โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไมเราจึงกลัวแฝดปิศาจ: มอง ‘ด็อพเพิลเกงเกอร์’ ในมุมปัจเจกชนนิยม - อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร

LINE TODAY SHOWCASE

เผยแพร่ 19 พ.ค. 2565 เวลา 10.42 น. • อรวรรณ ฤทธิ์ศรีธร

ถ้าคุณเจอใครสักคนที่หน้าเหมือนคุณทั้งที่คุณไม่มีฝาแฝด และเขานำมาซึ่งลางร้าย หายนะ หรือความตายมาสู่คุณ คุณจะกลัวแฝดปริศนาผู้นั้นไหม?

หรือหากคุณเห็นเพื่อนของคุณปรากฏในงานเลี้ยง แล้วจู่ๆ ก็มีสายเข้าจากเพื่อนคนนั้น แล้วเขาก็บอกว่าขอโทษที่ไปงานเลี้ยงไม่ได้ เพราะท้องเสียหนัก และตอนนี้อยู่โรงพยาบาล คุณจะกลัวเพื่อนคนไหน คนที่โทร.หาคุณหรือคนที่อยู่ในงานเลี้ยง

ปรากฏการณ์ข้างต้นเรียกว่า แฝดปิศาจ หรือ ด็อพเพิลเกงเกอร์ (Doppelgänger) ที่สร้างความสยองขวัญในรูปแบบของเรื่องเล่าหรือภาพยนตร์ เป็นความเชื่อโบราณที่ปรากฏในนิทานเยอรมัน ว่ากันว่าแฝดปิศาจคือ บุคคลที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเรา บางครั้งแต่งกายเหมือนเรา เพียงแต่เขาไม่ใช่มนุษย์ บ้างก็เชื่อว่าเขาแอบอยู่ข้างหลังเราตลอดเวลา คอยซึมซับอารมณ์ของเรา บ้างก็ว่าแฝดปิศาจมีบุคลิกตรงข้ามกับเราสิ้นเชิง ถ้าเราอ่อนโยน เขาจะโหดร้าย แต่ถ้าเราดุดัน เขาจะนิ่มนวล นอกจากนั้นยังเชื่อว่าแฝดปิศาจมีทั้งด้านดีและด้านร้าย โดยที่เขาอาจจะคอยช่วยชีวิตเราในยามคับขัน หรือเป็นเพื่อนไม่ให้เหงา แต่อย่างไรก็ตาม แฝดปิศาจมักจะถูกนิยามไปในทางร้ายมากกว่า เช่น เชื่อว่าเขาอาจก่อเรื่องร้ายๆภายใต้รูปลักษณ์ของเรา หรือเชื่อว่าหากเราพบแฝดผู้นี้จะโชคร้ายหรือมีอันเป็นไปถึงชีวิต นั่นทำให้เกิดความหวาดกลัวที่จะเผชิญหน้ากับแฝดปิศาจของเราเอง หรือถ้ามองอีกมุม แฝดปิศาจใช้เรียกปรากฏการณ์ที่เราพบบุคคลหนึ่งในสถานที่หนึ่ง แต่ความจริงแล้วเขากลับอยู่อีกที่ เช่น เราอาจเห็นเพื่อนมานั่งประชุม แต่เมื่อเลิกงานถึงรู้ว่า เขาลาป่วยและนอนอยู่ที่บ้าน และเมื่อรู้ดังนี้แล้ว เราก็คงรู้สึกแปลกพิกลไปจนถึงขนลุก จากนั้นก็จะตั้งคำถามไปต่างๆ นานา ว่าคนที่เห็นในห้องประชุมคือใครกันแน่ หากหาคำตอบไม่ได้ก็คงโยนให้เป็นเรื่องลี้ลับ

บทความนี้ไม่ได้ต้องการลบหลู่ความเชื่อใด รวมถึงไม่ได้มาพิสูจน์ปรากฏการณ์ด็อพเพิลเกงเกอร์ว่ามีจริงหรือไม่ แต่ชี้ชวนมาตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงหวาดกลัวด็อพเพิลเกงเกอร์ ถึงขนาดกับเรียกว่า ‘แฝดปิศาจ’ ในภาษาไทย (ทำไมไม่เรียกว่าแฝดนางฟ้าหรือแฝดเทวดา ?) ทำไมเรานิยามแฝดปิศาจในทางร้าย ทั้งที่เขามีหน้าตาเหมือนเรา (หรือคนที่เรารู้จัก) ทุกประการ ในวันนี้ลองมามองแฝดปิศาจด้วยมโนทัศน์เรื่อง ปัจเจกชนนิยม (individualism) กันเพื่อจะได้เข้าใจความกลัวที่มีต่อด็อพเพิลเกงเกอร์หรือแฝด (ที่ถูกทำให้เป็น) ปิศาจ

