โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ปี 2567 เด็กไทยสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" 18.6% พบป่วยปอดอักเสบเพิ่ม 100 คน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 ก.พ. เวลา 07.37 น. • เผยแพร่ 17 ก.พ. เวลา 06.48 น.
Electric Cigarette บุหรี่ไฟฟ้า
ภาพประกอบสร้างจาก AI

เปิดข้อมูลปี 2567 เด็กไทยติด “บุหรี่ไฟฟ้า” พุ่ง 18.6% ปอดอักเสบ 100 คน สสส.จับมือภาคีรณรงค์ลด ละ เลิก

เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เยาวชนไทยกำลังถูกคุกคามจากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นภัยทำลายสุขภาพ ทำร้ายคนรอบข้าง

จากผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทย จำนวน 40,164 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 1-27 พ.ค. 2567 โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) พบกลุ่มเด็ก เยาวชน สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 18.6

โดยมีความเข้าใจผิดคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าสามารถช่วยเลิกบุหรี่มวนได้ร้อยละ 61.23 เข้าใจว่านิโคตินส่งผลดีต่อร่างกาย ร้อยละ 51.19 มีความเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน ร้อยละ 50.2 เข้าใจว่าน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีส่วนผสมของนิโคติน ร้อยละ 26.28 เข้าใจว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย ร้อยละ 23.28

นางญาณีกล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากมีสารนิโคติน โลหะหนัก และสารก่อมะเร็ง สารเคมีหลายชนิดในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เสพติดได้ง่ายและเลิกสูบได้ยาก ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพัฒนาการสมองเด็ก

ในปี 2567 สธ.รายงานว่า พบผู้ป่วยเยาวชนที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกว่า 100 ราย เยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีความเสี่ยงสูงที่จะติดนิโคตินและมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดอื่นในอนาคต

จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส.จึงสานพลังภาคีเครือข่าย เดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง ครู และผู้แวดล้อมเด็ก ด้วยการรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านการพัฒนานักสื่อสารสุขภาวะ ที่มีทักษะเท่าทันสื่อ ร่วมเป็นพลังในการสื่อสารและสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะดี ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจรับชมผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งหมด สามารถติดตามได้ที่ www.artculture4health.com

นายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า โครงการ Design Hero 2024 ได้นำพลังของเด็กและเยาวชนมาสร้างสรรค์สื่อเพื่อรณรงค์เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้าในสังคม ผลงานเยาวชนทั้ง 15 ทีม จากเยาวชนที่ให้ความสนใจและส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 472 ทีมทั่วประเทศ

ได้รับการบ่มเพาะโดยวิทยากรมืออาชีพจากแบรนด์ต่าง ๆ เช่น Q DESIGN & PLAY ศิลปินด้านกราฟิกดีไซน์และผลิตเสื้อยืด, WISHULADA ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากวัสดุเหลือใช้, TOYLAXY ผู้ผลิตอาร์ตทอยเบอร์ 1 ของไทย และอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังคือ คุณสมชาติ ศรีมารัตน์ จากช่องบิ๊กกี้ แครี่ จนนำมาสู่การเป็นพัฒนาเป็นผลงานต้นแบบสื่อรณรงค์ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ทีมมีความเข้มแข็ง และมีความพร้อมในการทำงานรณรงค์อย่างต่อเนื่อง

“สำหรับผลงานต้นแบบสื่อสร้างสรรค์ที่ได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และรางวัลพิเศษสาขา The Best of Art Toy Design, The Best of T-Shirt Design, The Best of Video Content และ The Best of Art Project จะถูกนำไปใช้นำร่องขยายผลในโรงเรียนสังกัด กทม. และโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ทั่วประเทศ เพื่อสื่อสารรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนเห็นถึงโทษที่เกิดขึ้นจากบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป” นายดนัยกล่าว

นายชญานิน อ่อนมา ผู้ก่อตั้งแบรนด์ TOYLAXY กล่าวว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าผลิตออกมาในรูปแบบของอาร์ตทอย ถูกพัฒนาให้ใช้ง่าย มีกลิ่นที่ดึงดูดใจ หากเยาวชนรู้ไม่เท่าทันถึงภัยอันตรายที่แฝงมาก็จะตกเป็นเหยื่อสุขภาพเสียและอนาคตพัง

ในฐานะเจ้าของธุรกิจอาร์ตทอยที่กำลังเป็นกระแสนิยม และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ จึงได้หยิบนำเอาแนวคิดการผลิตอาร์ตทอยที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ และสื่อสารออกมาเป็นภาพได้ มาผสานเข้ากับโจทย์ของเยาวชน เพื่อใช้ในการสื่อสารสร้างความตระหนักรู้ของบุหรี่ไฟฟ้า มุ่งนำเสนอให้เห็นถึงผลเสียที่ไม่ใช่เพียงแค่กับตัวเอง แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนรอบข้างอีกด้วย

นายพีรกานต์ อุทัยเลิศ นักศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุม ทีมชนะเลิศ ได้รับรางวัลพระราชทาน กล่าวว่า ทีม JT ผลิตสื่อรณรงค์ “ลด ละ เลิก บุหรี่ไฟฟ้า” ในรูปแบบคลิปวิดีโอ จัดทำเป็นเอ็มวีเพลงแรป โดยใช้ชื่อว่า “ศิลปินปลอดควัน” เนื้อหาของเพลงมุ่งสื่อสารกับกลุ่มเพื่อนวัยรุ่น รวมถึงน้อง ๆ เด็กและเยาวชนทุกคน ให้ตระหนักถึงภัยอันตรายและผลกระทบจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงรณรงค์ให้คนทุกคนไม่เข้าไปยุ่งและชวนเลิกใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสุขภาพของตัวเราเองและคนที่เรารัก สามารถติดตามผลงานเพลงแบบเต็ม ๆ ได้ที่ช่องยูทูบ “แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรม สร้างเสริมสุขภาพ”

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ปี 2567 เด็กไทยสูบ “บุหรี่ไฟฟ้า” 18.6% พบป่วยปอดอักเสบเพิ่ม 100 คน

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net