‘กรุงเทพมหานคร’ กลายเป็นแฟชั่นเดสทิเนชั่นที่ร่วมสร้างปรากฎการณ์ให้กับอุตสาหกรรมลักชัวรีให้ได้คึกคักกันตลอดทั้งปี ล่าสุดเปิดประตูต้อนรับกับโปรเจ็กต์อันตื่นตาตื่นใจ ‘DIOR GOLD HOUSE’ ศิลปะความเป็นเลิศ ใจกลางกรุงเทพมหานคร บนถนนเพลินจิต โดย ‘เดลินิวส์’ ร่วมเป็นหนึ่งในทีมสำรวจกลุ่มแรกแบบเอ็กซ์คลูซีฟ
‘DIOR GOLD HOUSE’ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางกรุง เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 8 ธ.ค.2567 โดยเป็นบูติกเดี่ยวนอกศูนย์สรรพสินค้า หรือ ‘คอนเซ็ปต์ สโตร์’ แห่งแรกในประเทศไทย ที่จะมอบความหลากหลาย ครบครันซึ่งจะผันเปลี่ยนไปตามคอลเลกชันของแต่ละฤดูกาลบนพื้นที่อันเปรียบเสมือนเวทีแสดงศิลปะแห่งความเป็นเลิศในโครงการ Dior Around the World
ด้วยการหลอมรวมหลากวัฒนธรรมต่างขั้วโดยอาศัยไหวพริบพลิกแพลงทักษะ ความชำนาญแขนงต่างๆ Dior Gold House หาได้ต่างอันใดจาก ‘อาณาจักรแห่งความฝัน’ เสกสรรมนตราสะกดอารมณ์ให้แก่บรรดาผู้มาเยือนตั้งแต่ปฐมบทตระการตาของโครงสร้างด้านหน้าบูติกจำลองแบบสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของอาคารเลขที่ 30 ถนนมงแตญ ที่ตั้งห้องเสื้อแฟชั่นตำนานปารีเซียง มานับแต่มงซิเออร์ก่อตั้งแบรนด์ของตนขึ้นเมื่อปีค.ศ. 1946 ไปจนถึงสวนสวรรค์กลางกรุงอันแสนร่มรื่นด้วยความพรั่งพร้อมของรุกขชาตินานาพรรณ
ท่ามกลางประกายทองรองเรือง หนึ่งในเฉดสีตราบนิรันดร์ของ Dior ในงานโมเสกจากความเป็นเลิศเชิงเทคนิคโดยช่างศิลป์ชาวไทย พื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตรคือบทสรุปของการถักทอ และร้อยเรียงกลิ่นอายแห่งความภูมิฐานทางวัฒนธรรมแฟชันชั้นสูงฝรั่งเศส เข้ากับเสน่ห์มรดกอารยศิลป์ของประเทศ ซึ่งมีรากฐานประวัติศาสตร์สูงส่ง และยาวนานแห่งเอเชียอาคเนย์เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน
เมื่อผ่านประตูเข้าสู่ภายใน อาณาจักรแฟชั่นแห่ง Dior พลันประจักษ์จากเสื้อผ้าสำเร็จรูปตามแนวทางการออกแบบของมาเรีย กราเซีย คิวริ ไปจนถึงเครื่องแต่งกายชายโดยคิม โจนส์ รวมถึงคอลเลกชันเครื่องหนังอย่างรองเท้า, เข็มขัด และกระเป๋า, เครื่องประดับ ตลอดจนของตกแต่งบ้าน และภาชนะประจำโต๊ะอาหารจาก Dior Maison ล้วนมอบบรรยากาศร่วมสมัย เต็มไปด้วยความวิจิตรบรรจงจากงานตกแต่งประดับประดาด้วยวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่, งานไม้ และราฟเฟีย ร่วมกับบรรดาสัญลักษณ์ประจำ House of Dior ตั้งแต่ดวงดาวนำโชคไปจนถึงผ้าพิมพ์ลายจิตรกรรมสีเดี่ยว ‘ตวล เดอ ฌูย์’ รวมถึงลายพิมพ์แผนที่ปารีสหรือ ‘ปลอง เดอ ปารีส์’