ความกลัวการเผชิญหน้ากับแฝดปิศาจของตนเอง = ความกลัวการล่มสลายของภาวะปัจเจกชนนิยม

จากความเชื่อเรื่อง ด็อพเพิลเกงเกอร์ ที่แปลเป็นภาษาไทยว่า แฝดปิศาจ จะเห็นว่าตำนานอธิบายว่า เจ้าแฝดผู้นี้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนเราทุกประการ บางครั้งถ้าเขาอยู่ข้างๆเรา ก็อาจทำพฤติกรรมเลียนแบบ และการพบแฝดผู้ที่มีคุณสมบัติภายนอกเหมือนเราก่อให้เกิดหายนะ

ทำไมต้องหายนะ?

เรากลัวสิ่งที่หน้าเหมือนเราขนาดนั้นเลยหรือ?

การทำความเข้าใจความกลัวแฝดปริศนานี้ อาจอธิบายได้ด้วยแว่น ปัจเจกชนนิยม ซึ่งเป็นมโนทัศน์ทางสังคมวิทยา ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ของบุคคลหนึ่งๆ โดยตัวตนของแต่ละบุคคลเป็นเอกภาพ มีหนึ่งเดียว และแตกต่างจากคนอื่นๆ นี่คือภาวะที่เรียกว่า ความโดดเด่นเฉพาะตัว (uniqueness) ที่บุคคลหนึ่งพึงมีและปรารถนาจะมีอัตลักษณ์ที่ไม่ซ้ำกับใคร

หากมองย้อนกลับไปที่ความเชื่อที่ว่า แฝดปิศาจเป็นเครื่องหมายแสดงถึงความโชคร้ายและอาจหมายรวมไปถึงความตาย นั่นทำให้เรากลัวที่จะพานพบกับเขา เมื่อมองในเชิงปัจเจกชนนิยม จะเห็นว่าความรู้สึกดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากความกลัวคนหน้าเหมือนเรา แต่เป็น ‘ความกลัวการดำรงอยู่ของตัวเราอีกคน’ นั่นคือการแสดงถึงความทะนงตนที่ว่าตัวเราควรจะมีเพียงคนเดียว ใครจะมาเหมือนเราไม่ได้ และมีอีกความเชื่อหนึ่งกล่าวว่า บางครั้งแฝดปิศาจอาจต้องการเป็นตัวเรา จึงหาวิธีกำจัดเราในที่สุด เพื่อให้เหลือเขาคนเดียว ดังนั้นความกลัวแฝดปิศาจจึงเป็น ‘ความกลัวการถูกแทนที่’ ฉะนั้นการทำให้ด็อพเพิลเกงเกอร์เป็นปิศาจ จึงเป็นการแสดงให้เห็นวิธีคิดแบบปัจเจกชนนิยมที่ระแวงการมีอยู่ของตัวเราอีกคน เพราะหากเป็นเช่นนั้น ภาวะของความเป็นปัจเจกชนของตัวเราก็จะล่มสลาย ตัวเราอาจไม่ได้มีเพียงคนเดียวในโลกและอาจสูญสลายตลอดจนถูกแทนที่โดยตัวเราอีกคนได้ง่าย

ความกลัวแฝดปิศาจของบุคคลอื่น = ความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการจำแนกปัจเจกบุคคล

ลองดูสถานการณ์ต่อไปนี้

คุณเห็นเพื่อนสนิทยืนอยู่มุมถนนในกรุงเทพฯ จึงคิดจะเดินไปทักทายตามประสา แต่ก่อนจะก้าวขาไป เสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ก็ดังขึ้นพร้อมกับข้อความจากเพื่อนคนที่คุณกำลังจะเดินไปหา ในกล่องข้อความเขียนว่า “ตอนนี้อยู่เชียงใหม่ อยากได้ของฝากอะไรไหม” เมื่อเงยหน้าขึ้นจากโทรศัพท์คุณก็ไม่เห็นเพื่อนที่ยืนอยู่มุมถนนแล้ว ทีแรกคุณคิดว่าตาฝาด แต่เมื่อได้เห็นรูปเพื่อนที่อยู่เชียงใหม่ที่ถ่ายส่งมาให้ คุณก็พบว่า เธอใส่เสื้อผ้าตัวเดียวกับคนที่คุณเห็นที่มุมถนน นี่มันอะไรกัน?

