โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

เอาสักอย่าง! จะ ‘Live’ หรือจะ ‘สด’ ?? หยุดใช้ผิด ก่อนกลายเป็นภาษาวิบัติ

JS100 - Post&Share

เผยแพร่ 08 พ.ค. 2561 เวลา 10.20 น. • JS100:จส.100
เอาสักอย่าง! จะ ‘Live’ หรือจะ ‘สด’ ?? หยุดใช้ผิด ก่อนกลายเป็นภาษาวิบัติ
เอาสักอย่าง! จะ ‘Live’ หรือจะ ‘สด’ ?? หยุดใช้ผิด ก่อนกลายเป็นภาษาวิบัติ

     ตั้งแต่ Facebook ปล่อยฟีเจอร์ “ถ่ายทอดสด” ที่เรียกว่า Facebook Live Video ออกมา คนไทยในแทบทุกวงการนำมาพูดและเขียนกันจนติดว่า “ไลฟ์ สด” หรือ “live สด” ซึ่งใช้เผินๆคงไม่ได้รู้สึกอะไร แค่เข้าใจความหมายก็เพียงพอ

     ตามหลักภาษา คำว่า Live (อ่านว่า ไลฟ์) ที่ใช้ในที่นี้ เป็นคำคุณศัพท์(adj.) มีความหมายว่า สด หรือ ถ่ายทอดสด อยู่แล้ว ดังนั้น การใช้ “ไลฟ์ สด” จึงเป็นการใช้คำที่ซ้ำซ้อน เหมือนกับการพูดว่า “สด สด” นั่นเอง ฟังแล้วอาจขัดหูใครหลายๆคน โดยเฉพาะนักวิชาการ หรือนักภาษาศาสตร์      ในมุมมองของการใช้ภาษา อาจไม่ได้มีผิดหรือถูกเสมอไป เพราะในทุกๆภาษาที่มนุษย์ใช้สื่อสารกันอยู่ ย่อมมีผิดมีถูกปนกันไป ถือเป็น วิวัฒนาการทางภาษา จนในที่สุดกลายเป็นที่ยอมรับโดยปริยาย เช่น  “ลองกูเกิ้ลดูเลย” ที่หมายถึง ลองค้นหาดูเลย “เดี๋ยวไลน์ไป” ที่หมายถึง เดี๋ยวพิมพ์ข้อความไปหาทางไลน์      จะเห็นว่า แต่เดิมคำว่า กูเกิ้ล(Google) หรือ ไลน์(LINE) เป็นคำนาม(n.) ที่ใช้เป็นชื่อเรียก แต่ในประโยคตัวอย่างกลับถูกนำมาใช้เป็น คำกริยา(v.) ไปโดยปริยาย      ขณะที่บางคำที่ถูกนำมาใช้ ก็ใช่ว่าจะได้รับการยอมรับเป็นวิวัฒนาการทางภาษาเสมอไป บางคำใช้ได้แค่เฉพาะกลุ่ม บางคำถูกบรรจุในพจนานุกรมเพื่อให้ทราบความหมาย แต่ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้สื่อสาร หรือค่อยๆหายไปในที่สุด เช่น จ๊าบ เฟี้ยวเงาะ จุงเบย เด็กฮาร์ต ช้าไปแล้วต๋อย เมพขิง เด๋ว ช่ะ ครัช ฯลฯ

Cr.wegointer      ภาษาที่ไม่ผิดเลย คือ ภาษาที่ตายแล้ว หรือภาษาที่สูญแล้ว หมายถึง ภาษาที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการพูด หรือการสื่อสารแล้ว แต่อาจยังพอมีบันทึกไว้ หรืออาจถูกแทนที่ด้วยภาษาอื่นไปแล้ว เช่น ภาษาบาลีสันสกฤต และภาษาละติน      สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดสำหรับนักภาษาศาสตร์ คือ การใช้แบบผิดๆโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งแบบนั้นไม่ได้เรียกว่า วิวัฒนาการทางภาษา แต่เป็นการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ภาษา ซึ่งพบทั้งการพูดผิด และพิมพ์ผิด เช่น คะ-ค่ะ นะค่ะ-นะคะ อยุ่ ฯลฯ กรณีแบบนี้ควรแก้ไขโดยด่วน เพราะเป็นการใช้ภาษาที่ผิด

