โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

'เขตอนุรักษ์กลางเมืองหลวง' นิวซีแลนด์สร้างธรรมชาติ ให้อยู่ร่วมกับคนได้อย่างไร?

Environman

เผยแพร่ 24 เม.ย. เวลา 12.00 น.

‘เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ากลางเมืองหลวง’ เวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ทำให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไร? ความสำเร็จนี้อาจเป็นแบบอย่างให้กับหลายประเทศที่กำลังสูญเสียความสมดุลของสิ่งแวดล้อม

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 การเติบโตของเมืองและสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นได้เข้ารุกรานและทำลายล้างประชากรนกท้องถิ่นอย่าง kākā ที่มีเสียงร้องเป็นเอกลักษณ์ซึ่งครั้งหนึ่งเคยพบเห็นไปทั่วเมืองหลวงของนิวซีแลนด์ให้หายไปอย่างน่าเศร้า

“มันสูญพันธุ์ไปอย่างสิ้นเชิงจากภูมิภาครอบ ๆ เวลลิงตัน” ดร. Danielle Shanahan ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารระดับสูงของซีแลนเดียบอกกับสำนักข่าว ABC เวลลิงตันก็เป็นอีกเมืองหลวงหนึ่งที่ประสบปัญหาด้านการสูญเสียธรรมชาติไปกับการพัฒนาเมือง ทำให้เสียงของสิ่งแวดล้อมที่เคยสดใสไม่มีอีกต่อไป

ดังนั้นในปี 2000 เมื่อ Jim Lynch นักวาดการ์ตูนกับผู้รักการอนุรักษ์ชาวนิวซีแลนด์ (คนละคนกับ Jim Lynch ที่เป็นนักเขียนชาวอเมริกัน) ประกาศเปิดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากลางเมืองที่ชื่อว่า ‘ซีแลนเดีย’ (Zealandia) เพื่อนำนกและสัตว์ท้องถิ่นกลับมา ผู้คนจึงเกิดความสงสัย

มันเป็นพื้นที่ขนาด 1,406 ไร่ที่ถูกล้อมรอบด้วยรั้วกั้นนักล่าที่เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์สายพันธุ์รุกรานสูง 1.8 เมตร ที่ถูกออกแบบโดยนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรกว่า 22 คน เพื่อสร้างรั้วที่ยอดเยี่ยมและให้ความปลอดภัยกับสัตว์หายากอย่าง kākā, kererū, tūī และ pīwakawaka ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับนิวซีแลนด์มาอย่างช้านาน

“พวกเขาจ้างโกดังขนาดใหญ่ และทดลองสร้างต้นแบบที่มีสัตว์อยู่ข้างหนึ่ง และอีกข้างหนึ่งก็(มีสิ่งเร้าที่)น่าดึงดูดใจมาก” ดร. Shanahan กล่าว “พวกเขาลองแก้ไขแบบต่าง ๆ กว่า 1,000 แบบและกว่า 1,000 ครั้ง”

เมื่อพวกเขาได้รั้วที่มั่นใจแล้ว กลุ่มนักอนุรักษ์ก็ส่งสัตว์ให้เข้าไปอยู่ข้างใน โดยหวังว่ามันจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง หรืออย่างน้อยก็ปลอดภัยจากสัตว์รุกรานเพื่อให้สัตว์มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น

#การเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่ถูกสร้างรอบ ๆ อ่างเก็บน้ำของเมืองที่เลิกใช้งานแล้ว เคยถูกตั้งคำถามมากมายถึงความเหมาะสมของมัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชาวเมืองก็เห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าทึ่ง สัตว์พื้นเมืองใช้ ‘ซีแลนเดีย’ เป็นศูนย์กลางในการเจริญพันธุ์ และพวกมันก็แผ่ขยายออกไปได้อย่างน่าประทับใจ

“สิ่งแรกที่เราสังเกตเห็นว่ามีการกลับมาก็คือ tūī” Jack Fenaughty หนึ่งในชาวเมืองรุ่นเก่ากล่าวกับ The Guardian เขาและ Jill ภรรยาของเขาระบุว่าตอนนี้รอบบ้านของทั้งคู่กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ที่พิเศษที่สุด

พวกเขาสังเกตเห็นนกพื้นเมืองนานาชนิดที่หายากอยู่ในสวนของพวกเขาตลอดทั้งปีเป็นประจำ จนบางครั้งพวกเขาต้องปิดประตูบ้านเพื่อหยุดนกที่อยากรู้อยากเห็นเข้ามาสอดส่องในบ้าน จากการสำรวจคร่าว ๆ ในปี 2023 ระบุว่า จำนวนนกท้องถิ่นในสวนสาธารณะและเขตสงวนของเมืองเพิ่มขึ้นกว่า 41% ในระหว่างปี 2011 ถึง 2022