เพื่อระลึกถึงความรักที่คริสเตียน ดิออร์มีต่องานศิลปะ Dior Gold House แสดงผลงานสร้างสรรค์จากเก้าศิลปินไทยเจ้าของฝีมือแบบฉบับเฉพาะตัว ประกอบด้วย ประกอบด้วย กรกต อารมย์ดี, วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์, ศรัณย์ เย็นปัญญาจาก “สตูดิโอ 56” (56th Studio), รัฐ เปลี่ยนสุขกับฟิลิปป์ มัวสันจาก “สัมผัสแกลเลอรี” (Sumphat Gallery), บุญเสริม เปรมธาดา, วาสนา สายมา และเอกรัตน์ วงษ์จริต สะท้อนผลงานอันเนี้ยบประณีตที่ผูกโยงกับความล้ำลึกมีระดับของดิออร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับแรงบันดาลใจและกระบวนการสร้างงานเบื้องหลัง ท่ามกลางเทคนิคมากมายมหาศาลโปรเจ็กต์นี้ รัฐ เปลี่ยนสุข เผยถึงการใช้เทคนิคผสมผสานสองวัฒนธรรมออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นงาม กล่าวว่า “ปัจจุบันสิ่งที่มีคุณค่าและมีมูลค่าที่สุดตามหลักมนุษยชาติ ก็คือ สันติภาพ และ ธรรมชาติ โครงการนี้เราเลือก 2 เทคนิค ซึ่งเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส และสองคือปรัชญาต่างขั้วระหว่างตะวันออกและตะวันตก เทคนิคแรกคือ ‘เครื่องทองเหลือง’ เห็นได้จากการหล่อพระ ในปัจจุบันได้มีการศึกษาเทคนิคจากฝรั่งเศสค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันไทยเองก็มีเทคนิคทางเชิงช่างที่เรียกว่า ‘ช่างสิบหมู่’ จึงนำมาผสมผสานกัน สะท้อนความรู้สึกราวกับว่าเดินไปในธรรมชาติ
เทคนิคที่ 2 เป็นมุมมองเรื่องของ ‘ทอง’ ดิออร์ เป็นเทพเจ้าแห่งทอง คนยุโรปจะมองทองตามแง่งามของมูลค่า แต่การมองทองทางฝั่งเอเชียจะเป็นในแง่ของความทรงจำ ผลงานนี้ใช้การ “ลงรักปิดทอง” เรามองว่าทองเป็นวัสดุที่มีคุณค่าตามกาลนาน ไม่เปลี่ยนแปลงไม่สูญสลาย แต่ขณะที่ทองคำเปลวแค่เราแตะนิดเดียวก็สลายไปในอากาศ มันก็เปรียบได้กับความทรงจำ เวลาหรือโมเม้นท์ดีๆ ที่เรามี เหมือนกับการทำงานร่วมกับดิออร์ครั้งนี้ มันเกิดขึ้นสั้นๆ แม้เวลาจะหายไปแล้ว แต่ความทรงจำนี้จะยังอยู่ตราบชั่วนิรันดร์กาล
ลายไอคอนนิกอย่าง ‘คานนาจ (Cannage)’ หรือ ลายสานรุ่นเลดี้ ดิออร์ สองศิลปินไทย วาสนา-สาวิน สายมาจากแบรนด์ ‘วาสนา’ (Vassana) ร่วมกันรังสรรค์คอลเลกชันกระเป๋าถือ Lady Dior ด้วยหัตถศิลป์สานตอกไม้ไผ่พื้นบ้านไทย เพื่อสะท้อนถึงแนวคิดงานฝีมือ “วัฒนธรรมร่วม” ระหว่างสองขั้วอารยธรรม ผู้มาเยือนจะพบกับศิลปะอันงดงามนี้ ตรงบริเวณทางทางเข้า ‘คาเฟ่ ดิออร์’ แห่งแรกในประเทศไทย “แบรนด์วาสนาของนิยมใช้ลวดลายพื้นบ้าน เอามาเพิ่มมูลค่าด้วยลายจักสาน ซึ่งความยากของโปรเจ็กต์นี้ส่วนตัวมองว่าอยู่ที่การนำเอางานจักสานแบบบ้านๆ มาทำให้ลักชัวรี่ จริงๆ แล้วงานจักสานมีเสน่ห์และความงามของตัวเอง” วาสนา สายมากล่าว
ภายใน Dior Gold House มีห้องพิเศษที่ตกแต่งสไตล์ฝรั่งเศส สร้างขึ้นจากวัสดุไม้ไผ่ สิ่งที่สะดุดตากลางห้องจะมีโซฟาทรงกลมมนสองตัว และยิ่งพิเศษไปกว่านั้นเพราะสร้างสรรค์จากกระจกสี เอกรัตน์ วงษ์จริต สะท้อนผลงานอันเนี้ยบประณีตที่ผูกโยงกับความล้ำลึกมีระดับของดิออร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กล่าวว่า “ตอนแรกที่ได้รับบรีฟงาน คิดว่าเราคงต้องแสดงสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ไทยบนพื้นที่ในบริบทของฝรั่งเศส จึงสะท้อนความเป็นไทย