“อยากให้ทุกคนได้เห็นถึงความสวยงามของท้องทะเลไทย และภูมิใจที่ได้ทั้งเที่ยวและดูแลทรัพยากรไปด้วยกัน”
นั่นคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ ต่อพงษ์ วงเสถียรชัย หรือ สตางค์ ได้ผันตัวจากนักท่องเที่ยวผู้ชื่นชอบในท้องทะเลและธรรมชาติ มาเป็นนักธุรกิจผู้ก่อตั้ง Love Andaman (เลิฟอันดามัน) ขึ้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งเป็นธุรกิจเรือท่องเที่ยวในฝั่งทะเลอันดามันที่แตกต่างกว่าใครในเวลานั้น เพราะชูความเป็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่การสร้างความสุขให้กับนักท่องเที่ยว
ปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านไปหลายปี แต่ Love Andaman ก็ยังคงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวนึกถึง คุณสตางค์ทำได้อย่างไร? ให้บทความนี้เป็นคำตอบ
ความรักทะเลที่ก่อตัวเป็นธุรกิจ
ผู้ก่อตั้ง Love Andaman เริ่มเปิดบทสนทนากับเราว่า เขาเป็นคนที่ชอบเที่ยวทะเลมาก ชอบดำน้ำ ชอบถ่ายภาพ เริ่มแบกเป้เที่ยวเองตามเกาะต่างๆ ตั้งแต่อายุ 10 กว่าปี แต่วันหนึ่งเมื่อโตขึ้นและมองย้อนกลับไปเห็นทะเลมันเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งแนวปะการัง ทั้งความสวย ความบริสุทธิ์ ของมันค่อยๆ หายไป เขาเลยคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ให้คนที่มาเที่ยวทะเลเกิดความรักและหวงแหนธรรมชาติ เพื่อดูแลทรัพยากรตรงนี้ไว้ให้ได้นานที่สุด นั่นจึงเลยเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจ Love Andaman
ซึ่งความคิดดังกล่าวของเขาก็คือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบันนี้ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปถึงช่วงแรกของที่เพิ่งก่อตั้ง Love Andaman การเปลี่ยนให้นักท่องเที่ยวที่อาจรักการเสาะหาความสนุกเพียงอย่างเดียว ให้หันมารักษ์ธรรมชาติมากขึ้น เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะเท่ากับต้องเปลี่ยนทั้งความคิดและพฤติกรรมเดิมของคน แต่สตางค์ ต่อพงษ์ ก็ได้พยายามทำให้มันเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วันนั้น
“สมัยก่อนคนยังไม่มีความเข้าใจในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเล ผู้ประกอบการหลายคนในตอนนั้นยังคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ผมยืนยันที่จะเริ่มต้นทำตั้งแต่ตอนนั้น ก็ไปจับมือกับองค์กรสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพื่อให้ความรู้ บอกถึงผลกระทบต่อธรรมชาติ และรณรงค์เรื่องต่างๆ กับนักท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่นเรื่องง่ายๆ อย่างการไม่ให้อาหารปลา การไม่จับปะการัง การใช้เรือที่มีเครื่องยนต์ 4 จังหวะ เพื่อลดการทิ้งคราบน้ำมัน การไม่เดินเล่นนอกเส้นทาง การไม่เก็บสิ่งต่างๆ บนหาดกลับบ้าน โดยเน้นไปที่คนไทยมากกว่าต่างชาติ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าคนไทยผู้เป็นเจ้าของทรัพยากร เจ้าของบ้าน ไม่เริ่มต้นก่อน สิ่งเหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ได้รู้สึกสนุกอย่างเดียว แต่ยังภูมิใจและอยากดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย พอเราทำไปเรื่อยๆ ก็เลยเกิดเป็นกระแสว่าถ้าจะเที่ยวทะเลก็ต้องมากับ Love Andaman”
