พระพุทธชินสีห์, พระศาสดา และพระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่หลอมขึ้นพร้อมกันในรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย ปัจจุบันพระพุทธรูป 2 องค์แรกประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศ กรุงเทพมหานคร
พระพุทธชินราช
เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ “วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม” แล้วเสร็จ มีพระราชปรารภให้จัดหาพระพุทธรูปทั้งในพระนครและหัวเมืองต่างๆ ที่มีความงามมาประดิษฐานเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ แต่ก็ไม่มีพระพุทธรูปองค์ใดงามเสมอ “พระพุทธชินราช”
แม้จะมีพระราชประสงค์อัญเชิญพระพุทธชินราชไปพระนคร แต่สุดท้ายก็มีอันต้องระงับไป และนี่เป็นจุดแรกของเรื่องเล่าปากต่อปากกันว่า
“เมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 5 มีความประสงค์อัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานเป็นพระประธานวัดเบญจมบพิตร ได้เคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อออกมาจากวิหารเพื่อนำไปลงแพที่ลำน้ำน่านหน้าวิหาร…แต่เมื่ออัญเชิญออกมาแล้วก็เกิดเหตุอัศจรรย์ไม่สามารถเข็นหลวงพ่อเพื่อไปลงแพได้ หรือเมื่อเข็นไปลงแพแล้ว แพก็จอดนิ่งไม่ขยับ…หลวงพ่อพระพุทธชินราชจึงประดิษฐานในเมืองพิษณุโลกดังเดิม”
แต่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีการอัญเชิญ “พระพุทธชินราช” ไปที่ใดเลย ยังคงประดิษฐาน ณ พระวิหารทิศตะวันตก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก เรื่อยมา
เด็ดดอกไม้สะเทือนดวงดาว
ชาวจังหวัดพิจิตรยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระพุทธชินราชว่า เมื่อมีรับสั่งให้อัญเชิญพระพุทธชินราชไปประดิษฐานเป็นพระประธานวัดเบญจมบพิตรฯ ได้ทรงมีกระแสรับสั่งให้หาพระพุทธรูปอื่นมาประดิษฐานแทนพระพุทธชินราช
พระพุทธรูปอื่นที่ว่าก็คือ “หลวงพ่อเพชร” วัดนครชุม เมืองพิจิตร ชาวพิจิตรทราบข่าวจึงอัญเชิญหลวงพ่อเพชรไปซ่อนที่ต่างๆ แต่สุดท้ายทางการก็หาหลวงพ่อเพชรเจอ แล้วนำมาประดิษฐานไว้วัดท่าหลวง เพื่อรออัญเชิญไปเมืองพิษณุโลก
ขณะที่ชาวเมืองพิษณุโลกหวงแหนพระพุทธชินราช ต่างก็เสียใจถึงกับร้องไห้กันทั้งเมือง สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พระองค์ทรงเห็นใจชาวเมืองพิษณุโลกจึงโปรดเกล้าฯ ระงับการอัญเชิญพระพุทธชินราชลงมากรุงเทพฯ และโปรดให้หล่อพระพุทธชินราชจำลองแทน หลวงพ่อเพชรจึงได้ประดิษฐานอยู่วัดท่าหลวงต่อไป
พุทธาภินิหารพระพุทธชินสีห์
นอกจากนี้ เมื่อคราวอัญเชิญพระพุทธชินสีห์ (หล่อขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินราชและพระศาสดา) ก็มีเรื่องเล่าลือในทางไม่สู้ดี ประชุมพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ภาคปกิณกะ 2 บันทึกว่า
“ครั้นจะเชิญพระพุทธชินราชลงมาก็เห็นว่าเปนหลักเปนศิริของพิศณุโลก…แลพระพุทธชินสีห์ซึ่งเชิญมาแต่ก่อนก็ไม่เป็นที่ชอบใจของชาวเมืองพิศณุโลกเปนอันมาก ยังมีคำเล่ากันอยู่จนทุกวันนี้ว่า เมื่อเชิญออกจากพระวิหารนั้น ราษฎรพากันมีความเศร้าโศกร้องไห้เปนอันมากเงียบเหงาสงัดไปทั้งเมืองเหมือนศพลงเรือน แลแต่นั้นมาฝนก็แล้งไปถึง 3 ปี ชาวเมืองพิศณุโลกได้รับความยากยับไปเปนอันมาก
กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพก็ทรงพระประชวรพระโรคมานน้ำได้ปีเศษก็เสด็จสวรรคต ราษฎรพากันกล่าวว่า เพราะที่ท่านไปเชิญ…
การที่ถือต่างๆ เช่นนี้จะไม่ควรถือก็ตาม แต่ไม่ควรจะทำการกุศล ให้เป็นที่เดือดร้อนรำคาญ ไม่เปนที่พอใจของคนเปนอันมาก จึงได้ปรารภที่จะคิดหล่อขึ้นใหม่ให้เหมือน พระพุทธชินราช” (จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)
การอัญเชิญพระพุทธชินราชไปพระนครจึงระงับไปอย่างเด็ดขาด ส่วนหนึ่งก็ด้วยพุทธาภินิหารข้างต้น
อ่านเพิิ่มเติม :
- “วัดมหาธาตุ” ในประเทศไทยมีกี่แห่ง อยู่ไหนบ้าง?
- เมืองพิษณุโลก เคยมีอีกชื่อว่า “เมืองชัยนาท” จริงหรือ? เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปฐมพงษ์ สุขเล็ก. “เรื่องเล่า ‘หลวงพ่อพระพุทธชินราช’ มุขปาฐะในพื้นที่พิษณุโลก” ใน, ศิลปวัฒนธรรม กรกฎาคม 2557.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2568.
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : พุทธาภินิหาร “พระพุทธชินสีห์” เป็นเหตุให้ ร. 5 ไม่อัญเชิญพระพุทธชินราชไปพระนคร
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com