ด้วยการเอาเส้นสายไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม ลายรูปแบบเส้นของไทยที่มีความอ่อนช้อย แสดงออกมาที่ ‘เก้าอี้’ ให้รองรับกับสรีระคน เลือกเอาวัสดุที่เป็นภูมิปัญญาของช่างสิบหมู่ คือกระจกสี ที่เป็นกระจกแผ่นบางติดผนังของวัด ตัดเป็นชิ้นเล็ก ขนาดชิ้นละ 1 ตรม. มาติดบนเก้าอี้ โดยเลือกใช้สีสัน ‘เบญจรงค์’ อันฉูดฉาด ซึ่งแสดงตัวตนของความเป็นไทยได้ดีที่สุด
นอกจากอาคารอันเป็นประวัติศาสตร์ ถ้าค้นลึกไปยังประวัติศาสตร์ของแบรนด์ดิออร์ ตั้งแต่สมัย มร.คริสตีย็อง ดียอร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ความหลงใหลของเรื่องธรรมชาติอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว เรื่องสวน ต้นไม้ ใบไม้ ล้วนแทรกซึมอยู่ในคอลเลกชันต่างๆ รวมถึง ‘เก้าอี้’ งานสรรค์สร้างจากรอยเท้าช้างโดย บุญเสริม เปรมธาดา ซึ่งหยิบยกเอาสัตว์ที่ผูกพันกับคนไทยตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันมานำเสนอ
“ช้างเป็นสัตว์ที่ขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม ผมถึงมองว่าช้างเป็นสัตว์ที่ให้กำเนิดกับธรรมชาติ จนถูกขนานนามว่าเป็น “ร่มใบใหญ่ของสัตว์อื่นๆ” ผมทำโครงการเกี่ยวกับช้างตั้งแต่ปี 2015 จนถึงปัจจุบันที่ จ.สุรินทร์ เห็นปัญหาช้างขาดแคลนอาหารมาโดยตลอด ช้างเป็นสัตว์กินพืชกินหญ้าเป็นหลัก พอมันขาดแคลนอาหารเลยเป็นปัญหาว่าเราจะหาอาหารให้ช้างที่ไหน ผมเลยคิดว่ามูลช้างเป็นสิ่งที่น่าไปทำวัสดุก่อสร้างเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้และเอาไปซื้ออาหารให้ช้างกิน การเอามูลช้างมาทำรวมถึงงานชิ้นนี้ กลายเป็นสิ่งที่เราทำในแง่มูลช้างไม่ใช่แค่การรีไซเคิล อัพไซเคิล มันคือ “ไลฟ์ ไซเคิล” ที่ทำให้คน ช้าง และเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ตลอดไป เพราะฉะนั้นงานของผมคือความตั้งใจและความคิดที่ว่า เก้าอี้ต้องมีความหมายและมีมนุษยธรรม” บุญเสริมเผยถึงเก้าอี้ที่รังสรรค์จากมูลช้าง
รถตุ๊กตุ๊กกลายเป็นภาพจำของศิลปะไทยร่วมสมัย ตุ๊กตุ๊กจักสานขนาดเท่ารถสามล้อจริงที่เห็นได้บนถนนทุกสายทั่วกรุงเทพมหานคร ผลงานรังสรรค์โดย ศรัณย์ เย็นปัญญา จาก “สตูดิโอ 56” (56th Studio) ตั้งตระหง่านตรงบริเวณทางเข้า โดดเด่นทว่ากลมกลืน ทั้งนี้ผู้เป็นศิลปินกล่าวว่า “เราทราบว่าตุ๊กตุ๊กมีในอีก 30 วัฒนธรรมทั่วโลก แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่ตุ๊กตุ๊กไทยพิเศษกว่าที่อื่น นั่นคือเรื่องของอารมณ์ขันและซิลลูเอทบางอย่าง ผมปฏิวัติวงการตุ๊กตุ๊ก ด้วยวัสดุและผิวสัมผัส เบาะนั่งทำจากเสื่อจันทบูร หลังคาและกระจังหน้าเป็นหวายสาน ที่นั่งเป็นไม้โอ๊ค
ส่วนเก้าอี้สองตัวที่หันหน้าประชิดติดกัน แต่สวนทางกัน บุด้วยผ้าออมเบร่เฉดชมพู ศรัณย์ เผยว่า มันมีอีกชื่อว่า “กลอสซิป แชร์” มันเป็นไอเดียที่น่าใจ สิ่งที่ผมทำคือทอผ้าขึ้นมาใหม่ แล้วเลียนแบบเท็กเจอร์ ที่เป็นออมเบร่ ถ้าซูมดูใกล้ๆ จะเหมือนเสื่อ แอบใส่รายละเอียดความเป็นไทย คือ ลายประจำยามซ่อนอยู่ตรงขาเก้าอี้
