ทุกวันนี้เราใช้คำว่า “ไดโนเสาร์”เป็นคำแสลง หมายถึงคนหัวโบราณ ความคิดล้าสมัย ยึดติดกับความเชื่อในแบบเดิมๆ แล้วรู้หรือไม่? ไดโนเสาร์มีที่มาที่ไปหรือมีพัฒนาการอย่างไร?
พัฒนาการความรู้เกี่ยวกับ “ไดโนเสาร์”
ค.ศ. 1677 โรเบิร์ต พล็อตนักวิทยาศาสตร์ และอาจารย์เคมีในมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Natural History of Oxfordshireเนื้อหาส่วนหนึ่งพูดถึงการค้นพบฟอสซิลขนาดใหญ่ แต่ขณะนั้นเขาเข้าใจว่าเป็นกระดูกของยักษ์
จนกระทั่งปี 1824 วิลเลียม บัคแลนด์อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ชี้แจงว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ แล้วตั้งชื่อให้ว่า “เมกาโลซอรัส”(Megalosaurus) แปลว่ากิ้งก่ายักษ์ และประเมินขนาดความยาวของมันไว้ราวๆ 18-21 เมตร
สัตว์เลื้อยคลายขนาดใหญ่ตัวที่สอง ได้รับการค้นพบในปี 1822 โดย กิเดียน แมนเทลแพทย์และนักสะสมฟอสซิล เขาตั้งชื่อให้มันว่า “อิกัวโนดอน” (Iguanodon) จากลักษณะฟอสซิลฟันที่คล้ายอิกัวน่า และประเมินขนาดความยาวไว้ถึง 30 เมตร
อย่างไรก็ตาม การค้นพบฟอสซิลที่กล่าวมายังไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน จนปี 1842 ริชาร์ด โอเว็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ จัดเอาสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ตั้งเป็นประเภทใหม่ ตั้งชื่อให้ว่า “ไดโนเสาร์” (Dinosaur) แปลว่าสัตว์เลื้อยคลานที่น่าเกรงขามและปรับแก้ขนาดความยาวขนาดไดโนเสาร์สองตัวแรกเหลือประมาณ 9 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลในปัจจุบัน
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การค้นพบไดโนเสาร์ก็มีมากขึ้นและเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ทั้งด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความรู้ในการจัดประเภทสัตว์จำพวกนี้ ทำให้เอื้อต่อการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลได้ดีขึ้น จนข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ก็ทำลายความเข้าใจต่อไดโนเสาร์แบบเดิมไป เช่น ในทศวรรษที่ 1860 มีการค้นพบไดโนเสาร์ขนาดเล็ก คือ “คอมพ์ซอกนาทัส” (Compsognathus) ขนาดเท่าไก่ ทำลายมโนคติว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ของโอเว็น
หรือในกรณีอิกัวโนดอน ที่แต่เดิมมีภาพจำว่าเดินสี่ขา ท้องติดพื้น และมีนอเขา ลักษณะคล้ายๆ อิกัวน่า กระทั่งปี 1858 มีการค้นพบไดโนเสาร์ปากเป็ดซึ่งเป็นญาติกับอิกัวโนดอน ชื่อ “แฮดโดรซอรัส”(Hadrosaurus) เดินสองขา ยืนคล้ายๆ จิงโจ้ ทำให้มีการตีความใหม่ว่าอิกัวโนดอนก็น่าจะยืนแบบเดียวกัน และยังค้นพบอีกว่าที่จริงแล้วมันไม่มีนอเขา แต่ส่วนที่เข้าใจว่าเป็นนอเขานั้น ที่จริงแล้วคือนิ้วหัวแม่โป้ง
ข้ามมาทศวรรษที่ 1960 แวดวงไดโนเสาร์ศึกษาก็มีการแก้โครงสร้างและประกอบฟอสซิลใหม่ เพราะด้วยข้อมูลที่มากขึ้นทำให้ค้นพบว่า ที่จริงแล้วอิกัวโนดอนและแฮดโดรซอรัสน่าจะเดินได้ทั้งสองขาก็ได้ สี่ขาก็ได้ และไม่ได้ยืนตัวตรงแบบเดียวกับจิงโจ้
จากความสนใจที่จำกัดตัวในวงแคบ แต่เมื่อภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park ออกฉายในปี 1993 ไดโนเสาร์ก็กลายเป็นประเด็นดังที่คนทั่วโลกพูดถึง ประกอบกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ทำให้การศึกษาค้นคว้าเป็นไปโดยง่ายมากขึ้น รวมไปถึงหลายประเทศก็เปิดกว้างให้นักวิชาการเข้าไปศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากกว่าแต่ก่อน ทำให้มีการค้นพบฟอสซิลและสายพันธุ์ไดโนเสาร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การถกเถียงและการสรรค์สร้างทฤษฎีใหม่ๆ เกี่ยวกับไดโนเสาร์เป็นไปอย่างคึกคัก
