ล้านบาท กำไร 1,395.23 ล้านบาท
  • ปี 2567 รายได้ 3,342.43 ล้านบาท ขาดทุน 304.58 ล้านบาท

ผลประกอบการยังแสดงให้เห็นถึงความผันผวนอย่างชัดเจนในช่วงหลัง รายได้จากฝั่งพาณิชย์ลดลง สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของโมเดลธุรกิจแบบผสม จน RS ประสบภาวะขาดทุนสุทธิในปี 2567 ถึง 304.58 ล้านบาท และอุปสรรคในการสร้างความยั่งยืนทางการเงินยังคงเป็นความท้าทายหลักของ RS ในยุคหลังจากความรุ่งเรือง

นอกจากนี้ แม้การเข้าซื้อกิจการ (M&A) ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและหลากหลาย จะสะท้อนถึงความทะเยอทะยานในการขยายธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจชี้ถึงความท้าทายในการสร้างการเติบโตจากโมเดลธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียว

โดยต้องหันไป "ซื้อ" บริษัทอื่นๆ เข้ามา เพื่อสร้างการเติบโตมากขึ้น เช่น เครือข่ายการขายของ ULife หรือแพลตฟอร์มการตลาดดิจิทัลของ GIFT ซึ่งการทำ M&A บ่อยครั้งย่อมนำมาซึ่งความซับซ้อนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

วิกฤตถูกบังคับขายหุ้น สาเหตุราคาหุ้น “ต่ำบาท”

กระทั่งในช่วงต้นปี 2568 นักลงทุนต่างจับตากระแสข่าวการบังคับขายหุ้น RS ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงชนพื้น มีราคาติด Floor ติดต่อกันถึง 3 วันทำการ (ระหว่างวันที่ 7-9 มกราคม 2568) โดยการขายครั้งนี้เชื่อมโยงกับการที่หุ้นถูกใช้เป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้น ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้บริหารของบริษัทด้วย

ซึ่งต่อมา RS ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากกลไกตลาดและปัจจัยภายนอก ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตถึงปริมาณคำสั่งขายจำนวนมหาศาลในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เกิดความกังวลตามมามากมาย

เหตุการณ์ช่วงนั้น ส่งผลให้ราคาหุ้นและมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap.) ของ RS ร่วงลงอย่างรุนแรง โดยมูลค่าหายไปถึง 6 พันล้านบาท ภายในเวลาเพียง 3 วัน และเหตุการณ์นี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก

การถูกบังคับขายครั้งนี้ ได้ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และอาจรวมถึงประเด็นด้านธรรมาภิบาลของบริษัทด้วย

และเมื่อเชื่อมโยงกับผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ยิ่งสร้างความกลัวว่าจะมีการเทขายตามมาอีกระลอกหรือไม่ และผลกระทบทางจิตวิทยานี้ มักรุนแรงกว่าผลกระทบโดยตรงจากจำนวนหุ้นที่ถูกขายจริง ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ราคาหุ้นดิ่งลงสู่ระดับ "หุ้นต่ำบาท" อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ราคาหุ้น RS ในปัจจุบันซื้อขายกันแถว 0.50-0.55 บาท แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับช่วงที่เคยรุ่งเรือง ซึ่งเคยทำจุดสูงสุดที่ 13 บาท ในเดือนมีนาคม 2564

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามทั้งทิศทางธุรกิจและราคาหุ้นของ RS อย่างใกล้ชิด ว่าจะสามารถฟื้นกลับมาได้หรือไม่ ท่ามกลางความท้าทายที่ยังคงอยู่ในทุกด้าน

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

https://www.thairath.co.th/money/investment

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้

https://www.facebook.com/ThairathMoney

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : Thairath Money
- LINE Official : Thairath