โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

12 แนวทาง เลือกลงทุน “กองทุนรวม” ให้ปัง !!!

Wealthy Thai

อัพเดต 06 ก.พ. เวลา 21.53 น. • เผยแพร่ 22 มิ.ย. 2566 เวลา 05.17 น. • ดร.ธนัยวงศ์ กีรติวานิชย์

Where2put Ur Money: ถึงแม้ว่า “กองทุนรวม (Mutual Fund)”จะเป็นทางเลือกในการลงทุนที่มีมืออาชีพคอยบริหารจัดการเงินลงทุนให้ และมีนโยบายการลงทุนหลากหลายให้เลือก แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงจากการลงทุนแฝงอยู่ซึ่งอาจส่งผลให้การลงทุนติดลบ หรือขาดทุนได้ ดังนั้น จึงขอนำเสนอแนวทางในการเลือกลงทุนในกองทุนรวมเพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถกำหนดทิศทางการลงทุน ลดความเสี่ยงจากการลงทุน และเลือกกองทุนรวมที่เหมาะสมกับตนเองได้ในเบื้องต้น ดังนี้
1.ต้องรู้จักประเภทของกองทุนรวม (Know the Different Type of Fund Scheme) เนื่องจากกองทุนรวมมีมากมายหลากหลายประเภท จึงต้องพิจารณาให้ดีเสียก่อนว่า กองทุนรวมที่สนใจเป็นกองทุนรวมประเภทไหน และมีการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อะไรบ้าง
2.เลือกกองทุนรวมที่ตรงตามความต้องการ (Choose Fund that Suit Your Need) โดยพิจารณาจากเป้าหมายในการลงทุน ตลอดจนอัตราผลตอบแทนที่ต้องการ ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และข้อจำกัดในการลงทุนของตน
3.พิจารณาเรื่องระยะเวลาในการลงทุน และสภาพคล่องอย่างระมัดระวัง(Consider Carefully at Maturity and Liquidity) ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีสภาพคล่อง และมีระยะเวลาการลงทุนที่สอดคล้องกับความต้องการใช้เงินในอนาคตของตน
4.มองหา “กองทุนรวม” ที่ให้ผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันเป็นเวลานาน (Look for Long-term Consistency) โดยพิจารณาผลตอบแทนย้อนหลังอย่างน้อย 3 – 5 ปีว่า มีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร และสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้อย่างสม่ำเสมอหรือไม่
5.ระมัดระวังเรื่องอัตราผลตอบแทนที่เย้ายวนใจ (Beware of Tempting Yield) ต้องไม่ลืมว่า การลงทุนใดๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูง มักมีความเสี่ยงสูงตามมาเป็นปาท่องโก๋ และที่สำคัญคือ การลงทุนในกองทุนรวมไม่ได้รับประกันผลตอบแทนจากการลงทุนแต่อย่างใด

6.ระมัดระวังเรื่องของผลงานในอดีต (Beware of Past Performance) เพราะเมื่อเวลาผ่านเลยไป ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้ จึงต้องระลึกไว้เสมอว่า ผลการดำเนินงานในอดีตไม่ได้เป็นสิ่งที่ยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต หรืออดีตไม่ได้ย้อนรอยเดิมเสมอไป
7.รู้ว่า ใครคือ “ผู้จัดการกองทุน” (Know Your Fund Manager) ต้องทราบพื้นเพของผู้ที่จะมาบริหารเงินลงทุนให้ว่า มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการกองทุนรวมมานานเพียงใด และมีคุณสมบัติที่เหมาะสมหรือไม่
8.พิจารณา “สไตล์การลงทุน” ของผู้จัดการกองทุน (Consider Fund Manager’s Investment Styles) โดยดูว่า ผู้จัดการกองทุนมีแนวทางการบริหารจัดการกองทุนรวมเป็นอย่างไร เป็นแบบตั้งรับ (Passive) หรือเป็นแบบเชิงรุก (Active)
9.มองหาค่าใช้จ่ายแฝง (Look for Hidden Expense)เพราะค่าใช้จ่ายที่กองทุนรวมเรียกเก็บมีผลโดยตรงต่ออัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
10.ระมัดระวังในเรื่องขนาดของสินทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุน (Beware of Asset Size) เพราะขนาดของสินทรัพย์ไม่เพียงแต่บอกได้ว่า กองทุนรวมนั้นมีขนาดเล็ก หรือใหญ่ หากยังส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของกองทุนรวมโดยตรงอีกด้วย
11.อย่าซื้อ “กองทุนรวม” หลายกองจนมากเกินไป (Don't Hold too Many Funds) การที่นักลงทุนถือครองกองทุนรวมหลายๆ กองมากเกินไป อาจไม่ได้เพิ่มประโยชน์ด้านกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนแต่อย่างใด เพราะกองทุนรวมแต่ละกองมีการกระจายการลงทุนเป็นอย่างดีมาแล้วในระดับหนึ่ง
12.อ่านหนังสือชี้ชวนกองทุนรวม (Read Fund Fact Sheet) ซึ่งเปรียบเสมือนกับคู่มือในการลงทุนในกองทุนรวมแต่ละกอง ที่บอกรายละเอียดที่สำคัญๆ ของกองทุนรวมนั้นๆ

ถึงตรงนี้ ก็เชื่อแน่ว่า ผู้ที่สนใจจะลงทุนใน “กองทุนรวม” น่าจะมีความรู้ ความเข้าใจ และความพร้อมเพียงพอที่จะเลือกตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวมที่เหมาะสมกับตนเองกันได้ตามแนวทางที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง