โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"สามารถ" อัด กติกาเลือกตั้งมีปัญหา สร้างกับดักพรรคการเมืองไทย ยุแก้พ.ร.ป. 2 ประเด็นก่อนเลือกตั้งครั้งหน้า

MATICHON ONLINE

อัพเดต 21 มิ.ย. 2563 เวลา 07.47 น. • เผยแพร่ 21 มิ.ย. 2563 เวลา 07.47 น.
สามารถ แก้วมีชัย

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า กับดักพรรคการเมืองไทย ถ้ากติกาไม่เปลี่ยนแปลง เลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า พรรคเล็ก พรรคใหญ่ จะมีปัญหาหมด พรรคเล็กทุนน้อยคงดำรงอยู่ไม่ได้ แม้พรรคใหญ่ ทุนมาก ก็จะประสบปัญหายุ่งยากไม่น้อย กติกาเขียนให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว พรรคจะได้คะแนนต้องส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง เขตไหนชนะที่ 1 ก็ได้ที่นั่ง ส.ส.เขตนั้นไป ถ้าไม่ได้ที่ 1 ก็เอาคะแนนที่ได้มารวมกันเพื่อคิดสัดส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ
แต่คะแนนรวมที่ได้จาก ผู้สมัครส.ส.ที่ไม่ได้อันดับ 1 ก่อนนำมารวมคิดสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะถูกนำไปเฉลี่ยให้ผู้สมัคร ส.ส. ในเขตที่ได้ที่ 1 ก่อน แม้ชนะที่ 1 แต่คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ที่กติกากำหนดไว้ เช่น เลือกตั้งที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องมีคะแนนเฉลี่ยประมาณ 80,000 คะแนน (จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหารด้วยจำนวน ส.ส.500คน ทั้ง ส.ส. เขต 350 คน และส.ส. บัญชีรายชื่ออีก 150 คน) ผู้สมัครที่ได้ที่ 1 ในเขต น้อยคนจะได้คะแนนตามเกณฑ์ สมมุติได้ 50,000 คะแนน ก็ต้องนำคะแนนของพรรคที่ได้เขตอื่นที่ไม่ได้ที่ 1 มาเติมให้ถึงเกณฑ์ อีก 30,000 คะแนน (แบบนี้จนไม่มีคะแนนเหลือ) เป็นเหตุให้พรรคใหญ่ที่ได้ ส.ส. เขต มาก จึงไม่เหลือคะแนนมาให้ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้เข้าไปเป็นส.ส. และด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งพรรคเล็ก ไม่หวังที่ 1 ในเขต แต่หวังนำคะแนนมารวมกันให้ได้ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ที่นิยมเรียกกันว่า แตกแบงค์ย่อย เป็นหลายพรรค

“เลือกตั้งทั่วไปคราวหน้า กติกาเขียนไว้ว่าพรรคที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเขตไหน ต้องมีผู้แทนพรรคประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งนั้น จะส่งครบ 350 เขต ก็ต้องมีผู้แทนพรรคประจำจังหวัดครบทั้ง 350 เขต เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง (การเลือกตั้งที่ผ่านมา มีบทเฉพาะกาลยกเว้นให้ ในหนึ่งจังหวัดมีผู้แทนพรรคประจำจังหวัดเพียงเขตเดียวก็ได้) การมีผู้แทนพรรคประจำจังหวัดในแต่ละเขตเลือกตั้ง พรรคต้องหาสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย ในเขตเลือกตั้งนั้นไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน จัดประชุมกัน มีองค์ประชุมไม่ต่ำกว่า 50 คน เพื่อเลือกตั้งตัวแทนพรรคประจำจังหวัดของเขตเลือกตั้งนั้น ถึงวาระใกล้เลือกตั้ง แต่ละเขตจะประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพื่อให้สมาชิกลงมติเห็นชอบเสนอชื่อผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ในเขตเลือกตั้ง และลงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อตามบัญชีที่พรรคส่งมาให้พิจารณา กระบวนการนี้มักเรียกกันโก้หรูว่า ไพรมารีโหวต ซึ่งแท้ที่จริงเป็นเพียงพิธีกรรมตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เพราะมีสมาชิกมาประชุมกันครบองค์เพียง 50 คน ได้ชื่อผู้สมัครในเขตสองชื่อแล้วส่งไปให้คณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมการบริหารพรรคตัดสินเป็นที่สุด ด้วยกระบวนการนี้ พรรคเล็กจะเอาทุนที่ไหนมาทำองค์กรผู้แทนพรรคประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง เพื่อส่งผู้สมัครเขต หวังเป็นสะพานลำเลียงคะแนนมาให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ”