Cr.kanok-leelahakriengkrai      สรุปบทวิเคราะห์ ภาษาไทยที่เราใช้สื่อสารกันอยู่ทุกวันนี้ ก็มิใช่ภาษาไทยที่ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกเสียทีเดียว แต่ก็มีวิวัฒนาการทางภาษาตามยุคตามสมัยมาเช่นเดียวกัน บางครั้งจะเห็นว่า คนที่มีช่วงอายุห่างกัน 50 ปีขึ้นไป บางครั้งยังคุยกัน‘คนละภาษา’ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความรู้ความเข้าใจในการใช้ภาษานั้นๆ เช่น      หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้คำว่า “ขอบคุณครัช” ซึ่งคำที่ถูกต้องคือ ครับ แต่เจตนาที่คุณใช้เพราะต้องการพูดเล่นๆในกลุ่มเพื่อน ต้องการเลียนเสียงจริง เพื่อให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นทางการจนเกินไป กรณีแบบนี้เรียกว่า การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร แต่หากคุณนำไปใช้ในบริบทกับผู้ที่มีคุณวุฒิหรือวัยวุฒิมากกว่า หรือใช้ในเอกสารที่เป็นทางการ ถือว่าผิดหลักภาษาเช่นกัน      แต่ถ้าคุณใช้คำว่า “สวัสดีคะ” หรือ “นะค่ะ” โดยที่คุณไม่ได้รู้ตัวเลยว่า เป็นการสะกดผิด หรือผิดเสียงวรรณยุกต์ ซึ่งคำที่ถูกต้อง คือ “สวัสดีค่ะ” หรือ “นะคะ” ถือว่าคุณในฐานะคนไทยกำลังใช้ คำผิด อยู่ ยกเว้นคุณรู้อยู่แล้วว่าผิด แต่ใช้เพื่อประชดประชันกับเพื่อนเฉพาะกลุ่ม เป็นครั้งคราว กรณีนี้อาจเรียกว่าเป็นการใช้ ภาษาเพื่อการสื่อสาร รูปแบบหนึ่งก็ได้ แต่ไม่ใช่การใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักภาษา

     สำหรับคำว่า “Live สด” นั้น เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ แม้จะถูกนำมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังคงถกเถียงกันถึงความไม่เหมาะสมในการใช้ภาษา เพราะแทบไม่มีเหตุผลใดเลยที่ต้องใช้ คล้ายคำว่า “Main หลักๆ” , “Speed ความเร็ว” ที่ฟังแล้วเหมือนพูดซ้ำด้วยการแปลคำแรก      “ถามว่า Live สด ถึงขั้นว่าเป็นภาษาวิบัติเลยหรือไม่ก็คงตอบยาก เพราะถ้าคำใดที่ใช้สื่อสารกันรู้เรื่องก็ถือเป็นภาษา วิเคราะห์ตามหลักไวยากรณ์ว่า Live คือคำนาม ส่วน สด คือคำคุณศัพท์ เป็นภาษาสมัยใหม่ แต่จะผิดทันทีเมื่อเอามาแปลรวมกัน โดยส่วนตัวมองว่าเป็นคำฟุ่มเฟือย ไม่ควรใช้” ความเห็นจากนักภาษาศาสตร์       อยู่ที่ตัวคุณแล้วล่ะครับว่า คุณจะยังคงใช้ “Live สด” ผิดๆแบบนี้ต่อไปโดยไม่คิดอะไร หรือจะช่วยกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง รณรงค์ไม่ให้เกิดภาษาวิบัติ และภาคภูมิใจในฐานะเป็นคนไทยที่มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษา แต่ที่แน่ๆ สำหรับบุคคลสาธารณะ วงการสื่อสารมวลชน ผู้ประกาศข่าว ผู้สื่อข่าว นักวิชาการ ดารา นักแสดง นักร้อง ฯลฯ ไม่ควรใช้คำเหล่านี้ให้ผิดหลักภาษา เพราะนั่นอาจกลายเป็นต้นเหตุทำให้สังคมเกิดการยอมรับคำผิด จนกลายเป็นคำที่ถูกต้องวันหนึ่งได้ อภิสุข เวทยวิศิษฏ์ : ผู้ดำเนินรายการ จส.100

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0