แม้แต่ “ทีเร็กซ์”(T-rex) ไดโนเสาร์กินเนื้อที่โด่งดังที่สุดก็ยังเป็นที่ถกเถียง ทั้งเรื่องการล่าเป็นกลุ่มหรือล่าเดี่ยวๆ เป็นสัตว์กินซากหรือไล่ล่าด้วยตัวเอง ไปจนเรื่องทีเร็กซ์มีริมฝีปากที่ปกคลุมฟันแบบตัวเงินตัวทอง หรือเห็นฟันเหมือนจระเข้ ซึ่งทฤษฎีใหม่ๆ ล้วนขัดกับความคุ้นเคยของผู้คนที่มีต่อทีเร็กซ์ในหนัง Jurassic Park ทั้งสิ้น
หนึ่งในข้อเสนอใหม่ที่น่าจับตามองคือ การค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใกล้ชิดกับทีเร็กซ์ เรียกว่า “ยูไทแรนนัส”(Yutyrannus) ซึ่งเป็นชื่อที่ผสมระหว่างภาษาลาตินกับแมนดาริน แปลว่า “ทรราชย์ขนงาม” ถือเป็นไดโนเสาร์มีขนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ
เนื่องจากตลอดมามีการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กมากมายที่มีขนเหมือนนก ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่อย่างทีเร็กซ์ก็อาจมีขนด้วยเช่นกัน (แต่ผู้คนจะคุ้นชินกับทีเร็กซ์ไร้ขนแบบในหนัง Jurassic Park มากกว่า) การค้นพบยูไทแรนนัสซึ่งเป็นญาติของทีเร็กซ์ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ทีเร็กซ์จะมีขนเช่นกัน!
เราจึงอาจพูดได้ว่า แม้ไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์ไปนานนับล้านปี แต่องค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวกับไดโนเสาร์ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง แม้หลายครั้งต้องทำลายความคุ้นชินเก่าๆ แต่เพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด การตีความใหม่และถกเถียงจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
อ่านเพิ่มเติม :
- นักวิทย์ชี้ ฟอสซิลที่พบในจีนคือไดโนเสาร์ที่พยายามดิ้นรนเพื่ออิสรภาพก่อนตายคาบ่อโคลน
- ไทยพบซากไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่โคราช เป็นตัวที่ 12 ในประเทศ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Discovery. “The First Dinosaur Fossil Was Named Before We Had A Word For Dinosaurs”, 1 สิงหาคม 2019. https://www.discovery.com/science/First-Dinosaur-Fossil-Name.
Naish, Darren. “The 19th Century Discovery of Dinosaurs”. Scientific American Blog Network, 4 สิงหาคม 2012. https://blogs.scientificamerican.com/tetrapod-zoology/the-19th-century-discovery-of-dinosaurs/.
NBC News. “Dinosaur Researchers Say They’re in a ‘Golden Age’ of Discovery”, 26 ธันวาคม 2014. https://www.nbcnews.com/science/science-news/dinosaur-researchers-say-theyre-golden-age-discovery-n271826.
“O.U.M.N.H. Learning more”. https://www.oum.ox.ac.uk/learning/htmls/plot.htm.
Washington Post. “Scientists Say Your Idea of How the T. Rex Looked Is Probably Wrong”, 30 มีนาคม 2023. https://www.washingtonpost.com/climate-environment/2023/03/30/t-rex-teeth-drawing-study/.
“What’s Wrong with These Dinosaurs?”. https://www.nhm.ac.uk/discover/whats-wrong-with-these-dinosaur-reconstructions.html.
https://www.nationalgeographic.com/science/article/yutyrannus-a-giant-tyrannosaur-with-feathers
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2566
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “ไดโนเสาร์” เก่าแค่ไหน ก็เปลี่ยนความคิดได้!
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com
ความเห็น 1
Singto หิน
มาเปลี่ยนไดโนเสาร์ แก่ ๆ เมืองไทยหน่อยดิ !
10 ส.ค. เวลา 12.54 น.
ดูทั้งหมด