การประชุมรัฐมนตรีการค้าขององค์การการค้าโลก หรือ WTO ครั้งที่ 13 หรือที่เรียกว่า MC13 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงอาบูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระหว่างวันที่ 26-29 กุมภาพันธ์ 2567 นับเป็นเวทีใหญ่ที่ทั่วโลกจับตามองอย่างมาก
เพราะเป็นการรวมกลุ่มผู้นำด้านเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก 164 ประเทศทั่วโลก ที่จะนำมาสู่ข้อสรุปในการกำหนดทิศทางการค้าโลก ท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความเปราะบางทางเศรษฐกิจหลังจากการฟื้นตัวจากโควิด รวมถึงการขับเคลื่อนสู่การค้ายั่งยืนในอนาคต
เปิดอาบูดาบีแพ็กเกจ
“นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์” เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยเอกสารอาบูดาบีแพ็กเกจ (Abu Dhabi Package for the Thirteenth WTO Ministerial Conference)
ซึ่งหนึ่งในเอกสารสำคัญของ Abu Dhabi Package นั้นคือปฏิญญารัฐมนตรีอาบูดาบี ซึ่งเป็นเอกสารสรุปท่าทีร่วมกันของสมาชิก WTO ทั้งหมด 164 ประเทศ ต่อการดำเนินงานที่ผ่านมา หลังจากการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 12 และแนวทางต่อการดำเนินงานของ WTO ในอนาคต
สำหรับปฏิญญาอาบูดาบีได้รวมข้อเสนอสำคัญที่ประเทศสมาชิกบางประเทศต้องการผลักดัน เพื่อให้ WTO ดำเนินการในช่วงต่อไป เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ ในโลกการค้าปัจจุบัน ซึ่งเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศสนใจ จะเป็นเรื่องการค้า และสิ่งแวดล้อม/โลกร้อน
เทียบข้อเสนอ 2 กลุ่มประเทศ
หากเทียบข้อเสนอในส่วนของประเทศพัฒนาแล้วพยายามผลักดันให้ WTO เริ่มหารือเกี่ยวกับการค้าและนโยบายอุตสาหกรรม (Trade and Industrial Policy) และการค้าและการมีส่วนร่วม (Trade and Inclusion)
โดยแคนาดาและออสเตรเลีย ยื่นข้อเสนอที่มีพื้นฐานมาจากข้อเสนอของสหภาพยุโรป ที่เคยเผยแพร่ออกมาเมื่อปี 2566 มีเป้าหมายให้สมาชิก WTO หารือกันถึงความท้าทายและเครื่องมือทางนโยบายที่ประเทศสมาชิกใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของตน
รวมทั้งแนวทางในการยกระดับความโปร่งใสในการแจ้งข้อมูลมาตรการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม และแนวทางในการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของ WTO ที่สหภาพยุโรปอ้างว่าจำเป็นต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการอุดหนุนภาคอุตสาหกรรม ที่ประเทศสมาชิกหลายรายนำมาใช้กันอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการผลิตล้นเกินและการบิดเบือนทางการค้าไปยังประเทศสมาชิกอื่น ส่วนออสเตรเลียเสนอให้ WTO หารือในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการมีส่วนร่วม
ส่วนประเทศกำลังพัฒนา ที่สำคัญ คือ ข้อเสนอกลุ่มแอฟริกา 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือความพยายามผลักดันให้สมาชิกหารือถึงพื้นที่เชิงนโยบาย สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจที่กลุ่มแอฟริกาอ้างว่ากฎระเบียบของ WTO ห้ามหรือไม่ให้ความยืดหยุ่นต่อประเทศกำลังพัฒนาในการใช้มาตรการทางการค้าเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม
อาทิ การห้ามใช้มาตรการอุดหนุนการส่งออก และมาตรการข้อบังคับใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ สำหรับนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่ประเทศพัฒนาแล้วเคยใช้จนประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมของตนในอดีต
นอกจากนี้ กลุ่มแอฟริกายังพยายามผลักดันให้มีการหารือเกี่ยวกับการค้าและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อหาทางส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มากขึ้น และการหารือการค้าและหนี้ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหนี้ ทำให้ไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการลงทุนในอุตสาหกรรม หรือจัดซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น
ประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่อย่างอินเดียพยายามผลักดันให้ WTO ใน 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) การค้าบริการระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และการจัดทำรายชื่อผู้ประกอบวิชาชีพทางสุขภาพ (Health Professionals) (
2) ต้นทุนการโอนเงินระหว่าง (Cost of Remittances) และ (3) ความตกลง TRIPS และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CBD) โดยมีประเทศกำลังพัฒนามากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มละตินอเมริกาให้การสนับสนุน
เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนามีกำลังแรงงานภาคบริการจำนวมาก รวมทั้งมีการส่งเงินจำนวนมากกลับประเทศมาตุภูมิ และยังมีความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถถูกนำมาต่อยอดได้มากมาย ซึ่งไม่ควรจะถูกนำไปหาประโยชน์โดยนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ยังมี ข้อเสนอการเกษตรยั่งยืนของบราซิลที่ให้ประเทศสมาชิกหารือแนวทางการยกระดับการผลิต ผลิตภาพ และการค้าสินค้าเกษตร และอาหารที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น