สร้างภาพจำใหม่ให้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
สำหรับการดำเนินงานเพื่อตอบสนองแนวคิดหลักของธุรกิจ คุณสตางค์กล่าวว่าคือการสร้างความเชื่อใหม่ สร้างภาพจำใหม่ให้นักท่องเที่ยว กล้าที่จะเที่ยวเชิงอนุรักษ์มากขึ้น เพราะเมื่อพูดถึงเหตุผลว่าทำไมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเลถึงไม่เป็นที่นิยมในอดีต ก็มากจากการที่ภาพจำของใครหลายคนที่คิดว่าต้องกิน อยู่ เที่ยว อย่างลำบาก แต่จากประสบการณ์เกือบทั้งชีวิตของเขาเองบอกว่า“การเที่ยวแบบอนุรักษ์ ไม่จำเป็นต้องกินอยู่ไม่ดี เรากินดีได้ ทำกิจกรรมดีได้ แค่ต้องเก็บกลับมาให้หมด”
ดังนั้นการตลอดเวลาที่ผ่านมา Love Andaman จึงให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ทำให้ทุกคนได้มีส่วนช่วยดูแลธรรมชาติอย่างเต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ผ่อนคลายจากกิจกรรมที่ชื่นชอบ กินดี อยู่ดี และมีความสุขมากที่สุดด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นช่วยสร้างภาพจำใหม่ให้นักท่องเที่ยว และสร้างความแตกต่างจากผู้ให้บริการเรือท่องเที่ยวรายอื่นได้เป็นอย่างดี
บทบาทผู้บุกเบิกเส้นทางใหม่
นอกจากนั้น สิ่งที่คุณสตางค์ได้ทำเพื่อเสริมสร้างความแตกต่างทางธุรกิจ และสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว คือการบุกเบิกเส้นทางใหม่ ทั้งทะเลอันดามันฝั่งไทย และฝั่งประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘พม่า’ ด้วย
“เราเคยมีความฝันตั้งแต่เด็กว่าอยากไปล่องเรือทางฝั่งพม่าอยู่แล้ว จนวันหนึ่งเกิดวิกฤตเกาะตาชัย จังหวัดพังงาถูกปิด ประกอบกับทางพม่าจะเปิดประเทศพอดี ผมก็มีโอกาสได้ไปเจอรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวฯ ของเขา ก็ไปเล่าให้ท่านฟัง และเชิญท่านบินมาดูว่าจะสามารถหารายได้จากการท่องเที่ยวทางทะเลยังไงได้บ้าง ซึ่งนั่นเป็นโอกาสให้เราเป็นธุรกิจไทยเจ้าแรกๆ ที่เข้าไปเปิดเกาะฝั่งพม่าทางฝั่งจังหวัดระนอง ส่วนการสำรวจเส้นทางใหม่ของเรา เราก็จะไปอยู่กันเป็นเดือน ไปว่ายน้ำดูทีละเกาะ เพื่อมองหาสถานที่ที่สวย น้ำใส”
ผู้ก่อตั้ง Love Andaman เล่าเพิ่มเติมว่าการเปิดเส้นทางในครั้งนั้น ได้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เมืองเล็กๆ อย่างระนอง มีเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาเพียง 5 ปี และนักท่องเที่ยวก็จดจำว่า Love Andaman เป็นผู้บุกเบิกเส้นทางใหม่เสมอมา โดยแต่ละปีนักท่องเที่ยว ก็จะมาถามว่าปีนี้จะเปิดเกาะไหนบ้าง หรือมีเส้นทางไหนน่าสนใจบ้าง
สร้างจุดขายด้วยกล้องถ่ายรูป
ด้วยความที่คุณสตางค์เป็นคนที่หลงใหลทั้งทะเลและการถ่ายรูป เวลาไปไหนก็จะพกกล้องไปด้วยทุกครั้ง ตัวเขาก็ได้หยิบยกเอาเรื่องนี้มาต่อยอดสู่การสร้างจุดขายให้ธุรกิจ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นอย่างไร ดีอย่างไร เกาะและชายหาดต่างๆ ฝั่งทะเลอันดามันงดงามขนาดไหน และ Love Andaman ช่วยเติมเต็มความสุขให้นักท่องเที่ยวได้อย่างไรบ้าง การพูดเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ คุณสตางค์เลยเลือกใช้การถ่ายทอดประสบการณ์อันน่าจดจำนั้นผ่านรูปถ่ายและวิดีโอของตัวเอง และส่งต่อความถนัดนี้ไปยังคนในทีม
