โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จับพิรุธ! “แกะกล่องทองหาย” จัดฉาก โยนขี้ “ไปรษณีย์ไทย” จำเลยสังคม!?

Manager Online

อัพเดต 22 ม.ค. 2561 เวลา 12.40 น. • เผยแพร่ 22 ม.ค. 2561 เวลา 12.40 น. • MGR Online

ไม่แตก พัง ก็หาย! ส่งพัสดุผ่านไปรษณีย์ไทยแต่กลับสูญหายอย่างไร้ร่องรอย! คราวนี้เป็น “ทอง” แม่ค้า ทองเชื่อไปรษณีย์ขโมย โชว์หลักฐานให้ลูกค้าจับพิรุธอัดคลิปแกะกล่องเปิดให้เห็นกันจะจะ! ปรากฏ “ทองหาย” สังคมตั้งข้อสงสัย ไม่ปักใจเชื่อ ไปรษณีย์ผิดจริง หรือแม่ค้าจัดฉากไม่ได้ใส่ทองไปในกล่องตั้งแต่แรกกันแน่! ชี้ไม่มีใครกล้าใส่ของมีค่าส่งผ่านไปรษณีย์หรอก!

เปิดพัสดุ ทองหายไปไหน!?

ตัวแทนร้านทองแห่งหนึ่งเผยแพร่คลิปวิดีโอแกะกล่องพัสดุไปรษณีย์ไทยพร้อมระบุข้อความถึงเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีคลิปเปิดกล่อง ย้ำไม่ว่าจะซื้อขายกันบ่อยแค่ไหนก็ต้องถ่ายวิดีโอเป็นหลักฐานไว้ ชี้ไปรษณีย์ไว้ใจไม่ได้ จี้เอาผิด เรียกร้องค่าเสียหาย

“เพราะถ้าไม่มีคลิปเราจะเถียงกันเอง ส่วนคนที่เอาทองไปก็จะไม่ได้รับโทษที่ให้อัดคลิปเนื่องจากการส่งของต้องส่งผ่านคนกลางซึ่งคือไปรษณีย์ และคนดีๆก็มีอยู่มาก คนไม่ดีก็มีแอบแฝงอยู่เช่นกัน เราไม่มีทางรู้ได้ว่าจะโดนดีเมื่อไร

เคสนี้เป็นการส่งให้แม่ค้าที่เป็นคนสั่งทองเอง ซึ่งสั่งกันมาเป็นร้อยๆชิ้นแล้ว แต่ดีที่แม่ค้ารอบคอบอัดวีดีโอไว้ทุกครั้ง และชัดเจนมาก ทำให้สามารถจับพิรุธของไปรษณีย์ได้

1. ร้านไม่เคยใช้กาวแปะกับกระดาษด้านใน

2. ร้านไม่ขย้ำกระดาษที่ห่อซองทองจนเป็นก้อนขนาดนั้น

3. มุมด้านใน มีด้านหนึ่งที่ถูกเจาะเข้าไป ทำให้มุมขาด โดยเลือกเจาะด้านที่เป็นปากถุง ทำให้มองไม่ค่อยเห็นรอยกรีด

หลากหลายความคิดเห็นเป็นไปต่างทิศทางทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยที่มากล่าวหาไปรษณีย์

นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เคยประสบเหตุลักษณะเดียวกันมาร่วมแชร์ประสบการณ์ “ทองหาย” เพราะร้านค้าส่งกล่องเปล่ามาให้ และจับพิรุธคนเปิดกล่องด้วยว่า ทำไมไม่ตกใจเลยสักนิดว่าทองหาย!

“เคยเจอค่ะ ลูกค้าเปิดกล่องมาไม่ได้รับทอง ทองหายไป 1 บาท เราก็ส่งหลักฐานทั้งหมดให้ร้าน แล้วก็ถามหาสลิปชั่งน้ำหนักกับทางร้าน พอดูน้ำหนักหน้ากล่องตรงกับสลิปเป๊ะ พอเอากล่องไปชั่งที่ ปณ.น้ำหนักตรงกับหน้ากล่องอีก คือส่งกล่องเปล่ามา พอเราเอาทอง 1 บาทใส่แล้วชั่วรวมกับกล่อง น้ำหนักเพิ่มขึ้น ให้ทางร้านรับผิดชอบแต่ก็บ่ายเบี่ยงเลยแจ้งความดำเนินคดีอยู่ทุกวันนี้”