ความยั่งยืนและกระบวนการอัพไซเคิลเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการสร้างงาน ในโปรเจ็กนี้ วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ เสาะหาวัสดุตั้งต้นแล้วปรับเปลี่ยนให้เป็นผลลัพธ์อันน่าสนใจ โดยเจ้าตัวเผยว่า “คำว่า วัสดุเหลือใช้ จัดออกมาแล้วมีหลากหลายประเภทมาก การเข้ามาคอลแลปส์เหมือนกับยกระดับขยะให้กลายเป็นสิ่งมีมูลค่าดั่งทองคำ เหมือน DIOR GOLD HOUSE วัสดุที่ใช้ในครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ผลงานอาร์ต อินสตรอเรชั่น รูปยูนิคอร์นและสิงโต วัสดุของสัตว์ทั้งสองชนิดนี้เลือกที่จะใช้เป็นสายเคเบิลคาร์ที่ถูกตัดทิ้งจากอุตสาหกรรมก่อสร้างต่างๆ เก็บมาถักสายขึ้นรูปสัตว์ จากนั้นคัฟเวอร์ด้วยเศษผ้าที่ทำให้กันน้ำได้ เพื่อที่จะสามารถจัดวางบนกลางแจ้งได้ ประดับด้วยตัวลูกแก้วใสๆ เข้าไป ที่สำคัญจะมีการประดับขนไก่ ทำจากลูกขนไก่ อุปกรณ์จากกีฬาแบดมินตัน เลือกเอาลูกขนไก่ที่ชำรุดนี้มาประดับ”
เมื่อเดินเข้าไปด้านในจะเจอเฟอร์นิเจอร์อย่าง ‘เก้าอี้’ วิชชุลดาเลือกใช้เศษผ้าส่วนปลายผืน ที่มีลักษณะเป็นรูๆ เอามาถักสาน เป็นลายปลาตะเพียนและเปียผม คุมโทนสีขาวและเข้ากับความเป็นดิออร์ ซึ่งการคอลแลปส์ครั้งนี้มองว่าเราทุกคนสามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
หากปรารถนาจะนั่งพัก หรือต้องการเสพศิลป์ทางสุนทรีย์แห่งกลิ่นรสท่ามกลางความงามสง่า Café Dior มอบความหลากหลายทางตัวเลือก ซึ่งต่างเติมเต็มความเพลิดเพลินให้กับทุกประสาทสัมผัสโดยอาศัยความเป็นเลิศทางโภชนศิลป์แบบฉบับฝรั่งเศส ร่วมกับงานออกแบบมิติศิลป์ โดย กรกต อารมย์ดี ผู้นำงานจักสานตอกไม้ไผ่รังสรรค์เสน่ห์ธรรมชาติในอาณาจักรพรรณพฤกษา และสัตว์ชีวิตขึ้นแบบสามมิติของมวลดอกไม้, ใบไม้ และวิหคนกน้อยได้อย่างละเมียดละไมดุจมีชีวิต เผยว่า “ได้รับแรงบันดาลใจจากความหลงใหลของทาง มร.คริสตีย็อง ดียอร์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์คริสเตียน ดิออร์ ที่ลุ่มหลงเกี่ยวกับความงามของธรรมชาติ ผมนำเอาลวดลายเหล่านั้นทำงานมัด ผูก กันงานจักสานไม้ไผ่ โดยให้ช่างชุมชนทั่วประเทศไทยมาสานความสุขในรูปทรงต่างๆ”
และประสบการณ์รสสัมผัสอันมิอาจหาใดเปรียบจากเชฟสามดาว มอโร โกลาเกรโก ผู้รจนารายการของหวาน และเครื่องดื่มโดยอาศัยแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ หนึ่งในแนวทางการสร้างสรรค์อันเป็นที่รักยิ่งของคริสเตียน ดิออร์ นำมาซึ่งมรดกสืบทอดตลอดประวัติศาสตร์ความสำเร็จของ House of Dior
ด้วยการแสดงถึงความเฉียบคมเหนือชั้นในงานสร้างสรรค์ของ Dior อย่างครบครันจนมิอาจหาสถานที่แห่งใดเสมอเหมือน Dior Gold House คือบทบรรจบทางความเป็นเลิศระหว่างฝรั่งเศสกับไทย โดยอาศัยความกล้าทางจินตนาการอย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน.
ความเห็น 0