โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

แกะรอย'รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน' เดินหน้าหรือถอยหลัง

เดลินิวส์

อัพเดต 18 ก.ย 2562 เวลา 08.05 น. • เผยแพร่ 18 ก.ย 2562 เวลา 04.43 น. • Dailynews
แกะรอย'รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน' เดินหน้าหรือถอยหลัง
สัปดาห์นี้ชวนไปแกะรอยโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-โคราช แก้ปัญหาจราจรเส้นอีสานคับคั่ง งานนี้จะเดินหน้าหรือถอยหลัง

ก่อนหน้านี้มีคลิปมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-โคราช ออกมาพร้อมกับบอกว่าเป็นถนนที่สวยที่สุดในประเทศไทยและเตรียมจะใช้เพื่อแก้ปัญหาจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ ขณะที่โครงการคู่ขนานอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-โคราช ที่รัฐบาลพยายามผลักดันแก้ปัญหาการจราจรเส้นทางสายอีสานที่คับคั่ง เฉพาะอย่างยิ่งช่วงเทศกาล ต้องใช้เวลาเดินทางเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3 เท่า กำลังจะเข้าตำรา “ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง” ไปเสียแล้ว เพราะจนป่านนี้ยังไปไม่ถึงไหน

แนวความคิดที่จะสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงนั้นนี้มานาน และเพิ่งจะเอาจริงเอาจังกันในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ยังไม่ได้ทำอะไรก็เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองเสียก่อน กระทั่งในปี 2557 คสช.ทำรัฐประหาร ตั้งรัฐบาลใหม่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ก็ปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมา แต่จะทำแค่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร เงินลงทุนเกือบ2แสนล้านบาท เป็นโครงการนำร่องก่อน โดยปักหมุดเอาเลิกเอาชัยที่ช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก อำเภอปากช่อง นครราชสีมา

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ทั้งโครงการสร้างได้ 3.5 กม. ช่วงสถานีกลางดง-ปางอโศก และกำลังเดินหน้าอีก 11 กม. ส่วนที่เหลือรอผล EIA ที่ทำเพิ่ม และเวนคืนที่ดิน ยังไม่รู้จะคิ๊กออฟได้ในปี 2563 หรือไม่ ในเมื่ออุปสรรคปัญหามีมากกว่าที่คิด อย่างไรก็ตาม “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ก็ยังจะเดินหน้าต่อไป โดยความคืบหน้าล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ปลายเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา เห็นชอบผลการประมูลรถไฟไทย-จีน จำนวน 2 สัญญา วงเงินรวม 20,151 ล้านบาท

แต่รถไฟไทย-จีนยังติดการเจรจากับจีนในสัญญาที่ 2.3 เป็นงานระบบ วงเงิน 50,633 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ จึงทำให้ไม่สามารถเสนอให้ ครม.พิจารณาเพื่อเซ็นสัญญาร่วมกันได้ หากติดตามโครงการนี้อย่างใกล้ชิดจะเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีนมีปัญหา ตั้งแต่แนวคิดตอนเริ่มโครงการใหม่ๆ ที่ฝ่ายจีนต้องการให้ “ขนได้ทั้งคนและสินค้า” ส่วนฝ่ายไทยต้องการขนเฉพาะคน เพราะกังวลว่าหากเป็นตามที่จีนเสนอจะมีผลให้งบฯ ลงทุนบานปลาย

ส่วนจีนอยากให้ขนสินค้าได้ด้วยเพราะมียุทธศาสตร์ที่จะให้สินค้าของจีนสามารถขนออกทะเลโดยผ่านเส้นทางของไทย ต่อมาก็มีปัญหาเรื่อง “เงินลงทุน” ก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้ “หยวน” หรือ“ดอลลาร์” จีนอยากให้ใช้เงินหยวน แต่ไทยอยากใช้ดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้บริหารจัดการความเสี่ยงได้ง่าย และเร็วกว่า เพราะคุ้นเคยมากกว่าหยวน ส่วน “อัตราดอกเบี้ย” ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ฝ่ายไทยต้องการ 2% อ้างว่าต้องใช้ผู้ประกอบการจากจีนทั้งหมดอยู่แล้ว ฝ่ายจีนก็ยืนยันที่ 2.5-2.6 % เรียกว่าเงินทุกเม็ดไม่ยอมให้กระเด็นไปไหน ไทยอยากได้ราคามิตรภาพ แต่จีนกลับสะกดคำนี้ไม่เป็นจนถึงวันนี้ โครงการก็ยังไปไม่ถึงไหนสี่ปีกว่าเพิ่งได้ไม่ถึง 4กิโลเมตรเท่านั้น นึกภาพไม่ออกว่าโครงการระยะแรก กรุงเทพฯ-โคราชจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่

ยิ่งนานวันสถานการณ์ก็ยิ่งเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนและสิ่งแวดล้อมต่างๆ จนถึงวันนั้นไม่รู้ว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงจะเป็นสิ่งล้าสมัยหรือไม่ ตอนนี้เส้นทางกรุงเทพฯ-โคราชก็มีถนนมอเตอร์เวย์ ที่จะใช้ปลายปีนี้ก็เป็นทางเลือกใหม่ ก็น่าจะแบ่งเบาภาระการเดินทางได้พอสมควร หากจะเดินทางไกลก็มีสายการบินโลว์คอสแอร์ไลน์

หากโครงการนี้เกิดได้จริงก็มีปัญหาตามมาว่าจะรอดหรือไม่ ลงทุนเกือบสองแสนล้านไม่รู้ว่าจะต้องวิ่งวันละกี่สิบเที่ยว ต้องมีผู้โดยสารวันละพันคนเป็นอย่างน้อยถึงจะคุ้มทุน ในภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ สินค้าเกษตรราคาตกต่ำต่อเนื่องมาหลายปี ถามว่าจะมีคนในอีสานสักกี่คนที่มีศักยภาพที่จะมาใช้บริการรถฟ้าความเร็วสูง

เคยมีเสียงเรียกร้องมาตลอดว่าในเบื้องต้นเป็นรถไฟรางคู่น่าจะเหมาะกว่าลงทุนต่ำกว่า ใช้ทั้งขนคนและขนของ หากมีความพร้อมค่อยยกระดับความเร็วสูง แต่รัฐบาลทุกรัฐบาลเข้ามาก็จะดันโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงด้วยกันทั้งนั้น ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะไร.

…………………………………………..

คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง

โดย “ทวี มีเงิน" 

ขอบคุณภาพจาก : การรถไฟแห่งประเทศไทย Official , China Xinhua News

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0