ไม่นานนัก ร้านได้ทำการเปลี่ยนสถานะโพสต์คลิปเปิดกล่องเป็นส่วนตัวแล้ว เพราะอยู่ในขั้นตอนสอบสวน ร้องขอความร่วมมือให้คนที่แชร์คลิปลบออก

“ถ้าเรื่องสอบสวนเสร็จจะมาชี้แจงข้อเท็จจริงอีกครั้ง จะได้ลบข้อครหาที่หลายๆคนพูดถึงร้านและลูกค้าที่รับทอง แล้วจะได้รู้กันว่าทองหายได้อย่างไร”

ปณท.ล่าตัว คนฉก!

ล่าสุด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้ส่งหนังสือชี้แจงผ่านผู้จัดการ Live กรณีผู้ใช้บริการร้องเรียนการฝากส่งสิ่งของที่มีมูลค่าสูงแล้วสูญหายในเส้นทางไปรษณีย์ ตามที่มีเผยแพร่ในโลกสังคมออนไลน์ไปแล้วนั้น

ไปรษณีย์ไทย หลังจากทราบเหตุการณ์ดังกล่าวก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการเร่งด่วน โดยในเบื้องต้นได้ทำการติดต่อไปยังผู้ที่โพสต์ข้อความดังกล่าวเพื่อสอบถามข้อมูลสำคัญในการฝากส่งเพิ่มเติม ได้แก่ รหัสพัสดุ 13 หลักบนใบเสร็จรับเงิน รายละเอียดที่ทำการไปรษณีย์ ต้นทาง และปลายทาง ที่อยู่ผู้รับปลายทาง วันที่ฝากส่ง เป็นต้น

ซึ่งเจ้าหน้าที่จะนำไปตรวจสอบขั้นตอนการทำงานในทุกขั้นตอน เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงตามที่ผู้ใช้บริการร้องเรียนต่อไป โดยหากไปรษณีย์ไทยตรวจสอบแล้วพบว่าสิ่งของที่ฝากส่งดังกล่าวสูญหายในเส้นทางไปรษณีย์จริง ไปรษณีย์ไทยยินดีชดใช้ค่าเสียหายตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายและลงโทษทางวินัยกับผู้ที่กระทำผิดต่อไป

อย่างไรก็ตาม ไปรษณีย์ไทย ขอเรียนแจ้งว่า ในการฝากส่งสิ่งของผ่านทางไปรษณีย์ ผู้ใช้บริการสามารถเลือกซื้อประกันเพิ่มเติมตามประเภทของบริการไปรษณีย์ที่ผู้ใช้บริการเลือกฝากส่งสิ่งของได้ในวงเงินไม่เกิน 200,000 บาท

และหากพบว่าผู้รับปลายทางยังไม่ได้รับสิ่งของหรือสงสัยว่าสิ่งของเกิดการสูญหายในเส้นทางไปรษณีย์ ไปรษณีย์ไทยก็มีช่องทางติดตามสิ่งของที่ฝากส่งอย่างใกล้ชิด โดยผู้ใช้บริการสามารถส่งคำร้องหรือขอรับการตรวจสอบกรณีพบสิ่งของที่ฝากส่งมีปัญหาผ่าน 5 ช่องทาง ดังนี้

1) ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางหรือปลายทาง

2) เฟซบุ๊ก “บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด” www.facebook.com/thailandpost.co.th

3) ทวิตเตอร์ “@Thailandpost”

4) อีเมล์ postalcare@thailandpost.co.th และ 5) THP Contact Center 1545

ทั้งนี้ การขอรับการตรวจสอบผ่านช่องทางต่างๆ ข้างต้น ผู้ใช้บริการต้องแจ้งรายละเอียดการฝากส่ง อาทิ รหัสพัสดุ ชื่อ-ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ของผู้รับและผู้ฝากส่ง ประเภทการฝากส่ง เป็นต้น เพื่อให้ขั้นตอนการตรวจสอบเป็นไปอย่างรวดเร็วและสามารถแจ้งผลแก่ผู้ใช้บริการต่อไป

ซื้อประกันเพิ่ม จนท.ไม่กล้าทำหาย!

