ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) ศิลปินชาวอิตาลีหยุดวาดภาพ The Entombment ลงกลางคันเพราะหนึ่งเหตุผล โยฮัน เฟอร์เมร์ (Johan Vermeer) จิตรกรชาวดัชต์ ยอมทำครอบครัวติดหล่มหนี้สินเพราะเหตุผลเดียวกัน ส่วน ราฟาเอล (Raphael) อัจริยะอายุน้อยที่สุดแห่งยุคเรเนสซองส์ ก็จำใจใช้สีฟ้าอซูไรต์เป็นเพื่อประหยัดเงินก้อนโตจากค่าสี
สามศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ล้วนเคยประสบภัยทางการเงินที่น่าอึดอัดยิ่งกว่าการขายภาพวาดไม่ได้ เพราะทั้งสามไม่มีเงินมากพอซื้อสีฟ้าที่สวยและมีค่ามากที่สุดในท้องตลาด สีฟ้าที่ว่ามีชื่อเรียกกันในสมัยนั้นว่า อัลตร้ามารีน (Ultramarine) หรือ True Blue
True Blueได้รับคำจำกัดความจากศิลปินในยุคนั้นว่า เป็นสีฟ้าที่แท้ สวยงาม และล้ำค่ากว่าสีฟ้าใด ๆ ที่สายตาของมนุษย์จะสามารถมองเห็น ชื่อ ultamarine เป็นรากศัพท์ภาษาละติน ultramarinus มีความหมายตรงตัวว่า “beyond the sea” เพราะเป็นสีที่ต้องนำข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจากทวีปเอเชีย
เชนนิโน เชนนินิ (Cennino Cennini) จิตรกรชาวอิตาเลียนในศตวรรษที่ 15 บรรยายความสวยงามของสีอัลตร้ามารีน ว่า “เป็นสีที่ทรงเกียรติ สวยงาม และสมบูรณ์เหนือสีใด ๆ อัลตร้ามารีน เปล่งประกายในตัวเอง ไม่สามารถลบล้างหรือทำให้งดงามกว่าด้วยสิ่งใด”
ส่วนเหตุที่สีอัลตร้ามารีน มีราคาแพงนักหนา เป็นเพราะว่าสีฟ้า True blue ทำมาจากการบดลาพิส ลาซูลี่ (Lapis Lazuli) หินกึ่งอัญมณีที่ไม่สามารถหาได้ในยุโรป แต่ต้องนำเข้าจากเหมืองบนเทือกเขาในประเทศอัฟกานิสถาน ด้วยความที่การเดินทางในสมัยก่อนยากลำบาก และใช้เวลานาน (เช่นเดียวกับการขนส่งเครื่องเทศในสมัยยุคเดียวกัน) ทำให้ราคาซื้อขายของหินกึ่งอัญมณีชนิดนี้ สูงยิ่งกว่าทองคำเสียอีก
การที่ศิลปินมากมายยอมทุ่มเทเงินทองเพื่อใช้จ่ายกับสีฟ้าเพียงสีเดียวมีเบื้องหลังที่น่าสนใจไปมากกว่าความงาม ลาพิส ลาซูลี่ เป็นหินที่มีความสำคัญในโลกยุคโบราณ เพราะถูกใช้เป็นอัญมณีประดับหน้ากากของฟาโรห์ตุตันคาเมน เป็นส่วนประกอบหลักในเครื่องประดับศีรษะราชินีของชาวซูเมอร์ในวัฒนธรรมเมโสโปเตเมีย และยังเคยถูกใช้เป็นอายแชโดว์ของพระนางคลีโอพัตรา การใช้สีอัลตร้ามารีน ในงานยุคเรเนสซองส์ จึงถูกมองเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ภาพวาด ดูมีค่ามีราคาน่าหลงใหลกว่างานศิลปะทั่ว ๆ ไป
การใช้สีอัลตร้ามารีน ในสมัยนั้น มักจำกัดไว้สำหรับภาพที่มีความสำคัญสูงสุด เช่นภาพวาดในศาสนา และมักถูกมอบให้เป็นสีประจำกายของบุคคลที่มีความสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น พระแม่มารี ที่มักปรากฎกายในอาภรสีน้ำเงินเข้มจนชินตา ไม่มีใครรู้ว่าพระแม่มารีนิยมสวมอาภรสีอะไร แต่การยกให้สี อัลตร้ามารีน เป็นสีประจำกายของพระองค์ ถือเป็นการมอบเกียรติสูงสุดแก่พระมารดาของพระเยซูเจ้า