นายสามารถกล่าวว่า จริงอยู่อาจส่งไม่ครบทุกเขต แต่คะแนนที่รวบรวมได้ก็จะมีจำนวนน้อยไปด้วย พรรคเล็กอาจอยู่ได้ แต่อยู่ยาก ส่วนพรรคใหญ่ อาจได้เปรียบ มีทั้งทุน มีทั้งสมาชิกพรรคในทุกเขต แต่อย่าเผลอเพราะกติกาปัจจุบัน กำหนดให้สมาชิกพรรคต้องเสียเงินค่าบำรุงพรรคทุกปี ติดค้างค่าบำรุงติดต่อกันสองปีจะต้องหมดสมาชิกภาพ

นับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งทั่วไป เดือนมีนาคม 2562 อีกไม่กี่เดือนก็จะครบสองปีแล้ว ได้สำรวจข้อมูลกันหรือยังว่า มีสมาชิกคนไหนที่ต้องจ่ายค่าบำรุงบ้าง ชะล่าใจ เกิดไม่จ่ายค่าบำรุงติดต่อกันสองปี หมดสมาชิกภาพตามกฎหมายโดยอัตโนมัติ สาขาพรรคก็ดี ผู้แทนพรรคประจำจังหวัดในเขตเลือกตั้งก็ดี จะไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย เพราะมีจำนวนสมาชิกเหลืออยู่ไม่ครบองค์ประกอบตามกฎหมาย ปรากฎการณ์ที่เกิดให้เห็น พรรคเล็กบางพรรคที่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ตระหนักว่า อนาคตคงไปไม่ไหว ชิงใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย เลิกกิจการพรรคตัวเอง ย้ายไปอยู่กับพรรคใหญ่ พรรคเล็กอีกหลายพรรคก็คงจะเอาอย่างในอีกไม่นานนี้ เดือดร้อนกัน ทั้งพรรคเล็กพรรคใหญ่อย่างนี้ ทำไมไม่มาร่วมมือกันแก้กติกา คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง แก้ประเด็นหลักเพียง 2 ประเด็น คือ 1.ยกเลิกการมีผู้แทนพรรคประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง เอาตามบทเฉพาะกาลที่เคยใช้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา คือ จังหวัดหนึ่งมีเพียงเขตเดียวก็พอ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 ที่มีเจตนาอยากให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2.ยกเลิกการเก็บค่าบำรุงสมาชิกพรรค เพราะสมาชิกพรรคอาจช่วยสนับสนุนพรรคที่เขาเลื่อมใสศรัทธาได้หลายวิธี บางคนมีเงินก็บริจาคเงินให้พรรค บางคนอุทิศแรงกายแรงใจช่วยงานพรรคตามถนัด ไม่ควรเอาเงินมาเป็นหลัก แถมมีเงื่อนไขบังคับไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคติดต่อกันสองปีต้องหมดสมาชิกภาพ ถือเป็นเงื่อนไขและอุปสรรคในการพัฒนาพรรคการเมืองด้วย

นายสามารถ กล่าวอีกว่า ใจจริงอยากให้แก้รัฐธรรมนูญ ผู้สมัคร ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค เปิดกว้างให้เป็นเรื่องของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้แทนของเขา แต่เมื่อออกแบบรัฐธรรมนูญกันมาอย่างนี้แล้ว ก็แก้กฎหมายลูก คือกฎหมายพรรคการเมือง เฉพาะประเด็นที่ไม่เป็นสาระและเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการคงอยู่และการพัฒนาพรรคการเมืองเท่าที่มีโอกาสทำได้ไปพลางก่อน ในบ้านเรา คนเขียนกติกาไม่ได้ใช้ คนใช้กติกาไม่ได้เขียน เลยจะพากันเดินไปติดกับดักให้ยุ่งยากวุ่นวายกันหมด

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 11

  • มงคล St..59
    แพ้แล้วแพ้อีกก็ต้องโวยเป็นธรรมดา ถ้าชนะบ้างก็จะเงียบกริบ
    21 มิ.ย. 2563 เวลา 08.40 น.
  • PhoL
    แพ้แล้วพาล
    21 มิ.ย. 2563 เวลา 09.21 น.
  • T.cho
    ข้อสอบยากทำไม่ได้ ว่างัง ควรเปลี่ยนข้อสอบง่ายๆ🙄🙄🙄🙄
    21 มิ.ย. 2563 เวลา 09.32 น.
  • พรรคที่มีคะแนนรวมไม่ถึงคะแนนเฉลี่ยควรต้องให้ถูกยุบไป ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตแต่ไม่มีคะแนนจากเขตอื่นมาช่วยให้มีคะแนนรวมของพรรคไม่ถึงคะแนนเฉลี่ยให้ยุบคะแนนของผู้สมัครผู้นั้นทิ้งไปด้วยฯลฯ
    21 มิ.ย. 2563 เวลา 09.05 น.
  • Tawan.
    โคตรเบือเลยเลือกตั้ง
    21 มิ.ย. 2563 เวลา 09.35 น.
ดูทั้งหมด