กรณีของหายหลังจากส่งผ่านไปรษณีย์ไทยนั้นพบเห็นข่าวคราวอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นของมีค่า เช่น เงิน ทอง โทรศัพท์ จะไม่มีใครกล้าส่งพัสดุ แต่ก็ยังไม่เหตุการณ์ของหายเกิดขึ้นอยู่ดีเพราะความ “ไว้ใจ” นั่นเอง

ยิ่งในปัจจุบันนี้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของออนไลน์ยิ่งมีมากขึ้น การส่งพัสดุก็มากขึ้นด้วย ส่วนใหญ่ก็ต้องใช้บริการไปรษณีย์ไทยกันทั้งนั้น แต่จะมีการรับมือกับของหายอย่างไร พนักงานไปรษณีย์จะมาแนะนำให้ฟัง เพราะแม้แต่พนักงานฯเองยังลุ้นทุกครั้งที่ส่งของเองเลย

“แน่นอนคนที่เคยส่งพัสดุคงเคยได้ยิน พนักงานไปรษณีย์ชอบถามว่า “ของข้างในคืออะไร” แต่อย่าเพิ่งมองในแง่ร้าย เราเป็น พนง.รับฝากนะ ขอแชร์ในส่วนของเราบ้าง ตามจริงแล้วที่เขาถามว่าข้างในเป็นอะไร ไม่ได้หมายความว่าเค้าอยากจะได้ของคุณนะคะ

เพียงแต่เขาจะได้แนะนำบริการที่สอดคล้องกับมูลค่าสิ่งของให้คุณต่างหาก อีกกรณี คือของแตก ถ้าเป็นไปได้จะปฏิเสธ ไม่รับเลย นอกจากคุณยืนยันจะส่งเองที่คือรูปแบบที่ต้องพูดต้องถาม คล้าย ๆ กับ เซเว่นๆค่ะ

ในกรณีของหาย ส่วนน้อย(ไม่ได้บอกว่าไม่มีนะคะ) ที่ พนง.รับฝากจะเป็นคนแกะของคุณเพราะของอยู่ในที่เปิดเผย แถมมีกล้องวงจรปิด และมีการรับมอบส่งมอบบ่อยครั้ง

ขอแนะนำ หากของมีมูลค่ามากกว่าสองพัน แนะนำให้รับประกันเพิ่มค่ะ คุณไม่จำเป็นต้องประกันเต็มจำนวน ประกันซัก 3-4 พันก็ได้แค่เจอป้ายรับประกันพวกขนเมล์ก็กลัวหัวหดแล้ว

เพราะถ้ามีปัญหามีคนได้ออกแน่ๆ ส่วนเวลารับของ ถ้ามีเวลา ตรวจสอบผนึกรอบ ๆ ให้เรียบร้อย

เป็นไปได้ชั่งน้ำหนักค่ะ ถ้าน้ำหนักขาดไปจากหน้ากล่อง อย่าเซนต์รับ ของเราส่งเองก็ยังลุ้นเลยค่ะ

นอกจากนี้ เมื่อส่งพัสดุแล้ว ให้เก็บใบเสร็จให้ดี เพื่อเรื่องเกิด - เกิดเรื่อง จะได้ตามที่ต้นเรื่องก่อนเลย

ข้อดีของใบเสร็จ

ในใบเสร็จจะบอกครบว่าส่งที่ไหน วันไหน กี่โมง ส่งถึงใคร น้ำหนักเท่าไหร่ ไปรษณีย์ปลายทางที่ไหน

มีเลขที่สำหรับตรวจสอบ ท้ายบิลยังบอกอีกนะคะ ขอบคุณที่มาใช้บริการ พร้อม www.thailandpost.co.th กับเบอร์ Call Center 1545 ไว้ให้ตรวจสอบสถานะสิ่งของฝากส่ง”

หลายคนตั้งคำถามว่า ทำไมต้องมีการประกันของหาย ทั้งที่ควรเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ ประชาชนฝากความหวังให้ของถึงมือผู้รับกับหน่วยงานรับผิดชอบแต่กลับต้องมาแบกรับภาระเสียเงินตรงนี้เสียเอง!?

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0