อัลตร้ามารีนยังถูกใช้เพื่อเน้นความสำคัญของบุคคลในภาพ เช่น ฉากการถือกำเนิดของพระเยซูอาจมีการเลือกใช้สีอัลตร้ามารีน บนผ้าห่อตัวทารก เพื่อบอกให้ทราบว่าทารกน้อยในภาพคือใจความหลักที่ศิลปินต้องการสื่อสาร นอกจากนี้เรายังพบการใช้สีอัลตร้ามารีน เพื่อสื่อถึงท้องฟ้าบนสรวงสวรรค์ สถานที่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ สวยงาม และสูงค่ามากกว่าที่ใด ๆ
มีบ้างเหมือนกันที่สีอัลตร้ามารีน ถูกใช้บนภาพวาดของบุคคลธรรมดา เพื่อเป็นการประกาศฐานะของเจ้าของภาพ ว่ามีกำลัง ทรัพย์มากพอจ่ายค่าจ้างศิลปินให้วาดภาพเหมือนของตนโดยใช้สีที่มีราคาและมูลค่ามากที่สุด
สำหรับศิลปินที่มีสถานะทางการเงินด้อยลงมา หรือไม่ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำจุนจากโบสถ์และผู้ดีมีอันจะกิน การสีฟ้าอซูไรต์ ซึ่งเป็นสีที่มีราคาถูกกว่า แต่ให้โทนใกล้เคียงกัน ก่อนทาทับด้วยสีอัลตร้ามารีน ก็เป็นอีกวิธีที่นิยมใช้เพื่อประหยัดค่าสีในภาพวาด
อัลตร้ามารีน เริ่มมีราคาลดลงเมื่อเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 19 สามารถสร้างสีสังเคราะห์ที่ให้ความสว่างใกล้เคียงกันในราคาจับต้องได้ แม้ราคาจะลดลงแต่ความสำคัญยังคงอยู่ การใช้สีฟ้า มีความสำคัญกับงานศิลปะในยุโรปเสมอมา ศิลปินในยุคปัจจุบันมองว่าสีฟ้ามีความหมายในเชิงปรัชญา เพราะเป็นสีตามธรรมชาติที่แฝงด้วยแนวคิดการมองเห็นโลกของคนยุคก่อน
“สีฟ้าเป็นสีที่ปรากฎในทุกที่ ในน้ำ ในน้ำแข็ง แม้กระทั่งในเปลวไฟ สีฟ้าอยู่ในที่มืดและสว่างที่สุด บริสุทธิ์ดุจดอกไม้ เราเห็นสีฟ้าบนเปลือกผลไม้ เช่นเดียวกับสีฟ้าที่ปรากฎฉาบเคลือบผิวของดินเหนียวและดินโคลน แม้สีฟ้าจะมีอยู่มากมาย แต่มนุษย์ก็ไม่อาจจับต้องสีฟ้าของเปลวไฟ หรือนำสีฟ้าของท้องฟ้ามากักเก็บไว้ในครอบครอง” -วิลเลียม กลาส นักปรัชญาและนักเขียนชาวอเมริกัน
.
.
ติดตามบทความของเพจพื้นที่ให้เล่า ได้บน LINE TODAY ทุกวันเสาร์
References:
https://en.wikipedia.org/wiki/Ultramarine
https://hyperallergic.com/315564/lapis-lazuli-a-blue-more-precious-than-gold/
ความเห็น 8
ตาริน
คือสีฟ้าชนิดนี้ (ฟ้าคราม สีคราม) ในสมัยก่อนหายากครับ
..ไม่มีพืชหรือสัตว์ชนิดไหน..เป็นสีฟ้าแบบนี้
ทำให้มันเป็นสีที่หาได้ยากมากๆ
...แม้แต่ประเทศจีน..ก็ยังหาสีฟ้ายากเช่นกัน
ฉลองพระองค์จักรพรรดิราชวงศิ์ชิง..ใช้สีฟ้าผสมสีทอง..(ดูจากรูปวาดฮ่องเต้คังซี ยงเจิ้ง ใช้สีฟ้าชนิดนี้สลับสีทองทั้งนั้น)
...จวบจนยุคล่าอาณานิคมเมื่อ 100ปีก่อน..มีการไปยึดครองดินแดนต่างๆ มีการทำระเบิดทำเหมืองแร่..สีฟ้าครามเหล่านี้จึงถูกขึ้นมาสังเคราะห์ได้ง่าย จนปัจจุบันครับ
12 ต.ค. 2562 เวลา 06.29 น.
อิสระ ธนะบรรณ์
มีสีชนิดแบบนี้อยู่ด้วยนะครับเพิ่งรู้ความรู้ใหม่นะครับสีช่างสดใสสวยงามจริงๆเลยครับ
12 ต.ค. 2562 เวลา 05.38 น.
ในบทความนี้ก็คงจะสื่อถึงในเรื่องของความสำคัญของในคุณค่าหรือปล่าว เพราะว่าบางครั้งในสิ่งที่มีคุณค่าต่อจิตใจของคนเรานั้น ก็ย่อมที่จะต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูงอยู่เหมือนกัน.
11 ต.ค. 2562 เวลา 22.23 น.
Tokky
ชอบมากค่ะ ขอบคุณค่ั
12 ต.ค. 2562 เวลา 05.35 น.
Aom ^^
แล้วถ้าเหนือไปอีกล่ะจะมีอะไร? 🧐
12 ต.ค. 2562 เวลา 09.29 น.
ดูทั้งหมด