โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

5 ข้อของ 'ความเจ็บปวด 'ที่นักจิตบำบัดอยากบอกคุณ - เพจ Beautiful Madness by Mafuang

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 28 ต.ค. 2563 เวลา 04.10 น. • เพจ Beautiful Madness by Mafuang

 

 

 

 

วันนี้เราอยากมาพูดถึงเรื่อง ‘ความเจ็บปวด’

และมุมมองที่เรามีต่อเจ้าก้อนขมุกขมัวบอบช้ำทางอารมณ์

ที่มันเจ็บเข้าไปข้างในจิตใจเหลือเกินนี้

กลั่นออกมาเป็น 5 ข้อ

ที่เราอยากให้ทุกคนลองทำความรู้จักกับมันใหม่

เผื่อสนใจอยากจะลองรับมือกับมันในวิธีที่แตกต่างออกไป

 

 

 

  • ความเจ็บปวดของแต่ละคน หน้าตาไม่เหมือนกัน

 

บางครั้ง คนมากมายที่ผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมาเหมือนกัน

อาจมีวิธีการแสดงออกถึงความเจ็บปวดนั้นต่างกัน

ใครก็ตามที่ไม่ได้เผชิญกับสิ่งนั้นอยู่

เราก็ไม่มีทางรู้ซึ้งถึงก้นบึ้งของหัวใจได้หรอก ว่ามันเจ็บปวดขนาดไหน

คนที่ยิ้มกว้างๆ ให้เราทุกวัน ไม่ได้การันตีว่าเขามีความสุขตลอดเวลา

คนที่กรีดร้องจนแทบขาดใจ ไม่ได้เป็นบทพิสูจน์ว่าคนที่ไม่ได้ร้องไห้นั้น ไม่มีความเจ็บปวดในหัวใจเลย

หากใครก็ตาม ไม่ได้ระบายความเจ็บปวดของเขาออกมาในรูปแบบเดียวกับที่เราเลือก

นั่นไม่ได้หมายความว่า ความเจ็บปวดที่เขาสัมผัสอยู่ มันไม่มีจริง

 

 

  • ทุกคนมีสิทธิเจ็บ

 

ในประเทศอเมริกา ช่วงที่โควิดระบาด เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเหตุการณ์ Black Lives Matter รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อชาวผิวดำ ทุกคนจะพุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องความยุติธรรมต่อคนผิวดำทั้งหลาย ซึ่งแต่ละข่าวก็โหดร้ายจริงๆ เราก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ออกมาเรียกร้อง

แต่อย่างไรก็ตาม คนเอเชี่ยน ขึ้นชื่อว่าเป็นคนที่มักกดความรู้สึกแย่ๆ เอาไว้ และรู้สึกเกรงใจที่จะพูดออกมาให้ใครฟัง ในฐานะเป็นนักจิตบำบัดชาวเอเชี่ยนในอเมริกา เราย้ำกับเพื่อนร่วมงานเสมอว่า อาจมีคนไข้เอเชียนมากมาย ที่กำลังแบกเรื่องราวอันหนักอึ้งในใจไว้อยู่ (เช่นช่วงโควิด มีคนเอเชี่ยนโดนบูลลี่เพราะเป็น ‘คนจีน’ เยอะมาก) แต่ไม่กล้าแสดงออกมาว่าอึดอัดใจแค่ไหน เพราะสถานการณ์โลกมันดูโหดร้ายและยิ่งใหญ่เหลือเกิน

เราไม่จำเป็นต้องเจ็บที่สุดในโลก ถึงจะมีสิทธิร้องขอความช่วยเหลือ

หากเราหกล้มเลือดออก แน่นอนมันเจ็บน้อยกว่าคนที่ต้องผ่าตัดเนื้องอกในสมองอยู่แล้ว

แต่มันก็คือความเจ็บ

เช่นเดียวกัน เราเจ็บปวดเพราะพ่อแม่ไม่เข้าใจ

เพราะทะเลาะกับเพื่อน

เลิกกับแฟน

มีคนที่รักเสียชีวิต

มีอาการซึมเศร้า หรือติดสิ่งเสพย์ติด

‘ทุกความเจ็บ มันคือเรื่องจริง และทุกคนมีสิทธิรู้สึกถึงมันเสมอ’

 

 

 

  • ‘เจ็บดิวะ ทำไมจะไม่เจ็บ’

 

หนึ่งในการค้นพบและข้อตั้งใจที่ตั้งไว้กับตัวเองในปีนี้

คือ ‘เมื่อไหร่ที่รู้สึกเจ็บ ก็ให้รู้สึกไปเลย’

พยายามไม่เบี่ยงเบนความสนใจของเรา ไปที่สิ่งเร้าสิ่งอื่น

กลางปีที่แฟนเรามาบอกเลิก (แต่กลับมาดีกันแล้วนะคะ เย้)