“ผมเป็นคนชอบถ่ายรูป เวลาไปลงพื้นที่เกาะต่างๆ ก็จะรู้สึกว่าได้ไปเที่ยวมากกว่าไปทำงาน ซึ่งน้องๆ ในทีมก็ได้ซึมซับ DNA นี้ไปด้วย ไกด์ของเราจะถูกขนานนามว่าบริการเก่ง ดูแลดี และเป็นสุดยอดนักครีเอทท่าถ่ายรูป ถ่ายรูปสวย ทำให้นักท่องเที่ยวสนุก พอภาพสวย คอนเทนต์ดี คนก็จะแชร์ต่อกันไปในโซเชียลมีเดีย อินฟลูเอนเซอร์ และบล็อกเกอร์ก็เริ่มเข้ามา และพอคนเห็นคอนเทนต์ของเราผ่านโซเชียลมีเดียบ่อยๆ เข้า เขาก็จะรู้สึกว่ายังไงก็ต้องมาเที่ยวกับเราให้ได้”
ทำการตลาดออนไลน์ด้วย LINE OA
“เรามีโซเชียลมีเดียหลายช่องทาง แต่ที่ใช้เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารโดยตรงกับลูกค้าเป็นหลักคือ LINE Official Account เพราะคนไทยใช้ LINE กันมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และสามารถสื่อสารกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว”
คุณสตางค์เน้นย้ำว่าแพลตฟอร์มนี้สำคัญมาก เนื่องจากเป็นช่องทางสำคัญที่ใช้ติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ทั้งการขายสินค้า บริการ และการรับฟังฟีดแบ็ค เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงเป็นตัวช่วยที่ทำให้ให้รอดพ้นวิกฤตโควิด เพราะยังสามารถติดต่อกับนักท่องเที่ยวชาวไทยให้กลับมาเที่ยวได้ในช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มี ผ่านฟังก์ชั่นต่างๆ ได้แก่
Broadcast สำหรับแจ้งข้อมูลข่าวสารแพ็คเกจทัวร์ต่าง ๆ การเปิดเส้นทางใหม่ รวมถึงโฆษณา โปรโมชั่นพิเศษ ลดราคา ทัวร์ไฟไหม้ ฯลฯ
Rich Message เป็นการส่งข้อความบรอดแคสต์ด้วยรูปภาพขนาดใหญ่กว่าปกติ เราจะใช้กับการแจ้งข้อมูลที่อยากให้คนเห็นแล้วสนใจมากขึ้น
Card message การส่งรูปภาพพร้อมกันหลายรูปในครั้งเดียว เพื่อให้ลูกค้าเลื่อนขวาดูข้อมูลโปรโมชั่นทัวร์ โรงแรมที่พักต่างๆ และคลิกเข้าไปจองได้เลย เหมือนเป็นแคตตาล็อกออนไลน์ ซึ่งสะดวกมาก ทำให้ชอปปิ้งผ่าน LINE ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม
LINE shopping พื้นที่ชอปปิ้งออนไลน์ที่ใช้งานได้เหมือนเว็บไซต์ แต่สะดวกสบายมากกว่า สามารถกดซื้อและจ่ายเงินได้เลย แล้วที่ดีมากๆ คือเก็บโค้ดเก็บคูปองได้ เช่น ชอป 1,500 บาท ลดได้ 150 บาท ผมมองว่ามันเป็นเครื่องมือที่ใช้ประโยชน์ได้ดี
และสุดท้ายคือ LINE Voom ช่องทางการแชร์คอนเทนต์ที่แยกจากช่องแชทปกติ แชร์ได้ทั้งรูปภาพ คลิปวิดีโอ และข้อความ ซึ่ง LINE Official Account ของ Love Andaman จะเน้นแชร์คลิปสั้นๆ ให้ลูกค้าได้เห็นบรรยากาศการท่องเที่ยว ข้อดีคือคอนเทนต์จะยังอยู่แบบนั้น กลุ่มลูกค้าใหม่ที่เขาแวะเข้ามาก็มองเห็นได้ และลูกค้าประจำกลับมาดูได้อีก รวมถึง ช่วยให้ลูกค้าไม่รำคาญ ลดอัตราการถูกบล็อก เพราะไม่ไปรบกวนช่องแชท และการแจ้งเตือน
จับมือคนท้องถิ่นสร้างรายได้ช่วงวิกฤต