ที่น่าประทับใจก็คือ kākā เพิ่มขึ้น 260%, kererū 200%, tūī 85% และ pīwakawaka 49% การจัดตั้งซีแลนเดียได้ทำให้เกิดผลกระทบที่วัดได้ และกระตุ้นให้เกิดการฟื้นฟูอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในหมู่นกพื้นเมืองที่หายาก หรือสูญหายไปก่อนในบริเวณนี้

และที่สำคัญที่สุด ครอบครัว Fenaughty ได้ยินเสียงนกกีวี ซึ่งเป็นนกประจำชาตินิวซีแลนด์ ได้กลับสู๋ป่าอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานถึง 100 ปี เวลลิงตัน กลับมาครื้นเครงอีกครั้งด้วยเสียงของสัตว์นานาชาติที่ทำให้ชาวเมืองสุขใจ

“ผมไม่คิดว่าเราจะได้ยินเสียงเหล่านี้ไปอีกแล้วตลอดชีวิตที่นี่” Jack กล่าว “เมื่อคุณได้ยินเสียงกีวีในสวนหลังบ้าน คุณรู้ว่ามันได้ผล” จิลกล่าวเสริมว่า “มันยากที่จะอธิบาย มันวิเศษมาก”

ยังไงก็ตาม นกพื้นเมืองในเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ ยังคงถูกจัดอยู่ในประเภท ‘ตกอยู่ในความเสี่ยง’ แต่จำนวนประชากรมีแนวโน้มฟื้นตัวที่ดีมากจากการศึกษาอย่างเป็นทางการ

#ความร่วมมือคือเคล็ดลับ

การตั้งแค่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะนำนกหลายสายพันธุ์กลับมาสู่เมืองได้ ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งของความสำเร็จนี้คือ การทำงานร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งของชุมชน ที่คอยให้ความปลอดภัยและรักษาโครงการนี้มาโดยตลอด

Dan Henry ผู้ประสานงานขององค์กร Predator Free Miramar ระบุว่าอาสาสมัครสามารถช่วยกำจัดหนูที่เป็นภัยคุกคามต่อไข่ ลูกอ่อน และสัตว์พื้นเมืองได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี อีกทั้งยังมีกลุ่มดักสัตว์และกำจัดวัชพืชในชุมชนกว่า 50 กลุ่มที่ช่วยกันดูแล พร้อมกับทำงานร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่

“เห็นได้ชัดเจนเป็นพิเศษในช่วงล็อกดาวน์ ผู้คนออกไปเดินเล่น นกก็ออกมาเล่น และผู้คนก็ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น” Henry บอก “ผมคิดว่าเมื่อผู้คนได้เห็นสิ่งนั้นแล้วก็จะรู้สึกว่า ‘ให้ตายสิ ดูสิ่งที่อยู่รอบตัวเรานี่สิ มันน่าทึ่งมาก’ และเพิ่มความพยายามขึ้นเป็น 2 เท่าในการรักษามัน”

โครงการธรรมชาติที่อยู้ใกล้ตัวเมืองอย่างเหมาะสม ช่วยให้ผู้คนรู้สึกใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อม ทำให้พวกเขาผูกพัน และมีความต้องการที่จะปกป้องไม่ให้มันหายไปไหน Jo Ledington ผู้จัดการฝ่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูของซีแลนเดีย เสริมว่า ระบบนิเวศที่ดีเหล่านี้ไม่ได้มีแค่เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของชาวเมืองด้วย

และบางทีอาจนำไปปรับใช้กับเมืองอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องมีพร้อมทั้งพื้นที่ ทรัพยากร บุคคล ความรู้ และที่สำคัญความตระหนักกับความมุ่งมั่นของชาวเมือง แต่สำหรับชาวเวลลิงตันแล้ว พวกเขากำลังเฝ้าดูธรรมชาติกลางเมืองด้วยความอิ่มเอมใจ และไม่ต้องการให้ใครพรากสิ่งนั้นไปจากพวกเขา

“ผู้คนไม่อยาสูญเสียมันอีกต่อไป” ดร. Shanahan แม้นกเหล่านี้จะซุกซน อยากรู้อยากเห็น พร้อมกับสร้างเสียงดังตามขอบระเบียงและราวตากผ้า แต่ “พวกเขาก็ทำให้คุณยิ้มได้” Dinah Okeby และสามีของเธอ Alec McLean ผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตั้งแต่เมื่อ 25 ปีที่แล้ว กล่าว

ที่มา

https://www.abc.net.au/…/zealandia-urban…/101163058

https://www.theguardian.com/…/penguins-in-the-pond…

https://wellington.govt.nz/…/2019/09/bird-numbers-growing

https://wellington.govt.nz/…/joint-efforts-see-native…

https://www.rnz.co.nz/…/future-of-capital-s-native…

https://www.nzherald.co.nz/…/7VW5PRPD5DRWJ7TULKWARFZ6XA/

Photo : John Nelson/flickr

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0