เมื่อเห็นบุคคลหนึ่งในสถานที่หนึ่ง แต่มารู้ความจริงว่าเขาอยู่อีกที่หนึ่งซึ่งห่างไกลกันมาก เราคงเกิดอาการขนลุก งุนงง ตามด้วยความหวาดกลัวว่า หากเพื่อนเราอยู่เชียงใหม่จริง และหากมนุษย์แต่ละคนมีตัวตนได้เพียงหนึ่งเดียว คนที่เห็นจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากแฝดปิศาจที่น่าหวาดกลัวของเพื่อนเราเอง

ทำไมเราต้องกลัวแฝดปริศนาของเพื่อนด้วยล่ะ? ทั้งที่เขาเป็นภาพสะท้อนในกระจกของเพื่อนเรา หน้าตาเหมือนเพื่อนที่เราคุ้นเคย

เมื่อมองในมุมปัจเจกชนนิยม การกลัวแฝดปิศาจของบุคคลอื่นอาจแสดงนัยความกังวลถึงความสามารถในการจำแนกปัจเจกบุคคล ซึ่งหมายถึง การแยกแยะว่าคนหนึ่งต่างจากอีกคนหนึ่ง เพื่อนอาจเถียงว่าเขาอยู่เชียงใหม่ แต่เราก็แย้งว่าเห็นเขาที่กรุงเทพฯ และสุดท้ายจากคำยืนยันของเพื่อน อาจทำให้เราสับสน เพื่อนอาจอยู่ที่เชียงใหม่จริง และไม่มีใครอยู่ที่มุมถนนตามที่คิดว่ามองเห็น เราอาจมองเห็นคนอื่นแล้วเข้าใจว่าเป็นเพื่อน หรืออาจจินตนาการไปเอง รวมถึงคิดไปว่า ตนเองมีภาวะผิดปกติทางสมองจึงทำให้ความสามารถในการจำแนกความแตกต่างระหว่างบุคคลเกิดความผิดพลาด

เธอมีจริงไหมไม่รู้ แต่ที่รู้คือไม่อยากเจอ

ความเชื่อเรื่องด็อพเพิลเกงเกอร์ ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีจริงหรือไม่ เราจะมีแฝดที่ไม่ใช่มนุษย์จริงหรือ? และแฝดปิศาจนำมาซึ่งหายนะจริงหรือไม่? คำถามเหล่านี้ยังคงเป็นปริศนาต่อไป อย่างไรก็ตามเราก็ยังคงมีความรู้สึกด้านลบกับเจ้าแฝดปริศนา ทั้งสงสัยในความลี้ลับ พิศวง ไปจนถึงหวาดกลัวไม่อยากเผชิญหน้ากับแฝดผู้นี้

เมื่อมองด้วยมุมปัจเจกชนนิยม ทำให้เห็นว่า ความกลัวแฝดปิศาจอาจเป็นเพราะเราไม่ต้องการให้ใครมาเหมือน แทนที่ หรือฉกชิงชีวิตเราไป กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นความกลัวการล่มสลายของภาวะปัจเจกในตัวเรานั่นเอง นอกจากนั้น ความกลัวการมองเห็นแฝดปิศาจของคนอื่น ยังแสดงถึงความวิตกกังวลของความสามารถในการจำแนกความแตกต่างของคนหนึ่งออกจากอีกคน

แฝดปิศาจอาจสะท้อนความกลัวในใจมนุษย์ ยิ่งกลัวแฝดปิศาจมากเท่าไหร่ แสดงว่าเราตกอยู่ในภาวะการหลงใหลความเป็นปัจเจกในตัวเองเท่านั้น บางครั้งการปรากฏตัวของแฝดปิศาจอาจเป็นสัญญะของการล่มสลายของปัจเจกบุคคลและเตือนให้ลดอัตตาในตัวเอง แฝดปิศาจของเราอาจมาเพื่อบอกว่า ในโลกนี้ยังมีคนที่คิด ทำ และมีความสามารถเหมือนเรา ฉะนั้นอย่าประมาท เราสามารถถูกแทนที่ได้ตลอดเวลา หรือกรณีที่เราเจอแฝดปิศาจของเพื่อน แล้วบอกเพื่อนว่าเราเห็นเพื่อนอยู่ที่นี่จริง แต่เพื่อนก็ยืนกรานว่าเขาไม่ได้อยู่ ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าชุดความจริงของเรา อาจไม่ใช่ชุดความจริงของเพื่อน ซึ่งนี่คือลัทธิปัจเจกชนนิยมแบบหลังสมัยใหม่ที่ ‘ความจริง’ ไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว

หากเราตระหนักถึงอัตตาที่น้อยลง แฝดปิศาจอาจเป็นกลายเป็นแฝดนางฟ้าที่คอยช่วยเหลือและนำทางชีวิตเราก็เป็นได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0