ไทยผนึกเคร์นส์ ลุยปฏิรูปเกษตร
พร้อมกันนี้ ในช่วงการประชุม MC13 ไทยได้ร่วมรับรองแถลงการณ์รัฐมนตรีกลุ่มเคร์นส์ ครั้งที่ 43 เพื่อประกาศเจตนารมณ์สมาชิกที่จะผลักดันการเจรจาปฏิรูปเกษตร ให้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม หลังจากที่สมาชิกมีมติที่สำคัญให้ยกเลิกการอุดหนุนส่งออกสินค้าเกษตรเมื่อปี 2558 รวมทั้งตระหนักถึงสถานการณ์และความขัดแย้งที่อาจกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกและการใช้มาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นข้อจำกัดทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
โดยเรียกร้องให้สมาชิกกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรใน 3 ประเด็นหลักภายใต้ WTO ได้แก่ การเปิดตลาดที่จะมีการลดภาษีระหว่างประเทศสมาชิกอย่างค่อยเป็นค่อยไป การลดการอุดหนุนที่บิดเบือนการค้าให้แก่สินค้าเกษตร และการให้สมาชิกปฏิบัติตามมติที่ให้ยกเลิกการอุดหนุนส่งออก รวมทั้งขับเคลื่อนการใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรอย่างโปร่งใสเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของนานาประเทศได้
สำหรับกลุ่มเคร์นส์เป็นกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรของโลก มีสมาชิก 20 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ชิลี โคลอมเบีย คอสตาริกา กัวเตมาลา อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปารากวัย เปรู ฟิลิปปินส์ แอฟริกาใต้ ไทย อุรุกวัย และเวียดนาม และในปี 2566 กลุ่มเคร์นส์มีการส่งออกสินค้าเกษตรรวม 587,627 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 27 ของการส่งออกสินค้าเกษตรโลก
“ไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกับสมาชิกกลุ่มเครนส์ขับเคลื่อนการเจรจา เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าสินค้าเกษตรในระยะสั้นและระยะยาว ควบคู่การแก้ไขวิกฤตทางอาหาร และตอบรับการดำเนินการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะใช้โอกาสสำคัญในการเป็นรองประธานของกลุ่มเคร์นส์ในช่วงวาระ 1 ปี แสดงบทบาทของไทยในการขับเคลื่อนเป้าหมาย”
“ทูต WTO” คิกออฟ 2 วาระสำคัญ
ก่อนที่การประชุม MC13 จะเริ่มขึ้น นางพิมพ์ชนกลงนามข้อตกลงยุติกรณีพิพาทน้ำตาลใน WTO ร่วมกับ นายกีเยร์เม เด อากีอาร์ ปาตริโอตา เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรบราซิล วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 ยุติข้อพิพาทที่ยืดเยื้อมา 8 ปี นับจากบราซิลฟ้องร้องไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 3 ของโลกว่า ระบบอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยขัดต่อกฎเกณฑ์การอุดหนุนของ WTO
โดยได้ยื่นคำขอหารือกับไทยภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO เมื่อปี 2559 ฝ่ายไทยได้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 เป็นต้นมา
“WTO มีกฎเกณฑ์ด้านการค้าระหว่างประเทศที่สมาชิก WTO จะต้องปฏิบัติตามเพื่อป้องกันการแข่งขันในตลาดที่ไม่เป็นธรรม โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากมาตรการของประเทศสมาชิกอื่นสามารถทำการสอบสวน (Investigate) เพื่อขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ หรือยื่นฟ้องต่อศาล WTO
เพื่อให้ยุติมาตรการได้ ไทยและบราซิลหารือร่วมกันเพื่อแก้ไขข้อพิพาทเรื่องนี้จนในที่สุดนำมาซึ่งการลงนามระหว่างสองฝ่ายในข้อตกลงเพื่อยุติคดีน้ำตาลใน WTO เป็นการถาวรได้ในครั้งนี้”
ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 นางพิมพ์ชนกเป็นตัวแทนไทย พบและหารืออย่างไม่เป็นทางการกับนาย Azizbek A. Urunov ผู้แทนพิเศษประธานาธิบดีอุซเบกิสถานและหัวหน้าคณะการเจรจาการเข้าเป็นสมาชิก WTO ทั้งสองฝ่ายร่วมแสดงความยินดีที่สามารถปิดการเจรจาทวิภาคี ภายใต้กระบวนการเข้าเป็นสมาชิก WTO ของอุซเบกิสถานระหว่างสองประเทศได้แล้ว พร้อมหารือแนวทางเพื่อสนับสนุนให้อุซเบกิสถานเข้าเป็นสมาชิก WTO โดยเร็ว
โดยอุซเบกิสถานขอให้ไทยช่วยสนับสนุนในการประชุมคณะทำงานการเจรจาเพื่อเข้าเป็นสมาชิก WTO ของอุซเบกิสถานที่จะจัดขึ้นในเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม 2567
นางพิมพ์ชนกกล่าวขอบคุณที่อุซเบกิสถานยอมรับข้อเรียกร้องการเปิดตลาดล่าสุดของไทย สำหรับสินค้า 2 กลุ่ม คือ พลาสติกและชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อุซเบกิสถานถือเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพ
ไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความสำเร็จในการเจรจานี้จะขยายโอกาสทางการค้าและสามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ในปี 2566 อุซเบกิสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 103 ของไทยในโลก มีการค้าร่วมกัน 106.59 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 0.0186% ของการค้ากับโลก เพิ่มขึ้น 92.81% จากปีก่อน
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ประชุม WTO รอบ 13 ประกาศ “ปฏิญญาอาบูดาบี”
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net