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Love Andaman จะมีฐานลูกค้าเดิมใน LINE นับแสนคน ที่สามารถทำให้รอดพ้นวิกฤตได้ แต่เมื่อหันมองไปรอบข้าง พบว่าคนในพื้นที่อ่าวปิเละ (ปิเละลากูน) เกาะพีพี ซึ่งเป็นเกาะหลักที่ช่วยการสร้างรายได้ของบริษัทช่วงโควิด ต้องเจอกับปัญหารายได้ลดลง เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถมาเที่ยวได้ คุณสตางค์และทีมจึงเข้าไปช่วยเหลือ
“เราเกิดความคิดว่าถ้ามาท่องเที่ยว ก็ต้องอุดหนุนชาวบ้าน เพราะว่ามันเป็นช่วงวิกฤตของทุกคน เราเห็นว่าปิเละลากูนเป็นสถานที่ที่สวยมากๆ และมีเรือหางยาวอยู่เยอะมาก เลยมานั่งคุยกับอินฟลูเอนเซอร์และบล็อกเกอร์หลายคนว่าจะนำเรือหางยาวของชาวบ้านมาใช้ในทริปท่องเที่ยว และทำคอนเทนต์นำเสนออกไป ปรากฏว่ามันปังครับ เรือหางยาวกลายเป็นเทรนด์ฮิต นักท่องเที่ยวมานั่งเรือสปีดโบ้ทจากภูเก็ตกับเรา แล้วมาต่อเรือหางยาวเที่ยวปิเละลากูน ให้อารมณ์ท่องเที่ยวย้อนยุค ซึ่งเรือหางยาวทำให้คนอยู่ใกล้ธรรมชาติมากขึ้น เพราะพาไปในมุมที่เรือใหญ่เข้าไม่ได้ และทุกมุมจะมีความเป็นส่วนตัว คนไม่เยอะ ถ่ายรูปได้ ครั้งนั้นเราภูมิใจมากที่ได้ช่วยหลายร้อยครอบครัวที่ตกงานอยู่ ให้รอดไปด้วยกัน”
High Standard Tourism ก้าวต่อไปของ Love Andaman
“ในปีหน้าเราได้มีการเตรียมทำแผนการท่องเที่ยวที่เข้มข้นที่สุด คือ การจัดการการท่องเที่ยวที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ทรัพยากร เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รู้สึกใกล้ชิดธรรมชาติ และเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น แต่ยังคงความสนุกเอาไว้ตามสไตล์ Love Andaman กินดี อยู่ดี ไกด์ดูแลเอาใจใส่ดี และถ่ายรูปสวยเอาไว้”
คุณสตางค์ขยายความว่า ตนได้มีโอกาสคุยกับกับนักวิชาการ และนักอนุรักษ์ระดับประเทศหลายท่านว่า จะนำสิ่งที่เรียกว่า High Standard Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขั้นสูงมาใช้ในการจัดการท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำให้ทะเลไทยสวยและยังอยู่กับรุ่นคนรุ่นต่อไป รวมทั้งเป็นต้นแบบที่สร้างความตระหนักรู้ให้บริษัทอื่นตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนกำลังเตรียมงาน
“ผมคิดว่าบริการที่ดีและใส่ใจของคนทำธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล คือการทำให้คนเที่ยวสนุก ได้ความรู้ และมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมกันดูแลธรรมชาติ”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แนวคิดที่แตกต่างของ Love Andaman ได้เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่ทำให้การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ทะเลอันดามันได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการดำเนินธุรกิจด้วยความตั้งใจที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมมาตลอดหลายปีนั้น ได้ทำให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งเป็นเจ้าของประเทศ เห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ และพร้อมบอกต่อให้ผู้อื่นรักทะเลไปด้วยกัน
ความเห็น 0