โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิกฤตพลังงาน กระทบอุตสาหกรรมยุโรป ขนาดไหน ?

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 30 ต.ค. 2565 เวลา 08.43 น. • เผยแพร่ 31 ต.ค. 2565 เวลา 00.41 น.
วิกฤตพลังงาน

คอลัมน์ : ระดมสมอง ผู้เขียน : ณิศรา วาดี Bnomics : ธนาคารกรุงเทพ

บริษัทอุตสาหกรรมหลายแห่งของยุโรปต้องเผชิญฤดูหนาวอย่างหนัก ด้วยราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน หลังจากที่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน

โดยอุตสาหกรรมของยุโรปมีพนักงานประมาณ 35 ล้านคน หรือประมาณ 15% ของแรงงานทั้งหมด ผลกระทบจากการขาดแคลนพลังงานนี้ อาจสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจยุโรปและแรงงานเหล่านั้นได้

ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในขณะนี้ กำลังเร่งให้ความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมของยุโรปลดลง และหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ เพื่อจำกัดราคาสำหรับบริษัทที่ใช้พลังงานมาก ยุโรปอาจเผชิญกับความเสียหายที่จะไม่สามารถแก้ไขได้

บริษัทอุตสาหกรรมในยุโรปกำลังอดทนอย่างหนัก โดยออกมาตรการประหยัดพลังงานต่าง ๆ และลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ขณะที่บางบริษัทหันไปพึ่งถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อให้ผ่านฤดูหนาวครั้งนี้ไปให้ได้

บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งได้ลดกำลังการผลิตในบางภาคส่วน เนื่องจากการขาดแคลนพลังงาน เช่น BASF บริษัทเคมีภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ลดการผลิตแอมโมเนีย ปุ๋ยไนโตรเจน และวัตถุดิบการผลิตสำหรับพลาสติก เนื่องจากการผลิตต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นอย่างมาก

ขณะที่ Mercedes-Benz ก็ได้ออกมาตรการลดการใช้ก๊าซถึง 50% ซึ่งปัญหาที่ตามมาจากการลดกำลังการผลิตก็คือ บริษัทจะเสี่ยงต่อการสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดถาวร และอาจถูกบังคับให้ย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศอื่น ๆ ที่สามารถจัดหาพลังงานในราคาที่ถูกกว่าได้

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ เรียกได้ว่าอุตสาหกรรมในทวีปยุโรปกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงครั้งใหญ่

ก๊าซเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดเพียงแหล่งเดียวสำหรับอุตสาหกรรมของยุโรป และเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และปุ๋ย โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมใช้พลังงานประมาณ 27-28% ของอุปทานพลังงานทั้งหมด จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดเชื้อเพลิงออกจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมหลายอย่าง

ปริมาณการใช้ก๊าซในอุตสาหกรรมประมาณ 60% ใช้สำหรับกระบวนการที่มีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 500 องศาเซลเซียสขึ้นไป เช่น ผลิตแก้ว ซีเมนต์ หรือเซรามิก

ด้วยเหตุผลดังกล่าว บริษัทบางแห่งจึงหันมาใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งอาจเป็นความล้มเหลวของแผนการที่จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด

ดังนั้น บางอุตสาหกรรมที่ต้องเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงาน และความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง ตัดสินใจว่าวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการก็คือ การลดกำลังการผลิตลง

นักวิเคราะห์จากธนาคารเพื่อการลงทุน Jefferies ประมาณการว่า เกือบ 10% ของกำลังการผลิตเหล็กดิบของยุโรปหายไปในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

Arcelor Mittal ผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของยุโรป คาดว่าผลผลิตจากการดำเนินงานในยุโรปจะลดลง 17% ในไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วหลังจากที่ลดการผลิต โดย Eurometaux หน่วยงานการค้าโลหะของยุโรป ระบุว่าโรงถลุงสังกะสีทั้งหมดของสหภาพยุโรปต้องระงับหรือหยุดดำเนินการโดยสิ้นเชิง ในขณะที่กลุ่มดังกล่าวสูญเสียการผลิตอะลูมิเนียมขั้นต้นไป 50%

ภาคการผลิตปุ๋ยซึ่งอาศัยก๊าซเป็นวัตถุดิบในการผลิตแอมโมเนีย ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยรายงานของ Fertilizers Europe ประมาณการว่า 40% ของอุตสาหกรรมเคมีของยุโรปตกอยู่ในความเสี่ยง ต้องลดกำลังการผลิต หรือยกเลิกการผลิตทำให้เกิดความกังวลว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะเปิดประตูให้กับคู่แข่งจากภูมิภาคที่มีต้นทุนพลังงานต่ำ

การลดหรือหยุดการส่งออกแม้ว่าจะเป็นการชั่วคราว แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดอย่างถาวร

ผู้ผลิตในยุโรปมองเห็นปัญหานี้มานานแล้ว เกี่ยวกับความเสียเปรียบในการแข่งขันที่เกิดจากต้นทุนพลังงาน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ถึงปี 2020 ชาวยุโรปต้องจ่ายราคาก๊าซโดยเฉลี่ยสูงกว่าสหรัฐอเมริกา 2 ถึง 3 เท่า และต้นทุนที่ต่างกันก็กำลังขยายตัวกว้างขึ้นถึง 10 เท่า ตั้งแต่รัสเซียเริ่มลดปริมาณการส่งออกก๊าซมายังยุโรป

จากข้อมูลของ Cefic องค์กรการค้าอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ของยุโรป ชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้ยุโรปได้กลายเป็นผู้นำเข้าสุทธิของสารเคมีทั้งปริมาณและมูลค่าเป็นครั้งแรก

ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะยุโรปจากที่เคยผลิตเพื่อส่งออก กลับต้องนำเข้าสินค้าเนื่องจากภาคการผลิตต้องแบกรับต้นทุนด้านพลังงานที่สูงเกินไป

ผลกระทบที่เกิดจากการปิดระบบอุตสาหกรรมทั่วยุโรป ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงที่ใด และการลดลงของการผลิตสารเคมี เหล็ก และผลิตภัณฑ์พื้นฐานอื่น ๆ ก็ทำให้เกิดความกังวลด้านห่วงโซ่อุปทานมากขึ้นไปอีก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 1

  • Dæng
    จ้องฆ่าเขาเราตายเอง ก็เพิ่งเคยเห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมแบบชัดๆแบบนี้ ประเทศที่ได้ผลประโยชน์หลายเด้ง คือตะวันตกดิน ได้สลายกำลังรัสเชีย ทำให้ยุโรปที่เป็นคู่แข่งด้านอุตรสาหกรรมย่อยยับแบบเนียนๆ รวยขึ้นกับการขายอาวุธ และ ขายพลังงานอันแสนแพงให้ยุโรป โชคหลายชั้นจริงๆ ใครนะช่างเป็นคนคิดได้ 5555
    31 ต.ค. 2565 เวลา 03.15 น.
ดูทั้งหมด