เราเลือกที่จะนั่งอยู่กับความเจ็บให้ลึกไปเลยหนึ่งวันเต็ม

ไม่หนี

ไม่ฟังเพลง ไม่โทรไประบายให้เพื่อนฟัง

ไม่พยายามขู่ตัวเองว่า จะไปเจ็บกับเรื่องอะไรแบบนี้ได้ยังไง

แต่ทุกครั้งเมื่อรู้สึกเจ็บที่ใจเมื่อไหร่

เราก็จะตะโกนบอกกับตัวเองเลยว่า

‘เออ เจ็บดิวะ ทำไมมันจะไม่เจ็บ’

เพราะมันก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ที่จะรู้สึกอย่างนั้น

 

 

 

  • มากกว่าการ ‘ลบมันออกไป’ คือการ ‘ทำความเข้าใจ’

 

วิธีบำบัดที่เราเลือกใช้ต่อคนไข้

สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากไปกว่า ‘การแก้ไข’ หรือการคิดว่าจะเปลี่ยนความเจ็บนี้ให้กลายเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์กว่านี้ได้ยังไง

คือการที่เราร่วมกับคนไข้ ‘ทำความเข้าใจ’ ความเจ็บปมนี้

ว่าจุดเริ่มต้นของมันมาจากไหน

ระยะการเดินทางของมัน ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบแล้วยังไงบ้าง?

จากความเจ็บปวด เราเคยเห็นมันกลายเป็นความแค้น? ความโกรธ? ความอับอาย?

หรือความสิ้นหวังหมดหวังบ้างไหม?

ทำความรู้จักความเจ็บปวดในหัวใจของเราใหม่

เพราะเมื่อเราได้เข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง

เราก็ไม่ต้องหนีแล้ว

‘เมื่อเราเข้าใจกัน เราก็อยู่ร่วมกันได้ แบบไม่ต้องกลัว ขยะแขยง หรือเกลียดกันอีกต่อไป’

 

 

 

  • ทุกความเจ็บปวด ทำให้เราเติบโต

 

มีคนเคยบอกว่า ทุกความรักนั้น สอนอะไรเราเสมอ

แต่จริงๆ แล้ว ‘ความเจ็บปวด’ อาจสอนเราได้ลึกซึ้งมากกว่า

หลายครั้ง เหตุการณ์ที่นำความเจ็บปวดมาให้เรา

จะทำให้เรามองโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ฟังดูมืดหม่น แต่จริงๆ แล้ว

หัวใจแห่งความเข้าใจ ในการร่วมเดินทางไปในความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นของตัวเอง

จะทำให้เราเข้าใจ หัวอกของเพื่อนมนุษย์อื่นที่ต้องเจ็บปวดเหมือนกัน

และเราจะมีตัวตนที่มีมิติมากขึ้น ด้วยสายตาในการมองโลกแบบไม่ตัดสินนี้

 

คนที่กล้าเผชิญความเจ็บปวด ไม่ได้เป็นคนอ่อนแอ
ตรงกันข้าม
นั่นอาจต้องใช้พลังใจและกายทั้งหมดที่มีเพื่อเผชิญหน้ากับมัน
 
กลายเป็นสิ่งที่เข้มแข็งที่สุดเลยล่ะ

ติดตามบทความใหม่จาก เพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 6

  • pinyanun 159
    ขอบคุณบทความดีๆ วัฏสงสารนี้ หนีไม่พ้นความเจ๋บปวดทั้งกายและใจ ใครทำความเข้าใจกับความมันได้จนสามารถอยู่ร่วมกับมันได้ แล้วยังใช้ชีวิตที่ดีๆได้ต่อไป ชีวิตจึงมีความน่าอภิรมย์อยู่บ้าง
    29 ต.ค. 2563 เวลา 23.41 น.
  • เจ็บก็สู้สิครับในเมื่อ..ลมหายใจเป็นของเราคนที่ทำให้เราเจ็บสักวันเชาอาจจะเจ็บมากกว่าเราก็ได้เพราะ..เวรกรรมมีจริงๆนะครับลองได้ขอขอบคุณกับความเจ็บปวดทำให้เรามีทุกวันนี้รถ1คันที่เราได้มาเพราะความเจ็บปวดทำให้เราขยันทำให้เราอดทนขอขอบคุณนะกับความเจ็บปวดตอนนี้เราสบายแลัว..feลูกพ่อฉิมสู้ๆทุกคนนะครับ
    29 ต.ค. 2563 เวลา 23.27 น.
  • ขอบคุณบทความดีๆนะครับ
    30 ต.ค. 2563 เวลา 07.28 น.
  • เห็นคนจับเด็ก ตบเด็ก อยากตบเด็ก มันเจ็บปวดใจมากๆ
    28 ต.ค. 2563 เวลา 11.39 น.
  • 🍀🕊Phakwalan🕊🍀
    ความตายมันจะหยุดทุกๆความเจ็บ. ความทุกข์. ความทรมาณ
    06 พ.ย. 2563 เวลา 15.04 น.
ดูทั้งหมด