โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ดร.อมรเทพ ชี้ “ซื้อหนี้” เป็นเหรียญ 2 ด้าน ช่วยแบงก์ปล่อยกู้ แต่ต้องระวัง moral hazard

การเงินธนาคาร

อัพเดต 23 มี.ค. เวลา 10.48 น. • เผยแพร่ 23 มี.ค. เวลา 03.48 น.
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดร. อมรเทพ มอง แนวคิด ซื้อหนี้ เป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ช่วยลดภาระให้แบงก์มีสภาพคล่องปล่อยสินเชื่อได้ แต่ต้องระวัง moral hazard ชี้ปัญหาแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อไม่ได้มาจากหนี้เสียสูงเท่านั้นแต่มาจากลูกหนี้เครดิตไม่ดี แนะควรสร้างรายได้ให้เติบโตอย่างทั่วถึง-ใช้กลไกค้ำประกัน เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตให้ลูกหนี้

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง แนวคิดการซื้อหนี้เสียออกจากระบบของกระทรวงการคลัง ว่า การซื้อหนี้เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน ด้านแรกคืออาจเข้ามาช่วยให้สินเชื่อในระบบขยายตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันสินสินเชื่อของสถาบันการเงินไม่มีการขยายตัวทั้งรายใหญ่ รายย่อย รถยนต์ ซึ่งมาจากการที่สถาบันการเงินอาจมีความกังวลเรื่องหนี้เสียและหนี้ที่ผิดนัดชำระ 30-90 วัน ที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากจะมีการซื้อหนี้เพื่อลดภาระให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องมากขึ้นเพื่อไปปล่อยสินเชื่อ การซื้อหนี้ก็เป็นแนวคิดที่ดีในการสนับสนุนสินเชื่อให้เติบโต

ขณะที่อีกด้านยังต้องระวังผลที่ตามมาจากการซื้อหนี้ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เนื่องจากหนี้เสียไม่ได้พุ่งขึ้นสูง โดยปัจจุบันอยู่ในระดับ 3% ของสินเชื่อรวม ดังนั้นปัญหาที่สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อไม่ได้มาจากหนี้เสียอยู่ในระดับสูงเท่านั้นแต่ยังมาจากความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้

“ปัญหาในระยะยาวคือต้องระวังเรื่อง moral hazard คนจะรู้สึกว่ามีหนี้แล้วไม่ต้องใช้ ซึ่งเราไม่อยากเห็นภาพนี้ เราอยากเห็นการเติบโตอย่างยั่งยืนในระบบเศรษฐกิจการเงินไทย ตอนนี้ความเสี่ยงคือเครดิตของลูกหนี้ที่จะมีรายได้โตไม่ทันรายจ่าย มีภาระหนี้ค่อนข้างมาก ทำให้มีปัญหาการชำระหนี้ จึงเกิดการปฏิเสธสินเชื่อที่ค่อนข้างสูง ทำให้เงินไม่หมุนในระบบ”

ดร. อมรเทพ เปิดเผยว่า หากต้องการแก้ปัญหาให้ตรงจุดนอกจากการซื้อหนี้เพื่ออัดฉีดเงินให้สถาบันการเงิน อยากเห็นการลดความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ โดยการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยเฉพาะในประชาชนระดับฐานราก รวมถึงอาจใช้กลไกการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยแบ่งเบาปัญหาหนี้เสียด้วย

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดร. อมรเทพ เปิดเผยว่า ในปี 2568 รัฐบาลมีงบประมาณในการใช้จ่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ดังนั้นปัญหาของการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องงบประมาณ แต่คือวีธีการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่า

“สิ่งสำคัญคือเมื่อใช้จ่ายงบปประมาณไปแล้วกระตุ้นเศรษฐกิจได้คุ้มค่าแค่ไหน คือใส่เงินไปแล้วการบริโภคต้องเร่งแรง กระจายตัว หมุนหลายรอบ แต่ที่ผ่านมาเราเห็นว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตค่อนข้างช้าโดยเฉพาะในระดับล่าง ใส่เงินแล้วเงินอาจจะยังไม่ค่อยหมุน ดังนั้นการใช้จ่ายภาครัฐในระยะต่อไปอยากเห็นมาตรการในการสร้างความเชื่อมั่น ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และการดึงดูดการลงทุน ถ้าในฝั่งการบริโภคก็อยากเห็นการกระตุ้นการจ้างงานเพื่อให้แรงงานอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้”

อ่านข่าว เศรษฐกิจทั่วไทย ทั้งหมด ได้ที่นี่